|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
2 สถาบันดังจับทิศทาง ตลาดท่องเที่ยวหอม ตื่นตัวปรับภารกิจสร้างคนกันใหม่ ล่าสุด 'ม.รังสิต' เพิ่งเปิดตัวพันธมิตรซีเอชเอ็น ใส่ประสบการณ์บริการเพิ่มอีก 3 ประเทศ แจกปริญญาร่วม เชื่อป้อนอินเตอร์ปึ๊กกว่าเดิม ขณะที่ 'วิทยาลัยดุสิตธานี' ดึงเลอ คอร์ดอง เบลอ ปัดฝุ่นวิธีปั้นพ่อครัวระดับปริญญาตรี ผสมโรงหลักสูตรอบรมธุรกิจใหม่ ภายใต้แรงขับเคลื่อนของโรงแรมดุสิตธานี
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างรายได้ให้ประเทศ เฉพาะปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งเป้ารายได้ไว้สูงถึง 8 แสนล้านบาท กำหนดให้ 4.5 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ตั้งเป้าไว้ที่ 13.38 ล้านคน นอกจากจะทำให้อุตสาหกรรมคึกคักแล้ว ภาคการศึกษาผู้ผลิตคนให้ตรงความต้องการธุรกิจก็คึกคักด้วยเช่นกัน
ล่าสุดเป็นความเคลื่อนไหวจาก 2 สถาบันดังที่คร่ำหวอดอยู่ในตลาดหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมอยู่แล้ว แต่หันมาสร้างความแข็งแกร่งกว่าเดิม ด้วยการจับมือสถาบันต่างประเทศ ปูทางสร้างคนเข้าตลาดอินเตอร์
รังสิตควงดัชต์ ให้ Joint Degree
ได้เครือข่ายฝึกงานอีก 3 ประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยที่วางความสำคัญของหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวไว้เป็นระดับคณะ โดยเปิดเป็นคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ มีสอนทั้งหลักสูตรไทย และหลักสูตรนาชาติ ขณะที่หลายสถาบันเปิดเพียงภาควิชาในคณะบริหารธุรกิจบ้าง หรือศิลปศาสตร์บ้างเท่านั้น
ปีการศึกษาที่จะถึงนี้ ว่าที่นักศึกษาใหม่ที่สนใจเรียนหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกหลักสูตร คือ ปริญญาตรีร่วม การจัดการการโรงแรม การท่องเที่ยว และการบริการ (Hospitality Management) ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ซีเอชเอ็น รังสิต ประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณ ม.รังสิต เมืองเอก ปทุมธานี สถาบันนี้เป็นการร่วมทุนกัน ระหว่าง มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยซีเอชเอ็น (Christelijke Hogeschool Noord) จากเนเธอร์แลนด์ ฝ่ายละ 50% โดยซีเอชเอ็นจะรับผิดชอบการจัดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ขณะที่รังสิตจะอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ และอุปกรณ์
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า ถึงแม้ ม.รังสิตจะมีหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นนานาชาติอยู่แล้ว แต่เพื่อยกระดับการผลิตบุคลากรให้ได้มาตรฐานนานาชาติยิ่งขึ้น ก็ต้องขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างวัฒนธรรม มากกว่ามีความสามารถทางภาษาอังกฤษเท่านั้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่คนทำงานต้องสัมผัสกับคนต่างวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา และต้องเข้าใจความต้องการที่หลากหลายนั้นด้วย
จุดเด่นของพันธมิตรอย่างซีเอชเอ็น คือ คุณภาพที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเนเธอร์แลนด์ ผนวกกับที่ตั้งหลักของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ และเครือข่ายสาขาในแอฟริกาใต้ และกาตาร์ ล่าสุดจับมือร่วมกับไทยอีกแห่ง ทำให้นักศึกษาได้ประสบการณ์จากโปรแกรม แกรนด์ทัวร์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรสูงสุดถึง 4 ประเทศ ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมขึ้นอยู่กับความต้องการนักศึกษา
