|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธ.ก.ส.เดินหน้าบริการเชิงรุก ขยายธุรกรรมให้บริการปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ยันไม่ทิ้งงานเดิม มุ่งเกษตรกรเป็นหลัก "วราเทพ"มั่นใจมาถูกทาง เตรียมเปิดสาขาต่างประเทศ ส่วนสนองนโยบายรัฐไม่เสี่ยง-ได้ค้ำประกัน คนวงการแบงก์เห็นด้วยขยายธุรกรรมลดความเสี่ยง แต่ควรสำรวจตัวเองก่อนโกอินเตอร์ ชี้แบงก์พาณิชย์-EXIM แบงก์ทำได้ดีกว่า
นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่งมีการปรับบทบาทตัวเอง ให้เป็นที่รู้จักขอประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารออมสิน ที่ให้บริการในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้เริ่มปรับบทบาทและภาพลักษณ์ของธนาคารอย่างต่อเนื่อง เราได้เห็น โครงการคนพันธุ์ A การให้บริการชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตามมาด้วยการรณรงค์ให้มีการทำบัญชีครัวเรือน ภาพของธนาคารที่ทำหน้าที่บริการสินเชื่อแก่เกษตรกรทั่วประเทศเริ่มโดดเด่นขึ้นมาทันตา
วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงธนาคารแห่งนี้ที่อยู่ในความดูแลของเขาว่า ธ.ก.ส. กำลังปรับบทบาทให้เป็นธนาคารพัฒนาชนบทตามที่นายกรัฐมนตรีและสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกในขณะนั้นได้ให้แนวทางไว้ โดยมีแผนในการแบ่งโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจนที่จะใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2549
เปิดทางเอกชนถือ 25%
หนึ่งในแผนการแปลงโฉม ธ.ก.ส.ให้เป็นธนาคารพัฒนาชนบทนั้นเป็นการขยายกรอบธุรกรรมของธนาคารให้บริการได้กว้างกว่าเดิม นั่นคือการให้บริการแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมี 7 ประเภท แต่ ธ.ก.ส.ให้บริการสินเชื่อได้ 3 ประเภท คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ทางการเกษตร สหกรณ์การประมง และสหกรณ์นิคมอุตสาหกรรม ดังนั้นเมื่อแก้ไขกฎหมายแล้วก็จะให้บริหารสินเชื่อสหกรณ์ทางด้านบริการ เช่น สหกรณ์แท็กซี่ สหกรณ์ร้านค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น
"สหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งมีเงินเหลือมาก เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับเอาเงินที่เหลือจากสหกรณ์หนึ่งไปปล่อยกู้ให้กับอีกสหกรณ์หนึ่งที่มีเงินน้อย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือระบบสหกรณ์ด้วยกัน"
ในเรื่องนี้คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ได้เห็นชอบกับการแก้ไขพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.เมื่อ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินอื่น สหกรณ์และบุคคลอื่นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 75 วุฒิสภาได้พิจารณากฎหมายในวาระที่ 2 แล้ว โดยเห็นด้วยกับสัดส่วนดังกล่าว
"เดิมรัฐบาลถือใน ธ.ก.ส.กว่า 90% ตอนนี้เปิดโอกาสให้รัฐถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่า 75% ที่เหลือให้คนอื่นและเปิดให้ต่างประเทศด้วย ไม่เกินรายละ 5%" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าว
ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีทุนจดทะเบียน 40,000 ล้านบาท หากต้องการเพิ่มทุนอีกก็ไม่ต้องร้องขอต่อรัฐบาล ในประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่า หากมีทุนจากเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเกษตรเข้ามาร่วมถือหุ้นแล้ว เอื้อประโยชน์ในทางธุรกิจกับสินค้าทางการเกษตรของบริษัทเหล่านั้น ทำให้ภาพพจน์ของ ธ.ก.ส.ดูไม่ดีนั้น
"กำไรหลังหักโบนัสแล้วเหลือไม่ถึงพันล้าน ใครจะอยากเข้ามา อีกอย่างหนึ่งการลดสัดส่วนของกระทรวงการคลังก็ไม่ได้กลัวในเรื่องการบริหาร เพราะคณะกรรมการของธนาคารจะมาจากการแต่งตั้ง คนอื่นไม่มีสิทธิบริหาร อีกทั้งเรายังจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นไว้รายละไม่เกิน 5%" วราเทพไขข้อข้องใจ
นอกจากนี้ธนาคารยังเตรียมให้บริการในต่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ที่ไปทำงานในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นเกษตรกร การตั้งสาขาในต่างประเทศก็เพื่อให้บริการและสร้างความสะดวกให้กับลูกค้าของ ธ.ก.ส.
