รัฐบาลเดินหน้าโครงการสร้างเมืองใหม่ นครสุวรรณภูมิ เห็นภาพชัดภายในเดือน พ.ย.นี้
รัฐบาลเดินหน้าโครงการสร้างเมืองใหม่ นครสุวรรณภูมิ เห็นภาพชัดภายในเดือน พ.ย.นี้
หลายธุรกิจรู้เชิง รุกพื้นที่และคูคลองในภาวะยังไม่มีการจัดระเบียบ
โครงการยักษ์ เดิมพันด้วยผลประโยชน์ ทั้งในแง่ผลทางธุรกิจและการเมืองท้องถิ่น จึงมีผู้นำชุมชนคัดค้าน
นักพัฒนาชี้ หากจะสร้างเมืองให้เกิด ต้องลงทุนระบบขนส่งมวลชนเป็นเครื่องชี้นำ
ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายใหม่เกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้าน พร้อมทุ่มงบอีกมหาศษลโดยพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นเมืองที่ทันสมัยและยกระดับเป็นจังหวัดใหม่ที่77ของประเทศไทย เรียกว่า "นครสุวรรณภูมิ"ใช้ระบบเขตปกครองพิเศษ โดยทุ่มงบประมาณเพื่อการนี้อีก 5 แสนล้านบาท ตั้งเป้าหมายว่า จะจัดทำโซนนิ่งใหม่ให้เป็นกรุงเทพฯ แห่งที่สอง เพื่อรองรับความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนาคต ถึงขนาดที่คาดหวังว่าเมืองใหม่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งและคลังสินค้าหรือ ที่ฝรั่งเรียกว่า Logistic และแบ่งเบาความหนาแน่นในเมืองหลวงได้
ล่าสุด พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำโครงสร้างเมืองว่า จะต้องประชุมกันเพื่อจัดทำรายละเอียด และจัดทำร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งเมืองพิเศษดังกล่าว ส่วนการวางผังเมืองได้วางไว้เรียบร้อยแล้ว แต่แนวทางในการพัฒนา การจัดพื้นที่ ต้องใช้มืออาชีพระดับสากลมาออกแบบว่าส่วนไหนจะเป็นการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ และส่วนไหนจะต้องรองรับน้ำให้พอเพียงไม่ให้เกิดน้ำท่วม
หลังจากร่างโครงสร้างเรียบร้อยแล้ว จะนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเพื่อขอออกเป็นกฎหมาย จากนั้นจะทำประชาพิจารณ์ ส่วนจะเข้าครม.ภายในปีนี้ได้หรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้ แต่จะทำให้เป็นรูปเป็นร่างให้เร็วที่สุด ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้คงจะเห็นชัดเจนขึ้น ส่วนการประสานความร่วมมือกับกทม. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคาดว่าคงไม่มีปัญหา ถ้าทำประชาพิจารณ์แล้ว ประชาชนพร้อมร่วมดำเนินการก็คงเป็นไปตามนั้น ซึ่งขั้นต้นสำรวจแล้วว่าประชาชนส่วนมากเห็นด้วย
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.เมืองใหม่ สุวรรณภูมิ ว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาและอุปสรรคทางข้อกฎหมายบางประการ ในการจัดตั้งนครสุวรรณภูมิมาหารือ โดยมีตัวแทนฝ่ายตำรวจ อัยการ ศาล กระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมด้วย เช่น ปัญหาการดำเนินการในกระบวนยุติธรรม ที่สำคัญคือ เรื่องเขตพื้นที่การสอบสวน จึงมีการหารือถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ จะเกี่ยวโยงไปถึงการส่งคดีฟ้องศาล ต้องพูดกันว่าต้องตั้งศาลสุวรรณภูมิหรือไม่ ในกฎหมายจะต้องเขียนไว้ว่า ระยะแรกจะต้องส่งเรื่องฟ้องที่ศาลใด เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ทางกระทรวงมหาดไทยก็ต้องนำไปปรับปรุงและเขียนไว้ในกฎหมาย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้ลงพื้นที่ในเขตประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และเขตอำเภอบางพลี อ.บางบ่อ กิ่งอำเภอบางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งคาดว่าจะถูกจัดให้อยู่ในมหานครแห่งใหม่ เพื่อตรวจกระแสความคิดเห็นของประชาชน
ปรากฏว่าขณะนี้ได้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ประชาชนต่างพูดถึงเรื่องนี้กันถ้วนหน้า บางส่วนเห็นด้วยเพราะอยากให้ท้องถิ่นมีความเจริญ และหวังว่าเศรษฐกิจจะได้ดีเหมือนกรุงเทพฯ แต่บางส่วนไม่เห็นด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้บริหารการปกครองท้องถิ่น เช่นกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดล้วนล้วนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้
ราคาที่ดินพุ่ง 3 เท่า
