Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2548
อวสานรองเท้าหรู             
โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
 


   
search resources

Leather Goods
Charles Jourdan




ในทศวรรษ 70 นั้นยี่ห้อหรูยังไม่ได้กล้ำกรายเข้ามาในสังคมไทยนัก จำได้ว่าร้านค้าบางแห่งนำเครื่องหนังยี่ห้อดังเข้ามาขาย เช่นร้าน Why Not มีสาขาที่ราชดำริอาเขตและสยามเซ็นเตอร์ เคยไปได้เข็มขัดตอนลดราคาโดยตกสังเกตว่าเส้นหนึ่งเป็น Etienne Aigner อีกเส้นหนึ่งเป็น Gucci ภายหลังย่านสยามสแควร์มีร้านประเภทเดียวกับร้าน Why Not ในช่วงเดียวกันห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ถือเป็นห้างหรูสุด เครื่องหนังและเครื่องถ้วยชามสวยจนต้องเข้าไปเมียงมองบ่อยๆ น่าเสียดายที่เลิกกิจการไป เพื่อทุบตึกทิ้งและสร้างตึกใหม่

ร้าน "พธู" มีรองเท้าสวยราคาแพงและแล้ววันหนึ่ง "พธู" ซื้อไลเซนส์ของชาร์ลส์ จูร์ดอง (Charles Jourdan) เพื่อผลิตรองเท้าในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าคุณภาพของชาร์ลส์ จูร์ดองโดย "พธู" นั้นดีจริงๆ รูปแบบสวยและหนังมีคุณภาพ ไปเมียงมองบ่อยครั้งแล้วถอยฉาก ด้วยว่าราคาสูงมาก ประกอบกับส้นรองเท้าสูงมากเกินกว่าที่จะคอนได้ รองเท้าชาร์ลส์ จูร์ดอง ครองตลาดอยู่นานจวบจนเมื่อรองเท้าแบรนด์เนม ยี่ห้ออื่นๆ เข้ามาเปิดตลาดในไทย ทำให้ชาร์ลส์ จูร์ดองออกจะแผ่วไป ไม่ทราบว่าในปัจจุบันยังคงรูปแบบและคุณภาพได้ดุจเดิมหรือไม่

ในฝรั่งเศสนั้น ชาร์ลส์ จูร์ดองแทบจะหายไปจากวงการแฟชั่น ต่อเมื่อได้แพทริค คอกซ์ (Patrick Cox) ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษมาออกแบบ ให้ รูปแบบรองเท้าเริ่มแปลกใหม่ กระตุ้นให้รองเท้าดังยี่ห้อนี้กระเตื้องขึ้นระยะหนึ่ง หลังจากนั้นเริ่มซบเซาอีก และแล้วเห็นข่าวชาร์ลส์ จูร์ดองประกาศหยุดจ่ายหนี้และยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ขอเวลา 6 เดือนในการหาผู้ซื้อกิจการ ชาร์ลส์ จูร์ดอง มีบริษัทในเครือ 3 แห่งด้วยกันคือ Charles Jourdan Industrie ซึ่งดูแลการผลิต Charles Jourdan France ดูแลการตลาดและการบริหาร และ Sodepar ดูแลการจำหน่ายและร้านค้า

ความเสื่อมถอยของชาร์ลส์ จูร์ดองเริ่มในทศวรรษ 90 เมื่อฟรานซ์ วัสแมร์ (Franz Wassmer) นักธุรกิจชาวสวิสที่ซื้อกิจการไปไม่สามารถทำให้ยี่ห้อรองเท้านี้กลับมาผงาดในยุทธจักรได้ จึงขายกิจการ Charles Jourdan Holding ต่อให้ Lux Diversity ของลุกซองบูรก์ในเดือนกันยายน 2003 โดยมีผู้บริหารใหม่ของ Charles Jourdan Holding คือมิเชล เดอ ตาโปล (Michel de Tapol) และคริสตอฟ เบรองเจร์ (Christophe Beranger) หากไม่ว่าจะปรับปรุงกิจการอย่างไร สถานการณ์ของชาร์ลส์ จูร์ดองก็มิได้กระเตื้องขึ้น จนบริษัทหยุดจ่ายหนี้ในปี 2005

