|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เกือบ 3 ปี ที่ประกันภัยวันละบาทหรือ "ประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร" ปลุกกระแส " ชนชั้นรากหญ้า" ให้หันมาสนใจทำประกันชีวิต ที่มีราคาถูกเสียยิ่งกว่าให้เปล่า แต่พอเวลาล่วงเลยไปเพียง 2 ปีเศษ ภายใต้โครงการที่นำโดยหัวหน้าทีมรัฐบาลก็ค่อยๆแผ่วเสียงลง จนชาวบ้านร้านตลาดส่วนใหญ่เข้าใจไปต่างๆ นาๆว่า ทุกอย่างจบสิ้นลงไปแล้ว...
ตัวเลขกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุเอื้ออาทรที่สมาคมประกันวินาศภัยมีอยู่ในมือปีแรกเปิดตัวค่อนข้างสวยงามด้วยหลัก 629,848 กรมธรรม์...
เป็นการออกตัวด้วยคอนเซ็ปท์ง่ายๆคือ มอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้นๆ ทำหน้าที่เป็น "เซลส์แมน" ให้กับบริษัทประกันภัย ประกันชีวิต ที่เข้าร่วมโครงการราว 50 แห่ง พร้อมร่วมหัวจมท้ายขาดทุนกันถ้วนหน้าคิดเป็นร้อยละ 160.93 ของเบี้ยหรือ เบี้ยรับมา 100 บริษัทต้องควักจ่ายค่าสินไหม เกือบ 170 บาท
แต่แค่ 2 ปีหลังจากนั้น การต่ออายุกรมธรรม์ก็ร่วงรูดลงแบบไม่มีปีมีขลุ่ย คนถือกรมธรรม์เหลืออยู่เพียง 236,591 ราย ซึ่งบริษัทประกันภัยก็ยังขาดทุนอยู่ร้อยละ 123.84
สิ่งหนึ่งที่บอกได้ถึงอาการอ่อนแรงลงอย่างมากในเวลาเพียงปีเศษก็คือ การพยายามปรับรูปแบบกรมธรรม์เพื่อลดภาระขาดทุนของธุรกิจประกันภัย ในขณะที่ช่องทางการขายยังคงจำกัดอยู่ที่หัวหน้าหมู่บ้าน ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการบ้านการเมืองอยู่มากมาย
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นช่องทางขายหลักกว่า ร้อยละ 80 ถึงแม้จะมีรางวัลตอบแทนเป็นค่าเหนื่อย คิดเป็นอัตรา ร้อยละ 16 แต่ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้มีการประชาสัมพันธ์ตรงถึงลูกบ้านได้เข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตราคาถูก
ข้ามเข้าปีที่ 2 ยังมีการปรับให้บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่ทำหน้าที่รับเคลมสินไหมอย่างเดียว หันมาขายกรมธรรม์ช่วยอีกทาง พร้อมดึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นช่องทางผ่านของเงินสินไหมให้ถึงมือชาวบ้านมาช่วยขยับขยายตลาดด้วย
บวกกับทนแบกรับผลขาดทุนช่วงปีแรกไม่ไหว จึงมีการปรับรูปแบบการขายออกเป็นหลายทางเลือก โดยเพิ่มราคาเบี้ย ค่าปลงศพและการเสียชีวิตจากกรณีอื่นที่นอกเหนืออุบัติเหตุรวมไว้ด้วย
นอกจากนั้น ก็หันมาลดความคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและทุพพลภาพถาวรจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ลงเหลือ 100,000 จาก 300,000 บาท
แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ใช่เหตุผลสำคัญ ทำให้ยอดผู้ซื้อกรมธรรม์ลดวูบลงอย่างเห็นได้ชัด...
พจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัยที่พยายามผลักดันโครงการประกันชีวิตราคาถูกให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับครัวเรือนในชนบทห่างไกลและชนชั้นรากหญ้าในต่างจังหวัดเล่าถึงจุดบอดที่ทำให้โครงการนี้เกือบหวิดสิ้นชื่อในเวลาอันสั้น
ประการสำคัญมาจากภารกิจของช่องทางขายเดิมคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีมาก บวกกับอ่อนการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง คนที่จะต่ออายุหรือต้องการซื้อกรมธรรม์ใหม่ไม่รู้จะซื้อได้จากที่ไหน
เมื่อนำมาประกอบเป็นภาพใหญ่ อุปสรรคด้านช่องทางขายที่เคยเป็นเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ จึงกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ ช่องทางขายผ่านหัวหน้าหมู่บ้านใกล้ชิดลูกบ้านก็จริง แต่ในกระบวนการขายและคุ้มครองกลับไม่เอื้อให้ผู้ซื้อได้รับความคุ้มครองได้ในทันที
ผู้บริหารโครงการประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทรสรุปว่า ประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทรเป็นเรื่องใหม่สำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันไม่ใช่ตัวแทนมืออาชีพจึงให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ช่วงแรกลูกบ้านอาจสนใจ แต่ก็มีข้อเสียคือ ช่วงเริ่มต้นคุ้มครองจะห่างจากวันซื้อกรมธรรม์ค่อนข้างมาก
นั่นก็เพราะระยะต้นของโครงการ การกำหนดวันคุ้มครอง จะเลือกช่วงเวลาที่สะดวกสำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน "นักขายมือสมัครเล่น" ที่จะเข้ามาประชุมในตัวจังหวัดเพียงเดือนละครั้งเป็นเกณฑ์ จึงมีเวลาภายหลังจากนั้นเพื่อคีย์ข้อมูลเข้าไปที่บริษัทประกันภัย
คนซื้อกรมธรรม์วันนี้จึงต้องรอวันคุ้มครองไปอีกเป็นสิบๆวัน ถ้าบังเอิญเกิดอุบัตเหตุขึ้นไม่คาดฝันก็ถือว่า เป็นเวรเป็นกรรม...
