"ผลประกอบการปีหน้าก็น่าจะดีกว่าปีนี้ ถ้าไม่มีเหตุที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น
ซึ่งสำหรับหลายธุรกิจของเรา เช่น กระดาษ ปิโตรเคมี และเหล็ก ปัจจุบันราคาในตลาดโลกตกต่ำลงไปมาก
อาจเรียกได้ว่าต่ำสุดในประวัติการณ์อยู่แล้ว เราก็ไม่คิดว่าราคาของสินค้าเหล่านี้จะลดลงไปอีก
แต่เมื่อไหร่จะเงบหน้าขึ้นก็คาดการณ์ยาก" นั่นเป็นคำกล่าวเรียบ ๆ แต่แฝงความหมายอันลึกซึ้งของ
ชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ในวันแถลงผลประกอบการไตรมาส
3
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เครือปูนใหญ่เผชิญกับมรสุมของราคาสินค้าในตลาดโลกค่อนข้างหนักหน่วง
ไม่ว่าจะราคาเยื่อกระดาษและปิโตรเคมีที่ลดต่ำลงอย่างมาก รวมถึงการทุ่มราคาเหล็กนำเข้าจากรัสเซียและโปแลนด์ในตลาดไทย
ทำให้ปูนใหญ่จำต้องขายเหล็กในราคาต่ำกว่าทุนเพื่อระบายสินค้า การขาดทุนเกือบ
1,000 ล้านบาท ของกลุ่มเหล็กฉุดผลกำไรรวมของเครือปูนซิเมนต์ไทยตกต่ำอย่างช่วยไม่ได้
แต่สำหรับไตรมาสนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ภาครัฐประกาศเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ
(เซอร์ชาร์จ) และภาษีนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10-20% ตั้งแต่วันที่
21 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วยบรรเทาการขาดทุนของกลุ่มเหล็กลงไปได้ หรืออาจจะทำให้กลุ่มเหล็กมีกำไรบ้างเล็กน้อย
แต่การปรับราคาสินค้าก็จำต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าไว้
ในส่วนของการพยายามลดต้นทุนมาโดยตลอด ก็เริ่มจะเห็นผลชัด ๆ ในไตรมาสนี้
ทำให้เครือปูนใหญ่มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
"ในต้นปีราคาสินค้าของเราลดลงเร็วมาก แต่ต้นทุนลดลงไม่ทัน เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง
เช่น มีวัตถุดิบในสต็อกและของที่สั่งซื้อแล้วอยู่ระหว่างเดินทาง เมื่อราคาลดลงเราก็จำเป็นต้องพยายามลดต้นทุนลงมา
ซึ่งกว่าจะได้ผลก็มาถึงไตรมาส 3 นี้ ซึ่งราคาขายและต้นทุนขายเริ่มไปด้วยกัน"
ชุมพล อธิบาย
ผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ เครือปูนใหญ่มีกำไรสุทธิรวม 1,504 ล้านบาท
เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2538 จะกำไรเพิ่มขึ้น 182 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ
14% โดยผลการดำเนินงานรวมเก้าเดือนมีกำไรสุทธิ 5,840 ล้านบาทเทียบกับช่วงเก้าเดือนของปีก่อนเพิ่มขึ้น
645 ล้านบาท หรือขยายตัว 12%
ชุมพลชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาว่า "ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ไม่ใช่เพราะว่าปีนี้ดีขึ้น
แต่เป็นเพราะว่าในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เรื่องวัสดุก่อสร้างเจอปัญหาน้ำท่วม
ปิโตรเคมีราคาเริ่มลดลง ทำให้ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลประกอบการไม่สู้จะดีนัก
ปีนี้ถือว่าปกติทำให้ดูเป็นว่า ผลประกอบการดีขึ้น"
สำหรับไตรมาสสุดท้าย ชุมพลคาดว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ จะเป็นไปอย่างปกติ แม้รัฐบาลมีแผนจะลดภาษีนำเข้าสินค้าปิดโตรเคมีลงมาประมาณ
10% ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเครือปูนใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าปิโตรเคมีที่บริษัทในเครือผลิตและจำหน่ายนั้นมีราคาต่ำกว่าสินค้านำเข้ามากกว่า
10% อยู่แล้ว การที่ภาครัฐลดภาษีนำเข้าลงจะไม่เป็นผลให้สินค้าเหล่านั้นทะลักเข้ามาในประเทศ