ในขณะที่นักธุรกิจและกลุ่มทุนหลายรูปแบบ ต่างหลั่งไหลเข้าไปเพื่อหาช่องทางการลงทุนกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการค้าที่ดินมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันอย่างคึกคัก ราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จากราคาไร่ละ 900,000 บาท ปัจจุบันราคาถีบตัวสูงถึงไร่ละ 3- 4 ล้านบาท
การสำรวจยังพบว่า การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โกดังสินค้า อพาร์ตเม้นท์ที่อยู่อาศัยของประชาชน และห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่เพิ่งเปิดมีการลุกล้ำและทำลายลำคลองเนื่องจากการรุกขยายเขตธุรกิจเข้าไปเป็นไปอย่างขาดการจัดระเบียบ โดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คลองบางแห่งตื้นเขินแคบลง บางคลองสีน้ำดำคล้ำใกล้จะเป็นน้ำเสีย แม้จะเป็นฤดูฝนน้ำหลาก น่าจะระบายได้ดีกลับส่งกลิ่นเหม็นบ้างแล้ว บางคลองน้ำเป็นสีแดงเพราะถูกกลุ่มทุนเพิ่งจะถมดินลงไปเพื่อลุกล้ำยึดคลองเตรียมการก่อสร้างขนาดใหญ่ จนน่ากลัวว่าในอนาคตข้างหน้า ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้จะไม่เหลือลำคลองที่สวยงามอยู่เลย
ผู้นำท้องถิ่น 2 อำเภอ 2 เขต ค้านเต็มที่
จากการสำรวจในพื้นที่พบว่าผู้นำชุมชนทุกระดับชั้น ไม่รู้เรื่องในรายละเอียดของโครงการมหานครสุวรรณภูมิที่รัฐกล่าวถึงเลย เนื่องจากไม่ได้รับข่าวสารหรือการติดต่อ การเรียกประชุมเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ต่างหาข้อมูลจากสื่อมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ทั้งสิ้น ดังนั้นความเข้าใจจึงไปคนละทิศคนละทาง สส.ในพื้นที่ก็เป็นของพรรคไทยรักไทยทราบข้อมูลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่ไม่กล้าเคลื่อนไหวกับเหล่าบรรดาหัวคะแนนที่เป็นผู้นำชุมชน เพราะกลัวพลาดพลั้งไปขัดนโยบายพรรค แล้วส่งผลถึงอนาคตทางการเมืองของตนด้วย ทำให้กลุ่มผู้นำชุมชนขาดพลังสนับสนุนเพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
ถวัลย์ น้อยศิริ ผู้ใหญ่บ้านม.2 ต.ศรีษะจรเข้ใหญ่ อ.บางพลี สมุทรปราการ เปิดเผยว่า "นายกพูดไม่ชัดเจน พูดเอาแต่ใจตนเองไม่เคยมีใครมาลงพื้นที่ แต่เป็นการทำโดยคิดเองตัดสินใจเอง เมืองใหม่จะเป็นแบบไหน ระบบจะเป็นอย่างไร จะเหมือนกรุงเทพฯหรือ จะเป็นแบบพัทยายัง สับสน การทำประชาพิจารณ์ก็ไม่เคยมี สส.ในพื้นที่ก็ไม่เคยมาบอกเรื่องนี้ "
"นายกอยากจะทำอะไรก็ประกาศออกมาทางสื่อ แต่ไม่เคยมาประชุม พวกเราก็ได้แต่หาข้อมูลกันเอง ที่คุยกันก็จะยุบอบต.ผู้ว่าก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง เหมือนพัทยา ผู้ใหญ่บ้านไม่มี กำนันไม่มี คาดว่าในเมืองใหม่จะมีสส. 4คน รั้งแรกก็ว่ามีแค่ประเวศ ลาดกระบัง บางพลี บางเสาธง แต่ต่อมามีข่าวว่าจะมีบางบ่อ รวมเข้าไปอีก ไม่มีอะไรแน่นอน"
นวลน้อย (ขอสงวนนามสกุล) ราษฏรหมู่ 2 เขตอ.บางพลีกล่าวว่า"เวลาสำรวจก็ไม่เคยบอกกล่าว ไม่เคยแจ้งว่าเรื่องอะไร หมู่บ้านตนห่างจากสนามบินเพียง 6-7 กิโลเมตร ประกาศว่าจะให้เป็นเขตปรับภูมิทัศน์ก็ไม่เห็นเรียกไปคุยอะไร มารู้อีกครั้งหนึ่งที่ดินก็มีการเปลี่ยนมือไปแล้ว คนที่อยู่ข้างๆเราขายที่ไปเรียบร้อยแล้ว คนที่อยากรู้ก็ไม่รู้ ตอนนี้อึดอัดมาก"
"ที่นาของเรา ที่ดินทำมาหากินมานาน อยู่ๆก็มีคนมาเดิน มารังวัด มาปักเขต ปักธง บางทีก็มาขุด มาเจาะ เหมือนเราไม่มีหัวหลักหัวตอ รัฐบาลน่าจะส่งข่าวบอกกล่าวกันบ้าง ตอนนี้ชาวบ้านสับสนกัน"
ประชุม ทัศมาลี อบ.ต.หมู่ 3 ต.ศรีษะจรเข้ใหญ่ อ.บางพลี สมุทรปราการกล่าวว่า"พวกผมเป็นอบต.แท้ๆกลับไม่รู้เรื่องอะไรเลย เวลาอยากรู้เรื่องเมืองใหม่ ก็ถามจากพวกนายหน้าค้าที่ดิน พวกนี้กลับรู้เรื่องมากกว่าพวกเราอีก มีแผนที่ มีโครงการที่จะก่อสร้าง แต่พวกเราอบต.กลับไม่รู้เรื่องอะไร เห็นแต่แผนที่ที่พวกเขาวงกลมๆ จุดนั้นตรงนี้ อย่างที่หมู่ 6 หมู่7 พวกนายหน้าที่ดินรู้หมด มีแผนที่ ราคาเท่าไร ต่อไปจะเป็นอย่างไร เป็นความลับของราชการ แต่พวกเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย มารู้อีกทีก็มีคนขายที่ไปแล้ว มีการรังวัดไปเรียบร้อยแล้ว"
