|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กทม.เปิดซองเดินเครื่องรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที เผยสายแรก ก.ม.8-หมอชิต อิตาเลียนฯ เสนอต่ำสุด 705 ล้านบาท สายที่สอง ช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ ยูนิคเอ็นจิเนียริ่งฯ เสนอต่ำสุด 681 ล้านบาท แต่ยังสูงกว่าราคากลางทั้งสองราย เรียกเจรจาต่อรองราคาวันที่ 21 พ.ย.นี้ ด้าน “สามารถ” เผยส่งจม.ขอแก้มติครม.เรื่องขอให้กทม.มีสิทธิในการจัดการเดินรถไปยังมหาดไทยแล้ว 2 ครั้งแต่ยังเงียบกริบ เตรียมส่งครั้งที่ 3
วานนี้ (15พ.ย.) สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดซองประกวดราคาการก่อสร้างรถด่วนพิเศษบีอาร์ที หรือสมาร์ทเวย์ ทั้ง 2 เส้นทาง ผลปรากฏว่าในเส้นทางแรกสายนวมินทร์-เกษตร-หมอชิต รวมถึงส่วนต่อขยาย จากถนนนวมินทร์ถึงถนนรามอินทรา ก.ม. 8 ผู้เสนอราคาต่ำสุดได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เสนอที่ 705 ล้านบาท ขณะที่อีก 2 บริษัท คือ บริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น จำกัด มหาชน เสนอราคา 715 ล้านบาทเศษ และบริษัท ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น จำกัด มหาชน 749 ล้านบาทเศษ
ส่วนเส้นทางที่ 2 สายช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ ผู้เสนอราคาต่ำสุดได้แก่ บริษัท ยูนิคฯ 681 ล้านบาทเศษ รองลงมา คือ อิตาเลียนไทยฯ 692 ล้านบาทเศษ และซิโนไทยฯ 710 ล้านบาทเศษ
นายจุมพล ลำเภาพล รองผู้อำนวยการสำนักจราจรและขนส่ง เปิดเผยว่า จากการที่ได้พิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่ยื่นซองเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใน 3 บริษัทที่ยื่นซอง รวมทั้งคุณสมบัติทางเทคนิคผ่านหมดทั้ง 3 บริษัท ดังนั้น จะเลือกบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด และนัดมาต่อรองราคาในที่ 21 พ.ย.นี้ เวลา 14.00 น.คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา หากต้องปรับลดราคาให้ได้ใกล้เคียงกับราคากลาง โดยเส้นทางที่ 1 ราคากลาง คือ 682 ล้านบาทเศษ เส้นทางที่ 2 อยู่ที่ 660 ล้านบาทเศษ
แต่ถ้าหากบริษัทก่อสร้างไม่สามารถลดราคาลงมาได้ ก็จำเป็นต้องประกวดราคาใหม่ตามระเบียบพัสดุ แต่มั่นใจว่าจะต่อรองได้ และไม่เป็นจุดวิกฤติที่จะทำให้การเดินรถบีอาร์ทีล่าช้า ทั้งนี้ กทม.จะใช้บทลงโทษปรับสูงสุด หากก่อสร้างล่าช้า คือวันละ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ของค่าก่อสร้างรวม
นายจุมพล กล่าวด้วยว่าหลังลงนามในสัญญาการก่อสร้างกับทั้ง 2 บริษัท ใน 2 เส้นทาง จะใช้เวลาก่อสร้าง 180 วัน จากนั้นจะมีการทดลองระบบและการเดินรถก่อนเปิดใช้โดยรายละเอียดของงานก่อสร้าง ประกอบด้วย ส่วนที่ 1. อาคารสถานี ซึ่งต้องมีระบบลิฟท์ สะพานคนเดินข้าม 2 ฝั่งมาที่สถานีซึ่งอยู่เกาะกลางถนน และระบบปรับอากาศ โดยเส้นทางแรกระยะทาง 19.5 กิโลเมตร มี 18 สถานี เส้นทางที่ 2 ระยะทาง 16.5 กม. จากถนนสุรวงศ์ ถึงแยกนราธิวาส ไปถนนพระราม 3 สุดถนนรัชดาภิเษก บรรจบกับถนนราชพฤกษ์ มี 16 สถานี ซึ่งสถานีมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าสายที่ 1 เพราะมีโครงสร้างที่ต้องคร่อมคลอง
ส่วนที่ 2.เส้นทางวิ่ง จะต้องก่อสร้างขอบคันหิน กั้นรถส่วนบุคคลแยกจากรถบีอาร์ที ยกเว้นช่องทางแยก ทางเลี้ยวที่จะใช้สีเหลืองบนพื้นผิวจราจรแทนคันหินกั้น โดยคันหินต้องมีคุณสมบัติรับแรงกระแทกได้สูง ส่วนที่ 3 คือ ระบบงานท่อร้อยสายไฟ คอมพิวเตอร์ เชื่อมโยงเพื่อควบคุมระบบรถ
รองผู้อำนวยการสำนักฯ กล่าวด้วยว่า ได้มีการหารือเบื้องต้นกับเจ้าของเส้นทางที่บีอาร์ทีผ่านหลายหน่วยงานแล้ว เช่น กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท และจะต้องหารือเป็นระยะตลอดการก่อสร้าง เพราะอาจจะกระทบกับทรัพย์สินและการจราจร
ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ไม่น่าจะมีปัญหาในการต่อรองและถ้าหากการต่อรองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยก็จะสามารถลงนามในสัญญาและออกหนังสือให้บริษัทที่ประกวดราคาได้เริ่มงานก่อสร้างทันที
ทั้งนี้ กทม.ยังคงตั้งเป้าหมายให้บริการได้ในเดือน ส.ค.2549 แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการขออนุญาตเดินรถที่กทม.ได้ส่งหนังสือขอความเห็นชอบไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อให้กทม.มีใบอนุญาตประกอบการเดินรถเพื่อที่จะสามารถเดินรถโดยสารสาธารณะในกรุงเทพฯได้ ซึ่งขณะนี้กทม.ได้ส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วจำนวน 2 ครั้งเพื่อให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมครม.แต่จนถึงปัจจุบันนี้มหาดไทยยังไม่ได้นำเข้าเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กทม.เตรียมจะจัดจะส่งหนังสือไปอีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งทางนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม.ได้สั่งการให้สจส.ดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว
|
|
|
|
|