บสก.คว้าประมูล NPL ของธอส. 2 กองรวด มูลค่า 4,788 ล้านบาท ทิ้งห่างคู่แข่งกว่า 100 ล้านบาท เฉลี่ยซื้อในราคา 61% ของเงินต้นคงค้าง เล็งบริหารหมดภายใน 3 ปี พร้อมเตรียมออกแคมเปญดึงลูกค้าเจรจาหนี้ ด้าน ธอส.เตรียมคัดเลือก ที่ปรึกษาการเงินคัดเลือกทรัพย์ทำซิเคียวริไทเซชันวงเงิน 30,000 ล้านบาท
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ธนาคารมีมติเห็นชอบในข้อเสนอด้านราคาซื้อ และอนุมัติผลการพิจารณาผู้ชนะการประมูลจำหน่ายสินเชื่อเงินกู้ที่อยู่อาศัยที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธอส.ที่ได้ดำเนินการในครั้งแรก จำนวน 2 กอง รวม 14,000 บัญชี จากทั้งหมด 6 กอง คิดเป็นมูลค่า เงินต้นคงค้างรวมประมาณ 7,774.83 ล้านบาท ซึ่งบริษัทบริหาร สินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด หรือ บสก. เป็นผู้ชนะการประมูล โดยให้ราคาเสนอซื้อสูงสุดทั้ง 2 กอง จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,788 ล้านบาท จากทั้งหมด 3 ราย โดยกองที่ 1 เสนอซื้อที่ราคารวม 2,740 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65.21 ของเงินต้นคงค้างรวม 4,202.31 ล้านบาท และกองที่ 2 เสนอซื้อที่ราคารวม 2,048 ล้านบาท คิดเป็น 57.30% ของ เงินต้นคงค้างรวม 3,572.52 ล้านบาท "
ราคาเสนอซื้อที่ธนาคารได้รับในครั้งนี้ นับเป็น ราคาสูงที่สุดที่มีการประมูล NPLs ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากสินเชื่อดังกล่าว มีหลักประกันทั้งหมด อีกทั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี, ตราด, ระยอง และจันทบุรี) โดยบัญชีสินเชื่อ เหล่านี้เป็นสินเชื่อรายย่อยเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย และทุกบัญชีมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน อีกทั้งส่วนใหญ่ มีคำพิพากษาจากศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" ขรรค์กล่าว
นายขรรค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีนโยบายให้ธอส. แก้ปัญหา NPLs ที่มีอยู่ 36,000 ล้านบาท ให้หมดไปภายใน 3 ปี ซึ่งการขายในครั้งนี้ 2 กอง ทำให้ NPLs คงเหลืออีกจำนวน 29,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.9% จากเดิม 7.9% อย่างไรก็ตาม จำนวน NPL ดังกล่าวเป็นส่วนที่ค้างมาจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา NPL มีน้อยเนื่องจาก ประชาชนซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง และสามารถผ่อนชำระได้ ทำให้มีปัญหาหนี้เสียน้อย
ส่วนอีก 4 กองที่เหลือ ซึ่ง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2548 มีจำนวนลูกหนี้ประมาณ 60,000 บัญชี เงินต้นคงค้างประมาณ 29,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการคัดเลือกบริษัทเพื่อว่าจ้างให้เป็นผู้บริหาร ซึ่งจะมีหน้าที่ในการ ติดตามหนี้ และการดำเนินคดีจนถึงการขายทอดตลาดจำนองเสร็จสิ้น โดย ธนาคารได้กำหนดคุณสมบัติการคัดเลือกนั้นจักต้องเป็นบริษัทที่มีความ มั่นคงทางการเงิน มีประสบการณ์ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ในการบริหารสินทรัพย์ มีการกำหนดกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติงาน อีกทั้งมีระบบการ ควบคุม ตรวจสอบ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จะเข้ามาสนับสนุนในการบริหารสินทรัพย์ดังกล่าว
สำหรับการทำซิเคียวริไทเซชัน ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีนโยบายดำเนินการนั้น คาดว่าจะสามารถ ดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในครึ่งปีแรก ของปี 2549 ซี่งมีวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขายในต่างประเทศ และอีก 10,000 ล้านบาท ขาย ในประเทศ ทั้งนี้ธอส.อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อมาคัดเลือกทรัพย์ที่ เหมาะสมในการทำซิเคียวริไทเซชัน ทั้งนี้ หากการทำซิเคียวริไทเซชันประสบความสำเร็จก็จะร่วมกับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกันแล้ว 2 ครั้งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