รักชาติ จันทร์สุขสวัสดิ์ รองนายกอบต. บางบ่อ กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีเราก็คิดกันว่าจะมีแต่สนามบินซึ่งนำมาซึ่งความเจริญมาสู่ชุมชนเท่านั้น ชาวบ้านต่างก็รอคอยว่าเมื่อไรจะมาถึง พอเห็นข่าวการเปิดสนามบินก็อดปลื้มใจไม่ได้ว่าบ้านเรากำลังเจริญเหมือนกรุงเทพฯ แต่อยู่ๆก็ประกาศโครมออกมาเลยว่าจะสร้างให้เป็นจังหวัดใหม่ มีการปกครองแบบพิเศษ
"เมื่อไม่รู้จะทำอะไรได้ ผู้ใหญ่ทุกอบต. ทุกอำเภอที่อยู่ในข่าย อันดับแรกเลย ตอนนี้ต้องไปเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท เพื่อเตรียมรอเมืองใหม่ที่จะมาถึง ผมเองยังไปเรียนที่ราชภัฏเลยครับ เพราะว่าเมืองใหม่ที่ว่านี้ ตำแหน่งทางการเมืองอาจจะกำหนดคุณสมบัติไว้สูงก็ได้ เดี๋ยวนี้ตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าระดับปริญญาตรี"
นายอำเภอท่านหนึ่งอยู่ในพื้นที่โดยตรงกล่าวว่า เป็นข้าราชการพูดเรื่องนี้ไม่ได้ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ต้องเตรียมการเรื่องป้องกันน้ำท่วม การสาธารณสุข การป้องกันอาชญากรรม เพราะเมืองใหม่ต้องเจอปัญหาเหล่านี้แน่
"ผมคิดว่า 2 เทศบาล 19 ตำบลคงต้องไปแน่ๆ ถ้ารัฐเอาจริงคงต้านไม่อยู่ เพราะโครงการใหญ่มาก เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ด้วย แต่ละอบต. อบจ.มีงบประมาณจากภาษีปีละ 100 - 200 ล้านบาท อยู่ๆเงินหายไปใครจะยอม ทั้งจังหวัดสมุทรปราการเก็บภาษีได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท คงไม่ยอมกันง่ายๆแต่ ขึ้นอยู่กับว่ากำลังใครจะเหนือกว่าใคร" นายอำเภอคนเดิมกล่าว ขณะที่วรียา พุทธชินวงศ์ ผู้อำนวยการเขตประเวศกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนเป็นข้าราชการของรัฐ ถ้ามีนโยบายมาอย่างไรก็ยินดีปฏิบัติ
"ถ้าเป็นนักการเมืองอย่างสก.และสข.เชื่อว่าคงต้องมีกังวลบ้าง เพราะอยู่ในพื้นที่สัมผัสประชาชน และต้องมีการเลือกตั้ง คงต้องกระทบ ตอนนี้ห่วงอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องน้ำท่วม ต่อไปจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะการถมที่คงต้องมากขึ้นช่องทางระบายน้ำอาจลดน้อยลง"ผู้อำนวยการเขตประเวศกล่าวในตอนท้าย
หัวไม่ส่ายหางเลยไม่กระดิก
แหล่งข่าวจากอดีตนายกอบต.กิ่งอำเภอบางเสาธง เปิดเผยว่า วันนี้ผู้นำท้องถิ่นทุกระดับสับสน เพราะรัฐบาลไม่เคยลงมาชี้แจงทำความเข้าใจ แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะออกมาชี้แจงว่ายังคงรูปแบบการปกครองเหมือนเดิม ก็ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะการปกครองที่ทันสมัยตามที่รัฐประกาศออกมาเป็นระยะๆ จะมีอบต.หรืออบจ.อยู่ได้อย่างไร ส่วนกลางพัฒนาไปแบบหนึ่ง ส่วนท้องถิ่นก็ไปอีกแบบหนึ่งอย่างนั้นหรือ เพราะส่วนท้องถิ่นก็มีงบประมาณของตนเองไม่น้อย สามารถบริหารงานได้โดยไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง
" ตอนนี้ผมคิดว่าสส.คงลำบากใจน่าดู ถ้าจะออกมาชี้แจงก็ไม่มีข้อมูล ถึงแม้จะรู้บ้างก็ทำอะไรไม่ได้ จะให้มาอยู่ข้างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต.ที่รวมกันค้านอย่างนี้ก็เท่ากับค้านนโยบายของพรรค คงต้องมีผลทางการเมืองไม่น้อย ถ้าไปอยู่ข้างสนับสนุนนโยบายของรัฐอย่างชัดเจน ก็คงต้องเสียฐานคะแนนเสียงเช่นกัน ผมคิดว่าสส.ในพื้นที่คงจะเงียบ ปล่อยให้ความเคลื่อนไหวเป็นของแต่ละคน ถ้าขาดผู้นำที่แข็งแกร่ง ก็ทำได้แค่ต่างคนต่างตะโกนเท่านั้น สักพักเสียงก็แหบแห้งหายไปเอง เพราะนายกท่านไม่ฟังใครอยู่แล้ว" อดีตนายกอบต.บางเสาธงกล่าวในตอนท้าย
ธุรกิจที่ดินซื้อง่ายขายคล่อง พลิกชีวิตได้
ศศธร ถวัลย์อรรณพ นักธุรกิจในเขตต.บางพลีใหญ่กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปี ที่นี่เปลี่ยนแปลงไปมาก เจริญเร็ว การเงินสะพัด การค้าที่ดินอาจจะไม่คึกคักเหมือนช่วงพล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็สร้างรายได้ให้กับผู้คนในอำเภอนี้ได้มาก ส่วนใหญ่คนค้ามักจะเป็นข้าราชการ เพราะรู้ลู่ทางก่อนใคร ซึ่งชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่เห็นว่าราคาดีก็ขาย เพราะราคาที่ดินแถวนี้นิ่งมานานแล้ว พอได้ราคาจึงรับ เพราะถ้ารัฐเปลี่ยนใจ ราคาที่ดินก็ต้องเปลี่ยนไปอีก
