Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน16 พฤศจิกายน 2548
ศาลสั่งระงับขายหุ้นกฟผ.             
 


   
www resources

โฮมเพจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

   
search resources

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
Stock Exchange
Law




ศาลปกครองสูงสุดหักหน้ารัฐบาลทักษิณสั่งระงับการขายหุ้นกฟผ. ระบุไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน-เศรษฐกิจ ชี้หากปล่อยให้มีการขายหุ้นและศาลคำสั่งเพิกถอนพ.ร.ฎ.2 ฉบับอาจก่อให้เกิดความเสียหายจนเยียวยาไม่ได้ ด้านภาคปชช. น้ำตาคลอความเป็นธรรมยังมีในสังคม เตรียมเดินหน้าสอบแปรรูปปตท. ต่อ ด้าน “ทนง-วิเศษ” ยอมรับผิดคาดแต่ต้องทำตามคำสั่งศาล ยันเศรษฐกิจกระทบหนักแน่ ร่อนแถลงการณ์ระบุคำสั่งไม่ใช่คำพิพากษา หวังขายหุ้นได้ต่อ ส่วน “ทักษิณ” ยังห่วงประชาสัมพันธ์กลัวขายหุ้นไม่ได้

วานนี้ (15พ.ย.) นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าองค์คณะในศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีการขอระงับการกระจายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ให้กับประชาชนทั่วไปในวันที่ 16-17 พ.ย. ตามคำร้องขอ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกรวม 11คน ที่ได้ยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพวกรวม 5 คนต่อศาลปกครองสูงสุด ฐานกระทำการโดยมิชอบ โดยขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำกัด (มหาชน) (กฟผ.) พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

โดยระบุว่า ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว โดยในคำขอที่ให้ศาลมีคำทุเลาการบังคับตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ์และประโยชน์ ของบริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำกัด (มหาชน) (กฟผ.) พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้น เห็นว่า การพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเป็นประเด็นหลักแห่งคดี ที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษา

อีกทั้งมีขั้นตอนที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามพระราษกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ หากให้ระงับการบังคับใช้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และเกิดปัญหาแก่การบริหารงานของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) ดังนั้นจึงเห็นว่า ยังไม่สมควรที่จะสั่งทุเลาการบังคับใช้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

ส่วนคำขอที่ให้ระงับการดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับการขายหุ้นของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน)ไว้ก่อนเห็นว่าคดีนี้มีมูล มีเหตุที่ศาลจะรับคดีไว้พิจารณาและบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) กำลังดำเนินการเพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่เอกชน โดยกำหนดให้ประชาชนจองซื้อหุ้นในวันที่ 16-17 พ.ย. หากให้มีการดำเนินการดังกล่าว และในภายหลังศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ยอมทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างแก่ประชาชนที่จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก และยังมีผลกระทบต่อบุคคล หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวด้วย ซึ่งการให้ระงับการดำเนินการเพื่อเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการบริการสาธารณะของ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) เพราะแม้ไม่มีการเสนอขาย หรือขายหุ้นให้กับประชาชนในขณะนี้ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) ก็ยังคงดำเนินการบริการสาธารณะต่อไปได้

**คำอ้างวิเศษฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อ้างว่าหากไม่ให้มีการกระจายหุ้นจะมีผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลนั้น เห็นว่าการให้ระงับการเสนอขาย หรือขายหุ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลในการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่อย่างใด และที่อ้างว่าการระงับการเสนอขาย หรือการขายหุ้นจะทำให้บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) ขาดเงินทุนที่จะขยายการให้บริการแก่ประชาชนนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนหรือเป็นเรื่องที่กระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะแต่อย่างใด

สำหรับที่อ้างว่าหากระงับการเสนอขาย หรือการขายหุ้นจะก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือจากผู้ที่จะลงทุนซื้อหุ้น เห็นว่าการระงับการเสนอขาย หรือการดำเนินการใดๆ เพื่อขายหุ้นเกิดจากการที่ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาไม่ใช่เกิดจากการดำเนินกิจการ ของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้นในชั้นนี้สมควรที่จะมีคำสั่งระงับและมีคำสั่งห้ามรมว.พลังงาน รมว.คลัง และบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) เสนอขายหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการขายหุ้นของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา (อ่านรายละเอียดคำสั่งศาล)

