|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
หุ้น EGAT ชนวนแตกแยก โบรกเกอร์แบ่งเป็น 2 ขั้ว ข้างหนึ่งเห็นแก่ประโยชน์จากหุ้น อีกข้างหนึ่งเห็นแก่ส่วนรวม เตือนรัฐปล่อย EGAT เข้าตลาดวงจรหนี้เสียจะกลับมาอีกครั้ง ด้านพนักงานไฟฟ้าซวยกู้เงินซื้อหุ้นจ่ายดอกอาน
แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นบริษัท กฟผ. จำกัด(มหาชน) EGAT ก่อนหน้าการเสนอขายหุ้นกับประชาชนทั่วไปเพียง 1 วัน แต่ไม่ได้หมายความว่าความพยายามในการนำหุ้น EGAT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะหมดไป ตราบใดที่รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศ เห็นได้จากกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานยังคงมุ่งมั่นที่จะนำเอา EGAT เข้าตลาดหุ้นต่อไป
ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนเมื่อ 24 มิถุนายน 2548 และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 30 พฤศจิกายนนี้ ย่อมทำให้มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากอีกกว่า 2 แสนล้านบาท
โบรกเกอร์แตกแยก
การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท กฟผ. จำกัด(มหาชน) หรือ EGAT เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ก่อให้เกิดการแบ่งแยกบุคคลในวงการตลาดหุ้นรวมถึงนักลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการนำ EGAT เข้าจดทะเบียน มีรายได้จากการดำเนินการในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำตามหน้าที่และทำเพื่อบริษัทต้นสังกัด ถ้าหุ้นตัวนี้เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นได้ก็จะได้ประโยชน์ตามมาอีกนั่นคือคำสั่งซื้อขายหุ้นก็จะเพิ่มขึ้น หมายถึงรายได้ของบริษัท
ขณะที่นักลงทุนไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อยลูกค้า กฟผ. ความหวังที่จะได้เห็นส่วนต่างของราคาหุ้น EGAT คงต้องเลือนลางออกไปจากคำสั่งศาลปกครอง แน่นอนว่ากลุ่มนี้ต้องการให้ EGAT เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ไม่ต้องการเห็น EGAT ระดมทุนในตลาดหุ้น มีทั้งบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนรายใหญ่รวมถึงรายย่อย เนื่องจากเห็นว่าจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
วงจรอุบาทจะกลับมา
วาณิชธนากรรายหนึ่งให้ความเห็นว่า การเตรียมการนำเอา กฟผ.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีมาตั้งแต่ยุคทักษิณ 1 เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางการเงินของ กฟผ.แล้ว ต้นทุนที่แพงที่สุดคือ ดอกเบี้ยที่เกิดจากการระดมเงินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง ยิ่งเมื่อแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้วการระดมเงินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคตก็ต้องกระทำในฐานะบริษัทจำกัด
หากออกหุ้นกู้เองก็ต้องใช้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นหลัก เทียบกับไม่แปรรูปฯ ที่รัฐบาลค้ำประกัน ดอกเบี้ยกู้ยืมก็ต้องต่ำกว่า เมื่อต้องยืนด้วยตัวเองต้นทุนก็ต้องแพงกว่าเป็นธรรมดา และการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยแล้ว หน้าที่สำคัญคือสร้างผลกำไรที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น นั่นหมายถึงค่าไฟฟ้าที่คิดกับประชาชนย่อมไม่มีทางลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อกำไรของบริษัท
"เพื่อน ๆ ที่ทำ Deal นี้อยู่ก็รู้ดีว่าค่าไฟฟ้าต้องแพงขึ้นต่อเนื่องแน่นอน แต่พูดอะไรไม่ได้เพราะนี่คือธุรกิจของเขา รายได้ของเขา เป็นเรื่องของการว่าจ้าง"
ขณะนี้คงต้องขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองในมุมใด แม้เราจะเป็นนักลงทุนที่ต้องการผลกำไรจากราคาหุ้น EGAT แต่คุณก็ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นและจะแพงขึ้นไปอีกซึ่งบางคนอาจจะรับได้ หรือคุณจะมองคนทั้งประเทศที่ไม่ได้เล่นหุ้นเหมือนคุณ แถมยังเป็นคนยากคนจนไม่มีปัญญาเล่นหุ้นเดือดร้อน งานนี้คงต้องวัดใจกัน
นอกจากคนทั่วไปต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นแล้ว รัฐต้องมองในเรื่องของผู้ประกอบการด้วย ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่ม แม้ปัจจุบันจะจ่ายต่อหน่วยต่ำกว่าประชาชนทั่วไปแล้ว เมื่อต้นทุนสูงขึ้นทั้งจากราคาน้ำมัน ตามมาด้วยค่าไฟฟ้า ราคาสินค้าก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อถึงตอนนั้นเงินเฟ้อก็จะพุ่งพรวด ซึ่งเงินเฟ้อในปัจจุบันนี้เป็นตัวเลขเทียม เพราะกระทรวงพาณิชย์ขอร้องแกมบังคับกับผู้ประกอบการ เมื่อนั้นเงินเฟ้อจะกระโดดมากกว่า 6%
เมื่อเงินเฟ้อเพิ่ม รัฐจะแก้ปัญหาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้เงินเฟ้อ เมื่อดอกเบี้ยสูงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการก็จะลดลง เมื่อนั้นปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็จะตามมาอีกครั้ง
คนจนใช้ไฟ-เล่นหุ้น?