"คนหลายคนที่รู้จักกัน ปีที่แล้วยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องเช่าเขาอยู่ เคยแวะเวียนมายืมเงินไม่ขาด ไม่ถึงปีพลิกชีวิตเป็นคนรวยเลย เตรียมจะเปิดปั้มน้ำมัน เปิดคาร์แคร์ ซื้อรถใหม่เอี่ยมป้ายแดง เงินสดๆนะค่ะ มีเงินเร็วมาก ค้าเก่ง รู้จักคนมาก โดยเฉพาะความเป็นข้าราชการช่วยได้เยอะ" ศศธรกล่าว
ลำคลอง ถูกบุกรุกโดยกลุ่มทุน
ปลัดอบต.อ.บางพลีท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ตั้งแต่การก่อสร้างถนนสายบางนา-ตราด เสร็จน่าสังเกตว่าน้ำมักจะท่วมประจำ ฝนตกไม่นานน้ำก็เริ่มท่วมขัง ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็นเช่นนี้ เพราะในย่านบางพลี บางบ่อ จะมีลำคลองขนาดใหญ่หลายสาย เป็นแหล่งระบายน้ำจากทางเหนือ มีนบุรี หนองจอก เป็นแกล้มลิงแล้วไปลงคลองสำโรง ซึ่งระบายลงสู่ทะเล นอกจากนั้นยังมีคลองเล็กคลองน้อยเป็นคลองซอยเชื่อมต่อโยงใยถึงกัน แต่เมื่อถนนเส้นดังกล่าวตัดผ่ากลางลำคลอง บางแห่งสร้างคอสะพานเล็กทั้งที่เป็นคลองใหญ่ บางที่สร้างสะพานใหญ่แต่ลำคลองเล็ก
ผู้สื่อข่าวสำรวจลำคลองไปตามถนนสายบางนา-ตราดพบว่า คลองหลายสายที่มาจากฝั่งสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไปบรรจบลงคลองสำโรง แล้วใหลลงสู่ทะเลทางสมุทรปราการ ถูกถนนสายนี้ตัดผ่ากลางพอดี โดยมีสะพานน้อยใหญ่สร้างค่อมไว้ เสาตอม้อค้ำยันสะพานเป็นอุปสรรคสำคัญที่น้ำใหลได้ช้า คลองบางแห่งมีประตูน้ำปิดกั้น บางคลองมีสิ่งก่อสร้างลุกล้ำลงไปมาก โดยเฉพาะป้ายบอกชื่อคลองหลุดหายไปไม่มีให้เห็น
คลองบางฝางหรือบางขวางเป็นคลองที่ตรงกับสนามบินสุวรรณภูมิมากที่สุด กลับมีสภาพใช้การไม่ได้ น้ำทำท่าเน่าเสีย ถูกบุกรุกอยู่หลายแห่ง อีกหลายคลองถัดมาก็ถูกบุกรุกทำให้ขนาดแคบลง ไม่แตกต่างกันมากนัก บางคลองน้ำเปลี่ยนเป็นสีแดงน่าจะมาจากการก่อสร้างที่กลุ่มทุนบุกรุกถมดินลงไป
ถวัลย์ หมู่ที่3 ต.ศรีษะจรเข้ใหญ่ กล่าวว่า ที่กม.12 มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สร้างอยู่ริมคลองลาดกระบัง มีการถมคลองใช้เป็นที่จอดรถ มองด้วยตาเปล่าก็รู้เห็น แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่เห็น สมัยปีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสคลองนี้เพื่อหาทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฏร แต่ในวันนี้คลองสายนี้ถูกบุกรุกจนแคบกว่าก่อนมาก การเดินทางโดยทางเรือจึงแทบจะไม่มีอีกเลย น่าเสียดายมาก
"ลำคลองในพื้นที่มีตั้งมากมาย เป็นแหล่งรองรับน้ำธรรมชาติ แต่รัฐบาลกลับไปตั้งโครงการจะขุดคลองใหม่ เตรียมเวนคืนที่ดินชาวบ้านเพื่อขุดคลองระบายน้ำ สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ทำไมทำไมไม่ลอกคลองเก่าให้กลับมาเหมือนเดิม หรือว่ากลัวไปกระทบโรงงานอุตสากรรมที่บุกรุกลุกล้ำ แล้วทิ้งน้ำเสียลงคลองอยู่ในเวลานี้" นายถวัลย์กล่าวในตอนท้าย
************
แนะรัฐใช้ขนส่งมวลชนธงนำ ดันนครสุวรรณภูมิเทียบญี่ปุ่น
แนะรัฐใช้ระบบขนส่งมวลชนหัวหอกพัฒนาประเทศ ชี้เชื่อมระบบรอบกรุงเทพฯ-ปริมณฑล แหลมฉบัง ชลบุรี อยุธยา นครปฐม มหาชัย ดันนครสุวรรณภูมิโตเทียบเท่าอเมริกา ชิคาโก ญี่ปุ่น เกาหลี และมาเลเซีย
ขณะที่ภาครัฐเตรียมสถาปนานครสุวรรณภูมิเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ท่ามกลางความมึนงงของประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ 4 เขต ในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ได้แก่ พื้นที่เขตประเวศ ลาดกระบัง บางพลี และบางเสาธง ที่ยังไม่รู้ว่า จะออกหัวออกก้อย ว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไรกับแนวคิดดังกล่าว ว่าจะจัดตั้งเป็นจัดหวัดใหม่ หรือเขตปกครองพิเศษ
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งระบบสาธารณูปโภค สาธารณสุข โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งยังไม่มีความแน่ชัดว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร เพื่อสร้างความเหมาะสมกับพื้นที่ที่กำลังจะถูกปลุกปั้นให้เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ของเมืองไทย
