|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2548
|
|
หากเป็นเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ชื่อและบทบาทของ Odaiba คงมีความโดดเด่นในฐานะที่เป็นด่านหน้าในการปกป้องพิทักษ์การรุกรานจากกองกำลังต่างชาติ แต่สำหรับห้วงเวลาปัจจุบัน Odaiba กำลังเป็นตัวอย่างของเมืองที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตแห่งสหัสวรรษใหม่ ได้อย่างน่าสนใจติดตาม
ความเป็นมาและเป็นไปของ Odaiba เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 1853 โดยรัฐบาลของโชกุน Tokugawa ได้ถมสร้างเกาะกลางอ่าวโตเกียว รวม 6 แห่ง เพื่อใช้เป็นป้อมปราการ (fortress) สำหรับป้องกันภัยคุกคามจากกองกำลังทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองกำลังของ Commodore Matthew Perry (Matthew Calbraith Perry : 1794-1858) แห่งกองทัพ เรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังขยายและแสวงอิทธิพลในเอเชียตะวันออกไกล
แต่ป้อมปราการที่ติดอาวุธเหล่านี้ไม่สามารถทัดทานสรรพกำลังของ Matthew Perry ได้และเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องลงนามในอนุสัญญา Kanagawa (Convention of Kanagawa : 31 March 1854) ที่นอกจาก จะบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดเมือง Shimoda และ Hakodate ให้สหรัฐอเมริกา เข้าใช้ประโยชน์ เป็นท่าเรือแล้ว กรณีดังกล่าวยังเป็นปฐมบทของการเปิดประเทศญี่ปุ่นให้อิทธิพลของต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา
ป้อมปราการเหล่านี้ถูกทิ้งร้างให้กลาย เป็นเพียงประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ที่รางเลือน ก่อนที่ในปี 1928 พื้นที่บางส่วนของ Odaiba ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ พร้อมกับการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมและใช้ประโยชน์ในฐานะที่เป็นสวนสาธารณะ กลางน้ำ โดยมีปืนใหญ่เป็นองค์ประกอบสำคัญ และทำให้ Odaiba เป็นที่รู้จักและได้รับการเรียกขานในฐานะของ Daiba (ปืน ใหญ่ : cannon) อีกชื่อหนึ่งด้วย
กระนั้นก็ดี พัฒนาการของ Odaiba ที่ก่อรูปเป็นพื้นฐานให้เกิดเป็น Odaiba ในปัจจุบัน เริ่มขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นประสบผลสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Exposition เมื่อปี 1985 ที่เมือง Tsukuba (EXPO'85 TSUKUBA) ซึ่งมีแนวคิดหลักอยู่ที่การแสดงความก้าวหน้าในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาล ญี่ปุ่น วางเป้าหมายการพัฒนา Odaiba ไว้ที่การเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบใหม่ในอนาคต (futuristic living) ที่เน้นการใช้วิทยาการสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของ Odaiba และอ่าวโตเกียว ด้วยการถมทะเลและสร้างเกาะ (artificial island) นี้มากถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางความมหัศจรรย์ของการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของญี่ปุ่นที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงปลายทศวรรษ 1980
แม้ว่าการก่อสร้าง Rainbow Bridge สะพานแขวนซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมระหว่าง Odaiba เข้ากับผืนแผ่นดินกรุงโตเกียวเสร็จสิ้น ในปี 1993 และกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของอ่าวโตเกียว ในเวลาต่อมา ขณะที่รถไฟสาย Yurikamome ซึ่งเชื่อมการสัญจรระหว่างพื้นที่ใน Odaiba กับสถานี Shinbashi ย่านธุรกิจสำคัญของกรุงโตเกียว เริ่มเปิดให้บริการ ตั้งแต่ปี 1995 แล้วก็ตาม
