|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คณะกรรมการ ร.ส.พ.ยังไม่ตัดสินใจจะฟื้นฟูและยุบเลิกกิจการ โดยให้ผู้บริหาร ร.ส.พ.กลับมาพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง พร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานเสนอแผนฟื้นฟูได้ด้วย ยอมรับปัญหามีมากจนไม่แน่ใจจะพลิกฟื้นกลับมาได้ในอนาคต
นายประสงค์ ตันมณีวัฒนา ประธานคณะกรรมการองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ร.ส.พ. เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ส.พ. ว่า ภายหลังจากได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการที่นำเสนอโดยนายก่อแก้ว พิกุลทอง รักษาการผู้อำนวยการ ร.ส.พ. คณะกรรมการฯ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ว่าจะฟื้นฟูหรือยุบเลิกกิจการ เนื่องจากแผนฟื้นฟูที่เสนอมายังไม่ชัดเจนว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะประเด็นปัญหาคือ ร.ส.พ. ไม่มีเงินสดหมุนเวียนในกิจการ และเมื่อมีรายได้เข้ามาต้องนำส่งกรมบังคับคดีทั้งหมด ซึ่งกิจการทั่วไปแล้ว ถ้าไม่มีเงินสดก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ในส่วนของแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ส.พ. หากเลือกแนวทางนี้ก็จะต้องใช้เงินกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าแนวทางนี้รัฐบาลจะมีความเห็นเป็นอย่างไร และหากกิจการเดินหน้าต่อไปก็ไม่ชัดเจนว่าจะพลิกฟื้นได้ เนื่องจากมีปัญหามาก ได้แก่ บุคลากรส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุมาก รถมีอายุใช้มาแล้ว 16 ปี ถือว่าหมดสภาพ จำเป็นต้องลงทุนใหม่ ซึ่งวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ที่จะใช้ฟื้นฟูนั้น ยังไม่รวมการลงทุนใหม่ด้วย ดังนั้น คณะกรรมการหลายคนอยากให้มีการพิจารณาแนวทางฟื้นฟูให้ชัดเจนอีกครั้ง จึงให้เวลารักษาการผู้อำนวยการ ร.ส.พ. นำเรื่องนี้กลับไปศึกษาอีก 2-3 วัน
นายประสงค์ กล่าวว่า ส่วนการชุมนุมของพนักงาน รักษาการผู้อำนวยการ ร.ส.พ. จะไปพูดคุยกับพนักงาน พร้อมฟังข้อเรียกร้องว่าจะมีทางออกอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการได้พิจารณาแนวทางการฟื้นฟูที่ให้กลับไปศึกษาเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า ร.ส.พ. ไม่อาจดำเนินกิจการไปได้อย่างยั่งยืน ก็คงจะต้องยุบเลิก
“คณะกรรมการส่วนใหญ่ไม่อยากหักด้ามพล้าด้วยเข่า จึงให้โอกาส ร.ส.พ.กลับไปพิจารณาในรายละเอียดให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง และดูข้อเสนอของพนักงานด้วย ก่อนจะพิจารณาตัดสินทางเลือกที่เหมาะสมต่อไป” นายประสงค์ กล่าว
ประธานกรรมการ ร.ส.พ.กล่าวอีกว่า สำหรับหนี้สินของ ร.ส.พ. การชำระหนี้สามารถทำได้เช่นกัน เพราะ ร.ส.พ. เอง มีทรัพย์สินต่าง ๆ มูลค่ารวมกว่า 900 ล้านบาทเศษ ก็จะมีการโอนให้กรมธนารักษ์ เพื่อดำเนินการชำระหนี้ต่อไป
ด้านนายก่อแก้ว กล่าวว่า ร.ส.พ. ได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อคณะกรรมการ ร.ส.พ. แต่คณะกรรมการไม่เชื่อว่า ธุรกิจของ ร.ส.พ. จะอยู่รอดได้ในอนาคต แต่คณะกรรมการก็ยังไม่มีมติชัดเจนออกมา เพราะมีการเรียกร้องขอความเห็นใจจากพนักงานให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งพนักงานส่วนหนึ่งเชื่อว่าสามารถฟื้นฟู ร.ส.พ. ซึ่งในวันพรุ่งนี้ เวลา 11.00 น. ได้นัดพูดคุยกับพนักงาน เพื่อให้พนักงานส่วนที่เชื่อมั่นว่าฟื้นฟูได้เสนอแผนฟื้นฟูและจะได้นำกลับมาเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง โดยนัดให้พนักงานส่งแผนเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้
จากนั้น เวลา 14.00 น. จะนำแผนฟื้นฟูในส่วนของพนักงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าหากไม่มีการนำเรื่องการขอเงินสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี จะมีเงินเดือนจ่ายพนักงานในสิ้นเดือนนี้หรือไม่
นายก่อแก้ว กล่าวว่า การพิจารณาเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ส.พ. ที่ยืดเยื้อมานาน เพราะมีความเป็นห่วงว่า พนักงานมีจำนวนมาก โดยอดีตเคยมีพนักงานกว่า 3,000 คน ปัจจุบันมีพนักงาน 1,700 คน หากยุบเลิกกิจการมีพนักงาน 900-1,000 คน ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ โดย 500 คน ในกลุ่มพนักงานที่ใกล้เกษียณอายุ จะมีอายุ 56-60 ปี อีก 200-300 คน เป็นพนักงานที่อยู่ต่างจังหวัด หากยุบเลิกกิจการยังมีบำเหน็จบำนาญนำไปประกอบอาชีพได้ ขณะที่พนักงานอีกกลุ่มหนึ่งยังสามารถหางานทำได้ ส่วนพนักงานที่จะต้องช่วยเหลือที่มีอยู่ 900 คนนั้น ได้มีการศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือไว้แล้ว 4 แนวทาง คือ
1.ไปทำงานกับหน่วยงาน ประกอบด้วย บขส. ขสมก. รถร่วม ขสมก.
2. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
3. พนักงานเก่าที่ซ่อมรถได้ ส่วนนี้น่าจะมีการตั้งกิจการอู่ซ่อมรถประมาณ 50-60 คน ซึ่งหากสนใจทำธุรกิจนี้ก็จะให้ธนาคารออมสินและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยสินเชื่อให้
4. จะโอนกิจการแพขนานยนต์ที่มีอยู่ 6 ลำ คือ สงขลา 4 ลำ และนราธิวาส 2 ลำ ให้จังหวัดรับดำเนินกิจการต่อไป โดยมีเงื่อนไขให้รับพนักงานจำนวน 48 คน เข้าทำงาน
สำหรับพนักงานที่เหลืออีก 400 คน ได้หารือกับธนาคารออมสินและเอสเอ็มอีแบงก์ที่จะฝึกอบรมเปลี่ยนอาชีพใหม่ให้
รักษาการผู้อำนวยการ ร.ส.พ. กล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ส.พ. ว่า จากที่ ร.ส.พ. มีกิจการทั้งหมด 7 อย่าง แบ่งเป็นกิจการหลัก 4 อย่าง ย่อย 3 อย่าง ร.ส.พ. เสนอเหลือธุรกิจขนส่งและรถยนต์ราชการ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่น่าจะแข่งขันกับเอกชนได้บ้าง และจะมีการลดขนาดขององค์กรเหลือ 750 คน พร้อมกับการปรับปรุงไอที ภาพลักษณ์ให้ทันสมัย ปรับปรุงสำนักงานให้ดูดี บรรยากาศการทำงาน และจะมีการฝึกอบรมพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตของ ร.ส.พ. ซึ่งไม่แน่ใจว่าพนักงานส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 50 ปี จะยังอยากเรียนรู้หรือไม่
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ส.พ. มีหนี้สินประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งได้เจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ให้ลดหนี้ลง และสามารถเจรจาขอลดหนี้ได้ 390 ล้านบาท แต่ยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาและจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นต่อไป ส่งผลให้หนี้ ร.ส.พ. จะลดลงเหลือประมาณ 1,200 ล้านบาท
|
|
|
|
|