อันที่จริงการบริหารที่ขาดความโปร่งใส ย่อมเป็นที่มาของความเสื่อมถอย ด้วยว่าในปี 2004 Charles Jourdan Holding ตั้งบริษัทลูกขึ้นอีกคือ Charles Jourdan International Paris เพื่อดูแลไลเซนส์ของรองเท้าและส่วนประกอบแฟชั่นอื่นๆ โดยที่ให้ Charles Jourdan France ดูแลแต่ยี่ห้อรองเท้าในฝรั่งเศสเท่านั้นในปีแรก Charles Jourdan International Paris ซึ่งมีพนักงานเพียง 4 คน มีผลประกอบการประมาณ 6 แสนยูโร ในขณะที่ Charles Jourdan France ซึ่งเป็นจักรกลของยี่ห้อนี้และมีพนักงานนับร้อยคนกลับมีรายได้ลดน้อยลง จาก 1.8 ล้านยูโร ในปี 2003 เหลือเพียง 310,000 ยูโร ในปี 2004 ผู้บริหารทั้งสองแก้ปัญหาด้วยการปิดหรือขายร้านไป ร้านชาร์ลส์ จูร์ดอง ย่านชองเซลีเซส (Champs-Elysees) จึงต้องปิดตัวไปทั้งๆ ที่ทำรายได้ถึง 30-40% ของรายได้ที่ทำได้ในฝรั่งเศสทั้งหมด บริษัทได้เงินคืนจากการบอกคืนร้านแก่เจ้าของเพียง 5.2 ล้านยูโร ในขณะที่ร้านเสื้อผ้า Promod ซึ่งเช่าที่ต่อต้องจ่ายเงินถึง 20 ล้านยูโร

งบโฆษณาของชาร์ลส์ จูร์ดองลดลงระหว่างปี 2003-2004 ทำให้รายได้ลดลง 11% เมื่อสิ้นปี 2004 สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายในไตรมาสแรกของปี 2005 ในขณะเดียวกันบริษัทลูกของ Charles Jourdan Holding ในสหรัฐ อเมริกาคือ Charles Jourdan USA ก็ประสบปัญหา คริสตอฟ เบรองเจร์เสนอให้ Charles Jourdan France ซึ่งมีสถานะทางการเงินไม่มั่นคงนัก สำรองจ่ายเงินจำนวน 500,000 ดอลลาร์ แก่ Charles Jourdan USA ในปลายปี 2004 ผู้บริหารของบริษัท 3 คนถูกให้ออกจาก งานด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ทว่าสองเดือนก่อน ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ กล่าวคือในเดือนมิถุนายน 2005 คริสตอฟ เบรองเจร์กลับแต่งตั้งภรรยาของตนเป็นเลขาธิการของบริษัทอันเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่

ในปัจจุบันกลุ่มบริษัทชาร์ลส์ จูร์ดองมีหนี้สินประมาณ 10 ล้านยูโร การเกิดใหม่ในยุทธจักรคงยากที่จะเป็นไปได้ เหลือแต่ชื่อเสียงเดิมๆ และภูมิปัญญาในการผลิตที่อาจเป็นเหตุจูงใจนักธุรกิจให้ซื้อกิจการต่อในเวลาใกล้เคียงกัน สเตฟาน เคลีออง (Stephane Kelian) รองเท้าหรูอีกยี่ห้อหนึ่งประกาศเลิกกิจการ รองเท้ายี่ห้อสเตฟาน เคลีอองตั้งขึ้นในทศวรรษ 60 เป็น ยี่ห้อหรูที่ขายดี ทว่าประสบปัญหาการเงินในทศวรรษ 90 จนต้องขอปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2002 ผู้ซื้อกิจการต่อคืออแลง ดูเมอนิล (Alain Dumenil) ของกลุ่ม Smalto ซึ่งเป็นเจ้าของเสื้อ สำเร็จรูปบุรุษฟรานเชสโก สมัลโต (Francesco Smalto) ซึ่งรวมห้องเสื้อหลุยส์ เฟโรด์ (Louis Feraud) และฌอง-หลุยส์ แชแรร์ (Jean-Louis Scherrer) ด้วย อแลง ดูเมอนิล เพิ่งซื้อห้างเพชร ปัวเรย์ (Poiray) ในเดือนเมษายน 2005 โดยหวังจะหันมาทำธุรกิจสินค้าหรู แต่แล้วในเดือนธันวาคม 2002 อแลง ดูเมอนิลขายกิจการรองเท้า สเตฟาน เคลีอองแก่บริษัทลูกในเบลเยียม