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนการอ่านคำสั่งดังกล่าว กลุ่มผู้ที่คัดค้านการแปรรูป กฟผ.กว่า 50 คนได้เดินทางมาชุมนุม บริเวณหน้าศาลปกครองและได้มีการแจกใบปลิวเชิญชวนประชาชนที่บริเวณถนนสาทร ให้รวมคัดค้านพร้อมแสดงความคิดเห็นผ่านไปรษณียบัตรที่จะนำส่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก

ขณะเดียวกัน บริเวณหน้าห้องการพิจารณาคดีก็ได้รับความสนใจจากทั้งตัวแทนองค์กรภาคประชาชน สสร. ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประชาชน และสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ารับฟังคำสั่งของศาลปกครอง

**ภาคประชาชนน้ำตาคลอ

รายงานข่าวแจ้งว่า ทันทีมีนายจรัญอ่านคำสั่งจบ ทั้งน.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ส.สาลี อ่องสมหวัง น.ส.สายรุ้ ทองปลอน ตัวแทนของผู้ฟ้องคดีและประชาชนที่คัดค้าน ที่ได้เข้าร่วมฟังต่างยกมือกราบขอบคุณศาลปกครองสูงสุด ขณะที่ประชาชนที่รับฟังอยู่ภายนอกห้องการพิจารณาก็ได้ส่งเสียงไชโยโฮร้องกึกก้อง และเมื่อน.ส.รสนา และพวกออกมาพบกับกลุ่มที่มาสนับสนุนก็ถึงกลับน้ำตาคลอเบ้า และร่วมกันแสดงความยินดีกับคำสั่งที่ออกมา โดยทั้งหมดได้ลงมาบอกกล่าวกับผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณหน้าศาลปกครอง ซึ่งต่างโฮร้องแสดงความยินดีและตะโกนว่า “หยุดขายสมบัติชาติ หยุดขายทรัพย์สินประชาชน”

โดยน.ส.รสนา กล่าวว่า ในฐานะองค์กรภาคประชาชนขอขอบคุณศาลปกครองสูงสุด ที่มีคำสั่งระงับการขายหุ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์และรักษาประโยชน์ของประชาชน สมกับที่ท่านบอกว่าทำงานภายใต้พระบรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ยังขอให้ตระหนักว่าคำสั่งของศาลวันนี้ถือเป็นความหวังของประชาชน ซึ่งเครือขายยืนยันที่จะไม่หยุดเคลื่อนไหว จะดำเนินการตรวจสอบการแปรรูปการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย (ปตท. )ที่ก่อนการกระจายหุ้นในหนังสือชี้ชวนซื้อหุ้นปตท.ระบุว่า เมื่อมีการแปรรูปแล้วจะมีการแยกกิจการท่อก๊าซออกจากกิจการทั่วไปของปตท. และมีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบ แต่จนมาถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการตามที่กล่าวอ้างก็จะศึกษาข้อกฎหมายว่าการไม่ดำเนินการตามสัญญาที่ให้ไว้ จะสามารถดำเนินการฟ้องร้องได้หรือไม่

“วันนี้เรารู้สึกว่ามีความเป็นธรรมในสังคมไทย เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาเท่ากับว่าวันนี้เราได้มีโอกาสเอาความจริง ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะไม่ใช่ความจริงข้างถนนอย่างที่รัฐกล่าวหา และความจริงนี้ก็สามารถทำให้รัฐต้องหยุดยั้งการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง” น.ส.รสนา กล่าว

นายเพียร ยงหนู ประธานเครือข่ายไฟฟ้า-ประปา เพื่อชาติและประชาชน กล่าวว่า คำสั่งในวันนี้ถือเป็นการฉีกหน้านายกรัฐมนตรี ชนิดใส่ทิงเจอร์ก็ยังไม่หาย เชื่อว่าผลของคำสั่งจะไม่ทำให้พนักงานการไฟฟ้า ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไปโกธรพวกที่คัดค้านมากขึ้น

