"กาแฟเย็น แบล็คแคนยอน เป็นกาแฟที่นำเข้าจากต่างประเทศ 100% แต่ถ้าเป็นกาแฟร้อน
จะเป็นกาแฟผสมระหว่างกาแฟไทยกับกาแฟนำเข้า เพราะกาแฟที่ปลูกในไทยก็ถือเป็นกาแฟที่ส่งออกรายใหญ่รายหนึ่งของโลก
ส่งจากโครงการต่างๆ ทั้งเหนือและใต้ผสมกัน กาแฟหลักที่ใช้เป็นตัวผสมคือโรกัสตา
เพราะมีเมล็ดใหญ่ คั่วแล้วหอม และรสชาติเข้มข้น สูตรพวกนี้เองมาจากต่างประเทศ
จากอเมริกาเป็นหลัก เพราะเป็นสไตล์อเมริกันคันทรี่ ยกเว้นกาแฟเวียงพิงค์
มีการนำมาคัดเมล็ดเป็นสูตรอาราบิก้า เวียงพิงค์ เพราะคนไทยชอบอะไรที่หวานมัน"
ประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด
กล่าวถึงกาแฟได้อย่างคล่องแคล่ว
แต่ถ้าเป็น 4 ปีกว่าก่อนหน้านี้ ประวิทย์คงพูดเรื่องกาแฟมากไม่ได้เท่านี้
เพราะธุรกิจที่เขาทำอยู่เดิมคือธุรกิจไอที ในชื่อบริษัทโปร-ลายน์ จำกัด มีบริษัทที่ดูแลอยู่แล้วในธุรกิจไอทีถึง
7 บริษัท และทุกบริษัทก็ดำเนินธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ เท่านั้น ทำให้ในขณะนั้นคงไม่มีใครคิดว่าคนที่ทำธุรกิจไอที
จะมาไยดีอะไรกับธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารมากนัก
"ประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผมอยากจะเปิดร้านกาแฟก็มองหา แล้วก็มาสนใจแบล็คแคนยอน
ซึ่งขณะนั้นมีสาขาแรกที่เชียงใหม่ ซึ่งยังไม่มีระบบ และการขยายงาน แต่มีการเสิร์ฟกาแฟที่อร่อยก็เลยติดต่อเจ้าของเดิม
คือ คุณสิงโต แล้วซื้อกิจการมาพัฒนาเป็นแฟรนไชส์และเพิ่มรายการอาหารเข้าไป
ทั้งไทย ตะวันตก ตะวันออก" ประวิทย์เล่าคร่าวๆ ถึงการสนใจซื้อกิจการแบล็คแคนยอนเข้ามาเป็นบริษัทที่
8 ในกลุ่มบริษัทโปร-ลายน์ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจเดิมไปคนละเรื่อง
เรียกได้ว่าประวิทย์เข้ามาในธุรกิจอาหารเพียงแค่อยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเองเท่านั้น
แต่เมื่อกิจการที่ซื้อมาเป็นร้านอาหาร ทำให้ประวิทย์ซึ่งไม่รู้เรื่องธุรกิจอาหารมาก่อนต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่
จากเดิมที่ประวิทย์มองเห็นว่า ธุรกิจทั้ง 2 เป็นเรื่องที่แตกต่างกันมาก
เพราะธุรกิจไอที เป็นเรื่องที่ผู้ขายผู้ให้บริการต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหาลูกค้าและลูกค้าที่พบก็เป็นลูกค้าระดับบริหาร
ในขณะที่ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ลูกค้าจะเข้ามาหาผู้ให้บริการ แต่กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนทุกระดับ
แต่ยังไม่ทันเกิดปัญหา ก็เป็นโชคดีของประวิทย์ที่มองออกแล้วว่า
"สิ่งที่เหมือนกัน และคิดว่าทำให้ผมประสบความสำเร็จ ก็คือการที่รู้ว่าทั้ง
2 ธุรกิจเหมือนกันตรงที่เป็นธุรกิจบริการ ก็เอาหัวใจบริการมาใช้ได้เหมือนกัน
จะต่างกันแค่ผลิตภัณฑ์"
ประวิทย์ยังพูดถึงข้อแตกต่างของธุรกิจทั้งสองอย่างว่าธุรกิจไอทีจะหนักกว่าร้านอาหาร
เพราะมูลค่าสูงเงินทุนก็สูง แต่ธุรกิจร้านอาหารลูกค้าเป็นฝ่ายเดินมาหา และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัว
ลงทุนสูงเพียงในระยะแรก แต่มีเงินสดเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ
ที่สำคัญธุรกิจอาหารก็มีข้อดีสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจแย่