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า เงื่อนไขการจัดสรรให้ผู้จองซื้อที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าก่อนเป็นลำดับแรก ขั้นแรกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 400-10,000 หุ้นนั้นเป็นแค่เรื่องการลดกระแสความไม่พอใจและเป็นการสร้างความชอบธรรมในการนำเอา EGAT เข้าตลาดหุ้นเท่านั้น เพราะคนที่จองซื้อหุ้นมักจะต้องเปิดพอร์ตลงทุนไว้กับโบรกเกอร์ ถามว่าทั้งประเทศที่ใช้ไฟฟ้าจะมีสักกี่รายที่เปิดพอร์ตเพื่อรับโอนหุ้นมา
อีกประการหนึ่งโดยธรรมชาติของนักลงทุนรายย่อยแล้ว มักจะถือไว้ไม่นาน หาราคาหุ้นสูงกว่าราคาจองสัก 20% ก็ขายหุ้นออกมากันหมด ที่สำคัญกรณีหุ้นของ กฟผ. ที่เสนอขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า จะได้สิทธิในการจัดสรรเป็นอันดับแรกนั้น ถือเป็นว่าเป็นการลดกระแสการต่อต้าน โดยดึงเอาผู้ใช้ไฟฟ้ามาเป็นข้ออ้าง
"เราเกรงว่าจะเหมือนกับหุ้นของ ปตท. ที่ราคา IPO ที่ 35 บาท เมื่อเข้าตลาดราคาไม่ค่อยวิ่ง คนที่จองซื้อได้ไปก็ปล่อยของออกมา จากนั้นก็มีรายใหญ่เข้ามาเก็บแล้วถือยาว ถึงวันนี้กลุ่มเหล่านั้นรวยไม่รู้จะรวยอย่างไร"
พนักงานกระอัก
ในการจัดสรรหุ้น EGAT ให้กับพนักงานราคา 10 บาทนั้น มีทั้งส่วนที่จ่ายเป็นเงินสด และส่วนที่กู้ยืมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฟผ. ดอกเบี้ยที่ 5% หรือบางรายเลือกกู้ยืมกับธนาคารนครหลวงไทยที่คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.28 สำหรับ 1 ปี ร้อยละ 4.5 สำหรับ 2 ปี และร้อยละ 5.5 สำหรับ 3 ปี แถมยังต้องจ่ายภาษีอีกส่วนหนึ่ง หากหุ้น EGAT ไม่สามารถเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นได้ ปัญหาก็จะตกอยู่กับพนักงาน
"บางคนจ่ายภาษี 4 แสนบาท คิดดูว่าพนักงานระดับสูงเหล่านี้จะได้หุ้นไปกี่หุ้น หากเงินไม่พอก็เลือกใช้วิธีการกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ทาง กฟผ.จัดให้ ถามว่าตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ เพราะสิ้นเดือนนี้พวกเราก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยกันแล้ว สิทธิในการขายหุ้นออกได้ 1 ใน 3 ต่อปี เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้พนักงานคงแย่ไปตาม ๆ กัน"พนักงาน กฟผ.รายหนึ่งกล่าว
|
|
 |
|
|