ตลาดนิตยสารในไทยยังคึก เหตุเม็ดเงินโฆษณายังต่ำมีโอกาสเพิ่มได้อีกมาก ขณะที่จำนวนหัวนอกยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เผยเม็ดเงินโฆษณานิตยสารไทยยังสูงกว่าสิงคโปร์ แต่ต่ำกว่าฮ่องกง คาดไทยจะมีเม็ดเงินโฆษณาในนิตยสารเพิ่มเป็น 205 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 ปีหน้าหัวนอกยังจดจ่อเข้าไทยอีกเพียบ
นายธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มีเดีย เอกซ์เพอร์ทีส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และนายกสมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ตลาดของนิตยสารคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมากในแง่ของเม็ดเงินโฆษณาสูงกว่าสื่อประเภทอื่น แต่ก็ยังอยู่ในอันดับที่สามของตลาดรวมที่รองจากสื่อทีวีและสื่อหนังสือพิมพ์ โดยเม็ดเงินโฆษณาสื่อนิตยสารมีประมาณ 8% จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 80,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เม็ดเงินโฆษณาช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้พบว่า ตลาดโฆษณาโดยรวมมีเม็ดเงินมากกว่า 73,338 ล้านบาท แบ่งเป็น สื่อทีวีมากกว่า 41,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 56% สื่อหนังสือพิมพ์ 14,813 ล้านบาท คิดเป็น 20.20% และสื่อนิตยสาร 5,451 ล้านบาท หรือ 7.43%
ทิศทางของตลาดนิตยสารในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมากเมื่อเทียบกับในตลาดต่างประเทศ โดยพิจารณาจากจำนวนหัวนิตยสารและมูลค่าโฆษณาที่ยังน้อยอยู่ ทั้งนี้ในต่างประเทศเช่น ฝรั่งเศสเม็ดเงินโฆษณาของตลาดนิตยสารสูงพอๆ กับเม็ดเงินโฆษณาตลาดสื่อทีวี และจำนวนหัวนิตยสารในไทยที่มีหลายคนพูดว่าออกมามาก แต่ในความเป็นจริงแล้วยังน้อยมาก โดยตัวเลขล่าสุดระบุว่าในไทยมีนิตยสารมากกว่า 1,000 หัว ทั้งหัวนอกและหัวในประเทศ อย่างไรก็ตามที่แอคทีฟในตลาดจริงๆ คาดว่าจะมีประมาณ 50% ขณะที่ในต่างประเทศมีมากเช่น รัสเซียมีกว่า 5,000 หัวนิตยสาร
หากพิจารณาจากข้อมูลของ FIPP ซึ่งเป็นสมาคมนิตยสารโลกที่รวบรวมข้อมูลไว้พบว่า ประเทศไทยมีเม็ดเงินโฆษณาในนิตยสารในปี 2547 ประมาณ 152 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าปีนี้จะเพิ่มเ ป็น 169 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2549 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 186 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มเป็น 205 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550
ขณะที่ในอเมริกาถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดมีมากกว่า 21,712 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2546 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 24,037 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 27,116 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550
ถ้าเทียบกับตลาดในเอเชียดัวยกันแล้วอย่างฮ่องกง ไทยจะมีน้อยกว่า โดยในปี 2546 มีประมาณ 213 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 285 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 315 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 ส่วนสิงคโปร์มีเม็ดเงินโฆษณาในนิตยสารมากกว่า 53 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2546 และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มเป็น 59 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในปี 2550 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 62 ล้านเหรียญสหรัฐ
แนวโน้มของนิตยสารหัวนอกในไทยรวมทั้งนิตยสารหัวในเองยังมีความสดใส เนื่องจากเพิ่งเริ่มแข่งขันกันเมื่อช่วง 2-3 ปีนี้เอง ที่มีนิตยสารหัวนอกเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ปีนี้มีประมาณ 20 กว่าหัว และคาดว่าปีหน้ายังคงมีการเปิดตัวอีกจำนวนมาก อีกทั้งด้วยมาตรการของรัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการอ่านหนังสือกันมากขึ้น และการที่ผู้ประกอบการรวมตั้งกันตั้งเป็นสมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทยก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้ตลาดนิตยสารโตขึ้นด้วย (อ่านล้อมกรอบสมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทยประกอบ)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต้นทุนการทำนิตยสารทั้งหัวในและหัวนอกจะสูงก็ตาม เนื่องจากวัตถุดิบกระดาษมีการขึ้นราคา รวมไปถึงค่าขนส่งจากราคาน้ำมัน แต่ก็ยังมีผู้สนใจเข้าสู่ธุรกิจนี้อีกมาก ซึ่งรายได้หลักจะมาจากการขายโฆษณาเป็นหลัก ซึ่งเมื่อดูถึงมูลค่าโฆษณาที่ยังต่ำอยู่นี้และมีโอกาสเพิ่มได้อีก จึงทำให้ยังเป็นตลาดที่สดใส
นายธนาชัยกล่าวด้วยว่า นิตยสารในไทยมี 3 รูปแบบ คือ 1.การพึ่งรายได้หลักจากโฆษณา รายได้จากการขายเป็นรอง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ 2.พึ่งรายได้หลักจากการขาย และรายได้จากโฆษณาเป็นรอง 3.นิตยสารที่แจกฟรีแต่มีรายได้จากโฆษณาอย่างเดียว
“ตลาดนิตยสารแข่งขันกันรุนแรงมากกว่าหนังสือพิมพ์ เพราะนิตยสารมีหัวใหม่เกิดทุกวัน ในส่วนของบริษัทฯ เองก็มีแผนที่จะเพิ่มนิตยสารหัวนอกในปีหน้าอีกเหมือนกัน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 4 หัว ทำตลาดเวลานี้ อย่างไรก็ตาม นิตยสารหัวนอกที่ดังๆ ดีๆ ก็เข้ามาในไทยมากแล้ว เหลืออีกไม่กี่หัวที่ยังไม่ได้เข้ามาในไทย”
ปัจจัยต่างๆ ที่คาดว่าจะมีผลต่อตลาดนิตยสารและเศรษฐกิจทั่วไปในปีหน้าคือ เรื่องน้ำมัน เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นแน่นอน การส่งออก และเรื่องท่องเที่ยว ซึ่งถ้าปีหน้าจีดีพีโต 4% ก็ถือว่าใช้ได้
|