ก่อนการประกาศเลิกกิจการ บริษัทได้ขน ย้ายรองเท้าซึ่ง Stephane Kelian Production เป็นผู้ผลิตนับ 10,000 คู่ไปยังเยอรมนี เป็นการบอกนัยๆ ว่าหากจะมีการฟื้นฟูกิจการ จะย้ายการผลิตไปจากเมืองโรมองส์ ทั้งชาร์ลส์ จูร์ดองและสเตฟาน เคลีอองต่างมีฐานการผลิตที่เมืองโรมองส์-ซูร์-อิแซร์ (Romans-sur-Isere) เมื่อต้องเลิกกิจการไป ทำให้ชาวเมืองเดือดร้อนจากการตกงาน ปัญหาของรองเท้าสองยี่ห้อนี้จึงกลาย เป็นปัญหาที่รัฐต้องเข้าแก้ไข รัฐมนตรีอย่างน้อยสามคนคือรัฐมนตรีว่าการการจ้างงาน และความสมัครสมานในสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านแรงงานและรัฐมนตรีช่วยว่าการอุตสาหกรรม ต่างร่วมประชุมกับผู้แทนราษฎรของเมืองนี้ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผู้แทนของหอการค้า และผู้แทนของพนักงานของรองเท้าสองยี่ห้อนี้พร้อมกับแผนรองรับ ฌอง-หลุยส์ บอร์โล (Jean-Louis Borloo) รัฐมนตรีว่าการการจ้างงานและความสมัครสมานในสังคมมาพร้อมมาตรการช่วยเหลือทางสังคม เช่นการให้พนักงานได้รับเงินเดือน 80% เป็นเวลา 8 เดือนและการฝึกอบรมเพื่อเตรียมรับงานใหม่ การตั้งหน่วยงานจัดหางานที่จะครอบคลุมไปถึงพนักงานที่ถูกไล่ออกตั้งแต่ปี 2002 และยังหางานใหม่ไม่ได้ อีกทั้งจะให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุนชักชวนให้นักลงทุนต่างประเทศที่ประสงค์มาลงทุนในฝรั่งเศสหันมาลงทุนในภูมิภาคนี้

นอกจากนั้นรัฐยังให้การสนับสนุนการผลิตรองเท้าและการฟอกหนัง ศูนย์เทคนิคด้านหนังที่เมืองลิอง (Lyon) ได้รับงบประมาณ 9 ล้านยูโรเพื่อการวิจัยและการอบรม ผู้ผลิตรองเท้าจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน 10% แทนที่จะเป็น 5% จาก "เงินทุนเพื่อการสร้างสรรค์" (Credit d'impot creation) เพื่อผลิตรองเท้าคอลเลกชั่นใหม่ นอกจากนั้นฌอง-หลุยส์ บอร์โลยังประชุมกับสหพันธ์ผู้ผลิตรองเท้าเพื่อหามาตรการความช่วยเหลือแก่การวิจัยและการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ

อันที่จริงธุรกิจรองเท้าฝรั่งเศสมีปัญหามา 30 ปีแล้วเมื่อดูจากจำนวนพนักงานที่ลดจาก 100,000 คนเหลือเพียงไม่กี่พันคน ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากการหลั่งไหลเข้าประเทศของสินค้าจีน เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจสิ่งทอ

