สายการบินแห่งชาติฝรั่งเศส หรือ Air France ปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่หลังเก็บตัวเงียบเชียบมานาน
คราวนี้หันมาปรับเปลี่ยนเครื่องบินใหม่จากเครื่องแอร์บัสรุ่น 340-300 มาเป็นโบอิ้งรุ่น
747-400 ซึ่งสามารถจุผู้โดยสารได้มาขึ้นกว่าครึ่ง หลังจากที่พบว่าตลาดนักเดินทางไทยมีการเติบโตสูงมากขึ้นๆ
ทั้งที่เป็นนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งได้ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก
และการบริการต่างๆ ภายในเครื่อง (in-flight product & service) เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้โดยสารอย่างเต็มกระบวนทัพ
โดยเครื่องบินรุ่นใหม่นี้ได้ฤกษ์ทะยานสู่ท้องฟ้าไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม
ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันปิดรอบบัญชีงบประมาณ 1996 ของแอร์ฟรานซ์ด้วย
"ตลาดเมืองไทยมีการเติบโตค่อนข้างเร็ว เราจึงตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องบินใหม่เป็นเครื่องบินโบอิ้ง
747-400 แทนแอร์บัส ซึ่งก็หมายความว่าเราสามารถบรรทุกคนได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ
50% เหตุผลที่เราต้องเปลี่ยนเครื่องก็เพราะว่ากำลังความสามารถของเรามีไม่เพียงพอกับความต้องการ
ซึ่งมียอดการจองที่นั่ง หรือที่เรียกว่า load factors คือยอดการจองที่นั่งจากรุงเทพฯ-ปารีสเต็มตลอด
โดยเมื่อปีที่แล้วมีตัวเลขการจองเกินมากถึง 80% โดยเฉพาะบางวัน อย่างวันศุกร์ยอดการจองสูงขึ้นถึง
88% ดังนั้นเราจึงตัดสินใจเพิ่มกำลังความสามารถ" เบอร์นาร์ด โอเบรอตง
(Bernard Aubreton) ผู้จัดการใหญ่สายการบินแอร์ฟรานซ์ ประจำประเทศไทย กัมพูชา
ลาว และพม่า กล่าวถึงที่มาของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้แอร์ฟรานซ์มีขีดความสามารถรับผู้โดยสารในชั้น
1 ที่ตั้งชื่อใหม่ว่า เลส์ปาส 180 (L'Espace 127) 56 ที่นั่ง และชั้นประหยัดที่มีชื่อว่าเทมโป
(Tempo) อีก 321 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 390 ที่นั่ง จากเดิมที่บรรทุกได้เพียง
256 ที่นั่งเท่านั้น
สายการบินแอร์ฟรานซ์เข้ามาเปิดเส้นทางการบินในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ
64 ปีที่แล้ว ปัจจุบันให้บริการเที่ยวบินตรงจากรุงเทพฯ-ปารีส และปารีส-กรุงเทพฯ
ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีบริการบินต่อ ยังที่หมายอื่น (connecting flight) ทั่วยุโรป
และไปยังฮานอย และโฮจิมินห์ อีกด้วย
ความก้าวหน้าของสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับยุโรปที่เริ่มคึกคักมากขึ้นหลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรปในไทยเมื่อปีที่แล้ว
ทำให้มีนักธุรกิจไทยและยุโรปเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจระหว่างกันมาขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และแอร์ฟรานซ์
ผู้ซึ่งจัดตัวเองเป็นสายการบินยุโรปตามระดับการรยมตัวของกลุ่มประเทศยุโรปที่ล้ำหน้าเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบันก็ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
นอกจากนี้ มาตรฐานความเป็นอยู่ ตลอดจนถึงทัศนคต ิและรสนิยมของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของประเทศโดยหันมานิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น
ก็ยังช่วยเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการบินเช่นกัน โดยเฉพาะฝรั่งเศส ถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวไทยที่ชื่นชอบการชอปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ
"เราพิจารณาแอร์ฟรานซ์เป็นสายการบินของยุโรปแทนที่จะเป็นเพียงสายการบินของฝรั่งเศสอย่างเดียว