หนี้เสียลดฮวบ
ในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลเมื่อปี 2544 ที่มีนโยบายพักหนี้เกษตรกร จากนั้นได้เริ่มเข้ามาให้ความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งการฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ช่วยฟื้นฟูอาชีพ ให้ความรู้ด้านการตลาด ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและปัญหาหนี้เสียไปในตัว เห็นได้จากก่อนปี 2543 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 12-14% ปัจจุบันเหลือเพียง 6% และเป้าหมายจะลดลงอีกให้เหลือ 5%
ขอบข่ายในการให้บริการสินเชื่อจากนี้ไปจะกว้างขึ้น ไม่เฉพาะแค่การขอสินเชื่อเพื่อทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่จะให้สินเชื่อผู้ประกอบการอื่น ๆ แต่วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อนั้นจะต้องทำเพื่อการเกษตร รวมถึงการให้สินเชื่อวิสาหกิจชุมชนที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันด้วย โดยจะให้มีการค้ำประกันการกู้ยืมกันเอง ที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านก็มากู้ยืมกับ ธ.ก.ส. แต่ไม่มากนัก
"เราตัดสินใจถูกและทันเวลาท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เรายังคงไม่ทิ้งงานเดิม มุ่งมั่นเพื่อเกษตรกร ลูกค้าของเราเป็นเกษตรกร 95-98% และยังเป็นธนาคารเฉพาะกิจเหมือนเดิม แต่จะเป็นธนาคารที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ บริการที่หลากหลาย" วราเทพกล่าว
พร้อมทั้งย้ำว่า ธ.ก.ส.มีความมั่นคงทางการเงินและมีความร่วมมือที่เข้มแข็ง ซึ่งในโครงสร้างใหม่นี้จะมีการแบ่งโครงสร้างบุคลากรที่ชัดเจน กระตุ้นให้เกิดการทำงานทั้งองค์กร ตัวผู้บริหารธนาคารใช้ระบบสัญญาจ้าง เพื่อยกระดับให้เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ทันสมัย
สำหรับการสนับสนุนโครงการของรัฐบาล เช่น กองทุนหมู่บ้าน SML รับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ช่วยราคาสินค้าเกษตร กระจายสินค้าการแก้ไขปัญหาความยากจน เราทำได้ดีเพราะมีสาขาทุกภูมิภาค อย่างโครงการโคล้านตัว ปาล์มน้ำมัน ที่ดำเนินการในรูปของเอสพีวี (Special Purpose Vehicle) หรือบริษัทส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด (สธท.) นั้น หากทาง SPV อาจจะระดมทุนเองหรือจะกู้จาก ธ.ก.ส.เราก็สามารถสนับสนุนได้เป็นหมื่นล้าน เรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ไม่เสี่ยงเพราะรัฐบาลค้ำประกัน
"กรณี SPV โคล้านตัวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการอยู่นั้น หากต้องกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. แน่นอนว่า ธ.ก.ส.ไม่เสี่ยงเพราะรัฐค้ำประกัน แต่ที่เสี่ยงจะเป็นตัวเกษตรกรมากกว่า ขึ้นกับคุณภาพของโคที่จัดหามาให้เกษตรกร หากทำได้ตามเป้าที่รัฐตั้งไว้ก็เป็นโชคดีของเกษตรกร แต่ถ้าได้โคด้อยคุณภาพความเสี่ยงก็จะตกอยู่กับตัวเกษตรกรเอง" คนวงการเกษตรตั้งข้อสังเกตุ
ขยายบริการดี-สาขาตปท.ไม่คุ้ม
