"ความถูกต้อง เหตุผล และความยุติธรรมไม่ใช่บ่อเกิดความสำเร็จ เมืองไทยต้องรู้จักคน
KNOW WHO BETTER THAN KNOW HOW" วลีสั้น ๆ ของ ภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตรองประธานกรรมการบริหารที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมการทำธุรกิจสื่อสารที่ผ่านมาที่ใครก็ไม่อาจปฏิเสธได้
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บทบาทของภูษณในวันนี้ไม่อาจเป็นแค่นักธุรกิจมืออาชีพของกลุ่มยูคอมเท่านั้น
แต่ยังแปรสภาพเป็น "นักธุรกิจการเมือง" ที่มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีพ่วงท้าย
แทนตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มยูคอม
เพราะตราบใดที่ธุรกิจโทรคมนาคมยังเป็นระบบผูกขาดต้องอิงกับนโยบายของรัฐยังไม่มีการเปิดเสรีอย่างแท้จริงแล้ว
เมื่อนั้นทุนสื่อสารก็ไม่มีวันหลีกเลี่ยงที่ต้องเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองได้
ดังเช่นที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต้องลงสู่สนามการเมืองเพื่อปกป้องธุรกิจสื่อสารในมือในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว
หรือแม้แต่การผูกสัมพันธ์กับพรรคการเมืองด้วยเงินสนับสนุนก้อนโตที่กลุ่มซีพีและทุนสื่อสารทุกรายมักนิยมกัน
และก็มาถึงคราวของกลุ่มยูคอมกันบ้าง
ยูคอมจัดเป็น 'บิ๊กโฟร์' ในธุรกิจสื่อสาร ที่มีสัมปทานสื่อสารโทรคมนาคมในมืออยู่มากมาย
โดยเฉพาะสัมปทานโทรศัพท์มือถือระบบแอมป์ 800 และพีซีเอ็น 1800 ที่ทำรายได้ก้อนโตจนมีเอกชนหลายรายต้องการรุกเข้ามาในตลาด
แต่ก็ยังมีหลายโครงการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสัมปทานเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง
เช่น การขอขยายอายุสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ปรับสัญญาสัมปทานโฟนพ้อยต์ให้สามารถโทรฯ
ออกได้ 2 ทางเช่นเดียวกับระบบพีเอชเอสของทีเอ (ดูตารางประกอบ) หรือการประมูลสายการบินแห่งชาติสายที่
2
ความจำเป็นดังกล่าวจึงเร่งเร้าให้กลุ่มยูคอมต้องเดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง
ไม่เพียงแค่สายสัมพันธ์ที่มีต่อพินิจ จารุสมบัติ จากค่ายเสรีธรรม และสมศักดิ์
เทพสุทิน แห่งพรรคกิจสังคม ซึ่งทั้งสองได้โควต้าดูแลกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชุดก่อน
แต่ดูเหมือนกับว่าไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะเวลานี้ทุนสื่อสารอื่น ๆ ต่างก็มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองทุกราย
โดยเฉพาะการที่กลุ่มซีพีเข้ามากินรวบธุรกิจสื่อสารเพราะอาศัยสายสัมพันธ์ที่มีกับพรรคความหวังใหม่
แม้จะพลาดหวังจากการส่งสมชาย เบญจรงคกุล น้องชายคนรองของบุญชัย ในเขตเลือกตั้งที่อยุธยา
ภายใต้สังกัดพรรคกิจสังคมมาแล้วถึงสองครั้ง แต่ยูคอมยังไม่ละทิ้งความพยายาม
การได้เก้าอี้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้กับภูษณ และสมชาย ซึ่งว่ากันว่างานนี้ยูคอมต้องจ่ายเงินถึง
300 ล้านบาท จึงมีความหมายไม่น้อย เพราะในตำแหน่งดังกล่าวจะสามารถรับทราบทุกเรื่องที่จะเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี
(ครม.) แน่นอนว่า ย่อมเป็นประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีแค่ธุรกิจสื่อสารเพียงอย่างเดียว
ยังไม่รวมถึงการ "ต่อยอด" สายสัมพันธ์บนเส้นทางการเมืองที่ก็มีความหมายต่อกลุ่มยูคอมไม่แพ้กัน
สำหรับภูษณนั้น จัดเป็นมืออาชีพของกลุ่มยูคอมที่บุญชัย เบญจรงคกุล บิ๊กบอส
ให้ความไว้วางใจมาก หากเปรียบเป็นอวัยวะแล้ว ภูษณก็เป็นแขนขวาที่บุญชัยจะขาดไม่ได้