เพราะเราบินทั่วยุโรป โดยได้พัฒนาบริการการบินต่อไปยังจุดหมายอื่น (connecting
flight) ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเราได้จับมือกับสายการบินคอนติเนนตัล ของสหรัฐฯ
เราพยายามที่จะจัดทำ connecting flight ให้ได้มากเท่าที่จะทำได้เพราะเป็นนโยบายหลักของเรา
โดยในยุโรปคุณสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้ถึง 50 แห่งนอกเหนือจากปารีส
เราไม่ใช่สายการบินที่บินเฉพาะกรุงเทพฯ-ปารีส แต่ยังไม่ถึงแฟรงเฟิร์ต และที่อื่นๆ
อีก 50 แห่ง ขณะเดียวกันยุโรปและฝรั่งเศสก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวไทย
ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำก็คือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในเครื่อง
(in-flight product) ให้ดีขึ้น ซึ่งเราได้เริ่มลงมือทำมาตั้งแต่ปี 1995 แล้วไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงที่นั่งผู้โดยสารให้ดีขึ้น
เพื่อเพิ่มความนิยมให้มากขึ้น" อดีตผู้ช่วยรองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการใหญ่ในเมืองไทยเมื่อเดือน
พ.ย. 1995 เปิดเผยถึงแนวทางของแอร์ฟรานซ์
นับจากนี้ไปกลยุทธ์การตลาดของแอร์ฟรานซ์ภายใต้การดูแลของโอเบรอตงจะเน้นจับลูกค้านักธุรกิจทั้งชาวไทยและเทศเป็นสำคัญเพราะตลาดนี้กำลังขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
โดยที่ผ่านมารายได้ของแอร์ฟรานซ์ประมาณ 45% มาจากชั้น 1 และชั้นธุรกิจ
แต่อย่างไรก็ตามแอร์ฟรานซ์ก็ไม่ละเลยตลาดนักท่องเที่ยว เพราะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งแอร์ฟรานซ์ได้มีการปรับปรุงการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารชาวไทย
โดยไม่เพียงแต่เสนออาหาร และไวน์ฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังมีอาหารไทยตลอดจนถึงมีหนังสือพิมพ์-นิตยสารภาษาไทยไว้คอยบริการนักเดินทางชาวไทยทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับอีกด้วย
พร้อมกันนั้นในปีนี้แอร์ฟรานซ์มีแผนจะจัดหาภาพยนตร์ไทยเพื่อเป็นการเอาใจลูกค้าคนไทยโดยเฉพาะ
อีกทั้งยังมีโครงการที่จะจัดหาการบริการต้อนรับด้วยภาษาไทย (Welcome Service)
ที่สนามบินชาร์ล เดอ โกลล์ ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารชาวไทยในระหว่างการเปลี่ยนเครื่องที่ปารีสด้วย
นอกจานี้ แอร์ฟรานซ์ยังได้ทำการจัดตารางเวลาการบิน (schedule) ใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารมีความคล่องตัวในการเดินทางมากขึ้น
โดยเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ-ปารีส ออกเดินทางเวลา 22.50 น. ถึงปลายทางเวลา
06.00 น. ซึ่งโอเบรอตง ชี้แจงว่า เป็นความแตกต่างของแอร์ฟรานซ์เพราะสายการบินยุโรปอื่นๆ
มักจะจัดเที่ยวบินในเวลาเที่ยวคืน หรือหลังเที่ยงคืนออกไป
ด้านการบริการภายในเครื่อง ผู้โดยสารจะมีอิสระเสรี (freedom & autonomy)
มากขึ้นตามผลการสำรวจความต้องการของผู้โดยสารในเที่ยวบิน long flight โดยแอร์ฟรานซ์ได้ดำเนินการในชั้น
1 และชั้นธุรกิจใหม่ให้ความสะดวกสบายมากขึ้น มีพื้นที่กว้างมากขึ้น สามารถปรับเอนได้มากขึ้น
ซึ่งชั้น 1 สามารถเอนได้ถึง 180 องศา ชั้นธุรกิจปรับเอนได้ 127 องศา เพื่อให้เหมาะกับความจำเป็นของนักธุรกิจที่ต้องการใช้เวลาอย่างเต็มที่ระหว่างการเดินทาง
และตำแหน่ง 127 องศานี้ จากการศึกษาขององค์การนาซ่าสหรัฐฯ เป็นตำแหน่งที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี
"เราให้ความสำคัญกับ freedom and autonomy ด้วย โดยผู้โดยสารไม่จำเป็นจะต้องถามหาทุกสิ่งทุกอย่างระหว่างการเดินทางอันยาวนาน
แต่คุณจะสามารถจัดการเวลาของคุณด้วยตัวเอง เพราะเราได้จัดหาจอภาพวิดีโอส่วนตัว