แต่ผลพวงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 (economy bubble burst : 1991) ทำให้การ พัฒนาพื้นที่ Odaiba ต้องชะงักงัน และทำให้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของ Odaiba ในห้วงเวลาดังกล่าว ยังมีสภาพเป็นเพียงผืนแผ่นดินรกร้างที่ไม่มีผู้ใดเข้าใช้ประโยชน์ และทำให้ความมุ่งหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะให้ Odaiba เป็น showcase แห่งสหัสวรรษใหม่เลือนรางลงไปด้วย
กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดความกังวลว่า การลงทุนพัฒนา Odaiba จะดำเนินซ้ำรอยความล้มเหลวของ Canary Wharf โครงการ พัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ของอังกฤษ ซึ่งต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างหนักในช่วงต้นของทศวรรษ 1990
ในปี 1996 การปรับเปลี่ยนผังเมืองและ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้ Odaiba เป็นเขตพื้นที่ pure business ให้สามารถใช้ประโยน์ทั้งในเชิงพาณิชยกรรม (commercial) และสันทนาการ (entertainment) ได้จุดประกายและต่อเติมลมหายใจให้กับ Odaiba ที่กำลังรวยรินให้กลับมามีชีวิตชีวาตามเป้า ประสงค์เดิมอีกครั้ง
การย้ายสำนักงานใหญ่ของ FUJI TV เข้ามาอยู่ใน Odaiba เมื่อปี 1997 ภายใต้อาคารรูปทรงล้ำสมัยแปลกตา ซึ่งออกแบบโดย Kenzo Tange (4 September 1913-22 March 2005) สถาปนิกระดับแนวหน้าของ ญี่ปุ่น ซึ่งได้ฝากผลงานไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Peace Memorial Park เมือง Hiroshima หรืออาคาร Tokyo Metropolitan Govern-ment ได้เติมแต้มสีสันใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นไม่ เฉพาะกับ Odaiba เท่านั้น หากอาคารดังกล่าว ทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ของการมุ่งสู่อนาคต ที่เป็น conceptual framework ให้กับ Odaiba ไปพร้อมกันด้วย
กลุ่มอาคารที่ปรากฏขึ้นหลากหลายในเวลาต่อมา ได้กระจายเข้าครอบคลุมพื้นที่ขนาดกว้างใหญ่ของ Odaiba ภายใต้แนวความคิดที่ประกอบส่วนให้ Odaiba มีสภาพ ไม่แตกต่างไปจาก theme park ขนาดมหึมา ที่พร้อมสรรพและรอบด้าน โดยกิจกรรมและความเป็นไปใน Odaiba ได้สะท้อนให้เห็นรากฐานของมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งงอกเงยเหลื่อมซ้อนบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และอนาคต อย่างยากจะแยกออก และทำให้ Odaiba เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศเดินทางเข้าเยี่ยมชมไม่ขาดสาย
ความมีเสน่ห์และความน่าสนใจของ futuristic living ในแบบของ Odaiba ในด้านหนึ่งอยู่ที่การมิได้ยึดติดอยู่เฉพาะแนวคิดที่ตั้งอยู่บนฐานคติของความล้ำสมัยโดยลำพัง หากเป็นวิถีชีวิตที่มีลำดับขั้นของการพัฒนาที่ดำเนินไปอย่างมีรากฐานในลักษณะของ living culture ที่ไม่ได้อยู่ในภาวะหยุดนิ่ง (static) และประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น
บรรยากาศแบบ retrospective theme market เป็นสิ่งที่ได้รับการสะท้อนออกมาอย่างต่อเนื่องใน Odaiba และมิได้จำกัดอยู่เฉพาะมิติของความเป็นญี่ปุ่น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในกรณีของ Oedo Onsen Monogatari ที่จำลองบรรยากาศความเป็นไป ของสังคมในสมัย Tokugawa หรือ Daiba 1 Chome ซึ่งเป็น retro market ที่สะท้อนภาพของการหวนรำลึกถึงอดีตในยุคบ้านเมือง ดีในช่วงปี 1950-1960
หาก retrospective ของ Odaiba ยังแผ่ขยายครอบคลุมไปสู่การเป็นสถานที่แสดงบรรยากาศและความเป็นไปของเมืองสำคัญของโลกไม่ว่าจะเป็นย่าน Nathan Road ในฮ่องกง หรือแม้กระทั่ง Manhattan ในนิวยอร์ก ซึ่งทำให้ Odaiba เป็นประหนึ่งภาพจำลองของ global village ที่มีกระแสธารทางวัฒนธรรมหลากหลายได้ไหลมาผสานกลมกลืนกัน
บทบาทการเป็นด่านหน้าของ Odaiba ในวันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การปิดกั้นอิทธิพลจากต่างชาติ หากแต่ Odaiba กำลังเป็นหน้าต่าง ที่เปิดกว้างให้โลกและญี่ปุ่นได้มีโอกาสสัมผัสสัมพันธ์กันมากขึ้นในโลกที่ดำเนินไปอย่างมีพลวัตนี้
|
|
|
|
|