นอกจากนี้วิธีการเรียนจะสอนเป็นแบบโมดูล และเน้นการเรียนรู้จากปัญหา และกรณีศึกษา รวมถึงมีการฝึกภาคปฏิบัติจริงทั้งในรีสอร์ต สปา และร้านอาหาร ขณะที่รังสิตจะผนวกความเป็นไทยในการให้บริการเข้าไปไว้ในหลักสูตรด้วย
การรุกคืบของ ม.รังสิตครั้งนี้ ดร.อาทิตย์ เชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายจะขยายไปยังนักศึกษาจากต่างประเทศด้วย ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการเดินหน้ายุทธศาสตร์ที่ ม.รังสิตตั้งเป้าจะผันตัวเองสู่ความเป็นนานาชาติในอนาคต
สำหรับหลักสูตรนี้ ตั้งเป้านักศึกษา 60 คน คาดว่าจะเป็นนักศึกษาไทย 20 คน ภูมิภาคเอเชีย 15 คน และยุโรป 25 คน ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 550,000 บาท ส่วนหลักสูตรนานาชาติที่มีอยู่เดิม ปัจจุบันรับนักศึกษาปีละ 40-50 คน ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 414,000 บาท
ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า ในระยะแรกจะยังคงไม่ยุบหลักสูตรเดิม แต่เชื่อว่าในอนาคตจุดเด่นของหลักสูตรใหม่ จะดึงดูดนักศึกษาได้มากกว่า เพราะแม้จะมีราคาสูงกว่าก็ตาม แต่ผู้ปกครองที่สามารถส่งให้เรียนหลักสูตรนานาชาติได้ มองเรื่องคุณภาพมากกว่าค่าใช้จ่าย
ดุสิตดึงเมืองน้ำหอมปรุงสูตรใหม่
ขณะที่โรงแรม จับกลุ่มฝึกอบรม
การพัฒนาคนให้ตอบโจทย์กระแสโลกานุวัตร จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ เป็นเหตุผลของ "วีรา พาสพัฒนพาณิชย์" อธิการบดี วิทยาลัยดุสิตธานี ที่ให้ความเห็นเช่นเดียวกับม.รังสิต
ปีการศึกษาที่จะถึง วิทยาลัยดุสิตธานี จึงได้จับมือกับเลอ คอร์ดอง เบลอ สถาบันสอนศิลปะการประกอบอาหารที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 26 แห่ง กระจายอยู่ใน 15 ประเทศ เปิดหลักสูตรการจัดการภัตตาคารและการเป็นพ่อครัวมืออาชีพ หลักสูตรนานาชาติ แทนที่หลักสูตรการจัดการครัว และภัตตาคารที่มีอยู่เดิม
ความร่วมมือนี้สอดรับไปกับความเคลื่อนไหวของเครือโรงแรมดุสิตธานี ที่จับมือกับเลอ คอร์ดอง เบลอ เปิด เลอ คอร์ดอง เบลอ ดุสิต อะคาเดมี่ ออฟ เวิล์ด ควิซีน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วในด้านการศึกษาศิลปะการประกอบอาหารชั้นเลิศ และการฝึกอบรมด้านการโรงแรม เป้าหมายคือ ปั้นพ่อครัวที่มีทักษะการปรุงอาหารระดับโลก นอกจากหลักสูตรการปรุงอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ยังอบรมด้านภาษาอังกฤษ และการบริการในภัตตาคาร
เรียกได้ว่าเครือดุสิตมีทั้งหลักสูตรอบรมระยะสั้น และระดับปริญญาตรีที่บริหารจัดการโดยวิทยาลัยดุสิตธานี ซึ่งเปรียบกับสาขาอื่นๆ ของเลอ คอร์ดอง เบลอที่อยู่ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นกับเกาหลีจะมีแต่หลักสูตรระยะสั้นเท่านั้น และโดยชื่อเสียงของทั้ง 2 สถาบัน คาดว่าอนาคตจะมีนักศึกษาต่างชาติให้ความสนใจมากขึ้น
วีรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาดุสิตจะมีชื่อเสียงด้านการประกอบอาหารอยู่แล้ว แต่การผนึกกับเลอ คอร์ดอง เบลอครั้งนี้ จะยกระดับหลักสูตรให้เป็นสากลยิ่งขึ้น ด้วยองค์ความรู้ และวิทยาการสมัยใหม่ ประกอบกับเป็นสถาบันที่มีหลายสาขากระจายอยู่ในหลายประเทศ เป็นเครื่องการันตีมาตรฐานการบริหารจัดการสาขาที่มีคุณภาพด้วย
ภาพรวมตลาดปริญญาร่วม
เพิ่งสตาร์ทมาไม่เกิน 5 ปี