การทำกำไรของเครือปูนซิเมนต์ไทย แลดูยากเย็นขึ้นไปทุกขณะ ธุรกิจที่ส่งผลกำไรจำนวนมากและต่อเนื่องในยามนี้จึงมาจากธุรกิจยานยนต์
กับธุรกิจในกลุ่มไฟฟ้าและโลหะ
เก้าเดือนที่ผ่านมา เครือปูนใหญ่มีการส่งออกประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและโลหะส่งออกมาที่สุดประมาณ
8,000 ล้านบาท กลุ่มปิโตรเคมี 3,300 ล้านบาท กลุ่มกระดาษ 1,500 ล้านบาท กลุ่มเซรามิก
1,100 ล้านบาท กลุ่มเหล็ก 1,100 ล้านบาท ส่วนกลุ่มซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างส่งออกน้อยที่สุดเพียง
150 ล้านบาทเท่านั้น
ชุมพลเชื่อว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แต่ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา อันจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเหลือเพียงพอที่จะส่งออกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างนั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง
โดยเฉพาะค่าบรรจุ ลำเลียง และขนส่ง ทำให้กำไรขั้นต้นต่ำกว่าการขายในประเทศ
ซึ่งชุมพลกล่าวยอมรับพร้อมทั้งอธิบายว่า "การส่งออกโดยทั่วไปแล้ว เราไม่ได้ราคาดีเท่ากับการขายในประเทศ
เพราะเราต้องมีค่าใช้จ่ายในการบรรจุ ลำเลียงไปถึงตลาดนั้น แต่ว่าปริมาณจะได้มาก
แม้ต่อชิ้นจะกำไรน้อยกว่า แต่เราสามารถสร้างโรงงานใหญ่ ส่งออกจำนวนมาก ๆ
ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงได้เช่นกัน"
ในปีนี้ คาดว่าเครือปูนใหญ่จะมีการส่งออกโดยเฉลี่ยทั้งปีเป็นมูลค่า 20,000
ล้านบาท และปีหน้าจะส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ล้านบาท
ในส่วนของการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเครือปูนใหญ่เริ่มดำเนินการมาปีกว่าแล้วนั้น
ขณะนี้เริ่มออกผลมาล้างโดยมีหลายโครงการที่ได้มีการตกลงกัน และเริ่มสร้างโรงงาน
แต่สำหรับรายได้ที่เข้ามานั้น ขณะนี้ยังมีสัดส่วนน้อยมาก ไม่ถึง 5% ของรายได้รวม
ชุมพลคาดว่า ภายในปี ค.ศ.2000 ส่วนของธุรกิจทั้งหมดที่ไปลงทุนในต่างประเทศจะมียอดขายรวมประมาณ
20% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท
การที่ภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำมากในขณะนี้ ทำให้ชุมพลตั้งเป้าว่าปีหน้าขอโตแค่
14-15% ก็พอโดยประมาณการจากภาวะเศรษฐกิจไทยว่า ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว 7-8%
เครือปูนใหญ่ขยายตัวประมาณ 20% แต่ในปีนี้และปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะโตประมาณ
14-15% หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติอะไรเกิดขึ้น
ทุกวันนี้ สิ่งที่เครือปูนใหญ่พยายามทำอยู่ คือ การลดต้นทุนลงให้มากที่สุด
และชะลอแผนการลงทุนออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน
ซึ่งหลายฝ่ายให้ความสนใจกันมาก โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สินระยะสั้นที่ค่อนข้างสูง
ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท หนี้สินรวม 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีเพียง
3.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
สำหรับการที่เครือปูนใหญ่จะเติบโตมากหรือน้อยในวันข้างหน้านั้น ส่วนหนึ่งชุมพลฝากชะตาไว้กับภาวะตลาดโลก
โดยเฉพาะราคากระดาษ ปิโตรเคมี และเหล็ก ซึ่งตกต่ำอยู่อย่างมากในขณะนี้ และยังไม่เห็นวี่แววว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้เมื่อไหร่
พร้อมกับคำปลอบใจตัวเองและนักลงทุนว่า "มันราคาตกลงมามากแล้ว คงไม่ตกลงไปกว่านี้อีก"