ผู้บริหารธนาคารของรัฐรายหนึ่งกล่าวถึง บทบาทของ ธ.ก.ส. ยุคใหม่ว่า ในเรื่องของการขยายบริการด้านสินเชื่อเป็นสิ่งที่ดี ถือเป็นนโยบายเรื่องเดิมของรัฐบาล แทนที่จะทำเฉพาะเกษตรก็มาเป็นเกษตรอุตสาหกรรมมากกว่า รวมไปถึงอุตสาหกรรมครัวเรือน เพราะถือว่าลูกค้าเหล่านี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน เดิมพัฒนาแต่ฟาร์มเกษตรเปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นเกษตรอุตสาหกรรมในครัวเรือน ขณะเดียวกันก็มีอุตสาหกรรมอื่นตามมาด้วย เช่น OTOP การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ขยายธุรกรรมในประเทศ ถือความเสี่ยงลดลง เป็นการสร้างรายได้เพิ่ม มีโอกาสคืนเงินกู้ยืมมากขึ้น ส่วนการเปิดสาขาในต่างประเทศของ ธ.ก.ส. แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนอื่น ธ.ก.ส.ต้องตอบตัวเองก่อนว่าต้องการเป็นอะไร เพราะถึงอย่างไร ธ.ก.ส.ก็เป็นแบงก์เฉพาะกิจที่มีหน้าที่ให้บริการเกษตรกรอยู่ดี การเปิดสาขาเพื่อให้บริการในต่างประเทศนั้นไม่แน่ใจว่ากำลังทำตัวเป็นแบงก์พาณิชย์หรือไม่ ซึ่งโดยหลักการของ ธ.ก.ส.นั้นไม่น่าจะใช่
หากพิจารณาจากธุรกรรมที่จะให้บริการนั้น ก็มีหน่วยงานอื่น ๆ ให้บริการได้ครอบคลุมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) ลำพังแค่การบริการโอนเงินเพื่อบริการกับแรงงานไทยนั้น ที่ผ่านมาก็สามารถทำได้โดยผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์
การเปิดสาขาต่างประเทศ ธ.ก.ส.ต้องดูบทบาทของตัวเองด้วย เพราะต้นทุนในการเปิดสาขาค่อนข้างสูง คุ้มค่าต่อธุรกรรมที่มีหรือไม่กับเงินลงทุนราว 50-100 ล้านบาท ทุกวันนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ไม่จำเป็นต้องมีสาขาในต่างประเทศ เพียงแต่ใช้บริการทางการเงินในรูปของ Net Work แทน เพื่อเป็นการลดต้นทุน
************
ร่างกฎหมายธ.ก.ส. รอวุฒิเห็นชอบ
กว่าที่กฎหมายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะออกมามีผลบังคับใช้ หลังจากที่ได้มีการแก้ไขขอบเขตการดำเนินงานเป็นธนาคารพัฒนาชนบท โดยมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ชนบท อย่างทั่วถึงนั้นยังต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆในการพิจารณาของฝ่ายต่างๆอย่างครบถ้วน
สำหรับร่างพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.... ภายหลังจากที่มีการแก้ไขแล้ว กระทรวงการคลัง ได้นำเสนอร่างพ.ร.บ.ธ.ก.ส. ฉบับดังกล่าว ต่อสภาผู้แทนราษฎร จนผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระ จากนั้นได้ส่งต่อไปยัง วุฒิสภา ซึ่งขณะนี้ร่างฉบับดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาในวาระแรก (ขั้นรับหลักการ) และขณะนี้ได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ที่วุฒิสภา ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาเนื้อหา รายละเอียด ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ในวาระ 2-3 ต่อไป
เมื่อวุฒิสภา ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เรียบร้อย ทั้ง3 วาระและไม่ติดใจในเนื้อหา วุฒิสภา จะนำส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ไม่มีความเห็นแย้งกัน วุฒิสภา จะนำเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ฯทรงลงพระปรมาภิไธย ต่อไป แต่ในกรณีที่หากทั้งสองสภา มีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม สองสภา ขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อีกครั้งต่อไป ...
