|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ไทย-สหรัฐฯ ยังยื้อเปิดเสรีการเงิน เหตุสหรัฐฯ รุกขอสิทธิที่ดีที่สุดทั้งก่อนและหลังประเทศอื่นเปิดให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดนอย่างเสรี ขณะที่ไทยปฏิเสธเพราะยังขาดความพร้อมพร้อมขอมาตรการจำกัดเงินทุนไหลออกกรณีเกิดปัญหาดุลชำระเงิน และมาตรการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประชุมอีกรอบ ม.ค.ปีหน้า คาดผลเจรจาเข้มข้นมากขึ้น
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจากลุ่มบริการด้านการเงินฝ่ายไทย เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการเจรจาความตกลงเปิดเสรีบริการด้านการเงินภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ว่าในการประชุมวันแรก (17 พ.ย.) ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดทำร่างความตกลงร่วมสาขาบริการด้านการเงินของไทยและของสหรัฐฯ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันในหลักการหลายประเด็น
โดยประเด็นหลัก ที่มีความเห็นสอดคล้งกัน ได้แก่ 1. คำจำกัดความบริการด้านการเงิน 2. ด้านความโปร่งใส ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูล กฎระเบียบ ด้านการกำกับดูแลบริการด้านการเงินระหว่างกัน 3. การจัดตั้งคณะกรรมการด้านการเงิน เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามความตกลงฯ รวมทั้งให้การปรึกษากรณีมีข้อพิพาทเบี้องต้น และ 4. การอนุญาตให้สถาบันการเงินของประเทศคู่สัญญาใช้ระบบการชำระเงินที่มีในประเทศได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหลักๆ ที่ยังมีความแตกต่างกันในหลักการ จากร่างของสหรัฐฯ อยู่มาก เนื่องจากพื้นฐานรูปแบบการเจรจาที่แตกต่างกันระหว่าง Positive List ของไทย และ Negative List ของสหรัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องกลับไปพิจารณาในระดับนโยบายต่อไป ประกอบด้วย
1. เรื่องของประเภทของบุคคลที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากความตกลง ร่างของไทยที่ครอบคลุมผู้ให้บริการด้านการเงินของสหรัฐฯ ขณะที่ร่างของสหรัฐฯ ครอบคลุมสถาบันการเงิน เฉพาะที่มีกฎหมายกำกับดูแล นักลงทุน/การลงทุนในสถาบันการเงิน การให้บริการการเงินข้ามพรมแดน นอกจากนี้ ภายใต้ร่างของสหรัฐฯ จะให้ประโยชน์แก่ นักลงทุนของ Non-party เช่น นักลงทุน/นิติบุคคลแคนาดาที่มี Substantial Business ในสหรัฐฯ ด้วย ในขณะที่ร่างไทยต้องการให้เฉพาะนักลงทุน/นิติบุคคลสหรัฐฯ เท่านั้น
2. การประติบัติเยี่ยงคนชาติ ซึ่งให้รัฐให้การประติบัติต่อนักลงทุน เงินลงทุน สถาบันการเงิน และผู้ดำเนินธุรกิจด้านการเงิน ของคู่สัญญาเทียบเท่ากับของคนในชาติ ในขณะที่ฝ่ายไทยต้องการให้เท่าที่ระบุไว้ในตารางแนบตามหลัก Positive List เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่มีในร่างของสหรัฐฯ แต่ไม่มีในร่างของฝ่ายไทย ได้แก่
1. การประติบัติเยี่ยงคนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง ด้วยการให้สหรัฐฯ ได้รับสิทธิที่ดีที่สุดที่ไทยได้ตกลงเปิดเสรีในด้านการเงินกับประเทศอื่นๆ ทั้งก่อนและหลังการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ขณะที่ฝ่ายไทยต้องการให้เป็น Positive List เพราะเห็นว่า ภายใต้ความตกลงฯ ทวิภาคีนี้ ควรเป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะคู่สัญญา
