|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุสถาบันการเงินจำเป็นต้องเพิ่มขนาดเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ แม้ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.6% ในปีนี้ แต่อย่าชะล่าใจ แนะควรเพิ่มช่องทางในการดึงดูดเงินลงทุน หาผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีเป็นสำคัญ ยันยังไม่มีนโยบายนำแบงก์ที่กองทุนฟื้นฟูฯเป็นผู้ถือหุ้นอยู่มาควบรวมกิจการ เหตุต้องขายหุ้นออกไปในอนาคต ด้านขุนคลัง ฟุ้งปีหน้าจีดีพี ยังโตเกิน 5%
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงานเปิดตัวธนาคารทิสโก้ ที่ผ่านการยกระดับขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการว่า สถาบันการเงินไทยยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบให้มีความมั่นคง และเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานให้สามารถแข่งขันกับสถาบันการเงินต่างประเทศเทศได้ แม้ว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจะสามารถทำกำไรดี
ทั้งนี้ ผลประกอบการของสถาบันการเงินไทยที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี และถือว่าสูงที่สุดในระบบสถาบันการเงินเอเชีย โดยสังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ในปี 2548 ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.6% จากปี 2547 ที่อยู่ในระดับ 1.3%
พร้อมกันนี้ ยังควรเพิ่มช่องทางในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสู่ตลาดเงินของไทย ซึ่งการเพิ่มขนาดของกิจการนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากแบงก์ที่มีขนาดใหญ่จะช่วยดูแลการการไหลเข้าออกของเงินทุนของประเทศได้มากขึ้น และหากเข้ามาแข่งขันในระดับสากล จะทำให้ธนาคารแห่งนั้นกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกตลาดเงิน ซึ่งเมื่อมีการทำธุรกรรมกับลูกค้าก็จะเป็นการดึงเงินทุนเข้ามาในประเทศด้วย
สำหรับธนาคารแห่งใดที่ยังมีขนาดไม่ใหญ่พอ ควรควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มขนาดและความแข็งแกร่งอันจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น แต่ทาง ธปท.เองไม่มีหน้าที่เข้าไปสั่งการให้สถาบันการเงินต้องควบรวมกิจการ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารของธนาคารแต่ละแห่ง
"ก่อนที่ผมจะเกษียณอายุราชการ ก็ได้ตั้งใจไว้ว่าจะต้องพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทยให้ทัดเทียมกับต่างชาติ และอยากเห็นสถาบันการเงินมีความมั่นคง รวมทั้งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจนกระทั่งมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติได้ซึ่งในปัจจุบันสถาบันการเงินของส่วนใหญ่มีความพร้อมแล้วในการพัฒนา" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ควรมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ธุรกรรมการฝากเงินที่ผูกอยู่กับตราสารอนุพันธ์ทางการเงินแฝง ธุรกิจเช่าซื้อ เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับ ซึ่งหากเสนอแนวทางของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มา ธปท.ก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ที่สำคัญธนาคารพาณิชย์จะต้องมีระบบในป้องกันความเสี่ยงด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ก็อนุญาตให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้แล้วซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางในการลงทุน
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง เพื่อป้องกันปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างที่ผ่านมาในช่วงปี 2540 คือ การบริหารความเสี่ยง โดยคณะกรรมการของธนาคารจะต้องมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน และมีกระบวนการในการป้องกันความเสี่ยง เน้นสร้างความมั่นคงมากกว่าสร้างกำไร และไม่ปล่อยกู้แก่พวกพ้องของตน ซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่บ้าง
"การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ แบงก์ไม่ควรแต่ตั้งกรรมการเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณเท่านั้น ประธานกรรมการธนาคารและซีอีโอไม่ควรเป็นคนคนเดียวกัน และกรรมการไม่ควรจะได้รับผลตอบแทนที่แปรผันตามการทำกำไรของธนาคาร หรือการรับผลประโยชน์ในรูปของหุ้น เพราะจะทำให้กรรมการหวังแต่จะสร้างรายได้ หวังผลประโยชน์ ทำให้ลืมนึกถึงเรื่องความเสี่ยง และความมั่นคงของสถาบันการเงิน จนขาดธรรมาภิบาล" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
สำหรับหุ้นของธนาคารที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น ในฐานะประธานกองมทุนฯขอยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายที่จะนำธนาคารที่กองทุนฯ เป็นผู้ถือหุ้นอยู่มาควบรวมกิจการ เพราะในอนาคตก็ต้องขายหุ้นออกไปในที่สุด แต่ยังไม่มีกำหนดจะขายในเร็วๆ นี้ ซึ่งการขายต้องรอดูจังหวะของตลาด หากได้ราคาดีจึงจะสามารถขายได้ ทั้งนี้ในที่สุดแล้วธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งควรจะเป็นของภาคเอกชนทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารกรุงไทย เพราะจะได้ดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่ ส่วนธนาคารที่จะเข้ามาช่วยเหลือด้านการเงินแก่ภาครัฐบาลควรเหลือแต่ธนาคารเฉพาะกิจเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีสถาบันประกันเงินฝากเกิดขึ้น และกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะยกเลิกหน้าที่ค้ำประกันเงินฝาก 100% เปลี่ยนมาให้สถาบันประกันเงินฝากเข้ามาค้ำประกันแทน และค้ำประกันไม่ถึง 100% ดังนั้น หากสถาบันการเงินมีปัญหาจนถึงขั้นต้องปิดตัวไป ก็จำเป็นจะต้องทำ โดยที่ทางการจะไม่เข้าไปแทรกแซง ยกเว้นในกรณีที่ไม่หนักมาก ธปท.จึงจะเข้าไปช่วยเหลือทางการเงิน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันหากสถาบันการเงินมีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ยังมี AMC ของรัฐ 2 แห่งที่ ธปท.มองว่ามีศักยภาพในการบริหารสินทรัพย์ โดยจะรับซื้อเอ็นพีเอ และเอ็นพีแอลจากสถาบันการเงิน คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ซึ่งปัจจุบัน AMC ทั้ง 2 แห่ง ได้มีการติดต่อเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอซื้อหนี้เสียอยู่เป็นระยะ
ด้านนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 2549 จะขยายตัวเกิน 5% อย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทั้งอัตราเงินเฟ้อ ที่จะไม่ปรับตัวเร่งขึ้นมากนัก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะปรับตัวดีขึ้น และเชื่อว่าสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะยังไม่เกิดฟองสบู่ในปีหน้าอีกด้วย ส่วนปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 4.5%
"น้ำมันเป็นปัจจัยที่น่ากังวล แต่คิดว่าคงอยู่ในระดับนี้ได้ ดุลบัญชีเดินสะพัดก็คงจะดีขึ้น ประกอบกับการประหยัดพลังงานก็ยังคงดำเนินการอยู่ การส่งออกสินค้าก็ยังทำได้ดี ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะไทยควบคุมได้ดี ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้าหากอยู่ที่ 40.5-41.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน" นายทนง กล่าว
|
|
 |
|
|