************
ก.เกษตรฯชี้สหกรณ์ผุดเป็นดอกเห็ด ชาวบ้านรวมตัวแก้ยากจน-สร้างอำนาจต่อรอง
แนวคิดในการนำหลักการสหกรณ์เข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่างๆทั่วประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังพบว่าในพื้นที่กทม.จำนวนทั้ง 50 กว่าเขตที่ประกอบด้วยชุมชนกว่า 1,700 แห่ง มีจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาไม่แตกต่างไปจากคนจนชนบท
แนวคิดในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาชน ด้วยการให้รู้ถึงกระบวนการจัดการปัญหาในแต่ละชุมชนร่วมกัน ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เข้าไปสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนต่างๆให้เป็นองค์กรของชุมชนที่เข้มแข็ง โดยสุนัย เศรษฐบุญสร้าง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ ได้นำเสนอถึงความจำเป็นและความสำคัญในการใช้ระบบสหกรณ์ สร้างเศรษฐกิจให้เกิดความมั่นคง
ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรฯ กระทรวงการเกษตรฯ มีแผนงานที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และคนในแต่ละชุมชน เกิดการรวมกลุ่มโดยให้ยึดเอาหลักการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่เน้นส่งเสริมการออม และการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน เพื่อให้การพึ่งพาตนเอง และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเกิดขึ้น นอกจากนี้การรวมกลุ่มของชาวบ้านโดยหลักการสหกรณ์นั้น ยังส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรได้อย่างมาก
กรรมการผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ เชื่อว่าตามสภาพการของเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะมีการรวมกลุ่มของชุมชนเพิ่มมากขึ้น และจะเกิดสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถให้ความช่วยเหลือกันได้อย่างเต็มที่ ในอดีตที่ผ่านมาการตั้งสหกรณ์นั้นมักเป็นการรวมกลุ่มเพื่อกู้เงินเท่านั้น ดังนั้นสหกรณ์ในอดีตจึงมีความอ่อนแอ ไม่สามารถช่วยเหลือกันได้อย่างแท้จริง ไม่มีความเข็มแข็ง
อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มของคนแต่ละชุมชน นั้นสามารถเป็นไปในรูปแบบของสหกรณ์และเป็นการรวมกลุ่มโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความต้องการของชุมชนนั้นๆ ทั้งนี้ในอนาคตเมื่อพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร มีผลออกมาบังคับใช้ แล้วจะส่งผลให้ธ.ก.ส.มีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นหรือไม่นั้น เชื่อว่าน่าจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของทางสถาบันการเงิน ในฐานะผู้ให้กู้มากกว่า
" เมื่อมีการรวมกลุ่มกันแล้ว จะเป็นไปเพื่อขอกู้เงินหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของกลุ่ม และการที่จะไปขอกู้กับสถาบันการเงินใดๆนั้น ก็อยู่ที่เงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้นๆ"
สำหรับในพื้นที่กทม.นั้น มีสหกรณ์อยู่น้อยแห่ง เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่การเกษตร เว้นแต่พื้นที่รอบนอก เช่น หนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี ที่ยังทำการเกษตร นอกนั้นจะเป็นในลักษณะสหกรณ์ยูเนี่ยนที่ส่งเสริมให้เกิดการออมทรัพย์ นั้นมีสหกรณ์น้อย เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่การเกษตร สหกรณ์การเกษตรฯก็ไม่มี นอกจากแถบรอบนอก เช่น หนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี ที่ยังทำเกษตรฯ แต่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ในเขตเมืองก็ยังมีอยู่ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มออมทรัพย์