**ต่างชาติยิ่งเชื่อมั่น

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า คำสั่งศาลครั้งนี้ไม่ส่งผลต่อการลงทุนและความน่าเชื่อถือของนักลงทุนต่างชาติแน่นอนแต่ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้ต่างชาติมีความมั่นใจและเชื่อมั่นมากขึ้นว่าสังคมไทยมีระบบถ่วงดุลตรวจสอบที่น่าเชื่อถือขึ้นมาบ้าง ดีกว่าปล่อยให้เอา กฟผ.เข้ากระจายหุ้นในขณะที่กลุ่มทุนขาประจำในตลาดหลักทรัพย์ที่อิงอำนาจการเมืองมีอิทธิพลเหนือตลาดหุ้นและใช้ข้อมูลอินไซด์แทรกแซงชี้นำหรือปั่นหุ้นได้ตลอดเวลา และหลังจากนี้องค์กรภาคประชาชนก็คงต้องไปเตรียมข้อมูลข้อเท็จนิงเพิ่มเติมเพื่อให้การต่อศาลตามขั้นตอนการไต่สวนปกติต่อไป

นพ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณการตัดสินใจของศาลปกครองที่มองมิติในแง่รัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ โดยเข้าใจประชาชน อย่างไรก็ตามเครือข่ายคัดค้านการขายสมบัติชาติจะยังคงมีแนวทางการรวมตัวกันที่สนามหลวงวันที่ 18 พ.ย.นี้เพื่อแสดงพลังคัดค้านการนำรัฐวิสาหกิจที่เป็นระบบสาธารณูปโภคแปรรูป

**แฉ พ.ร.ก.ให้อำนาจเอกชนล้นฟ้า

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน แถลงว่า วิปฝ่ายค้านมีการหารือเรื่องการแปรรูปกฟผ. ซึ่งประชาชนยังมีข้อกังวลและความห่วงใยอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีการวินิจฉัยแล้ว แต่ไม่ถือเป็นข้อยุติ เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปโดยที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการขัดรธน.ซึ่งจากการตรวจสอบของวิปฝ่ายค้านพบประเด็นสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรธน.เพราะรัฐบาลได้อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจออกพระราชกฤษฎีกาขึ้นมา 2 ฉบับ โดยเฉพาะพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัทกฟผ.จำกัด (มหาชน) มาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 8 ที่อาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.นี้ตั้งคณะกรรมการกิจการผลิตไฟฟ้าโดยผ่านมติครม.ลงนามโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ

นายสาทิตย์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการกิจการไฟฟ้ามากเกินไป เช่น การรื้อถอน เดินสายไฟ สำรวจ สร้างและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า โรงไฟฟ้า เขื่อนกักน้ำ และระบบระบายน้ำ โดยหารือร่วมกับกรมชลประทานในการจัดการบริหารน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในอนาคตหากเกิดปัญหาภัยแล้ง แต่เกษตรกรต้องการใช้น้ำขณะเดียวกันเมื่อกฟผ.แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนย่อมคำนึงถึงผลตอบแทนจากการผลิตไฟฟ้า อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งได้ ดังนั้นวิปจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาพรก.ดังกล่าว โดยจะศึกษาให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 พ.ย.นี้ ก่อนที่จะส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาเพื่อส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัยต่อไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว ว่าถือเป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลในการที่จะทบทวนเรื่องนี้ใหม่ทั้งหมด เป็นการแสดงให้เห็นว่าการผลีผลามกระจายหุ้นกฟผ.ภายใต้อำนาจการผูกขาดหรือการยกอำนาจของรัฐไปให้บริษัทกฟผ.เป็นเรื่องที่มีปัญหา ขณะที่เหตุผลเดิมที่รัฐบาลอ้างว่าต้องทำตามกำหนด เพราะเกรงจะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่วันนี้ทุกคนต้องปฏิบัติตามศาลปกครอง จึงไม่มีข้ออ้างนี้อีกต่อไป