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า หากจะทำให้สุวรรณภูมิมีความเจริญอย่างรวดเร็ว และเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ในฐานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการขยายตัวของธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ท่องเที่ยว เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ควรจะจัดการเรื่องขนส่งมวลชนให้ดี เพราะในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ส่วนใหญ่จะใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นธงนำในการพัฒนาพื้นที่ทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ชิคาโก ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี หรือแม้แต่มาเลเซีย ซึ่งมีความเจริญมาก ล้วนประสบความสำเร็จจากการพัฒนาเมือง ภายใต้ คอนเซ็ปต์ ที่จะต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ดีก่อน แล้วความเจริญของเมืองจะเจริญตามมาทีหลัง
"ในอดีตการขนส่งเริ่มจากทางเรือ ทางรถไฟ และล่าสุด ทางสนามบิน ซึ่งหากไทยจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิเกิดและเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติอย่างรวดเร็ว ก็ควรที่จะพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ดี มีศักยภาพ รองรับการเดินทางของผู้โดยสาร นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว เข้ามาสู่ตัวเมือง และออกนอกเมืองอย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งการเดินทางไม่ควรใช้เวลานานเกิน 30 นาที หรืออย่างช้าไม่ควรเกิน 45 นาที "
ที่สำคัญไม่ควรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป โดยเฉพาะหากต้องใช้สำหรับขนส่งสินค้า ก็ควรจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพราะ หากจะแข่งกับต่างชาติ จะต้องเสียค่าขนส่งไม่เกิน 10% จึงจะสู้กับต่างประเทศได้ เพราะค่าขนส่งซึ่งเป็นต้นทุนของสินค้า ทั่วโลกจะอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 10% ขณะที่ไทยต้องเสียค่าขนส่งมากกว่า 20% ซึ่งในส่วนนี้ ทำให้ไทยเสียเปรียบต่างชาติมาก
อดีตผู้บริหารระดับสูง จากกรุงเทพมหานคร(กทม.) ซึ่งมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระบบราง กล่าวว่า ในช่วงที่กำหนดแผนการลงทุนระบบขนส่งมวลชนให้กับรัฐบาล ให้แนวคิดกับรัฐบาลว่า การลงทุนในช่วงแรกจะต้องเร่งพัฒนาระบบรางรอบกรุงเทพฯปริมณฑล ในรัศมี 290 กม. และในอนาคตให้ขยายผลหรือขยายแขนขาออกไปมากขึ้น เพื่อขนคนออกจากเมือง และเข้าเมืองได้สะดวก โดย ซึ่งการลงทุนควรจะใช้ระบบเฮฟวี่ เรล ทั้งหมด ส่วนในรัศมีนอกเหนือจาก 290 กม.สามารถใช้รถเมล์ด่วนพิเศษ (BRT) หรือที่กทม.ต้องการให้เรียกใหม่ว่า "สมาร์ทเวย์"
ระบบรางที่จะลงทุนให้แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส ๆ แรก ให้ทำก่อน 100 กม. ส่วนเฟสที่ 2 ระยะทาง 150 กม. ส่วนอีก 40 กม.เปิดให้บริการแล้ว คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินที่ให้บริการอย่างละ 20 กว่ากม. ส่วนในอนาคตรัฐบาลควรจะขยายออกไปถึงต่างจังหวัด โดยทางภาคตะวันออกควรจะขยายแขนขาไปถึง แหลมฉบัง ชลบุรี , มหาชัย-แม่กลอง,อยุธยา และนครปฐม
ทั้งนี้ ในพื้นที่รัศมี 290 กม. ควรขยายแขนขาออกไปถึงบางใหญ่ ,แอร์พอร์ต ลิ้งค์ ,สำโรง- สมุทรปราการ,มหาชัย และรังสิต เพื่อขนคนเข้าและออกจากเมือง
หากทำได้ตามกรอบที่กำหนด นอกจากจะสร้างความเจริญให้กับเมืองแล้ว ยังช่วยกระจายความแออัดของเมืองออกไปยังชานเมืองด้วย อีกทั้งจะสร้างชุมชนแห่งใหม่ที่กระจายไปอยู่ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของเขตเมืองชั้นในลงด้วย
**************
กลุ่มทุนเฝ้าผลผ่าตัดสายสีแดง จุดประกายเก็งราคาที่ดินรอบใหม่
นักพัฒนาที่ดินเฝ้าผลการผ่าตัดสายสีแดง ชนิดก้าวต่อก้าว หวังสร้างความได้เปรียบการลงทุนเกาะระบบรางเส้นใหม่ กรมที่ดินชี้ช่วง 1-2 เดือน พบการเปลี่ยนมือของที่ดินสูงกว่าปกติเท่าตัว เหตุอยู่ใกล้จุดถ่ายเปลี่ยนผู้โดยสารรถไฟเชื่อมต่างจังหวัด 5 สถานีรอบกทม.
โครงการ "เมกะโปรเจ็กต์"ซึ่งเป็นแผนงานของรัฐนั้น เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของนักลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการติดตามรอผลการผ่าตัดการลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบรางทั้ง 7 สาย ระยะทาง 292 กม. มูลค่า 5.5 แสนล้านบาท ของนักพัฒนาที่ดินต้องเป็นไปในชนิดก้าวต่อก้าว เพราะความรวดเร็วดังกล่าวจะสร้างความได้เปรียบในการลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาล ประกอบกับโอกาสในการผิดพลาดก็ต้องมีน้อยที่สุด
