หากพูดถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจน ณ ปัจจุบัน
สิ่งที่ทุกคนเห็นกันโดยมาก คือ ภาพของธุรกิจที่ซบเซาแบบยาวนาน
ตลาดธุรกิจรับสร้างบ้าน ก็เป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งที่เกี่ยวพันโดยตรงกับตลาดรวมของอสังหาริมทรัพย์
ที่มีผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาไม่ต่างไปจากการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบอื่น
ๆ
"ช่วงปี พ.ศ. 2539 จากตัวเลขคร่าว ๆ ที่เราสำรวจตลาด มีบริษัทรับสร้างบ้านปิดตัวไปถึง
70 กว่าบริษัท จากจำนวนที่มีอยู่รวมทั้งรายเล็กรายใหญ่ประมาณ 200 บริษัท"
ภาคภูมิ กรีพลฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทราคาซ่า (Tera Casa) จำกัด
กล่าวในงานเปิดตัวของบริษัทครั้งแรกต่อสาธารณชน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
พร้อมทั้งกล่าวถึงบริษัทเทราคาซ่าว่า เป็นบริษัทในเครือของพรไพลิน กรุ๊ป
ซึ่งเปิดดำเนินการมา 3 ปี ก่อนหน้านี้ แม้จะตระหนักดีว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในช่วงซบเซาที่สุด
โดยพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกรรมการบริษัทฯ ให้เหตุผลของการเปิดตัวในภาวะเช่นนี้ว่า
การเปิดตัวบริษัทใหม่ บริษัทจะต้องคำนึงถึงความพร้อมและศักยภาพการรองรับการขยายตัวของกลุ่มเป็นหลักตามกำลังทุนทรัพย์ที่มีอยู่
โดยจะไม่เน้นการเสี่ยงลงทุนเกินตัว ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายรายประสบความล้มเหลว
แต่เมื่อบริษัทมีความพร้อม ตนจึงเชื่อว่า จะสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น
"เรามีน้อย ก็ทำกำไรพอสมตัว ไม่ลงทุนใหญ่โต เพราะถ้าลำพังตนเองดูแลรับผิดชอบไม่ไหว
ก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ และสิ่งที่เราหวังกับเทราคาซ่า ก็คือ เราอยากจะสร้างบ้านหรู
ๆ ดี ๆ เป็นจำนวนนับล้าน ๆ หลังต่อ เหมือนกับชื่อเทราคาซ่า ซึ่งมาจากภาษาอิตาลีว่า
หมายถึงบ้านเป็นล้านๆ หลังนั่นเอง" ประธานกรรมการ กล่าว
กลุ่มพรไพลิน ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เงียบ ๆ มานาน มีตระกูลไชยสิทธิ์
เป็นแกนหลัก โดยเริ่มจากพ่ลตำรวจตรีพลศรี ชวนไชยสิทธิ์ และทิพาพร ภรรยา ที่เริ่มจากธุรกิจซื้อขายที่ดนจนสะสมที่ดินเปล่าไว้มากจนต้องหันมาพัฒนาเอง
โดยเริ่มจากบ้านพรไพลิน เมื่อพ.ศ. 2528 ปัจจุบันมี พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ รุ่นลูกเป็นผู้ดูแลสืบต่อ
ปัจจุบัน กลุ่มพรไพลิน มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งกลุ่ม 38 ล้านบาท ประกอบด้วยบริษัทเทราคาซ่า
และบริษัทในเครืออีก 8 บริษัท ดังนี้
บริษัท พรไพลิน จำกัด พัฒนาหมู่บ้านพรไพลิน 1-8 บริษัท พี.เค.แมนชั่น จำกัด
บริหารเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ พี.เค.แมนชั่น บริเวณถนนลาดพร้าว บริษัทแม็กซิมบิลด์
จำกัด รับเหมาก่อสร้างงานโครงการและอาคารทั่วไป