จากนั้นจึงมีการปรับรูปแบบใหม่ โดยขยายจากจังหวัดไปอำเภอ โดยได้ตัวช่วยคือ ธ.ก.ส. และบริษัทกลางฯที่มีเครือข่ายกระจายทั่วทุกซอกมุมเป็นแขนขาเชื่อมระหว่างภาครัฐและเอกชนผ่านระบบออนไลน์ไปทั่วประเทศ
แต่ก็ยังพบว่า ช่องทางใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามายังไม่ยิงตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย ในที่สุดโครงการที่เกือบจะถูกลืมเลือนก็หันมาใช้วิธีใหม่ ที่นอกเหนือการปรับรูปแบบการขายเพื่อเพิ่มทางเลือก นั่นคือ การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางใหม่ ที่ตรงกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในเมืองเล็กและเมืองใหญ่
" ร้านค้าสะดวกซื้อ" หรือ ร้านจำหน่ายมือถือจึงกลายเป็นคำตอบที่น่าสนใจที่สุด ว่ากันว่า กว่าจะเจรจากับร้านเหล่านี้ได้ก็กินเวลายาวนานเป็นปีๆ ส่วนหนึ่งคือ ระบบการจำหน่าย ให้ความคุ้มครอง ต้องปรับเปลี่ยนทั้งหมด ขณะที่รางวัลหรือผลตอบแทนจะอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
ช่องทางใหม่ได้รับความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อในระยะเริ่มต้นหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ร้าน ดีแทค ช็อป ร้านรักบ้านเกิด ร้านเครือข่ายร่วมด้วยช่วยกัน ร้านเพย์พอยต์ รวมกัน 6,927 สาขา ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนร้านเพย์พอยต์จะให้บริการในเดือนพฤศจิกายนนี้
ระบบการขายถูกปรับให้ง่ายกว่าเดิม คือ ใครสนใจเดินเข้าร้านเหล่านี้เพื่อซื้อกรมธรรม์ดังกล่าวก็ทำได้โดยจ่ายเงินแล้วรับบัตรประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร จากนั้นต้องติดต่อบริษัทกลางฯเพื่อยืนยันความคุ้มครองที่หมายเลข 1356 พร้อมแจ้งข้อมูลในบัตรนั้นอย่างละเอียด
การซื้อกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุเอื้ออาทร ที่หลายคนนึกเอาว่าหยุดขายไปแล้ว จึงกลายเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม เพราะจุดที่จะเดินเข้าไปหามีกระจายอยู่ทั่วไป
เพราะร้านเซเวน - อีเลฟเว่น ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดรวมกันกว่า 3 พันแห่ง นับจำนวนคนเดินเข้าร้านวันละ 1 พันคนต่อสาขา ร้านดีแทคอีก 300 แห่ง ที่มีลูกค้ารวมกัน 8 ล้านคนทั่วประเทศ
ยังไม่รวมระบบคอลเซ็นเตอร์ และการให้บริการส่งข้อมูลผ่านระบบ เอสเอ็มเอส ที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ในมือถืออีกทาง ขณะที่ร่วมด้วยช่วยกันก็มีเครือข่ายวิทยุชุมชน 21 สถานีที่จะช่วยกระจายข้อมูลให้ถึงกลุ่มเป้าหมายเกษตรกร
ทุกฝ่ายจึงเชื่อกันว่า ช่องทางใหม่จะยืดอายุให้กับโครงการนี้ แต่ถึงอย่างนั้นในปี 2549 ก็อาจต้องหันมาทบทวนการปรับเบี้ยหรือรูปแบบการคุ้มครองใหม่อีกครั้ง
ถ้ายังไม่อยากให้โครงการประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร ซึ่งมีเป้าหมายจะสร้างความรู้ความใจเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตในระดับรากหญ้า ต้องเกิดอย่างฮือฮาแต่จบแบบ ไร้ความหมาย...
|
|
|
|
|