Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์4 พฤศจิกายน 2548
"เบียร์ช้าง"ฟอกสีขาว"ธุรกิจน้ำเมา" ปิดแผล"สังคมรังเกียจ-ภาครัฐโหยหา"             
 


   
www resources

โฮมเพจ เบียร์ไทย (1991) - เบียร์ช้าง

   
search resources

ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.
Stock Exchange
Alcohol




ทุกสายตาผู้คนในสังคมที่เฝ้ามองดูความเคลื่อนไหวทุกย่างก้าว"เบียร์ช้าง"บมจ.ไทยเบฟเวอเรจหรือ"ไทยเบฟ"จึงไม่ต่างอะไรกับ ธุรกิจที่มีแต่"ด้านมืด"นอกจาก"ฤทธิ์แอลกอฮอล์"จะมอมเมาผู้คน และเยาวชนจนสำลัก"น้ำเมา" ก็ดูเหมือนจะไม่มีแง่มุมดีๆที่จะนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้สังคมยอมรับได้เต็มปากเต็มคำ โดยเฉพาะแรงต้านการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจาก"คลื่นมหาชน"ที่นับวันจะตั้งข้อกล่าว

หาแรงขึ้นว่าเป็นหุ้นที่ "สังคมรังเกียจ...แต่ภาครัฐกลับโหยหา..."

"เราไม่ประสงค์จะบีบรัฐ ถ้ารัฐว่ายังไงก็ว่าอย่างนั้น"เกษมสันต์ วีระกุล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรกระบอกเสียงคนล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใต้ชายคาของ"ไทยเบฟ"เพียง2 ปี ยืนยัน

ภายหลังยื่นข้อมูลแสดงรายการ(ไฟลิ่ง)ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)พิจารณาข้อมูลก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่22 กันยายน 2548 เพราะหลังจากเผชิญแรงต้านที่แข็งแกร่งไม่ยอมลดราวาศอกง่ายๆจากหลายส่วนในสังคม กระบวนการต่างๆก็หยุดชะงักลงทันทีรวมถึงการ"โรดโชว์"...หุ้น"ไทยเบฟ"จึงเหมือนโดน"แช่แข็ง"...

ทั้งๆที่ในแวดวงโบรกเกอร์ก็ช่วยกันออกแรงผลักทุกวิถีทางยกให้เป็น 1 ใน 2 หุ้นน่าสนใจ ซึ่งได้แก่"ไทยเบฟ"และ"กฟผ."ที่นักลงทุนเฝ้ารอคอยเพื่อหวังจะแต้มเสน่ห์ให้กับตลาดหุ้นไทยแต่กระแสสังคมก็ยังยกให้"ไทยเบฟ"หรือ"เบียร์ช้าง"เป็นธุรกิจที่ไม่สร้างสรรค์สังคม แถมยังทำลายและมอมเมาอีกต่างหาก เข้าทำนอง"สังคมตั้งข้อรังเกียจ"ขณะที่ ภาครัฐเฝ้าแต่ฝันจะให้หุ้นยักษ์ทั้ง 2 ตัวเป่าให้มูลค่าตลาดหรือมาร์เก็ตแคปทะยานลิ่วเพื่อให้ตลาดหุ้นไทยที่ขึ้นชื่อว่า"แคระแกรน"ในสายตานักลงทุนต่างประเทศ มีร่างกายอ้วนท้วนสมบรูณ์

ขุมพลังที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ยกเลิกการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับ การนิ่งเงียบไม่ออกมาตอบโต้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสไตล์ส่วนตัวของธุรกิจคนในตระกูลนี้จึงดูมีภาษีดีกว่าหากวัดจากคะแนนที่สังคมเทให้

"เราทำตามหน้าที่ แต่วันนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ"เกษมสันต์ เชื่อว่า เมื่อยื่นไฟลิ่งไปแล้ว รัฐจะไม่ด่วนตัดสินใจอะไรลงไปในช่วงที่มีกระแสต้านและก็เชื่ออีกว่ารัฐจะดูด้วยเหตุผล เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่รอมาจนป่านนี้ขณะเดียวกันรัฐก็พยายามจะให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน โดยพุ่งประเด็นไปที่"ข้อมูล"ที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ในมือ

"มั่นใจว่ารัฐจะให้ความเป็นธรรม"เกษมสันต์ ย้ำแทบทุกครั้งที่พยายามคลายความวิตกของสังคมข้อมูลของ"ฝ่ายธรรมะ"คงไม่มีเหตุผลใดมาโต้แย้ง แต่"ไทยเบฟ"ที่ตกเป็นฝ่าย"อธรรม"ไปแล้วกลับต้องแสดงท่าทีในทางตรงกันข้าม จากที่เคยปิดปากเงียบ เหนือสิ่งอื่นใดคือการพลิกสถานการณ์ด้วยการงัดข้อมูลใน"มุมสีขาว"ออกมาโชว์ทุกสายตา เพื่อดับดีกรีที่ร้อนแรงของฤทธิ์เดช"แอลกอฮอลล์"

