ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯตั้งเป้าลงทุนโรงไฟฟ้าในลาวครบ 1,000 เมกะวัตต์ได้ภายในปี 2549 เผยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในลาวเพิ่มอีก 1-2 โครงการหลังจากเซ็นถือหุ้นในโครงการน้ำงึม 2 เมื่อเร็วๆ นี้ เผยสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าในพม่าอีกด้วย ยอมรับไตรมาส 4 ปีนี้รายได้และกำไรหด เหตุปิดซ่อมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหน่วยที่ 1- 2 พร้อม ทั้งขยายเวลาซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังความร้อน หน่วยที่ 1 ออกไปอีก 15 วัน เหตุ FGD เสียหาย กว่าที่คาด
นายธวัช วิมลสาระวงค์ รองกรรมการ ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ และรักษาการกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังเจรจาผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว เพิ่มเติมอีก 1-2 โครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีหน้า หลังจากที่บริษัทฯได้เข้าไปร่วมถือหุ้นในโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 สัดส่วน 25% เมื่อ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในลาวประมาณ 1,000 เมกะ-วัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการน้ำงึม 2 จำนวน 615 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯยังสนใจที่จะเข้าไปลงทุน โรงไฟฟ้าในประเทศพม่า โดยเฉพาะโครงการสาละวิน เนื่องจากเป็นโครงการที่มีศักยภาพที่ดี ส่วนการลงทุนในประเทศนั้น บริษัทฯมีความพร้อม ที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีรอบใหม่ด้วย แต่เชื่อว่าคงไม่สามารถเปิดประมูลได้ทันภายในปีนี้ เนื่องจากกฟผ.อยู่ระหว่างการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คงต้องรอองค์กร กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (Regulator) ว่าจะมี นโยบายอย่างไร ฟันธงไตรมาส 4 กำไรลด
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2548 จะลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 10,171 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,527.55 ล้านบาท เนื่องจากจะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 ชุด และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหน่วยที่ 1-2 ซึ่งต่าง จากไตรมาส 4/2547 ที่หยุดเดินเครื่องเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 ชุดเท่านั้น
โดยบริษัทฯยังได้ขยายระยะเวลาซ่อมบำรุง โรงไฟฟ้าพลังความร้อน หน่วยที่ 1 จากเดิมที่จะเสร็จในวันที่ 6 พ.ย. 2548 เป็นวันที่ 21 พ.ย.48 ภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (FGD) แต่มั่นใจว่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในวันที่ 24 พ.ย.2548 โดยเครื่อง FGD ที่ถูกเพลิงไหม้จนได้รับความเสียหายนั้นอยู่ระหว่างการประเมิน ค่าใช้จ่ายการฟื้นฟูจากบริษัท มิตซูบิชิ คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน ทำให้ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพียงชนิดเดียว
นอกจากนี้ บริษัทฯได้เลื่อนแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหน่วยที่ 2 จากเดิม วันที่ 15 พ.ย. 2548 เป็นวันที่ 24 พ.ย.48 เพื่อ เดินเครื่องทดแทนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหน่วย 1 ที่ขยายเวลาการซ่อมบำรุงออกไป โดยโรงไฟฟ้า พลังความร้อนหน่วยที่ 2 ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าครบตามสัญญาในวันที่ 10 พ.ย.48
ทั้งนี้ ค่าเสียหายจากเพลิงไหม้ FGD ครั้งนี้จะได้รับชดเชยจากบริษัทประกันภัยและกฟผ. แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
นางวัจนา อังศุโกมุทกุล รองกรรมการผู้จัดการบัญชีและการเงิน บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯมีกระแสเงินสดในแต่ละปี 2 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะลงทุนในโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ในลาว รวมถึงโรงไฟฟ้าราชบุรี เพาเวอร์ หากบริษัทฯมีการลงทุนโครงการใหม่เพิ่มเติม ก็ยังมีวงเงินที่ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการออกหุ้นกู้จำนวน 7.5 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้า น้ำงึม 2 บริษัทฯจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,350 ล้านบาท โดยบริษัทจะใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อลงทุนในบริษัทดังกล่าว ซึ่งมูลค่าโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ประมาณ 32,625 ล้านบาท จะมาจากการเงินกู้ 71% ซึ่งขณะนี้ ช.การช่างในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2549
การตัดสินใจเข้าไปลงทุนในโครงการน้ำงึม 2 คิดเป็นสัดส่วน 25% ทำให้ราชบุรีฯมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 153.75 เมกะวัตต์ ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 4,498.75 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2553 9 เดือน กำไรแตะ 5.4 พันล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯมีรายได้รวม 34,784.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.01% และกำไรสุทธิ 5,486.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.62% โดยมีรายได้จากการขายไฟฟ้าจำนวน 34,251.13 ล้านบาท และรับรู้กำไรจากบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ไตรเอนเนอจี้ บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ และบริษัท สยาม เอทานอล เอ็กซ์ปอร์ท เป็นเงิน 210.72 ล้านบาท และรายได้อื่น 138.32 ล้านบาท
ส่วนงวดไตรมาส 3/2548 บริษัท มีกำไรสุทธิ 1,481.65 ล้านบาท ลดลง 21.92% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,897.52 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวน 581.15 ล้านบาทสูงกว่าไตรมาสที่ 3/2547 เป็นจำนวน 462.46 ล้านบาท เป็น ผลจากการจัดหาเงินกู้ใหม่ทดแทนเงินกู้เดิม โดย มีค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินกู้ดังกล่าวเป็นจำนวน 229.69 ล้านบาท และมีการตัดจ่ายค่าธรรมเนียม ในการจัดหาเงินกู้รอตัดบัญชีของเงินกู้เดิมเป็นค่าใช้จ่ายอีกจำนวน 236.52 ล้านบาท ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาทนั้น ทำให้ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้ตลอดอายุสัญญา เป็นเงิน 2,347.93 ล้านบาท และในปี 2548 บริษัทฯ สามารถประหยัดดอกเบี้ยได้เป็นเงิน 196.26 ล้านบาท
|