"บิ๊กซี" ชูนโยบายปี 49 ขยายอาณาจักรไฮเปอร์มาร์เกต ขานรับแนวทางผังเมืองใหม่เอื้อประโยชน์ธุรกิจค้าปลีก ยันไม่สนนำโมเดล คอนวีเนียนขยายไปชนคู่แข่ง ส่วนปีหน้าลุยเปิดสาขาใหม่ 5 แห่ง ล่าสุดทุ่ม 300 ล้านบาท เปิดสาขาที่เอกมัย
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายการขยายสาขาในปีหน้า บิ๊กซียังคงเน้นรูปแบบไฮเปอร์มาร์เกตเป็นหลัก 2 รูปแบบ คือ รูปแบบมาตรฐานขนาดพื้นที่ 1.2 หมื่นตารางเมตร และรูปแบบคอมแพกต์ขนาดพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของผังเมืองใหม่ที่กำหนดให้ดิสเคานต์สโตร์สามารถขยายสาขาในเมืองได้มากขึ้น จากเดิมผังเมืองให้ห่างจากเมือง 15 กิโลเมตร แต่แนวทางใหม่ห่างจากเมืองเพียง 5 กิโลเมตร
ส่วนรูปแบบคอนวีเนียนหรือขนาดย่อมบริษัทฯยังไม่สนใจที่จะนำรูปแบบดังกล่าวมาเปิด เนื่องจากมองว่าไฮเปอร์มาร์เกตเป็นรูปแบบที่สามารถขยายในประเทศไทยได้อีกมาก โดยในปีหน้าบิ๊กซีจะขยายสาขาเพิ่ม 4-5 แห่ง จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 44 สาขา โดยจะเปิดทั้งในรูปแบบมาตรฐานใช้งบลงทุน 600 ล้าน บาท ส่วนรูปแบบคอมแพกต์ใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทั้งนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา บิ๊กซีขยายสาขาใกล้เคียงกับปีนี้ คือ 4-5 แห่ง ใช้งบลงทุนรวมทั้งการปรับปรุงสาขาต่างๆกว่า 5,000 ล้านบาท ในปีนี้
ล่าสุดทุ่มงบประมาณ 300 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่อีกหนึ่งแห่งที่เอกมัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ คอมแพกต์ ไฮเปอร์มาร์เกต สโตร์ ขนาดพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นคอมแพกต์ลำดับที่ 6 และเล็กที่สุด วางกลุ่มเป้าหมายระดับบีบวก และเพื่อรองรับกลุ่มชาวต่างประเทศสัดส่วน 10% รวมทั้งไลฟ์สไตล์ของผู้ที่อาศัยอยู่ ในละแวกนี้ จึงได้ขยายไลน์สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบด้วย เนื้อสัตว์ เนื้อแกะ หรือไวน์และเหล้าสาเกจากต่างประเทศ จากสินค้าทั้งหมด 1.2 แสนรายการ โดยหลังจากเปิดบริการคาดว่า จะมีลูกค้าหมุน เวียน 2.5 หมื่นคนต่อวัน หรือมีรายได้ 750-800 ล้านบาทต่อปี
ในปลายปีบิ๊กซีจะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา คือ ที่จังหวัดสกลนคร ในรูปแบบ คอมแพกต์เช่นกัน ทั้งนี้รูปแบบคอมแพกต์เป็นโมเดลที่บิ๊กซีในประเทศไทยเป็นผู้พัฒนาขึ้น เพื่อขยายสาขาเข้า ไปในชุมชนที่มีจำนวนประชากรอาศัยบริเวณนั้นน้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับรูปแบบมาตรฐานมีประชากรราว 1 ล้านคน อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าบริษัทกาสิโน กรุ๊ป จะนำรูปแบบดังกล่าวไปปรับใช้ในเมืองที่มีประชากรอาศัยน้อยในต่างประเทศ
สำหรับแนวโน้มตลาดค้าปลีกใน ปีหน้าคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 10% ทั้งนี้เป็นเพราะพฤติกรรมคนไทยเริ่มปรับตัวได้ จากปัจจัยลบราคาน้ำมัน สึนามิ ไข้หวัดนก
ส่วนผลการดำเนินงานของ บริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำไตรมาส 2 ปี 2548 จากข้อมูลที่แจ้งต่อตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า มีจำนวน 13,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันปี 2547 จำนวน 1,652 ล้านบาทหรือ 13.7% รายได้ค่าเช่าและค่าบริการในไตรมาส 2 ปี 2548 มีจำนวน 512 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2547 จำนวน 14 ล้านบาท หรือ 2.8%
รายได้อื่น อันได้แก่ รายได้จาก การส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสองฝ่าย รวมถึงรายได้อื่นๆ ในไตรมาส 2 ปี 2548 มีจำนวน 1,023 ล้านบาท เพิ่ม ขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2547 จำนวน 214 ล้านบาท หรือ 26.4% กำไร ขั้นต้นของไตรมาส 2 ปี 2548 มีจำนวน 1,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2547 จำนวน 117 ล้านบาท หรือ 9.2%
|