|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2548
|
|
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เป็นที่รู้จักอย่างมากในแวดวงคนไข้โรคหัวใจ นอกจากจะเป็นนายแพทย์ที่เก่งเรื่องโรคหัวใจคนหนึ่งแล้ว ต้นทุนสำคัญของเขาก็คือเป็นหมอที่มีบุคลิกดี และเป็นเจ้าของคอลัมน์ "เรื่องของหัวใจ" ในหนังสือ "ดิฉัน" ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน
เช้าวันเสาร์ต้นเดือนกันยายน 2548 "ผู้จัดการ" มีนัดกับครอบครัวของเขาที่บ้านซึ่งร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ในเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา เป็นเพียงไม่กี่วันในรอบปีที่ครอบครัวนี้ได้อยู่กันพร้อมหน้า ภรรยา ทันตแพทย์หญิง ดร.รังสินี อาจารย์คณะทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกสาว "ในฝัน" ปณิตา มหานนท์ อายุ 17 ปี และลูกชาย "กันต์" กัณตภณ ลูกสาวและลูกชายมีกำหนดเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียในวันรุ่งขึ้น
เป็นเด็กวัยรุ่นที่มีมารยาทน่ารัก ทั้งที่คุณหมอทั้ง 2 เลี้ยงด้วยโทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่และหลายครั้งที่ลูกโทรมาแต่คุณแม่ติดประชุม รับสายไม่ได้ส่วนคุณพ่อก็อยู่ในห้องผ่าตัดกับคนไข้
"มีเพื่อนสนิทคอยดูแลให้ที่โน่นด้วยค่ะ ถ้าว่างก็จะพยายามไปหาเขาให้บ่อยที่สุด" แพทย์หญิงรังสิมากล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงอ่อนๆ และร่วมนั่งสนทนาพร้อมกับบุตรสาว ในขณะที่ ลูกชายยิ้มๆ แล้วค่อยๆ เดินเลี่ยงออกไป
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เป็นลูกชายของ พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ และทิพา (มหาเปารย) จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2521 วิทยาศาสตรบัณฑิตการแพทย์ (B.Sc.(Med)) ปี 2523 แพทยศาสตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล (M.D.) เป็นแพทย์ Intern ที่โรงพยาบาลศิริราช 2 ปี ก่อนไปใช้ชีวิตที่ประเทศออสเตรเลียหลายปี ก่อนกลับมาเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลศิริราชอีกประมาณ 8 ปี พร้อมทั้งทำคลินิกเล็กๆ ย่านสยามสแควร์
"8 ปีที่ศิริราช ผมเจอคนไข้ทุกระดับฐานะ แต่หลังจากนั้นย้ายมาอยู่โรงพยาบาลกรุงเทพด้วยเหตุผลที่ว่า ตอนนั้นเรื่องวิชาการผมทำถึงที่สุดแล้วคือได้เป็นศาสตราจารย์ และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโรงพยาบาล ทำให้ไม่สะดวกทำงานอย่างที่เราจะทำต่อ เช่น งานวิจัย งานสอน เฉพาะทางที่ร่ำเรียนมา ก็เลยคิดว่าน่าจะทำประโยชน์อีกทางได้มากกว่า อีกอย่างพอคนไข้เริ่มเยอะการรักษาในมาตรฐานตัวเองก็เริ่มลำบาก การดูคนไข้เยอะๆ เวลาน้อยๆ เป็นเรื่องที่ผมไม่ชอบอย่างมาก
ศ.นพ.นิธิอธิบายวิธีคิดของเขาที่จำเป็นต้องทิ้งคนไข้จำนวนมากมาเป็นอายุรแพทย์หัวใจ ศูนย์หัวใจกรุงเทพ รับตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์หัวใจกรุงเทพในเวลาต่อมา
ก่อนที่จะลาออกมาก่อตั้งสถาบันเพอร์เฟค-ฮาร์ท ในปี 2548 หลังจากที่ได้เรียนรู้การทำงานของโรงพยาบาลใหญ่ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเวลา 4 ปี
"ผมว่าหมอทุกคนเก่งเหมือนกันหมด บางคนเก่งด้านเทคโนโลยี บางคนด้านวิชาการ แต่การดูแลเอาใจใส่คนไข้จะไม่เท่ากัน อย่างตอนอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชผมก็พยายามไม่ให้คล้อยตามไปกับสิ่งแวดล้อม ตรวจ 5-10 นาทีจบ เพราะมีคนรออยู่อีกมากแต่จะพยายามให้เวลาคนไข้มากที่สุด ซึ่งเมื่อได้ คุยนานๆ คนไข้ก็พอใจ ขณะเดียวกันเราก็ได้รู้สาเหตุที่ชัดเจนขึ้น"
น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของ ศ.นพ.นิธิ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารดิฉัน ตามคำชักชวนของปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ทำให้เขามีโอกาส ทำให้คนเข้าใจเรื่องหัวใจได้ง่ายขึ้น และรู้จักเขาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันเรื่องราวที่เขียนได้วัตถุดิบมาจากคนไข้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนแต่งเติมเพิ่มอรรถรสเอง มีการรวมเล่มแล้วทั้งหมด 3 เล่ม เล่มแรกคือ เรื่องของ (โรค) หัวใจ เล่ม 2 รักษา (หัวใจ) และเล่ม 3 คือ ครอบครัวหัวใจแข็งแรง ซึ่งจะวางตลาดปลายปีนี้
ในวัย 47 ปีกับการเป็นคนก่อตั้งสถาบันเพอร์เฟค ฮาร์ทร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ เป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่งของชีวิต โดยมีครอบครัวเป็นกำลังใจอยู่เบื้องหลัง
ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นคุณหมออารมณ์ดี มีมุกตลกในการพูดคุยกับคนไข้ แต่เวลาอยู่ที่บ้านลูกสาวลูกชายบอกว่า "พ่อมุกฝืดมากๆ" ส่วนภรรยาบอกว่า "คุณหมอเป็นคนเงียบๆ"
ในวันเวลาที่วุ่นวายกับงานบริหาร, งานรักษาคนไข้, เขียนหนังสือ และภาระของพ่อที่ดูแลลูกหญิงชายวัยรุ่น 2 คน อีกสิ่งหนึ่งที่เขาเริ่มให้ความสนใจมาประมาณ 1 ปีก็คือการนั่งสมาธิที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ เพื่อทำจิตใจให้สงบ
ก่อนลูกสาวจะกลับในวันรุ่งขึ้นวางแผนไว้ว่าจะพาลูกสาวที่สนใจเรื่องวิปัสสนาไปฝึกนั่งสมาธิด้วยกัน
"ที่สนใจเพราะไปอยู่เมืองนอกไม่ค่อยมีโอกาสเข้าวัด และทำสมาธิ กลับมาเลยอยากลองศึกษาดูค่ะ" ในฝันผู้เป็นหัวใจของ ศ.นพ.นิธิเล่าให้ฟังเสียงเบาๆ ก่อนที่จะหันไปค้อนผู้เป็นพ่อเมื่อถูกแซวว่า "อย่าไปนั่งหลับแล้วกัน"
|
|
|
|
|