หูฟังที่ปลอดจากเสียงเครื่องยนต์รบกวน โทรศัพท์ผ่านดาวเทียมไว้ในทุกที่นั่ง
ขณะเดียวกันก็เพลิดเพลินกับอาหารและของขบเคี้ยว หรือห้องสูบบุหรี่ที่จัดเตรียมไว้ให้เป็นพิเศษ
โดยมี smoker lounge สำหรับชั้น 1 และชั้นธุรกิจ และมี smoker area สำหรับผู้โดยสารชั้นประหยัด
ทั้งนี้เราได้พัฒนาแนวคิดที่จะทำให้อากาศในห้องโดยสารสะอาด และบริสุทธิ์
โดยที่คุณไม่ต้องหยุดสูบบุหรี่เพียงแต่สูบในที่ที่จัดไว้ ซึ่งจะมีเครื่องดูดอากาศนี้ออกไปข้างนอก
เราลงทุนค่อนข้างมากกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ โดยเฉพาะในไฟลท์ที่ต้องเดินทางยาวนาน"
โอเบรอตง ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้เข้ามาเจาะตลาดการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอร์ฟรานซ์ในยุคที่แรงกดดันจากนโยบายเปิดน่านฟ้า
(open sky) กำลังแรงขึ้นทุกขณะ กล่าวถึงความสะดวกสบายที่ผู้เดินทางด้วยสายการบินแอร์ฟรานซ์
โดยเฉพาะในชั้น 1 และชั้นธุรกิจจะได้รับ
นอกเหนือจากการพัฒนา และปรับปรุงการอำนวยความสะดวกภายในเครื่องแล้ว แอร์ฟรานซ์ยังได้ชูสนามบินชาร์ล
เดอ โกลล์ ฝรั่งเศสให้เป็นศูนย์กลางการบินของยุโรป (Hub) หรือเป็นประตูสู่ทวีปยุโรป
ซึ่งทางแอร์ฟรานซ์ได้จัดเตรียมข้อเสนอในการต่อเครื่องไปยังที่หมายอื่นในยุโรปที่ง่าย
และสะดวกเมื่อเทียบกับสนามบินอื่นๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลานานและเดินไปต่อเครื่องเป็นระยะทางที่ไกลทีเดียว
"เราต้องการจะพัฒนาจุดนี้ให้ถึงขั้นที่ว่า คิดถึงปารีสเมื่อต้องต่อเครื่อง
ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน เพราะคุณสามารถต่อเครื่องได้โดยใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น"
ตามความคิดเห็นของโอเบรอตง การแข่งขันระหว่างสายการบินยุโรปในปัจจุบันมีความเข้มข้นมาก
เพราะแต่ละสายการบินให้บริการไม่แตกต่างกันมากนัก ราคาตั๋วก็ใกล้เคียงกัน
และส่วนใหญ่ก็มีเที่ยวบินทุกวัน ทว่าจุดแตกต่างนั้นอยู่ที่การให้บริการต่อเครื่องไปยังจุดหมายปลายทางอื่นที่ดี
"ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจไทยต้องการไปยุโรป ถ้าคุณต้องการไปปารีสคุณก็เลือกแอร์ฟรานซ์
หรือการบินไทยแน่นอนเพราะเป็นบินตรง ถ้าคุณต้องการไปลอนดอนคุณมีโอกาสที่จะลือกบริติชแอร์เวย์แต่ถ้าคุณเลือกไปยังจุดหมายอื่นมีสายการบินไม่มากนักที่ให้บริการบินตรง
เช่นไปเจนีวา บาเซโลน่า หรือมิลาน ดังนั้นคุณก็ต้องเลือกสายการบินที่มีการต่อเที่ยวบินที่ดี
ซึ่งนี่คือจุดสำคัญ บางทีเราอาจจะต้องแข่งกับสนามบินแฟรงเฟิร์ต อัมสเตอร์ดัม
หรือซูริค ที่เสนอการต่อเที่ยวบินเหมือนกัน ผมคิดว่าตอนนี้เรากำลังแข่งขันกันในเรื่องของ
gateway และสายการบินยุโรปทุกสายก็เป็นคู่แข่งของเราหมด เพราะยุโรปเป็นตลาดใหญ่ในการทำธุรกิจ"
เนื่องจากแอร์ฟรานซ์เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีแผนที่จะแปรรูปให้เป็นบริษัทเอกชน
(privatization) ในปี 1998 จึงทำให้การตัดสินใจหรือการเคลื่อนไหวในทางธุรกิจเป็นไปอย่างล่าช้า
เมื่อเทียบกับสายการบินแห่งอื่นที่รุกคืบล่วงหน้าไปก่อนและเพื่อเตรียมการรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
โอเบรอตง จึงวางนโยบายให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้ไข และปรับปรุงปัญหาต่างๆ
ที่คั่งค้าง "การแปรรูปจะทำให้เรามีช่องที่จะแข่งขัน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี
เพราะสิ่งต่างๆ จะดูแปลกตาไป และยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่อลูกค้า และต่อพนักงาน"
ต่อแต่นี้ไปเราคงจะได้เห็นแอร์ฟรานซ์ลุยลงสู่สนามอย่างเต็มตัวและเต็มที่เสียที
เพราะเค้กในตลาดไทยยังเหลืออยู่อีกโข ซึ่งโอเบรอตงในฐานะนักจัดวางกลยุทธ์คนสำคัญของแอร์ฟรานซ์ได้เตรียมความพร้อมไว้ในใจแล้ว