ล่าสุด หลังการผุดไอเดียใหม่ของเจ้ากระทรวงหูกวาง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล โดยการนำงบประมาณที่ประหยัดได้จากการปรับรูปแบบโครงสร้างของสายสีแดง โดยการลดรางจากที่ออกแบบไว้ 10 คู่ ซึ่งเกินความจำเป็น เหลือไม่เกิน 3 คู่ ซึ่งประหยัดงบฯ ได้ถึง 5 เท่าไปต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (รังสิต-มหาชัย)และสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-สุวรรณภูมิ) เพิ่ม ซึ่งจะลากยาวไปถึงนครปฐมและชลบุรี ส่วนสายสีแดงเข้มรังสิตลากไปถึงอยุธยา เป็นการจุดประกายการเก็งที่ดินรอบใหม่
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่พงษ์ศักดิ์ สำรวจเส้นทาง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ตั้งแต่หัวลำโพง-ชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 80 กิโลเมตร โดยมีแนวคิดจะปรับรูปแบบใหม่ จะก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าเฉพาะในเขตเมือง เพื่อขนคนที่เดินทางด้วยรถไฟชานเมืองเข้ามาในเมือง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยปั้นสถานีเชียงราก (ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีที่ดินอยู่กว่า 70 ไร่ พัฒนาเป็นฮับหรือศูนย์เชื่อมต่อระบบ
"เชียงรากเป็นสถานีที่คนอาศัยอยู่มาก ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเอไอที มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฯลฯ คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเป็นแสนคนต่อวัน" รมว.คมนาคม กล่าว
สำหรับแนวคิดที่วางไว้จะใช้แนวโครงสร้างของโฮปเวลล์เดิม เชื่อมต่อกับสายสีแดง (มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) บริเวณพญาไท ทำเป็นยกระดับช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จากนั้นจะเป็นระดับบนดิน สถานี ประกอบด้วย พญาไท ยมราช ราชวิถี สามเสน บางซื่อ หมอชิต บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ ดอนเมือง หลักหก รังสิต และเชียงราก
ส่วนการขนส่งสินค้าจะใช้ชุมทางภาชีเป็นจุดศูนย์กลางขนส่งสินค้าจากภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ เข้าด้วยกัน รวมถึงเป็นศูนย์ซ่อมใหญ่บำรุงรถไฟ เพื่อไม่ต้องให้รถไฟที่ขนสินค้าวิ่งเข้าไปในเมืองเหมือนปัจจุบันนี้ โดยให้การรถไฟเวนคืนที่ดินเปิดพื้นที่เพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ จากสุพรรณบุรี-ภาชี ระยะทาง 78 กิโลเมตร งบฯก่อสร้าง 7,000 ล้านบาท และปรับปรุงเส้นทางจากหนองปลาดุก-สุพรรณบุรี ระยะทาง 78 กิโลเมตร ใช้งบก่อสร้าง 2,340 ล้านบาท เพื่อส่งรถขนถ่ายสินค้าลงภาคใต้ที่นครปฐม
ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะปรับปรุงโครงข่ายรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้ว จากภาชี-แก่งคอย-คลอง 19-แหลมฉบัง ซึ่งเมื่อทำแบบนี้ จะทำให้ปรับลดวงเงินลงทุนได้ เพราะลดจำนวนรางลงเหลือ 3 ราง และให้รูปแบบเป็นระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น
สำหรับสถานีบางซื่อ ตามแผนเดิมด้วยพื้นที่ที่มีอยู่ 2,000 กว่าไร่ จะทำเป็นศูนย์คมนาคม เชื่อมโยงทั้งรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟขนส่งสินค้า จะลดบทบาทเหลือแค่สถานีเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง น้ำเงิน และสายสีแดง ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพนักงานของการรถไฟฯ จำนวน 50,000 ยูนิต โดยจะร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.มาบริหารจัดการให้ ขณะที่สถานีหัวลำโพงให้อนุรักษ์เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ด้านการขนส่ง
ทั้งนี้ ตามแผนงานดังกล่าว จะทำให้เกิด Long Distance Train หรือ จุดถ่ายเปลี่ยนผู้โดยสารรถไฟเชื่อมต่างจังหวัด 5 จุด ได้แก่ ที่บริเวณ อ.ภาชี จ.อยุธยา, อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี, อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา, อ.มหาชัย จ.สมุทรสาครและ อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งจะเป็นพิมพ์เขียวของนักลงทุนต่อไป
