|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
คลัง-แบงก์ชาติ ตั้งคณะทำงานร่วม คิดโมเดลการตั้งสำรองเอ็นพีแอลสถาบันการเงินเฉพาะกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับการปล่อย สินเชื่อมากขึ้น ตั้งเป้าได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน สนองนโยบาย รมว.คลัง ลดเอ็นพีแอลสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งเหลือต่ำกว่า 10% ภายใน 3 ปี
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมา ทางกระทรวงการคลังได้เรียกหารือผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ถึงแผนการปรับลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หลังจากได้รับมอบนโยบายจาก นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งไปคิดแผนการ ลดเอ็นพีแอลของตนเองให้เหลือต่ำกว่า 10% ภายในเวลา 3 ปี
ทั้งนี้ ภายหลังการหารือได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารจากสถาบันการเงินการเงินเฉพาะกิจ เพื่อช่วยกันคิดโมเดลในการตั้งสำรองหนี้สูญของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่แท้จริงมากขึ้น โดยได้ให้เวลา คณะทำงานดังกล่าวสรุปรูปแบบเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้สูญใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
"อย่างเช่น ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นช่วงฤดูและมีรายได้ตามช่วงฤดูที่เก็บเกี่ยว หรือ อย่างลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการส่งออก ที่มีรายได้ตาม ช่วงเวลาเหมือนกัน ดังนั้น การที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ในช่วงที่เขายังไม่มีรายได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหากลายเป็นเอ็นพีแอลได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหนี้ดังกล่าวยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องเกณฑ์ในการตั้งสำรองที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่สำคัญ คือ 1. เรื่องระบบฐานข้อมูลที่ไม่ดี และไม่ครอบคลุม เพียงพอ 2. ปัญหาในการติดตามทวงหนี้ไม่มีประสิทธิภาพ และ 3. ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้ลูกหนี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เช่น ลูกหนี้ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้จากเจ้าหนี้ และต้องจ่ายค่าปรับที่ชำระหนี้ช้า เมื่อเจรจาต่อรองก็ใช้เวลา 2-3 เดือน กลายเป็นเอ็นพีแอลไปก่อน เป็นต้น
"เรื่องระบบฐานข้อมูลสำคัญมาก ต้องพยายามทำให้อัปเดตมากที่สุด ขณะที่ต้องมีมาตรการติดตามทวงหนี้ที่จริงจัง และต้องแก้ไข ปัญหาต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวลูกหนี้ แต่ส่งผลให้ ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่ง กรณีนี้มีอยู่เยอะมาก"
นายกฤษฎา อุทยานิน รองผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งมีการตั้งสำรองหนี้สูญแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งพยายามทยอยตั้งสำรองให้ครบตามเกณฑ์ของ ธปท. เช่น ธ.ก.ส.ในอดีตที่ผ่านมา มีการตั้งสำรอง ปีละ 10% และตั้งสำรองครบ 100% ในปีที่ 10 แต่ปัจจุบันทยอยสำรองในปีแรก ปีที่สอง และสำรองเต็ม 100% ในปีที่ 3 เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา เป็น การหารือถึงแนวทางในการปรับลดเอ็นพีแอลตามนโยบายของ รมว.คลัง โดยมีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานย่อย มีนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็นประธานฯ เพื่อศึกษา แนวทางการปรับลดเอ็นพีแอลในทุกๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการคิดรูปแบบการตั้งสำรองหนี้สูญให้เหมาะสมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งมากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม ยังตอบไม่ได้ในขณะนี้ว่า เกณฑ์การตั้งสำรองใหม่จะทำให้ต้องตั้งสำรองเพิ่มหรือลดลงอย่างไร
สำหรับสินเชื่อคงค้างสุทธิ ในระบบสถาบัน การเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2548 นี้ มีอยู่จำนวน 1,717,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 ที่อยู่ที่ 991,181 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอล ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 92,755 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.41% ลดลงจาก สิ้นปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ 8.60% สำหรับกำไรสุทธิ ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 9,719.31 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ 10,164.04 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เคยเสนอให้รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มลูกค้าที่ธนาคารต้องการข้าไปช่วยเหลือ ให้มีความแข็งแรง เช่นเดียวกับที่รัฐบาลตั้งงบประมาณชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. กรณีที่ ธ.ก.ส. เข้า ไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาจากทาง การ ซึ่งกลุ่มที่เอสเอ็มอีแบงก์ต้องการเข้าไปช่วย ผลักดันกลุ่มผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นสินค้าส่งออก และการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น
|
|
 |
|
|