เกษมสันต์บอกว่า"สไตล์ขององค์กรและผู้บริหารที่ ไทยเบฟมักจะเก็บตัวเงียบหรือถ้าเดือดร้อนก็ไม่เคยออกมาเต้นโผงผาง"แต่สไตล์การทำงานแบบนี้ก็กลายมาเป็นจุดบอด โดยเฉพาะถ้าธุรกิจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหุ้นที่เป็นลักษณะของตลาด"มหาชน"

"การเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คนย่อมสนใจอยากรู้ข้อมูลเชิงลึก ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นส่วนธุรกิจรูปแบบเดิมก็เหมาะกับแบบเดิมๆแต่การจะแต่งตัวเป็นบริษัทมหาชนก็ต้องชี้แจงมากขึ้นเป็นธรรมชาติ"

เกษมสันต์ต้องเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงอย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการเพราะทีมทำงานชุดนี้จะต่างจากชุดก่อนๆถึงแม้จะผสมผสานกันระหว่างคนเก่าแก่กับคนรุ่นหลังๆในไทยเบฟ สำคัญที่สุดคือการให้"ข้อมูล"ที่สามารถตอบคำถามที่สังคมยังไม่คลี่คลายข้อสงสัยได้...

...ถ้าเข้าไปแล้วคนในประเทศจะเมาจนหัวราน้ำมากขึ้นหรือเปล่า?...

...วัตถุประสงค์ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แท้จริงคืออะไร?...

...ธุรกิจน้ำเมาให้ประโยชน์อะไรกับสังคมบ้าง?...
...หรือ...ทำไม?...ไม่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย?...

สารพัดข้อครหาที่สังคมไม่ได้ยัดเยียดให้หากมองในมุมที่สังคมมีประสบการณ์และได้สัมผัสในด้านมืดของธุรกิจนี้แต่ก็กลายมาเป็นภารกิจมหาหินให้"เกษมสันต์"ต้องทำการบ้าน ชี้แจงข้อมูลในด้านสว่างให้กับ"ไทยเบฟ"เพื่อให้ภาพลักษณ์ใสสะอาด

หัวหน้าทีมเฉพาะกิจรับบทบาทนี้ด้วยท่าทางคล่องแคล่ว สำหรับคำตอบในทุกแง่มุม มีการยกสถิติขององค์การอนามัยโลกหรือWHOระหว่างปี2524-2544 ที่ศึกษาธุรกิจค้าเหล้า เบียร์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในเยอรมนี กว่า30 บริษัท สหรัฐ 15 บริษัท ออสเตรเลีย 10 บริษัทและฝรั่งเศสอีก 10 บริษัทปรากฎว่าพบการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ลดลงในทุกประเทศ

"หลายประเทศให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างถูกต้อง เหมาะสมก็ช่วยลดการบริโภคลงได้" ขณะที่การคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การเข้าตลาดต้องร่ายยาวเป็นพิเศษ สำคัญที่สุดคือเงินที่ได้มาจะเอาไปทำอะไรเกษมสันต์ อธิบายยาวเหยียดในประเด็นนี้ว่า หนึ่งคือ"ไทยเบฟ"อาจเป็นธุรกิจใหญ่ยักษ์ในประเทศก็จริงแต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ก็ไม่ต่างจาก"หนู"ตัวเล็กๆ...

"ไทยเบฟ"อาจมียอดขายปีหนึ่งร่วมแสนล้านบาท กำไรหมื่นกว่าล้านแต่ธุรกิจในต่างประเทศที่ไซส์ใหญ่กว่ามีกำไรสูงถึงแสนกว่าล้านเทียบกันจึงเหมือน"หนู"กับ"ช้าง"

พร้อมกับเบนความสนใจไปที่ตลาดต่างประเทศ ที่ไทยเบฟ หรือ"เบียร์ช้าง"กำลังจะระดมทุนไปบุกตลาดทั้งในยุโรปและประเทศแถบเอเชียแปซิฟิคเพียงแต่การเจรจาการค้าจะบรรลุผลง่ายเข้าและสะดวกราบรื่นก็ต้องเข้าตลาดหุ้นที่ขึ้นชื่อเรื่องธรรมาภิบาลเป็น"สติกเกอร์"การันตีให้ได้เสียก่อน เหตุผลหนึ่งที่เชื่อว่าสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากันก็คือเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ การออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในต่างประเทศก็จะทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

"การรุกตลาดต่างประเทศ ต้องทำให้ตัวเองไซส์ใหญ่ขึ้น เหมือนนักมวย ที่เคยอยู่ในรุ่นไลฟ์เวทก็ต้องเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาที่รุ่นเฮฟวี่เวท"

ขนาดธุรกิจที่ใหญ่อาจยังไม่พอเพราะในระยะยาว"ไทยเบฟ"จำเป็นต้องใช้ฐานผลิตในต่างประเทศให้ใกล้กับตลาดนั้นๆให้มากที่สุด เพื่อประหยัดต้นทุนค่าขนส่งและคงความสดใหม่ของเบียร์ไปด้วยในตัว