สำหรับภาพรวมของตลาดการศึกษาทางด้านการโรงแรมที่ผ่านมา นิยมเปิดทั้งหลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรภาษาไทย แต่สำหรับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น
เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยนเรศวร จากพิษณุโลก ที่จับมือกับมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น ครอส จากประเทศออสเตรเลีย เปิดสอนปริญญาโทการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวนานาชาติ ที่ศูนย์วิทยบริการที่กรุงเทพฯ และให้ 2 ปริญญา คือ ด้านศิลปศาสตร์จากม.นเรศวร และเอ็มบีเอจากเซาท์เทิร์น ครอส
และเมื่อ 2 ปีก่อนวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็จับมือกับสถาบันวาแตล จากฝรั่งเศส เปิดหลักสูตรร่วมด้านการโรงแรม ตามติดด้วยปีที่ผ่านมา ขยายเปิดระดับปริญญาโท ที่ดึงมหาวิทยาลัยแปร์ปิญญอง จากประเทศฝรั่งเศส เข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ทำให้ผู้เรียนได้รับการการันตีคุณภาพถึง 3 สถาบันด้วยกัน
การผันตัวเองสู่ความเป็นนานาชาติ เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะกับหลักสูตรอย่างการท่องเที่ยวและโรงแรม ที่ลักษณะงานต้องสัมผัสกับคนต่างวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่น่าจับตาว่าสถาบันใดเป็นผู้เล่นกลยุทธ์นี้เป็นรายต่อไป
'ดุสิต' ปูพรม 3 หลักสูตรตรี-โท
วิทยาลัยดุสิตธานี หลังจากเก็บตัวมานาน ก็เปิดแนวรุกใหม่ถึง 2 หลักสูตรระดับปริญญาตรี รองรับธุรกิจการจัดประชุม มหกรรม และรีสอร์ต สปาที่กำลังเป็นดาวรุ่ง พร้อมด้วยการเปิดอีก 1 หลักสูตรระดับปริญญาโท เอ็มบีเอเป็นครั้งแรก
ปีการศึกษา 2549 วิทยาลัยดุสิตธานี นอกจากปัดฝุ่นหลักสูตรเก่าการจัดการครัว และภัตตาคาร มาเปิดหลักสูตรใหม่การจัดการภัตตาคารและการเป็นพ่อครัวมืออาชีพ ที่ร่วมกับเลอ คอร์ดอง เบลอแล้ว สำหรับหลักสูตรภาษาไทยก็มีความเคลื่อนไหวไม่น้อยทีเดียว
สาขาวิชาใหม่ที่จะเปิดขึ้นปีหน้า คือ 2 หลักสูตรระดับปริญญาตรี มี 1. สาขาการจัดการประชุมและมหกรรม และ 2. สาขาการจัดการรีสอร์ต และสปา ให้สอดรับกับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว และอีกหลักสูตรระดับปริญญาโท ด้านการจัดการโรงแรมและภัตตาคาร สำหรับบุคลากรในธุรกิจที่ต้องการต่อยอดการศึกษาให้ตนเอง
วีรา พาสพัฒนพาณิชย์" อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี อธิบายว่า อดีตการจัดการในโรงแรม อาจมีเฉพาะเรื่องที่พัก และภัตตาคาร แต่ปัจจุบันการเติบโตของธุรกิจโรงแรม มีการเพิ่มบริการอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น การจัดประชุม และการให้บริการสปา แม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นมานาน แต่มีความซ้ำซ้อนมากกว่าในอดีต
เธอยกตัวอย่างการจัดประชุม ที่ปัจจุบันมีทั้งสมาคม และหน่วยงาน องค์กรกลางต่างๆ เกิดขึ้นมาก ส่งผลให้มีกิจกรรมเพื่อประชุม และแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นกิจกรรมขนาดต่างๆ ทั้งในระดับองค์กร ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ซึ่งแต่ละขนาดของงานมีความต้องการรายละเอียดในการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน เช่น สไตล์การจัดสถานที่ ทั้งเพื่อกิจกรรมสัมมนา และการขายพื้นที่ส่วนนิทรรศการ ซึ่งตลาดต้องการผู้ที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น