นอกจากนั้น เพื่อให้งานก่อสร้างเป็นไปตามเป้าหมาย จะนำระบบการก่อสร้างรูปแบบใหม่มาใช้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างไปได้พอสมควร คือ ระบบ U shape viaduct หรือยกระดับตัวยู เหมือนกับโครงสร้างทางด่วนบางนา-ชลบุรี ที่จะนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามา โดยนำชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน เป็นแบบน็อกดาวน์ ซึ่งผู้รับเหมาจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อใช้การก่อสร้างวิธีนี้ จะทำให้ย่นเวลาการก่อสร้างจากเดิม 3-4 ปี เหลือ 2 ปี และประหยัดงบประมาณได้ถึง 30% จากที่เคยประมาณการไว้ โดยสายสีแดงจะใช้งบฯลงทุนทั้งหมด 1.2 แสนล้านบาท และเมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว สายเหนือจากบางซื่อ-เชียงราก จะใช้เงินลงทุน 40,000 กว่าล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แผนการผ่าตัดระบบรางดังกล่าวส่งผลให้การจดทะเบียนโอนเปลี่ยนมือแปลงที่ดินเปล่าในพื้นที่ บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่จะใช้เป็น Long Distance Train หรือ จุดถ่ายเปลี่ยนผู้โดยสารรถไฟเชื่อมต่างจังหวัด ทั้งหมด 5 สถานีรอบกทม. มีความเคลื่อนไหวในทิศทางที่ต่าง ๆ กัน โดยที่จุดถ่ายเปลี่ยนผู้โดยสารบริเวณฉะเชิงเทรา เส้นทางไปสู่แหลมฉบัง
แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินสาขาบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า ความเคลื่อนไหวการโอนที่ดินในช่วง 1-2 เดือน ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากปกติ โดยมีปริมาณเฉลี่ยวันละ 10 ราย จากปกติ 4-5 ราย ขนาดแปลงส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 ไร่
โดยแหล่งข่าวกล่าวถึงปริมาณการโอนที่ดินเปล่าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นว่า มาจาก 2 สาเหตุ คือ การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ และการขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยี่ห้อ Toyota บริเวณ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ขณะที่ในส่วนการขออนุญาตจัดสรรโครงการที่อยู่อาศัยนั้น อยู่ในอัตราโดยเฉลี่ยวันละ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโครงการรายเดิมที่มาขออนุญาตจัดสรรโครงการใหม่
ส่วนความเคลื่อนไหวด้านการโอนเปลี่ยนมือแปลงที่ดินเปล่าที่จ.ปราจีนบุรี นั้น แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินจ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า บริเวณ อ.บ้านสร้าง ซึ่งตามแผนจะตั้งเป็นจุดถ่ายเปลี่ยนผู้โดยสารรถไฟเชื่อมต่างจังหวัดนั้น อยู่ในระดับปกติ ขณะที่บริเวณ อ.ศรีมหาโพธิ์ และอ.แปดริ้ว รวมถึงเส้นทางสาย 304 อันเป็นเส้นทางหลักไปยังจ.ฉะเชิงเทรามีความเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น 20% ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา โดยอัตราที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากการโอนที่ดินเปล่าขนาด 20-50 ไร่ และการโอนบ้านในโครงการที่ได้รับอนุญาตจัดสรรแล้ว
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดิน จ.นครปฐม กล่าวถึงความเคลื่อนไหวการจดทะเบียนโอนที่ดินเปล่าบริเวณ อ.เมือง และอ.ดอนตูม จ.นครปฐม ว่าอยู่ในระดับปกติ คือเดือนละประมาณ 30 แปลง เป็นแปลงขนาดไม่ใหญ่ นอกจากนั้นมีการโอนบ้านมือสอง ประเภททาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรมบังคับคดีเป็นปริมาณถึง 50% ของยอดรวมการทำธุรกรรมกับสำนักงานที่ดินทั้งหมด
ด้านความเคลื่อนไหวการจดทะเบียนโอนที่ดินเปล่าของสำนักงานที่ดิน จ.สมุทรสาคร มีจำนวนที่ลดลงจากปกติ และแปลงที่ดินที่มีการโอนนั้นมีขนาด 5-10 ไร่ โดยแหล่งข่าวกล่าวถึงสาเหตุที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากข้อกำหนดผังเมืองรวม เมืองสมุทรสาคร ซึ่งกำหนดพื้นที่สีเขียวในบางจุด ประกอบกับการชะลอการตัดสินใจรอนโยบายการซื้อขายบ้านมือสองที่ยังไม่มีผลบังคับใช้