โรมองส์-ซูร์-อิแซร์ยังเป็นแหล่งผลิตรองเท้ายี่ห้อโรแบรต์ แคลร์เจอรี (Robert Clergerie) ด้วย ฝ่ายนี้เห็นว่าไม่ถูกต้องที่จะกล่าวว่าผลิตภัณฑ์จากจีนทำให้เครื่องหนังสองยี่ห้อดังกล่าวต้องถึงกาลอวสาน โรแบรต์ แคลร์เจอรีเห็นว่าน่าจะเป็นผลมาจากการบริหารการเงิน ที่ผิดพลาดมากกว่า ด้วยว่าจีนยังไม่พร้อมที่จะผลิตรองเท้าคุณภาพสูงที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษและต้องเปลี่ยนแบบทุกๆ 6 เดือน

โรแบรต์ แคลร์เจอรี ผลิตรองเท้า 150,000-160,000 คู่ต่อปีเมื่อเทียบกับ 240,000 คู่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และส่งออก 70% เขาขาดทุนในปี 2004 เมื่อผลประกอบการลดลงเหลือ 25 ล้านยูโรในขณะที่ในปี 1999-2000 เป็น 33.5 ล้านยูโร รองเท้ายี่ห้อโรแบรต์ แคลร์ เจอรีก่อตั้งในปี 1978 เมื่อโรแบรต์ แคลร์เจอรีซึ่งเป็นผู้บริหารของชาร์ลส์ จูร์ดองลาออกไปซื้อ Unic โรงงานเล็กๆ ที่ผลิตรองเท้าผู้ชาย เมื่ออีฟส์ แซงต์-โลรองต์ (Yves Saint-Laurent) ออกแบบ ชุดสโมกกิ้งสำหรับผู้หญิง โรแบรต์ แคลร์เจอรีนำแบบรองเท้าชื่อ Richelieu ที่เขาออกแบบให้บุรุษมาทำเป็นรองเท้าสตรีในปี 1980 และกลาย เป็นแบบรองเท้าขายดี

ในปี 1996 บริษัทลูกของ Banque Populaire เข้าบริหารบริษัทของเขาโดยที่เขาเป็นที่ปรึกษา การร่วมงานกับอลัน เวด (Alan Wade) เป็นไปด้วยดี ต่อเมื่อบริษัทโรแบรต์ แคลร์เจอรี ถูกขายไปอีกทอดหนึ่งในปี 2000 สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลง อลัน เวดถูกไล่ออก และโรแบรต์ แคลร์เจอรีเกษียณตัวเองโดยยังถือหุ้นอยู่ 16% การบริหารงานของผู้บริหารใหม่ทำให้บริษัทเกิด ปัญหาสภาพคล่อง โรแบรต์ แคลร์เจอรีจึงต้องยื่นมือเข้ามาเจรจาจ่ายหนี้และเข้าบริหารบริษัทที่ใช้ชื่อตนเองอีกครั้งหนึ่งขณะอายุ 70 ปี

โรแบรต์ แคลร์เจอรีมีพนักงานประมาณ 200 คน จำนวนครึ่งหนึ่งทำงานในโรงงานผลิตโรแบรต์ แคลร์เจอรีเห็นว่า จำเป็นยิ่งที่เขาจะดูแล การออกแบบเองปีละประมาณ 100 แบบ และต้องทดสอบว่ารองเท้าแบบต่างๆ นั้นสวมได้ โดยไม่มีปัญหา เขาเห็นว่ารองเท้าหรูนั้นมีตลาดที่จำกัดมากทั้งในและนอกประเทศ จึงจำต้องพึ่งพา การส่งออก อีกทั้งต้องมีการเตรียมคอลเลกชั่นใหม่ล่วงหน้า 1 ปี และจะยิ่งดีหากสามารถผลิต รูปแบบรองเท้าที่ยี่ห้อไม่สามารถผลิตได้

รองเท้าของโรแบรต์ แคลร์เจอรีมีรูปแบบ ที่แปลกกว่ายี่ห้ออื่นๆ ด้วยลักษณะเหมือนเรือ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของยี่ห้อนี้ ในปัจจุบันหลายยี่ห้อพยายามเลียนแบบ หากไม่โก้เท่า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us