|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
3 สถาบันดัง AIT , KAIST เกาหลี และ พระจอมเกล้าพระนครเหนือ แลลอดทิศทางโตของระบบการศึกษาเมืองไทย และแนวทางพัฒนาทักษะวิชาชีพ เพื่อเป็นกรอบวิธีคิดในการพัฒนาหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สอดรับไปกับความต้องการของอุตสาหกรรม
ศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก AIT กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในปัจจุบันเกิดขึ้นรวดเร็ว สถาบันการศึกษาจะขายความรู้อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะความรู้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเกิดขึ้นทุกแห่ง ภาคการศึกษาจึงต้องขายความรู้ที่พร้อมใช้งาน ซึ่งแปลงออกมาเป็นเทคโนโลยีแล้ว แปลงเป็นวิธีการแก้ปัญหาแล้ว
ดังนั้น การสอนในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงแตกต่างจากในอดีต ต้องเน้นการฝึกภาคปฏิบัติ และการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม หลายแห่งที่เคยเน้นการทำวิจัยก็ต้องปรับตัวมาทำงานกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม
ในด้านหลักสูตร อดีตการสอนวิศวกรรมจะมีการแบ่งแยกศาสตร์ แยกวิชาออกจากกัน จุดอ่อน คือ ทำให้ขาดการมองในภาพรวมทั้งหมด เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างของการผลิต แต่ละเลยที่จะมองถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสังคม เนื้อหาจึงเริ่มหันมาเน้นความเป็นสหสาขาวิชามากขึ้น บูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมมาเรียนรู้ด้วยกัน
ในมุมของการสร้างความร่วมมือ ที่ผ่านมาอาจเน้นเฉพาะในวงการวิชาการ แต่ขณะนี้ต้องขยายวงไปในอุตสาหกรรม และไม่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องมองทั่วโลก
สำหรับ AIT อดีตเมื่อ 40 ปีก่อน เน้นการสอน เพราะไม่มีใครชอบทำวิจัย พอมาปีช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วางตำแหน่งเป็นสถาบันที่เน้นวิจัย จึงทำวิจัยมากขึ้น แต่ปัญหา คือ งานวิจัยไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเกิดจากความคิดของนักวิชาการที่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ปัจจุบันจึงต้องมาเน้นสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น
ด้าน Dr.Sung-Chul Shin รองอธิการบดีจาก KAIST ประเทศเกาหลี กล่าวถึงประเทศของตนว่าเมื่อ 60 ปีก่อน เกาหลียากจนที่สุด แต่ปัจจุบัน GDP เติบโตถึง 520 เท่า สิ่งที่เกาหลีมอง คือ การพัฒนาคนให้มีการศึกษา เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคเศรษฐกิจฐานความรู้
ตัวเลขของจำนวนผู้ที่ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสูงถึง 81% ของประชากร ซึ่งนับเป็นอันดับที่ 2 ของโลก อย่างไรก็ดี คุณภาพอาจไม่ดีอย่างที่คิด เพราะจากการสำรวจความต้องการของอุตสาหกรรม พบว่าผู้จ้างงานไม่พอใจกับความสามารถของบัณฑิต บริษัทต้องใช้จ่ายงบถึง 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ หรือผู้ปกครองยินดีส่งบุตรไปศึกษาต่อต่างประเทศมากกว่า ทั้งยังพบอีกว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมจาก 42% ในปี 2541 เหลือเพียง 27% ในปี 2545 จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา
จากปัญหาข้างต้น รัฐบาลจึงหันมาเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยให้ลดขนาดของมหาวิทยาลัย และบางสถาบันอาจต้องยุบเพื่อมารวมกัน มีการแบ่งสถาบันที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมมากขึ้น นอกจากด้านจัดฝึกอบรม ยังให้เกิดการถ่ายโอนความรู้จากภาคเอกชนเข้าสู่สถาบันการศึกษา มีการจัดประเภทของมหาวิทยาลัย แบ่งเป็นเน้นทำวิจัย เน้นการสอน และเน้นสร้างอาชีวะ รัฐบาลยังสนับสนุนให้มีการวิจัยเชิงสหสาขาวิชามากขึ้น และสนับสนุนงบประมาณหลักล้านดอลล่าร์สหรัฐให้มหาวิทยาลัยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงไม่ง่ายนัก Dr.Sung-Chul Shin กล่าวว่า ในมหาวิทยาลัยบางแห่งต้องเริ่มแบบ Metrix Principle ไม่เปลี่ยนของเดิม แต่เพิ่มของใหม่เข้าไปที่ทำให้เกิดการทำงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา และเด็กได้เรียนรู้แบบสหสาขาวิชาด้วย
เช่นเดียวกับ KAIST ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2514 เพื่อหยุดการสมองไหลของนักเรียนหัวกะทิที่ไปเรียนต่างประเทศ แล้วทำงานเลยไม่กลับเกาหลี KAIST จึงสอนด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ บริหารงานด้วยกฎหมายพิเศษเฉพาะ และทำงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป้าหมายคือ การผลิตคนออกไปใน 3 ส่วน คือ เป็นผู้นำด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ประกอบการ และเป็นผู้สร้างสหสาขาวิชา
ปัจจุบัน KAIST ผลิตนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไปแล้วกลุ่มละกว่า 30,000 คน นักศึกษาปริญญาเอก 400 คน ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดด้านวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 15 และวิศวกรรมศาสตร์อันดับที่ 37 ของโลก
ขณะที่ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ที่มาของสถาบันเริ่มจากโรงเรียนที่สอนอาชีวะ และมีการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ซึ่งทำงานกับเยอรมันมากว่า 40 ปี และ 15 ปีที่ขยายความร่วมมือไปยังฝรั่งเศส มีการพัฒนาความรู้ครูอย่างต่อเนื่อง ส่วนนักศึกษาก็ต้องฝึกภาคปฎิบัติก่อนจบ เพื่อองค์กรไม่ต้องฝึกอบรมกันใหม่เมื่อรับเข้าทำงาน ปัจจุบันแม้จะขยับเป็นสถาบันที่สอนระดับปริญญาตรี แต่ระดับอาชีวะก็ยังสอนอยู่
เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมของการศึกษาอาชีวะในประเทศไทยว่า มีหลายปัญหาที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถผลิตคนได้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ได้แก่ การขาดความชัดเจน และต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารอาชีวะขาดความรู้ภาคธุรกิจ ขาดการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
บางสถาบันขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งอาจแก้ได้โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา หรือระหว่างภาคอุตสาหกรรม แต่เพราะขาดความร่วมมือ ความช่วยเหลือข้างต้นจึงไม่เกิด บ้างอยู่ห่างไกลแหล่งนิคมอุตสาหกรรม ทำให้เด็กขาดการพัฒนาในภาคปฏิบัติ
ขณะเดียวกันทัศนคติการจ้างงาน จะให้ผลตอบแทนผู้ที่จบระดับปริญญาตรีสูงกว่า โดยไม่ได้ดูที่ความสามารถ หรือทักษะการทำงาน ทั้งยังขาดแรงสนับสนุนอย่างจริงจังของภาคเอกชนทั้งเรื่องวิจัยและพัฒนา และการถ่อยทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้อาจารย์นำกลับมาสอนแก่นักศึกษา และสัดส่วนระหว่างอาจารย์และนักศึกษายังมีสูงเกินที่มาตรฐานสากลกำหนดเพราะขาดแคลนครู ทั้งขาดมาตรฐานทักษะวิชาชีพ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อยากให้นำเสนอเพื่อหาแนวทางพัฒนาร่วมกัน
เรียบเรียงจากการประชุมผู้นำการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 1 หัวข้อเรื่อง "สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของการศึกษา และการอบรมด้านวิชาชีพในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย"
|
|
|
|
|