2. การค้าบริการด้านการเงินข้ามพรมแดนที่ประเทศไทยจะอนุญาตให้ผู้ให้บริการทางการเงิน ของสหรัฐฯ สามารถให้บริการด้านการเงินในประเทศข้ามพรมแดนมาประเทศไทยได้ และอนุญาตให้คนไทยทั้งที่อาศัยในประเทศและต่างประเทศสามารถซื้อบริการด้านการเงินข้ามพรมแดนจากผู้ให้บริการของสหรัฐฯ ได้เสรี ไม่ว่าจะให้บริการจากที่ไหนก็ตาม ซึ่งฝ่ายไทยไม่ต้องการเนื่องจากยังขาดกฎหมายกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งกฎหมายกำกับดูแลอิเล็กทรอนิกส์ แบงก์กิ้ง
3. การให้บริการรูปแบบใหม่ สหรัฐฯ สามารถเสนอบริการการเงินใหม่ในประเทศไทยได้ เท่าเทียมกับสถาบันการเงินภายในประเทศ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน โดยไม่ต้องมีการออกกฎหมายใหม่ ซึ่งฝ่ายไทยเห็นว่าจะกำกับดูแลยาก และสถาบันการเงินไทยไม่สามารถแข่งขันได้
4.ประเด็น Self-Regulatory Organization (SRO) ที่ฝ่ายไทยจะต้องแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบถึง SRO ที่กำหนดให้สถาบันการเงินสหรัฐฯ ต้องเข้าเป็นสมาชิก เพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ เกรงว่าจะถูกกีดกันหลังเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยแล้ว ขณะที่ฝ่ายไทยยังต้องตรวจสอบว่าหน่วยงาน SRO ในประเทศไทยประกอบด้วยหน่วยงานใดบ้าง
5. ประเด็นข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐ ที่นักลงทุนสหรัฐฯ สามารถฟ้องร้องรัฐบาลไทย หากนักลงทุนสหรัฐฯ ไม่พอใจมาตรการของทางการ ซึ่งฝ่ายไทยไม่ต้องการ เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องได้ จึงไม่ยอมรับร่างสหรัฐฯ ในมาตราดังกล่าวได้
"แม้ว่าผลของการเจรจาในวันแรก จะยังมีประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่สอดคล้องอยู่บ้าง แต่เป็นความคืบหน้าที่ดีของการเจรจาด้านการเงิน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหารือต่อไปในวันต่อไป ซึ่งนายนริศฯ ได้เน้นให้ฝ่ายสหรัฐฯ ทราบว่า นายทนง พิทยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้แนวทางในการเจรจาฯ ในทุกกรอบการเจรจาว่าจะต้องเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายจึงจะสามารถยอมรับข้อตกลงดังกล่าวได้"
สำหรับการประชุมวันที่ 2 (18 พ.ย.) ฝ่ายไทยได้ยกประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นหารือกับฝ่ายสหรัฐฯ กล่าวคือได้หารือในมาตราที่มีในร่างของไทย แต่ไม่มีในร่างของฝ่ายสหรัฐฯซึ่งสหรัฐฯ ยังไม่ยอมรับ ได้แก่ 1. มาตรการจำกัดเงินทุนไหลออกกรณีประเทศประสบปัญหาดุลการชำระเงิน และ 2.มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งฝ่ายไทยต้องมีการระบุไว้ในความตกลงฯ เนื่องจากเป็นความจำเป็นของประเทศขนาดเล็กที่ต้องมีมาตรการเหล่านี้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ ฝ่ายสหรัฐฯ เห็นว่า มาตราข้อยกเว้นในร่างของสหรัฐฯ น่าจะยืดหยุ่นเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้ 2 มาตราดังกล่าวตามที่ไทยเสนอ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงตกลงที่จะมีการเจรจาอีกครังในเดือนมกราคม 2549 ที่ประเทศไทย
|
|
|
|
|