การรวมเป็นกลุ่มก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะขนาดของกลุ่มจะทำให้ช่วยลดขนาดต้นทุนของเกษตรกร พึ่งพากันได้ ทำการตลาดก็ง่ายขึ้น เพราะการที่พ่อค้าจะเดินทางไปหาชาวบ้านทีละราย ย่อมจะเป็นการเพิ่มต้นทุน ให้มากกว่าเลือกติดต่อกับตัวแทนเพียงรายเดียว ทำให้เกิดความสะดวกในแง่ของการตลาด เมื่อรวมเป็นกลุ่มได้ก็อาจจะรวมเป็นโรงปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยเคมี ซึ่งถ้าทำ 1 หลังก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย และมากเกินความต้องการ แต่หากมีสมาชิกและร่วมกันผลิตโรงปุ๋ยขึ้นมา 1 แห่งร่วมกันใช้ก็เกิดความประหยัด
ดังนั้นขบวนการของการรวมกลุ่ม ถือเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาความยากจน ส่วนการรวมกลุ่มนั้นจะใช้ในมิติใด หรือใช้กฎหมายใดรองรับหรือไม่ หรือโดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ ก็มีด้วยกันหลายรูปแบบ ตัวอย่าง ในต่างจังหวัดก็มี "กลุ่มสัจจะออมทรัพย์"รวมตัวกันโดยมติของชาวบ้าน ไม่มีการไปจดทะเบียน แต่หากต้องการความเป็นนิติบุคคลเพื่อนำไปทำนิติกรรมสัญญา ก็ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งในจุดนี้กลุ่มดังกล่าว จะไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ มากนัก แต่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อพึ่งพาและช่วยเหลือกัน
"ส่วนการที่แหล่งเงินทุน แหล่งใดจะเปิดให้กู้แล้วมีกติกาอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นต้องเป็นสหกรณ์หรือไม่ ต้องเป็นนิติบุคคลหรือไม่"
ตามเป้าหมายของกระทรวงเกษตรฯ มองว่าด้วยสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งด้วยกลไกทางการตลาด ที่มีการแข่งขันกันอย่างสูงเวลานี้ จะทำให้ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ส่วนจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและการตกลงกันเองในกลุ่ม
***********
เอสพีวีใช้ประกันภัยรับความเสี่ยง ชาวบ้านเจอวัวราคาแพงแถมโรค
เริ่มขับเคลื่อน เอสพีวี กรมประกันภัย พร้อมบริหารความเสี่ยง ขณะที่เกษตรกรร้องมีนักการเมืองหากินบนโครงการทั้งปั่นราคาวัว ทั้งลักลอบนำวัวขี้โรคจากชายแดน
โครงการเอสพีวีคือบริษัทย่อย เป้าหมายเพื่อจัดการบริหารสินค้าเกษตรในเบื้องต้น 3 ชนิด ได้แก่ โค ปาล์มน้ำมัน และยางพารา และอีกภารกิจคือเป็นตัวกลางในการบริหารโครงการ ระดมทุน ช่วยเหลือภาคเกษตร และพยุงราคาสินค้า ในระยะแรก ปี 2548 จะดำเนินการธุรกิจโค คือการเลี้ยงโค 1 ล้านครัวเรือน แจกปีแรก 5แสนตัว การบริหารจัดการจะเปลี่ยนจากการให้กู้เงินมาเป็นการให้ผลิตภัณฑ์ไปทำมาหากินแทน เช่นแทนที่เกษตรกรจะกู้เงินไปซื้อโค รัฐบาลก็ให้ โคไปเลี้ยง ซึ่งนโยบายนี้รัฐบาลอ้างว่าจะทำให้ลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลวน้อยลง เพราะรัฐบาลมีการศึกษาให้ว่า สิ่งไหนที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ต้องกู้เงินไปใช้จ่ายอย่างสะเปะสะปะ ล่าสุดทางเอสพีวีเตรียมกู้เงิน ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนซื้อวัว 5 แสนตัว พร้อมของบเพิ่ม 500 ล้าน