บริษัท เรียลตี้ วัน เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด รับฝากซื้อขายบ้านและที่ดินภายใต้แฟรนไชส์ของบริษัท
อีอาร์เอ ประเทศไทย จำกัด
บริษัท แซนด์ แอนด์ สโตน จำกัด พัฒนาโครงการลาซาลพาร์ค (สุขุมวิท 105) ในรูปแบบคอนโดกลางสวน
และลาซาลพาร์ค วิลล์ ทาวน์เฮาส์ สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้กลางสูง ซึ่งโครงการดังกล่าว
เป็นโครงการที่ทำให้กลุ่มพรไพลินเป็นที่รู้จักและเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดตัวมาในวันนี้
ด้วยการสร้างความตื่นตัวให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ เมื่อปี 2538 กับโปรโมชั่นจอง
1 บาท
บริษัท สแกนคอร์ป จำกัด ทำธุรกิจเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมการผลิต
สิ่งแวดล้อม และการก่อสร้าง บริษัท ไชยบูรณ์ สถาปัตย์ จำกัด ดูแลโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าพรไพลิน
บิสซิเนส พ้อยท์ บิวดิ้ง ในซอยสุขุมวิท 77 และบริษัท ศรีสุมิตร บ้านและที่ดิน
(1987) จำกัด ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมพานีของกลุ่ม
เพื่อให้แตกต่างจากบริษัทรับสร้างบ้านอีกกว่า 100 บริษัทที่เหลืออยู่ในตลาด
เทราคาซ่า จึงเน้นเปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยจุดขาย 3 ประการ คือ หนึ่ง -
แบบบ้านและแปลนภายในตัวบ้านที่แตกต่าง
สอง - ทีมงานที่เตรียมไว้สำหรับรับผิดชอบ โดยตั้งกำลังไว้ให้พอเพียงกับจำนวนบ้านที่บริษัทรับสร้าง
สาม - มีฐานที่มั่นคงจากกลุ่มบริษัทพรไพลิน ซึ่งเหตุผลนี้ยังเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เทราคาซ่า
ตัดสินใจเปิดตัวขึ้นมาในช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา
สำหรับสไตล์ของแบบบ้านจะแบ่งเป็น 3 สไตล์หลัก ๆ 21 แบบ ให้ลูกค้าเลือก สำหรับกลุ่มลูกค้าที่บริษัทตั้งไว้ที่อายุประมาณ
35 ปีขึ้นไป ในระดับราคาเฉพาะตัวบ้านหลังละ 2.4 ล้านบาทขึ้นไป - 6.5 ล้านบาท
สไตล์แรกเป็นสไตล์นิวเอจ (NEW AGE) ถือเป็นแบบสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นบ้านที่ได้รับการออกแบบให้ดูแปลกใหม่
รวมถึงประโยชน์การใช้สอยที่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย
ตัวอย่างของบ้านในสไตล์นิวเอจ คือ เมื่อเข้าบ้านแบบบ้านทั่วไปจะออกแบบไว้สำหรับห้องรับแขก
ซึ่งถือเป็นหน้าตาของบ้าน แต่สไตล์นิวเอจ จะคิดถึงการใช้งานที่แท้จริงเป็นหลัก
ด้วยการออกแบบให้มีห้องคนรับใช้อยู่บริเวณด้านหน้า เพื่อสะดวกในการบริการเจ้าของบ้านตามสภาพความเป็นอยู่ที่เหมือนจริง
ที่จะสะดวกกับทั้งคนรับใช้และเจ้าของบ้าน
จากห้องคนใช้ จะมีทางเดินแยกต่างหากเพื่อไปสู่ห้องครัว โดยไม่ต้องให้คนหรือของที่ไม่จำเป็นปะปนผ่านไปยังห้องรับแขก
บริเวณมุมบ้านทุกชั้น ออกแบบให้มีส่วนนั่งเล่นทุกชั้นของตัวบ้าน รวมทั้งการเสรมในส่วนของห้องฟังเพลง
ห้องพระ ห้องเก็บไวน์ ไว้สำหรับรองรับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่
สไตล์ร่วมสมัย (CONTEMPORARY) เป็นสไตล์เรียบ เน้นความสวยแบบคลาสสิก แบบหลัก