"ผู้บริโภคต้องการบริโภคเบียร์ที่มีความสดใหม่ไม่ใช่กว่าจะผลิตแล้วส่งข้ามเรือไปยังอังกฤษที่เอฟเวอร์ตันกว่าจะถึงเบียร์ก็ไม่สดแล้ว"

อย่างไรก็ตามฝ่ายคัดค้านที่นัดรวมตัวกันประท้วงเป็นครั้งคราวก็ยังไม่ชัดเจนในเม็ดเงินระดมทุนที่จะนำไปใช้เพราะหลายฝ่ายยังมองว่า เงินที่ได้อาจนำไปอัดโฆษณาอย่างหนักหน่วงเพื่อเพิ่มปริมาณการบริโภค แต่เกษมสันต์ก็งัดเอางบการเงินออกมาโต้"เรามีกระแสเงินสด1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาอยู่ที่300 ล้านบาทต่อปี"งบแค่เล็กน้อย ขณะที่กระแสเงินสดท่วมสูงเป็นกอง การนำเงินที่ได้มาเพิ่มงบโฆษณาเหล้าเบียร์จึงน่าจะตอบคำถามสังคมได้

"ถ้าดูโฆษณาตามทีวีหรือสิ่งพิมพ์จะเห็นว่า แทบไม่มีเลยถ้ารัฐจะควบคุมการส่งเสริมการขายและโฆษณาผ่านทางสื่อของธุรกิจนี้เมื่อถูกต้องเราก็ต้องทำตาม ถ้าจะโฆษณาจริงๆ กระแสเงินสดก็มีมาอยู่แล้วคงไม่ต้องระดมทุน"

คราวนี้ก็มาถึงความคาดหวังของสังคมเพราะการบริจาคผ้าห่มกันหนาวในทุกฤดูหนาวที่ใช้เงินไปแล้วกว่า180 ล้าน ก็ยังไม่ทำให้มุมมืดเปลี่ยนไปเป็นมุมสว่าง

เกษมสันต์จึงต้องอธิบายภาระหน้าที่ที่หลายคนอาจยังไม่ล่วงรู้ ว่า"ไทยเบฟ"ต้องเสียภาษีให้รัฐปีหนึ่งๆสูงถึงปีละ5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5%ของงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาลที่ใช้ในการพัฒนาสังคมและประเทศมูลค่า1.1 ล้านล้านบาท ยังไม่นับอัตราจ้างงานพนักงานกว่า2 หมื่นชีวิต ที่ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล รวมถึงการจ้างงานทางอ้อมในอุตสาหกรรมสลากฝาและลังของพนักงานอีกกว่า 1 แสนครอบครัว

หากไม่มองเป็นการ"ทวงบุญคุณ"จนเกินไป โครงการที่เป็นประโยชน์กับสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งยังเหมารวมถึงการซื้อสินค้าเกษตรพวก ข้าว น้ำตาล และการรับซื้อพันธุ์ข้าวจาก"เกษตรกร"เพราะวัตถุดิบเหล่านี้จะนำไปใช้ผลิตเหล้าและเบียร์ ที่ทำให้บริษัทมียอดขายเฉียดแสนล้านบาท คิดเป็น 1%ของจีดีพีประเทศ

เกษมสันต์ บอกว่า ยังมีบริษัทในเครือคือ ไทยแอลกอฮอล์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเอธานอลเพื่อขายให้กับบริษัทน้ำมันเพื่อนำไปผสมเป็นแก๊ซโซฮอลที่ผลิตได้ปีละ 600 ล้านลิตรต่อปี ที่ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันอีกด้วย

"ขอความเป็นธรรมบ้าง ถ้าบอกว่าธุรกิจเราไม่เป็นประโยชน์กับสังคมก็น่าจะหันไปดูประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศบ้าง"

อีกคำถามที่ยังค้างคาใจและรอให้ไขความลับอยู่นั้นก็คือคิดจะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศหรือไม่ถ้าตลาดหุ้นไทยปิดประตูลงกลอน...

เกษมสันต์ อ้างคำพูด"เจ้าสัว"ผู้เก็บตัวเงียบ"เจริญสิริวัฒนภักดี"เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า"เบียร์ช้าง"ก็ไม่ต่างจากหญิงสาวที่ต้องมีชายหนุ่มมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาจีบขณะที่หญิงสาวไม่มีเจตนาจะทำอย่างนั้น เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ทำอยู่เป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติเพียงแต่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจตรงกันโดยมีสิ่งสำคัญคือ"ข้อมูล"ที่จะเป็นตัวแปรสร้างความเข้าใจระหว่างฝ่าย"ไทยเบฟ"และ"กลุ่มต่อต้าน"ให้มองไปในมุมเดียวกัน มุมที่มองว่าธุรกิจผลิตและจำหน่าย"น้ำเมา"ใสสะอาดให้ประโยชน์กับสังคมก็มีไม่น้อย ไม่ได้มีแต่"ด้านมืด"ที่คลำหาจุดดีไม่เจอเลย ไม่ว่าจะเลือกมองจากมุมไหนๆ...

แล้วคุณล่ะอยู่มุมไหน ระหว่าง"เมาไม่ขับ"หรือ"เลิกเหล้าเพื่อแม่สักครั้ง"...   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us