ซึ่งที่สิ่งที่ทุกคนเคลือบแคลงใจก็คือ ระบบการจัดการของเอสพีวี ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะเอสพีวีเป็นโครงการที่รัฐบาลรับประกัน พร้อมเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านบาท จึงเป็นที่น่ากังวลว่าจะเป็นปรากฏการณ์การถลุงเงินแห่งชาติของเหล่า ส.ส. ในพื้นที่หรือไม่ หรือเป็นโครงการจัดขึ้นเพื่อสนองโครงการรัฐบาล และสุดท้ายผู้ที่ต้องแบกภาระใช้หนี้ก็คือ ประชาชนตาดำๆที่ต้องเสียภาษี
ดึงกรมประกันภัยแบกรับความเสี่ยง
ขณะนี่โครงการกำลังมีความคืบหน้าไปได้ดี โดยเริ่มดำเนินการโครงการโคล้านครอบครัวแล้ว ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเอสพีวีกล่าวว่า โครงการเอสพีวีกำลังมีการดำเนินงานโดยเริ่มดำเนินการเรื่องโคเป็นขั้นตอนแรก มีการหาผู้ที่ต้องการขายวัวทั่วประเทศ ปรากฏว่าตอนนี้มีเกษตรกรต้องการขายโคกว่า 1,400,000 คน และในด้านของผู้ต้องการวัวไปเลี้ยงนั้นมีความต้องการเลี้ยงกว่า 2.5 แสนครอบครัว โดยทางเอสพีวีจะคัดเลือกจากผู้ที่มาลงทะเบียนคนจนก่อนเป็นอันดับแรก และหลังจากนั้นจะกระจายกันออกไปสู่เกตรกรรายอื่นๆ โดยจะให้ค่าตอบแทนจากน้ำหนักวัวที่เพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 50 บาท
สำหรับมาตรการจัดการระบบนั้น ยุคลมองว่า เอสพีวีไม่น่าจะมีความเสี่ยงที่ประชาชนต้องแบกรับ เพราะเอสพีวีนั้นเปรียบเสมือนบริษัทลูกของธกส. ซึ่งต้องเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดให้ได้ อีกทั้งยังมีการจัดระบบค้ำประกันกันเองภายในกลุ่มเกษตรกร 5 คน ที่เข้าร่วม และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เกตรกรต้องรับผิดชอบด้วยกัน แต่ถ้าปัญหาเกิดมากขึ้นในหลายๆกลุ่ม ทางเอสพีวี ได้มีการวางแผนให้ทางกรมประกันภัยเข้ามาดูแลรับความเสี่ยงอยู่ ทั้งนี้อยู่ในช่วงดำเนินการเพื่อหาหลักเกณฑ์ของรูปแบบประกันภัย แต่คาดการณ์ว่าจะเกษตกรที่เข้าร่วมอาจต้องเสียเบี้ยประกันบางส่วนเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
เกษตกรร้องโกงตั้งแต่หัวขบวน
แม้ในแนวนโยบายที่วางไว้ในภาพกว้าง จะมองว่าดูสวยหรู แต่สำหรับตัวเกษตรกรที่เป็นผู้ใช้บริการกลับมองว่า เป็นโครงการที่เกิดมาเพื่อ "หากิน" ของเหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลาย และคาดกันว่าเป้าหมายการบริหารสินค้าเกษตรจะไม่อยู่แค่ผลิตภัณฑ์ 3 อย่าง แต่คาดว่าจะมีโครงการต่างๆวิ่งเข้ามาดูดเงินจากโครงการอีกไปเรื่อยๆ เช่น การรับประกันราคาข้าว อีกทั้งการบริหารความเสี่ยงโครงการก็คาดกันว่าต้องอาศัยเงินภาษีอากรของประชาชนมาคอยตามล้างตามเช็ดปัญหากันอีก
บำรุง โยคะโยธิน แกนนำเกษตรเปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ต่างจังหวัดกำลังมีการปั่นราคาวัวกันอย่างมโหฬารไปทั่วประเทศ ราคาวัว จาก 2- 3 หมื่น บาท ตอนนี้ราคาวัวถูกปั่นราคาไปจนถึง 2-3 แสนบาท จนเกษตรกรไม่สามารถสู้ราคาได้ เพราะผลตอบแทนกิโลกรัมละ 50 บาทนั้นดูไม่น่าจะได้กำไรที่น่าพอใจ นอกจากจะมีการปั่นราคาวัวแล้ว ทางผู้เกี่ยวข้องแทนที่จะเอาวัวที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกร กลับไปนำเข้าวัวที่กัมพูชา ลาว พม่า เข้ามาแทน ซึ่งวัวเหล่านั้นก็เป็นวัวที่มีโรค ถ้าต้องเอามาเลี้ยงก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นอย่างนี้ บำรุงมองว่าแล้วจะเลี้ยงวัวให้มีน้ำหนักขึ้นได้อย่างไร แล้วเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มได้หรือไม่
"หลายปีมาแล้วที่ทางกรมปศุสัตว์ใช้งบประมาณหลายพันล้านบาทเพื่อควบคุมโรคเท้าเปื่อยในวัวที่ลักลอบเข้ามาในประเทศ ซึ่งก็ควบคุมได้มาระยะหนึ่ง แต่ตอนนี้ดูมีการลักลอบนำเข้าวัวเข้ามาอีกจากโครงการนี้ เงินหลายพันล้านที่กรมปศุสัตว์ที่แก้ปัญหาไปก็คงล้มเหลว"
|
|
|
|
|