ๆ ของสไตล์ร่วมสมัย จะใช้โถงกลางบ้าน เป็นตัวหลักในการแยกไปยังจุดต่าง ๆ
ของตัวบ้าน และเช่นเดียวกับสไตล์นิวเอจ ที่จัดให้มีห้องคนรับใช้อยู่บริเวณหน้าบ้าน
เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีความเป็นส่วนตัวและใช้ประดยชน์ได้เต็มที่กับพื้นที่บริเวณด้านหลัง
สไตล์เน้นการใช้งาน (FUNCTIONAL) เป็นแบบที่ได้จากการทำวิจัยจากกลุ่มลูกค้าเก่าของบริษัท
เป็นสไตล์ที่เน้นบริเวณด้านหน้ากว้าง จอดรถได้ประมาณ 3 คัน มีมุมพักผ่อนด้านข้างของตัวบ้าน
เน้นความสบายในการอยู่อาศัยและพักผ่อนในบริเวณตัวบ้าน
ทุกแบบบ้านที่บริษัทรับสร้าง จะเริ่มต้นจากการให้คำแนะนำในการเลือกแบบบ้านที่เหมาะกับขนาดครอบครัวของลูกค้า
จากนั้นให้ลูกค้าจองแบบโดยการวางมัดจำ 2% ของราคาบ้าน แล้วแบ่งชำระเป็นงวด
ๆ ต่อมาอีก 6 งวด แต่ละงวดบริษัทจะกำหนดเปอร์เซ็นต์การชำระเงินและความเรียบร้อยของงานเป็นลำดับ
งวดที่ 1 ชำระ 15% ในวันทำสัญญา งวดที่ 2 ชำระ 25% เมื่อวางผังบริเวณ ตอกเสาเข็มอาคาร
เทคอนกรีตฐานราก และคานชั้นที่ 1 แล้วเสร็จ
งวดที่ 3 ชำระ 20% เมื่อเทคอนกรีตเสาชั้นที่ 1 คานชั้นที่ 2 คานโครงหลังคา
แล้วเสร็จ งวดที่ 4 ชำระ 20% เมื่อเทคอนกรีตพื้นชั้นที่ 1 พื้นชั้นที่ 2
งานโครงหลังคาเหล็กทั้งหมด งานก่ออิฐพร้อมติดตั้งวงกบ แล้วเสร็จ
งวดที่ 5 ชำระ 15% เมื่องานฉาบปูนภายในทั้งหมด งานมุงกระเบื้องหลังคา งานระบบไฟฟ้า
งานระบบประปา แล้วเสร็จ และงวดสุดท้าย ชำระ 5% เมื่อทาสีอาคาร ติดตั้งสุขภัณฑ์
ติดตั้งดวงโคมไฟ เก็บงานทั้งหมด และทำความสะอาดส่งมอบงาน
สำหรับขั้นตอนสุดท้ายบริษัทจะจัดส่งวิดีโอเทปบันทึกภาพ ขั้นตอนการก่อสร้างบ้านตลอดทุกระยะให้กับลูกค้า
เพื่อใช้ประโยชน์การต่อเติมบ้านในอนาคต เพราะการก่อสร้างบ้านในบางครั้ง จะมีการแก้ไขแบบระหว่างการก่อสร้าง
จึงทำให้แบบอาจจะผิดไปจากแบบที่วางไว้แต่เดิม
"การที่ต้องละเอียดในการควบคุมทุกชั้น โดยเฉพาะเรื่องแรงงานคนที่ใช้
จะต้องพอเหมาะกับกำลังที่บริษัทจะรับได้ แต่ละหลังจะต้องใช้เวลาประมาณ 6-8
เดือน เพราะมิฉะนั้น เราอาจจะเป็นแบบ 70 บริษัทรับสร้างบ้านที่ปิดตัวไป แม้บางบริษัทจะปิดตัวไปเพื่อทำกิจการอื่นไม่ใช่เพราะขาดทุน
แต่ก็มักจะมีปัญหามาจากแรงงานในการดำเนินงาน" กรรมการผู้จัดการ กล่าว
สำหรับเทราคาซ่า บริษัทก่อสร้างรายล่าสุด จึงประมาณตนด้วยการตั้งเป้าสำหรับ
พ.ศ. 2540 ไว้เพียง 60-100 ล้านบาท หรือเฉลี่ยสามารถรับสร้างบ้านประมาณ 20-30
หลัง ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์รายได้เพียง 15% - 25% ของรายได้ของทั้งกลุ่มบริษัท
แต่ถ้าเมื่อใดที่เทราคาซ่า มีกำลังเพียงพอ ทั้งด้านแรงงานและการเงิน ก็คงจะสามารถขยายกำลังการผลิตบ้านได้มากกว่าเดิม
โดยอาจจะอาศัยเครื่องทุ่นแรงงานจากวัสดุสำเร็จรูปที่นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านกันมากขึ้นในปัจจุบัน
และที่สำคัญ เทราคาซ่า คงจะยืนขึ้นเป็นบริษัทก่อสร้างแนวหน้าในวงการธุรกิจรับสร้างบ้านได้เอง
โดยไม่ต้องอาศัยแรงหนุนในทุก ๆ ด้านจากกลุ่มบริษัทอีกต่อไป