แม้จะเป็นเพียงมืออาชีพที่ไม่ได้เป็นทายาทของตระกูลเบญจรงคกุลโดยตรง แต่เขาก็เป็นกลไกสำคัญในการขยายธุรกิจของยูคอม
จากธุรกิจค้าขายอุปกรณ์โทรคมนาคมกับหน่วยงานรัฐมาเป็นเจ้าของสัมปทานโครงการสื่อสารขนาดใหญ่
ภารกิจของภูษณนั้นจะรับผิดชอบงานสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายธุรกิจ
การวางโครงสร้างธุรกิจ ตลอดจนการบุกเบิกธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานรัฐ
ในเรื่องของการยื่นขอสัมปทาน และการปรับปรุงข้อสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ
หรือ โฟนพ้อยต์ และการประมูลซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมขนาดใหญ่
และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ภูษณรู้ว่าสายสัมพันธ์แบบเดิม ๆ ที่มีกับหน่วยงานอย่างการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) ซึ่งกลุ่มยูคอมค้าขายผูกขาดมาเป็นเวลานานก็อาจไม่เพียงพอ และไม่ปลอดภัยแล้ว
เมื่อธุรกิจนี้กำลังมีคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ดาหน้าเข้ามา ในระยะหลัง ๆ ภูษณยังต้องสร้างสายสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญทางการเมืองเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจของกลุ่มยูคอม
ด้วยเหตุนี้ มีหลายครั้งที่ภูษณ เลือกลงเรียนปริญญาโทเพิ่มอีกใบทั้ง ๆ
ที่มีอยู่แล้ว เพียงเพราะในคณะนั้นในรุ่นนั้นมีบุคคลสำคัญในวงการ หรือ การควักเงินสร้างภัตตาคารฝรั่งเศสและจีนบนชั้น
10 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะของศิษย์เก่าของที่นี่
และภัตตาคารแห่งนี้นอกจากไว้บริการบรรดาศิษย์เก่าแล้ว ยังมีโอกาสได้ต้อนรับบุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
รายชื่อนักเรียนของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วปอ. รุ่น 39 จึงมีชื่อของ
ภูษณ ปรีย์มาโนช รวมอยู่กับเพื่อนร่วมรุ่นอย่างวิษณุ เครืองาม, พล.ต.ท.เฉลิมเดช
ชมพูนุช, ธรรมนูญ จุลมณีโชติ รองผู้ว่าการสื่อสารฯ, พัชรินทร์ บูรณสมภพ
ภูษณ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าเป็นคนหนึ่งที่อยู่ร่วมสมัย
14 ตุลาคม 2516 อันเป็นเหตุให้รู้จักกับพินิจ จารุสมบัติ แต่ยังไม่ทันจะเข้าร่วมอุดมการณ์อย่างจริงจัง
ก็ถูกส่งไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ
เริ่มงานครั้งแรกที่แผนกคอมพิวเตอร์ ธนาคารกรุงไทย ก่อนจะย้ายมาทำงานที่แผนกคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทล็อกซเล่ย์
และย้ายไปหาประสบการณ์กับบริษัทข้ามชาติอย่างจีทีอี ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมจากยุโรป
แต่ชีวิตการทำงานของภูษณต้องมาถึงจุดหักเหครั้งสำคัญ เมื่อจีทีอีปิดกิจการในไทย
และให้เขาไปทำงานที่สิงคโปร์แทน แต่ข้อเสนอของจีทีอีจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของเขา
เนื่องจากเขายังมีลูกน้องที่ร่วมทีมงานกันมาอีก 9 คนที่ไม่อยากทอดทิ้ง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูษณเลือกทำงานกับยูคอม
ซึ่งในเวลานั้นเป็นแค่ดีลเลอร์รายเล็ก ๆ ของจีทีอีที่มีรายได้เพียงแค่ปีละ
55 ล้านบาท และกำลังขยายงาน จึงยอมรับภูษณและทีมเข้าทำงาน
แต่การตัดสินใจทิ้งเงินเดือนกว่า 40,000 บาท มากินเงินเดือน 12,000 บาทเมื่อ
17 ปีที่แล้ว ทำให้ภูษณมีวันนี้วันที่เขากำลังจะกลายเป็นนักธุรกิจการเมืองอย่างเต็มตัว
การลาออกของภูษณจึงมีความหมายต่อยูคอมยิ่งนัก เพราะนับจากนี้ธุรกิจของกลุ่มยูคอมกำลังได้รับการปกป้อง
ซึ่งอาจมีความสำคัญมากกว่าการบริหารกิจการให้อยู่รอด และยังเป็นการกรุยทางไปสู่เส้นทางการเมืองในวันข้างหน้าของตระกูลเบญจรงคกุล
บทบาทของ "ล็อบบี้ยิสต์" จากค่ายยูคอมกำลังจะเริ่มต้นแล้ว !