ประกอบกับภาครัฐสนับสนุนกิจกรรมจัดการประชุมและมหกรรมมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายต่อคนสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาร่วมงานประชุม สัมมนา สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 2-3 เท่า เป้าหมายการผลิตคน จึงมองถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ศูนย์ประชุม หรือองค์กรผู้จัดการประชุม
ขณะที่ด้านสปา มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นรวดเร็วในระยะ 3-4 ปีนี้ ซึ่งการให้บริการนวดในโรงแรมมีมานานแล้ว เดิมอาจต้องการเฉพาะบุคลากรที่เป็น Therapist แต่ปัจจุบันมีความต้องการมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจสปา ที่มีความรู้ทั้งการจัดสถานที่ การวางกลยุทธ์การตลาด ซึ่งการเติบโตของธุรกิจที่รวดเร็ว ไม่สอดรับกับจำนวนบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ
ในส่วนของหลักสูตรเอ็มบีเอ ที่เพิ่งปล่อยลงตลาดเป็นครั้งแรก เพราะรอความพร้อมในด้านของบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ให้มาผนวกรวมกับผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ตรงซึ่งมีอยู่แล้ว
จุดเน้นคือการสร้างมืออาชีพ ที่เข้าใจการทำงานในเชิงลึกมากขึ้น เช่น การบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจโรงแรม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นเจ้าของและนักบริหารมืออาชีพที่มาบริหารจัดการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจรจาสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ
แม้จะเปิดมาล่าช้ากว่าสถาบันอื่น วีรา มองว่า หลักสูตรนี้เจาะเฉพาะการจัดการโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งแตกต่างจากสถาบันอื่นที่เปิดด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงถือเป็นหลักสูตรแรกในประเทศ ตั้งเป้ารับนักศึกษา 40-60 คน มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรที่ประมาณ 250,000 บาท
"จริงๆ แล้วเราพูดถึงการเปิดหลักสูตรใหม่มาหลายปีแล้ว แต่ความพร้อมของสถานที่ยังมีไม่พอ ซึ่งขณะนี้อาคารใหม่ ที่ใช้งบประมาณก่อสร้างไปประมาณ 300 ล้านบาท สร้างเสร็จแล้ว มีห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องสาธิตการประกอบอาหาร ห้องประกอบอาหาร ห้องจัดดอกไม้ ที่รองรับนักศึกษาได้มากขึ้น และอุปกรณ์ก็ทันสมัยมากขึ้นด้วย" วีราให้เหตุผลของการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ รวดเดียวหลายหลักสูตร
หากมองในเชิงภาพรวมของธุรกิจโรงแรม นับว่าการขับเคลื่อนของดุสิตธานีครั้งนี้ มีการแตกสาขาเฉพาะ เจาะตามลักษณะงานที่เรียกว่าเกือบจะครอบคลุมทั้งหมด เพราะหลักสูตรเดิมที่มี คือ การจัดการโรงแรม การจัดการครัวและภัตตาคาร และการจัดการท่องเที่ยว ทำให้ขณะนี้ ระดับปริญญาตรีมีให้เลือกถึง 5 สาขาวิชา ส่วนหลักสูตรนานาชาติ ก็มีการจัดการโรงแรม การจัดการภัตตาคารและการเป็นพ่อครัวมืออาชีพ และตบท้ายด้วยหลักสูตรเอ็มบีเอ สำหรับผู้ที่จะเป็นนักบริหาร ซึ่งทั้งหมดยังป้อนคนเข้าธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้ด้วย เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร สปา
วีรากล่าวทิ้งท้ายว่า การบริหารงานโรงแรมที่วิทยาลัยดุสิตธานียังไม่มีสอน น่าจะเป็นเรื่องของการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อบริหารข้อมูลของธุรกิจโรงแรม ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในงานบริการมีมากขึ้น แต่ถ้าจะเปิดจริง คงต้องมีบุคลากรที่มีความพร้อม ซึ่งเรื่องของเทคโนโลยีเป็นคนละศาสตร์กับงานบริการแล้ว
|
|
|
|
|