|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แม้สถานการณ์ล่าสุดสำหรับนโยบายการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่มีเงินกองทุนประกันสังคมภายใต้การบริหารจัดการมูลค่ากว่า 3.1 แสน ล้านบาท จะยอมถอยในส่วนของนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคม ยังมี แนวคิดที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนประมาณ 5% ของมูลค่าทรัพย์สินของสปส. หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
โดย ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส. ได้ยุติการนำเงินกองทุนประกันสังคม 8 พันล้านบาทไปลงทุน ในต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาการนำเงินกองทุนไปลงทุนต่างประเทศนั้นเป็นแค่การศึกษาหาทางเพิ่มผลกำไรเท่านั้น แต่เมื่อสังคมไม่เห็นด้วยก็คงจะไม่ดื้อดึงไปลงทุนเด็ดขาดรวมทั้งจะยกเลิกการนำเงิน 5% ของกองทุนประกันสังคมไปจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ด้วยแต่จะหันมาลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายในประเทศแทน
โดยขณะนี้กำลังศึกษาในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต, โครงการเมกะโปรเจกต์ ของรัฐบาล นอกจากนี้ สปส. กำลังศึกษาแนวทางการลงทุนในมหานครสุวรรณภูมิภายใต้โครงการก่อสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก คาดว่าจะต้องใช้เงินกองทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
"ไม่ได้หมายความว่า สปส. กลับลำแต่เป็นนโยบายของรัฐมนตรีที่บอกว่า ถ้าสังคมยังไม่เห็นด้วย ยังไม่เข้าใจก็จะไม่มีการนำเงินไปลงทุนเด็ดขาด แต่แนวทางนี้ก็ยังไม่ได้หายไปทีเดียวยังคงต้องศึกษาพร้อมไปกับการทำประชาสัมพันธ์ซึ่งที่ผ่านมาเราอ่อนมากไม่สามารถทำให้สังคมเข้าใจได้" เลขาธิการ สปส. กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานกองทุนประกันสังคมในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2548) มีขนาดสินทรัพย์สุทธิ 311,950 ล้านบาท โดยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งสิ้น 7,786 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.29% ต่อปี ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับจากพันธบัตรและเงินฝากธนาคาร 6,651 ล้านบาท เงินปันผลรับจากหุ้นสามัญ 656 ล้านบาท และกำไรจากการขายหุ้นสามัญจำนวน 479 ล้านบาท ถือเป็นการยอมถอยในก้าวแรก หลังโยนก้อนหินถามทาง เพื่อโยกเม็ด เงินกองทุนที่มีจำนวนมากพอสมควรไปลงทุนต่างประเทศ นัยว่าเพื่อกระจาย ความเสี่ยงการลงทุน และหาผลตอบแทนที่สูงกว่าตามคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารเงินลงทุน ซึ่งได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศ เข้ามาศึกษาแนวทางการลงทุนของสปส. เพื่อให้เงินที่บริหารอยู่งอกเงย
พิชัย ชุณหวชิร ประธานคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ระบุว่า จากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญ บริษัท Willliam M. Mercer ที่ได้เสนอแนะให้กองทุนแบ่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ก็เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงซึ่งกองทุนประกันสังคมในต่างประเทศมีนโยบายลงทุนในต่างประทศคิดเป็น 10% ของขนาดสินทรัพย์ทั้งหมดของกองทุนแต่ในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศของสปส.นั้นคิดเป็นประมาณ 1-2% ของสินทรัพย์ของกองทุนเท่านั้นถือว่าน้อยมาก ซึ่งแสดงว่ามีความเสี่ยงน้อยมากจากการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนอนาคตจะเพิ่มการลงทุนอีกหรือไม่นั้นก็จะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้งว่า ผลตอบแทนจากที่ลงทุนไปแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งจากการศึกษาของบริษัท Willliam M. Mercer นั้นผลตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนในประเทศ ทั้งในส่วนของหุ้น ตราสารหนี้ โดยตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาให้ผลตอบแทนประมาณ 8-9% ตราสารหนี้ประมาณ 4-5% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนประมาณ 6-7% และตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนประมาณ 3-4%
ขณะที่มุมองของกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานอย่าง วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กทม.ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้ตรวจสอบการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในต่างประเทศ และจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความไม่โปร่งใสในการนำเงินจำนวน 10% ที่ใช้บริหารงานประกันสังคม ไปใช้ในการบริหารประเทศของรัฐบาล
"เงินจากกองทุนประกันสังคม เป็นเงินที่เชื่อมโยงกับชีวิตของผู้ประกันตนจำนวน 8.3 ล้านคน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต หากมีการนำไปลงทุนที่ทำให้เกิดกำไรและเป็นความเสี่ยง ผู้ประกันตนควรมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจ ในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยไม่มีความมั่นใจในความโปร่งใส และวิตกกับความเสี่ยงในการลงทุนจึงไม่เห็นด้วยกับสำนักงานประกันสังคม จึงขอยื่นหนังสือให้ กมธ.พัฒนาสังคมฯ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยเร่งด่วนด้วย" น.ส. วิไลวรรณ กล่าว
ถือเป็นการออกมาแสดงจุดยืนของผู้ใช้แรงงานต่อการติดตามตรวจสอบ ความโปร่งใส ของการบริหารเงินกองทุนของผู้ทำประกันตนที่น่าจับตามอง พอสมควร และที่สำคัญการที่สปส.ได้ประกาศนโยบายการลงทุนใหม่ โดยมีแนวคิดที่จะเข้าไปลงทุนใน "มหานครสุวรรณภูมิ" หรือการเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังมีกระแสการต่อต้านเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นตัวจุดประเด็นให้เกิดกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องเพราะว่านโยบายดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล และเป็นประโยชน์ที่คาบเกี่ยวกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนทางการเมืองหรือไม่!!! (โปรดติดตามตอนต่อไปอย่างลุ้นระทึกสำหรับนโยบายการลงทุนของสปส.)
|
|
 |
|
|