หลังจากลาโลกไปแล้วหนึ่งทศวรรษเต็ม ลูกหลานของ George Nakashima คงภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
เมื่องานไม้สไตล์คลาสสิกที่หาได้ยากของเขาเป็นที่ต้องการและจ้องตะครุบของนักสะสมตาเหยี่ยวยุคนี้
ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะผลงานของ Nakashima มีมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลายที่สามารถ
คงไว้ซึ่งความงามสง่าและประโยชน์ใช้สอย มีทั้งความเป็นศิลปะและธุรกิจ รวมทั้งความ
เป็น "ตะวันออก" และ "ตะวันตก" รวมอยู่ในตัวเอง
นิตยสาร Wallpaper ฉบับเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม ให้รายละเอียดว่า George Nakashima
ถือกำเนิดในรัฐวอชิงตัน ปี 1905 โดยพ่อแม่อยู่ในฐานะผู้อพยพชาวญี่ปุ่น เขาจบสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก
University of Washington และ Massachusetts Institute of Technology จากนั้นก็ศึกษาต่อที่
Ecole Americaine des Beaux Arts นอกกรุงปารีส
Nakashima ทำงานอยู่ในโตเกียวได้ระยะหนึ่งก็เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา แล้วก่อตั้งเวิร์กชอปแห่งแรกขึ้นที่ซีแอตเติล
ในปี 1941 และประสบ ความสำเร็จอย่างงดงาม สำหรับธุรกิจออกแบบเก้าอี้ ตู้
และโต๊ะ ให้นักบริหารคนสำคัญในซีแอตเติล เพราะไปกันได้ด้วยดีกับทิศทางการออกแบบยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่
2 ซึ่งมีนักออกแบบร่วมสมัยคนสำคัญๆ ได้แก่ Eames, Rohe และ Isamu Noguchi
หลังเหตุการณ์ทิ้งระเบิดอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ ปี 1943 Nakashima และภรรยาก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นอีกหลายพันคน
ที่ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกัน นาน 1 ปีเต็ม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านที่เพนซิลวาเนีย
ชีวิตในค่ายกักกันกลับทำให้ Nakashima แข็งแกร่งวิชาชีพยิ่งขึ้น เมื่อฝึกฝนงานช่างไม้กับเพื่อนร่วมชะตากรรม
ในค่ายเดียวกันผู้ซึ่งเป็นช่างไม้ฝีมือเยี่ยมมาก่อน ทำให้ตัวเขา กลายเป็นช่างฝีมือผู้ช่ำชอง
นอกเหนือจากการเป็นนักออกแบบ ธรรมดาๆ คนหนึ่ง
"ไม้" เป็นวัสดุชนิดแรกที่ Nakashima ตกหลุมรัก และหลงเสน่ห์
เขายังยึดมั่นกับ "รักครั้งแรก" นั้นไม่รู้วาย จน Frank Maraschiello
ผู้เป็น vice president ของ 20th Century Decorative Arts แห่ง Sotheby' s
ในนิวยอร์กยอมรับว่า "Nakashima ออกแบบโดยมีความงดงามของไม้ อยู่ในหัวใจอย่างแท้จริง
แทนที่จะซ่อนเร้นความไม่สมบูรณ์แบบของไม้เอาไว้ Nakashima กลับเสริมจุดนั้นให้สวยเด่น
ขึ้น และทำให้จุดบกพร่องนั้นกลายเป็นองค์ประกอบของงานออกแบบของเขาได้อย่างน่าทึ่ง"
จุดที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ แม้ Nakashima จะเน้นความสวยงามในงานไม้ของเขา
แต่ก็ต้องการให้งานทุกชิ้นมีประโยชน์ใช้สอยมากกว่าจะเอาไว้ตั้งโชว์เฉยๆ ทั้งโต๊ะ
เก้าอี้ และชั้นวางของที่เป็นผลงานของเขาจึงมีความเป็นมิตรต่อเด็กๆ และมีความสวยงามต้องตาต้องใจของผู้ใหญ่ในเวลาเดียวกัน
ปัจจุบันทายาทของ Nakashima ก็ยังสืบทอดธุรกิจของ George ต่อด้วยดีและยิ่งเจริญรุดหน้าด้วยซ้ำ
ผลงานเด่นๆ ของเขาคือ เก้าอี้ "Conoid" หรือโต๊ะ "Minguren"
ที่ทำ จากลำต้นของต้นไม้และออกแบบในรูปแบบอิสระนั้น มีราคาสูงถึง 30,000
ดอลลาร์เลยทีเดียว
กระนั้นก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่า ตลาดยังประเมินราคาผลงานของ
Nakashima ต่ำเกินไปบนพื้นฐานของเหตุผลที่ว่าเป็นงานไม้ที่หาได้ยากมาก แม้ว่าหลังการเสียชีวิตในปี
1990 และตลาดยุโรป รวมทั้งเอเชียจะหันมาให้ความสนใจในผลงานของ Nakashima
อย่างมาก จนทำให้ผลงานของเขามีราคาพุ่งพรวดๆ ขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของผู้เชี่ยวชาญอยู่ดี
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีเฟอร์นิเจอร์ "Nakashima" รุ่นใหม่ๆ ออกป้อนตลาดอยู่ตลอด
เวลา เพราะ Mira ลูกสาวผู้สืบทอดกิจการของผู้เป็นพ่อ และเป็นสถาปนิกผู้จบจาก
Harvard สามารถถ่ายทอดและควบคุมการผลิตผลงานสไตล์การออกแบบของ George ได้อย่างดีเยี่ยม
เพราะร่วมงานกับผู้เป็นพ่อมานานหลายสิบปี แถมมีผลงานที่เป็นสไตล์เฉพาะตัวของเธอเองป้อนตลาดอีกทางหนึ่งด้วย