ด้านนายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด หรือ บสก. กล่าวว่า มูลค่าที่บสก. ประมูลได้รวมทั้ง 2 กอง ในราคา 4,788 ล้านบาท โดยเป็นราคาที่สูงกว่าคู่แข่งประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งกำหนดจ่ายเงินสดจำนวน 20% ของมูลค่าที่ประมูลได้ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ในวันทำสัญญา (22 พ.ย.) ส่วนที่เหลือเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ใบ แบ่งจ่าย 3 งวด สิ้นปีที่ 2549 จ่าย 30% สิ้นปี 2550 จ่าย 30% และสิ้นปี 2551 จ่าย 20%
สำหรับแผนการบริหารจัดการหนี้จำนวนดังกล่าว บสก. ได้ตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี เนื่องจากเป็นหนี้รายย่อยที่มีหลักประกันทั้งหมด ทำให้เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ง่าย โดยบสก. เตรียมออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจา ปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้บสก. ได้จัดเคมเปญ คืนทรัพย์ให้คุณซึ่งประสบสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม บสก.จะเน้นการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าการฟ้องร้องบังคับคดี "ลูกหนี้ทุกรายมีเงินต้นและดอกเบี้ยสูง คาดว่า บสก.จะเรียกเก็บหนี้ ได้ไม่ครบทั้งหมด แต่จะใช้วิธีการยืดหยุ่น โดยดูจาก ความสามารถของลูกหนี้ ที่จะชำระหนี้ได้ และไม่มุ่งเน้นการทำกำไร หลังจากนี้จะส่งหนังสือไปยังลูกหนี้ทั้ง 14,000 ราย ให้มาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับ บสก." นายบรรยง กล่าว
ปัจจุบัน บสก. มีมูลหนี้ที่รับบริหารทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท และในเดือนธันวาคมนี้เตรียม เซ็ญสัญญาซื้อ NPL จากธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท จากมูลหนี้ 18,000 ล้านบาท โดยบสก.จะต้องจ่ายเป็นเงินสด ในคราวเดียว สำหรับเม็ดเงินที่จะนำมาจ่ายนั้นจะมาจากกระแสเงินสดจำนวน 3,000 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ได้ขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อีกจำนวน 2,000 ล้านบาท
นายขรรค์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันลูกค้าของธอส. กว่า 70% ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่และอีก 30% เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ดังนั้นแม้ว่าในปี 2549 อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบคงที่จะหายไปจากตลาด แต่สำหรับธอส.แล้วจะยังคงอัตราดอกเบี้ยคงที่ทั้ง 3 แบบไว้ โดยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี คิดดอกเบี้ย 4%, 5% และ 6% ตามลำดับ อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี คิดคงที่ตลอด 5 ปี 6% หรือเป็นขั้นบันได 5%, 5.5%, 6%,6.5 % และ 7% ส่วนอัตราดอกเบี้ยคงที่ 10% ปีที่ 1 คิด 5.25% ปีที่ 2 คิด 6.25% และปีที่ 3-10 คิด 7% โดยขณะนี้ลูกค้าหันมาใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว 5 ปีมากขึ้น ส่วน 10 ปียังน้อยอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ในตลาดจะปรับขึ้นอีก 1% ธอส.จะปรับขึ้นตามกลไกตลาดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เท่านั้น เนื่องจากมีต้นทุนสูงขึ้น ส่วนคงที่ 5 ปี และ 10 ปีมีเม็ดเงินปล่อยกู้อยู่แล้วสำหรับยอดปล่อยสินเชื่อล่าสุด มีจำนวน 110,000 ล้านบาท ส่วนโครงการออมทรัพย์พิเศษ ดอกเบี้ย 3% ขณะนี้มียอดเงินฝากเข้ามาแล้วจำนวน 20,000 ล้านบาท
|