ส่วนที่สำนักงานที่ดิน อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา ซึ่งรับผิดชอบงานจดทะเบียนโอนที่ดินของ อ.ภาชี จ.อยุธยา อันจะเป็นที่ตั้งของศูนย์ Logistic ของการขนส่งสินค้า และศูนย์ซ่อมใหญ่บำรุงรถไฟ ตามแผนระบบรางใหม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของการโอนที่ดินเปล่า ในช่วงนี้ อยู่ในระดับที่น้อยกว่าปกติ เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเกิดน้ำท่วม
**************
"สุวรรณภูมิ"เบียดพื้นที่ "โครงการแก้มลิง"
แนวคิดการจัดตั้ง พื้นที่ "สุวรรณภูมิ"ให้เป็นจังหวัดอันดับที่ 77 ของรัฐบาล ปรากฎว่ามีทั้งเสียงขานรับจากฝ่ายที่ต้องการเห็นพื้นที่สุวรรณภูมิได้รับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และครบวงจร ไม่เพียงแต่หวังเป็นสนามบินนานาชาติแห่งภูมิภาคเท่านั้น ขณะเดียวกันได้ก็เกิดเสียงเสียงท้วงติงแสดงความเป็นห่วงในเรื่องการเข้าใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวจำนวนไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องลักษณะทางกายภาพพื้นที่บริเวณสุวรรณภูมินั้นมีขีดความสามารถเพียงพอในการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหรือไม่
นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมว่า ในพื้นที่เดิมก่อนที่จะมีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมินั้น คือแหล่งรับน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในกทม.ฝั่งตะวันออก ตามแนวทางโครงการพระราชดำริ "โครงการแก้มลิง"ดังนั้นเมื่อมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งรับน้ำเพื่อระบายต่อไปยังทะเล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโครงการระบายน้ำบริเวณสุวรรณภูมิ เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติถูกกระทบกระเทือน ลดปริมาณลงไปแต่ไม่สามารถสร้างระบบระบายน้ำให้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนได้ ในที่สุดแล้วปัญหาน้ำท่วมขังจะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่กทม.ด้านตะวันออกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้นจากกรณีปัญหาดังกล่าวนี่เอง จึงทำให้รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษา 3 แห่งประกอบด้วย ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาโครงการระบายน้ำบริเวณสุวรรณภูมิ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาการระบายน้ำและการจัดการน้ำหลากในพื้นที่บริเวณโดยรอบโครงการแก้มลิง อย่างเร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้ไม่เพียงแต่จะมีภาคเอกชนเท่านั้นที่ต้องการเข้าไปใช้พื้นที่ทั้งในและบริเวณใกล้เคียงกับสุวรรณภูมิ เพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันยังพบว่าในส่วนของภาครัฐเอง ก็ให้ความสนใจเข้าใช้พื้นที่ด้วยเช่นกัน
โดยล่าสุดสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการจัดหาสถานที่ก่อสร้างที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่ เข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าใช้พื้นที่ต่างๆ ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอพื้นที่ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาลักษณะทางกายภาพเพื่อดูความเหมาะสม ในบริเวณพื้นที่สุวรรณภูมิ ตามที่บริษัท กฤษดานคร กรุ๊ป จำกัด เสนอที่ดินในโครงการสุวรรณภูมิเซ็นเตอร์ พื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ให้รัฐบาลไทยใช้เป็นที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ประกอบด้วยพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภา 400 ไร่ และพื้นที่ใช้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอีก 300 ไร่ แต่ทางสภาผู้แทนฯ ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่
อย่างไรก็ตามก่อนที่พื้นที่สุวรรณภูมิ จะได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาคเอเชีย ที่จะโดดเด่นขึ้นมาในอนาคตตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้านไว้รองรับ เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในวันหน้า จนยากต่อการแก้ไข...
|