ทุกธุรกิจแย่ แต่ธุรกิจอาหารแต่ละปียังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ
20-25% เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะคนไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็น "นักบริโภค"
ก็เป็นได้
ก่อนหน้าที่จะทำธุรกิจอาหาร ประวิทย์เคยเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการเองครั้งแรกเมื่อปี
2532 โดยตั้งบริษัทโปร-ลายน์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายมินิคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม
จากที่ก่อนหน้านั้นเขาเป็นลูกจ้างมากว่า 10 ปี โดยได้รับความช่วยเหลือจาก
ดร. ทนง พิทยะ ซึ่งประวิทย์ถือเป็นอาจารย์คนหนึ่งของเขา และมีตำแหน่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของกลุ่มโปร-ลายน์ด้วย
นับจากวันนั้นประวิทย์ก็ขยายงานโปร-ลายน์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องซอฟต์แวร์ที่จะใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ
จนมีบริษัทในเครือตอนนี้รวมแบล็คแคนยอนด้วยแล้วก็ 8 บริษัทด้วยกัน มีรายได้รวมทั้งกลุ่มประมาณ
400 ล้านบาท ในปี 2539 ที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายปี 2540 ไว้ที่ 650 ล้านบาท
เพราะเชื่อว่านวัตกรรมใหม่ๆ ในเรื่องของเทคโนโลยีจะยังเติบโตอีกมาก ส่วนรายได้ที่จะได้จากธุรกิจร้านอาหารแบล็คแคนยอนคาดว่าจะมีประมาณ
20% ของรายได้ทั้งหมด
"ปัจจุบันสถิติการดื่มกาแฟของคนไทยประมาณวันละ 1 แก้วเท่านั้น ในขณะที่สิงคโปร์ดื่มวันละ
3-4 แก้ว และ 5-6 แก้วในอเมริกา ดังนั้นกาแฟซึ่งเป็นพระเอกของร้านแบล็คแคนยอนก็มีโอกาสขยายตัวได้มาก
ซึ่งเราก็มีแผนจะคิดสูตรใหม่ที่เน้นกาแฟเอสเปรสโซ และคาปุชชิโน เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้เช่นเดียวกับแผนการผลิตกาแฟกระป๋องที่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก
เพราะรสชาติที่ลงกระป๋องยังไม่ได้รสชาติเดียวกับที่ดื่มกาแฟสดๆ อย่างที่ต้องการ"
ประวิทย์ กล่าว
การขยายแฟรนไชส์ของแบล็คแคนยอน ภายหลังจากที่ประวิทย์ทำแบล็คแคนยอนเป็นระบบ
ตั้งแต่เริ่มขายสาขาแรกเมื่อต้นปี 2537 จนถึงวันนี้ทั้งประเทศมีสาขารวม 40
สาขา ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และ 30 สาขาหลังเป็นสาขาที่ขยายภายหลังจากประวิทย์เข้ามาบริหาร
เป็นสาขาที่บริษัทบริหารเอง 6 สาขา
"ปีนี้เราก็ตั้งเป้าที่จะขยายเพียง 10 สาขา เพราะเราต้องการควบคุมคุณภาพร้าน
โดยค่าแฟรนไชส์ปัจจุบัน 4 แสนบาท ซึ่งถือเป็นค่าแฟรนไชส์ที่ถูกที่สุดในบรรดาแฟรนไชส์ร้านอาหาร
การขยายสาขาจะเน้นไปตามศูนย์การค้า เช่น เครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ โดยจะให้โอกาสแฟรนไชส์ก่อน
ถ้าไม่มีผู้บริหารก็จะเข้าไปลงทุนบริหารเอง เพราะการเปิดร้านในห้างมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่แพง"
ประวิทย์ กล่าว
พื้นที่ที่เหมาะกับร้านแต่ละประเภท ถ้าเป็นมุมกาแฟพื้นที่ควรจะประมาณ 25-50
ตร.ม. ใช้เงินลงทุนเริ่มแรกประมาณ 3 แสนบาท ร้านอาหารขนาดเล็ก พื้นที่ประมาณ
50-80 ตร.ม. แต่ถ้าเป็นร้านอาหารเต็มรูปแบบ จะต้องใช้พื้นที่ตั้งแต่ 80 ตร.ม.
ขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 200 ตร.ม. เพราะเงินลงทุนจะสูงเกินไป โอกาสคุ้มทุนลำบาก
ส่วนเงินลงทุนสำหรับร้านอาหารจะเริ่มต้นที่ 2-5 ล้านบาท ตามขนาดพื้นที่ ทั้งนี้ไม่รวมค่าพื้นที่
ซึ่งบริษัทจะแนะนำให้เซ้งเพราะจะคุ้มกว่าเช่าเป็นรายเดือน
ส่วนลูกค้าที่จะซื้อแฟรนไชส์ บริษัทจะพิจารณาจากความตั้งใจว่าผู้ซื้อจะบริหารเองหรือจ้างคนมาบริหาร
และดูเงินทุนด้วย
นับจากปี 2536 ที่ประวิทย์ซื้อกิจการมานั้น เขาได้ทำการปรับปรุงรูปแบบบริษัทให้เป็นระบบขึ้นมาก
ถือเป็นแฟรนไชส์ของคนไทยเพียงไม่กี่รายที่โดดเด่นเทียบเคียงแฟรนไชส์จากต่างประเทศได้
ซึ่งประวิทย์ก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้
บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ยังมีความคิดที่จะให้แบล็คแคนยอนเป็นแฟรนไชส์ของไทยที่จะขยายออกไปในต่างประเทศมานาน
แต่ยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ เพราะการคิดค้นระบบบริหาร ต้องพัฒนาขึ้นกว่าเดิม
โดยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าประวิทย์จะว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาวางระบบบริหาร
เพื่อไปแข่งกับแฟรนไชส์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนจากธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีสาขาทั้งในอเมริกาและเอเชีย
เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงจะเริ่มขยายแฟรนไชส์ให้เฉพาะประเทศในเอเชียด้วยกันก่อน
"ตอนนี้เรายังไม่พร้อมที่จะขยายไปต่างประเทศ ทั้งที่มีแผนมานานแล้ว
เพราะการจะขยายแฟรนไชส์สู่สากลได้ ระบบเราก็ต้องปรับให้เป็นสากลก่อน เช่น
คู่มือต้องเป็นภาษาอังกฤษ ต้องละเอียด ข้อกำหนดที่มีต้องควบคุมคุณภาพและระบบต่างๆ
ได้ดี" ประวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประวิทย์ เชื่อว่า ภายหลังจากที่พัฒนาในเรื่องระบบ ที่จะทำให้
"แบล็คแคนยอน" เป็นแฟรนไชส์ระดับสากลได้แล้ว แฟรนไชส์ไทยอย่าง
"แบล็คแคนยอน" คงจะมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันกับแฟรนไชส์ดังๆ จากต่างประเทศได้อย่างไม่น้อยหน้า
แล้วนั่น ก็น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยได้อีกอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน