|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2548
|
|
หลัง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เพิ่งจะนั่งแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ถึงการเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัทและที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร กลุ่มวังขนาย มาได้เพียงแค่ 4 เดือนเศษ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เป็นอีกวาระหนึ่งที่ต้องแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) โดยมีวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ฟินันซ่า และวราห์ สุจริตกุล กรรมการ ผู้จัดการ บล.ฟินันซ่า จำกัด นั่งขนาบซ้ายขวา ระหว่างรอแถลงข่าว ผลดำเนินงาน 4 กองทุนต่างประเทศในคราวเดียวกัน การเข้ารับตำแหน่งในฟินันซ่าครั้งนี้ อาจจะแปลกกว่าทุกครั้ง เพราะที่มาที่ไปนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ของเจ้าหนี้ ที่อาจต้องการให้เขาเข้ามาช่วยดูแลการทำงานของทีมผู้บริหารกิจการ ในฐานะตัวแทนของฝั่งเจ้าหนี้ ดังเช่นภาพที่เคยเห็นจนชินตา แต่กลับเป็นเรื่องการเข้ามาดูแลธุรกิจของบริษัทฟินันซ่าที่ค่อนข้างจะหวือหวา จนกลายเป็นที่กังขาของสังคม ควบคู่กับปัญหาทีท่าผู้บริหาร ซึ่งออกจะห่างเหินมวลชนเอาอย่างมากๆ และผู้คนไม่ค่อยเข้าใจว่าผู้บริหารในกิจการแห่งนี้กำลังอะไรกัน
ดร.วีรพงษ์กล่าวว่า การทำธุรกิจของที่นี่ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ แต่วิธีการทำธุรกิจ เช่น การจัดตั้งกองทุน hedge fund เมื่อก่อนหน้านี้อาจทำให้คนไม่เข้าใจ เพราะแม้กระทั่งตัวเขาเองก็ไม่ค่อยจะชื่นชอบกองทุนประเภทนี้มากนัก เนื่องจากประเทศไทยเคยมีประสบการณ์จากการถูกกระทำโดยกองทุน Hedge Fund ของจอร์จ โซรอส แต่เขาเห็นว่า หากรู้จักใช้ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้ว กองทุนประเภทนี้ยังสามารถนำมาใช้เพื่อเป็นทางออกในการปลดล็อกปัญหาต่างๆ ได้อีกมาก
ส่วนทีมผู้บริหารนั้น เขาเห็นว่า ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ไฟแรง และร้อนวิชา มีความกระตือรือร้นที่จะนำนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ มาให้บริการในหลายๆ ด้าน จนอาจมีความคิดที่ล้ำหน้าเกินกว่าผู้คนจะตามได้ทัน จากที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นอเมริกัน และคนไทยที่ไม่ได้มีวิสัยทัศน์จำกัดอยู่แค่ตลาดในประเทศ แต่ต้องการขยายธุรกิจและการทำธุรกรรมข้ามชาติ ด้วยหวังที่จะออกไปเติบโตอยู่นอกประเทศ โดยเฉพาะอินโดจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์
"ผู้บริหารที่นี่เป็นกลุ่มคนเรียนเก่ง แต่บางครั้งออกจะไม่ค่อยเป็นคนไทยและมักมีความคิดแบบฝรั่ง ทั้งที่เป็นคนไทยต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของคนที่นี่ ผมจึงตัดสินใจที่จะมานั่งเป็นประธานฯ ให้ ด้านหนึ่งมาจากความเสียดายความรู้ความสามารถด้านประสบการณ์ที่มีแต่อีกด้านก็เพื่อว่าจะช่วยสืบค้นข้อเท็จจริงซึ่งคนอาจมีข้อสงสัย เพื่อนำมาบอกกล่าวให้รับทราบกันต่อไป" ดร.วีรพงษ์กล่าว "แต่ผมบอกไปแล้วว่าเวลามีอะไรไม่ใช่จะอยู่กันเฉยๆ ต้องออกมาพูดอะไรบ้าง เพราะคนอื่นไม่มีหน้าที่ไปทำวิจัยให้"
ทั้งนี้ก่อนที่ ดร.วีรพงษ์จะได้รับคำเชิญจากทนง พิทยะ ให้เข้าดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น เขาได้ตอบรับคำร้องขอจากพิชัย รัตนพล ที่ต้องการให้เขาเข้ามาช่วยดูแลวรสิทธิ์ซึ่งเป็นหลานชาย รวมถึงผู้บริหารอื่นๆ ในฟินันซ่า เนื่องจากเห็นว่ากิจการแห่งนี้มักมีปัญหาความสัมพันธ์ด้านมวลชนที่ไม่ค่อยจะสู้ดี
โดยเมื่อราว 2 เดือนก่อน ดร.วีรพงษ์ได้เข้ามานั่งในตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการฯ ที่ฟินันซ่า โดยเขาได้ใช้เวลาในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับตัวการทำธุรกิจของกิจการแห่งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า การทำธุรกิจของฟินันซ่าที่ขึ้นชื่อในเรื่องความหวือหวานั้น จะไม่บั่นทอนความเสถียรภาพและความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจในอนาคต อีกทั้งแนวทางในการดำเนินการยังคงอยู่ในร่องในรอยตามกรอบที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้เขายังได้เข้าร่วมตัดสินใจใน 2-3 เรื่องใหญ่ๆ ร่วมกับผู้บริหารฟินันซ่า ตามเงื่อนไขที่เขาได้ให้ไว้ก่อนที่จะตอบรับคำเชิญเพื่อเข้านั่งในตำแหน่งประธานฯ ในบริษัทแห่งนี้
การตอบรับคำเชิญของบุคคลผู้มากด้วยประสบการณ์และผ่าน การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่าง ดร.วีรพงษ์ จะมีเหตุผลเพียงแค่ที่เขาได้ให้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องที่ต้องรอดู
|
|
|
|
|