** วิเศษยังยืนยันศก.เสียหาย

นายวิเศษ จูภิบาล รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมครม.ว่า ได้ให้กฟผ.หยุดขายหุ้นเป็นการชั่วคราวไปก่อน เรื่องนี้ต้องทำให้ชัดเจนเพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมากทีเดียว หากศาลสั่งระงับการขายหุ้นไปเลยยิ่งจะหนัก

สำหรับการชี้แจงประชาชน นายวิเศษ กล่าวว่า ต้องชี้แจงว่ามีเหตุผลอย่างไรถึงต้องแปรรูป บางทีข่าวออกไปคลาดเคลื่อน อาทิว่า การแปรรูปคือการขายสมบัติชาติซึ่งที่จริงเป็นการระดมทุนเท่านั้นหรือมีการพูดว่าจะเอาเขื่อนต่างๆไปขาย ซึ่งที่จริงในกระบวนการคือการโอนเขื่อน มาเป็นของกระทรวงการคลัง จากนั้นคลังอาจให้.กฟผ. มาเช่าเพื่อไปผลิตไฟฟ้า

นายวิเศษกล่าวว่า สำหรับการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องการแปรรูป กฟผ.หรือไม่นั้นคงไม่จำเป็นเพราะ พรฎ.ที่ออกมามีขั้นตอนครบถ้วน อีกทั้งการทำประชาพิจารณ์ก็เคยทำมาแล้ว ช่วงนี้คงต้องรอคำสั่งศาลปกครองหากพิจารณามาอย่างไรคงต้องปฏิบัติตาม

แหล่งข่าวในที่ ประชุม ครม. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถาม รมว.พลังงาน ในที่ประชุมก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งให้ระงับการขายหุ้น กฟผ.ชั่วคราวว่าเรื่องการแปรรูป กฟผ.มีปัญหาอย่างไรบ้าง ซึ่ง รมว.พลังงานชี้แจงว่าขณะนี้กำลังรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองอยู่ ขณะที่นายกรัฐมนตรี กำชับว่าเรื่องการกระจายหุ้น กฟผ. อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ให้ดี โดยเฉพาะเรื่องของความเสี่ยง

**ขุนคลังยอมรับผิดคาด

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ต้องขอดูรายละเอียดของคำสั่งศาลก่อน ว่า กฟผ.มีลักษณะพิเศษอย่างไรที่เป็นปัญหาให้ไม่สามารถกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เพราะที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจอื่น เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังไม่ขอยืนยันเรื่องการผลักดันบมจ.กฟผ.เข้าตลาดฯ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ อาจจะต้องมีการนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)

ทั้งนี้ ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะที่ผ่านมาได้มีการเดินทางโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูรายละเอียดของคำสั่งว่าศาลมีเหตุผลอย่างไรบ้างในการระงับการขายหุ้น เพื่อหาคำอธิบายให้นักลงทุนได้เข้าใจ

“ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยคิดว่าจะทำอย่างไรหากศาลมีคำสั่งเช่นนี้ เพราะรมว.พลังงาน บอกว่ามั่นใจ แต่ผลที่ออกมาผิดคาดเราก็ต้องกลับมาดูว่าลึกๆแล้วกฟผ.มีอะไรที่เป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถกระจายหุ้นได้”

วันเดียวกัน กระทรวงการคลังและพลังงานได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรื่องการระงับกระจายหุ้นของ กฟผ. โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ยืนยันความชอบธรรมในการแปรรูปกผฟ.เพราะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณที่แถลงต่อรัฐสภาและคำสั่งศาลปกครองเป็นเพียงการระงับการเสนอขายชั่วคราวในระหว่างที่ศาลพิจารณาคำฟ้องเท่านั้น ยังไม่ได้มีคำพิพากษาและส่งผลต่อการจัดตั้งบมจ.กฟผ. ซึ่งบริษัทฯยังดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งนี้หากภายหลังศาลมีคำสั่งยกคำฟ้องหรือมีคำพิพากษาที่เป็นคุณต่อกฟผ.กระทรวงการคลังและพลังงานจะดำเนินการเพื่อเสนอขายหุ้นในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป

**วิษณุชี้ศาลยังไม่ได้ตัดสิน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อศาลปกครองสั่งไม่ให้ขาย ก็ต้องไม่ขาย ก็เท่านั้นเอง ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะใช้เวลากี่วัน และ จะระงับคำสั่งศาลไม่ได้

“วันนี้ศาลไม่ได้ตัดสิน เอาเฉพาะประเด็น ว่าจะคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราวหรือไม่ แปลว่า สมควรหยุดไม่ให้มีการซื้อขาย และจะวินิจฉัยในเนื้อหาในตัวพระราชกฤษฎีกาอีกครั้ง เมื่อไหร่จะตัดสินนั้นศาลยังไม่ได้นัด จะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ ”

**ที่ปรึกษาการเงินระบุน่าเศร้า

มล.ชโยทิต กฤษดากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ที่ปรึกษาทางการเงินในการกระจายหุ้นกฟผ. กล่าวว่า ได้ทำตามกฏหมายทุกอย่างแล้วหลังจากนี้คงจะต้องแจ้งไปยังตลาดฯในการขอระงับการกระจายหุ้นกฟผ.ที่กำหนดไว้วันที่ 30 พ.ย.ออกไปก่อน ส่วนการโรดโชว์ในต่างประเทศเหลือเพียงที่สหรัฐอเมริกาอย่างเดียวแต่ก็ต้องไปโรดโชว์เพื่อชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น

“เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับประเทศไทย เพราะการระดมทุนครั้งนี้เพื่อพัฒนากิจการไฟฟ้าของประเทศ หลังจากนี้ช่วง 6- 12 เดือนก็จะต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นคงไม่ขอพูด” มล.ชโยทิตกล่าว

นายพิชัย จุลพงศธร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริหาร บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุกอย่างที่ดำเนินการไปก็ถือว่าสิ้นสุด ส่วนจะอุทธรณ์หรือไม่นั้นคงจะต้องดูกันต่อไป เพราะการฟ้องขององค์กรนอกภาครัฐครั้งนี้ไม่ใช่ฟ้อง กฟผ. แต่เป็นการฟ้องตัวบุคคลคือนายกรัฐมนตรี รมว.พลังงาน และคณะรัฐมนตรี

นายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การที่ก.ล.ต.อนุมัติให้กฟผ.สามารถกระจายหุ้นได้ เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ โดยในทางปฏิบัติทั่วไปการอนุญาตให้บริษัทเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปมีระยะเวลา 6 เดือนแต่สามารถขอขยายเวลาได้อีก 6 เดือน และในกรณีที่บริษัทมีการกำหนดวันจองซื้อที่แน่นอนแล้วหากมีการเลื่อนบริษัทจะต้องแจ้งให้ก.ล.ต.ทราบ และเมื่อจะเปิดจองซื้อหุ้นในครั้งต่อไปก็จะต้องปรับข้อมูลในแบบไฟลิ่งให้เป็นปัจจุบันก่อน

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การระงับการกระจายหุ้น กฟผ.ส่งผลบรรยากาศด้านการลงทุนอย่างมาก ซึ่งหากกฟผ.เข้าจดทะเบียนนตลาดหลักทรัพย์ฯไม่เพียงเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแค็ปมากเท่านั้น แต่ภาพลักษณ์โดยรวมของบริษัทยังมีความน่าสนใจอย่างมาก

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส กล่าวว่า การระงับการกระจายหุ้น กฟผ.ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการระงับหุ้นรัฐวิสาหกิจ ของศาลปกครอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษา ว่าเงื่อนไขอะไรที่จะสามารถให้ดำเนินการเข้าตลท.ได้และเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ถูกระงับ และหากยังไม่มีความชัดเจนของกฟผ. ก็จะส่งผลกระทบให้กับรัฐวิหากิจอื่นๆที่เตรียมตัวจะเข้าตลท.   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us