|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
19 ตุลาคม 2548 เป็นวันที่สำคัญยิ่งอีกหนึ่งวันสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย
เป็นวันที่ตระกูล “เบญจรงคกุล” ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทยูคอม (ซึ่งยูคอมคือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท TAC ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับสอง เจ้าของแบรนด์ DTAC) ขายหุ้นในมือทั้งหมดออกไปให้แก่บมจ.ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ ในมูลค่าทั้งสิ้น 9,200 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 39.9%)
บมจ.ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ (TTH) เป็นบริษัทที่จัดขึ้นตั้งใหม่ เทเลนอร์ถือหุ้น 49% ที่เหลืออีก 51% เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นคนไทย ได้แก่ กลุ่มตระกูลเบญจรงคกุล บริษัท ฟินันซ่า และนักลงทุนเอกชนไทยอีกจำนวนหนึ่ง นั่นแปลว่าเบญจรงคกุลขายหุ้นยูคอมทิ้ง แต่ก็ยังเหลือถือไว้บ้างผ่านทาง TTH
“ผมก็จะไปซื้อธุรกิจบางส่วนที่ผมทำถนัด” บุญชัยตอบคำถามนักข่าวว่าจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปทำอะไร เขาขยายความต่อว่าได้พูดคุยกับบอร์ดบริษัทยูคอมเพื่อขอซื้อบางธุรกิจออกมา เช่น เครือข่ายเคเบิ้ลใยแก้ว, บรอดแบนด์ และไอที
“ผมคิดว่าการทำให้โทรคมนาคมเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาคนอีก 70% ของประเทศชาติ ให้ได้ใช้ เพื่อประโยชน์ในการแข่งขันของเขา เป็นเรื่องที่ผมตั้งใจตั้งปณิธานไว้” บุญชัยเล่าถึงเป้าหมายในใจ
ส่วนเทเลนอร์นั้น จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทยูคอม และแทคโดยทันที ยูคอมถือหุ้น 41.6% ในแทค หากดีลนี้จบลง เทเลนอร์จะถือหุ้นแทค (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) 48.3% (จากเดิมที่ถือ 40.2%)
“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สะท้อนความสลับซับซ้อนของอุตสาหกรรมเรา ผมคิดว่ามันเป็นการปฏิรูปของผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทุกๆ 2-3 ปี เราก็จะมีการปรับปรุงตัวเราเพื่อแข่งขันกัน ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจนี้ไม่ใช่ธุรกิจระดับประเทศ มันเป็นธุรกิจระดับโลก การปรับตัวให้คงอยู่ แล้วก็มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพต่อสังคมที่ตัวเองอยู่ในนั้นมันเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็น Evolution เป็นการปฏิรูปตัวเองเพื่อจะได้คงสภาพไว้ เหมือนกับสิ่งมีชีวิต ที่ปฏิรูปตัวเองเพื่อจะได้อยู่รอด และมีชีวิตอยู่” บุญชัยกล่าวอย่างเข้าใจ
การขายหุ้นทิ้งครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงความเข้าใจในอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแล้ว ยังสะท้อนความตั้งใจอย่างยิ่งในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุปณิธานอันยิ่งใหญ่ในชีวิต
“ผมคิดว่าสิ่งที่เราสามารถช่วยสังคมหรือประเทศชาติได้โดยไม่เล่นการเมืองเป็นมิติใหม่มากกว่า เป็นนักธุรกิจที่ไม่ต้องเล่นการเมือง ไม่ต้องมีสายใจการเมือง แต่เราสามารถช่วยเหลือสังคมให้มีความร่มเย็น ดำเนินไปมีความมั่นคงในทุกระดับ”
บุญชัยจะทุ่มเทเวลาและทรัพยากรให้กับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง สำนึกรักบ้านเกิด ร่วมด้วยช่วยกัน
“ผมประกาศวันนี้เลยว่าผมคือสาวกของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นคนแรกของคนไทยด้วยซ้ำ ็และอยู่ในภาคเอกชน เมื่อเกิด กสช. แล้วยิ่งดีใหญ่ เพราะผมคิดว่าวิทยุชุมชนได้เวลากำเนิดแล้วครับ แล้วเมื่อวิทยุชุมชนก่อกำเนิดขึ้นมาเราจะเห็นเยาวชนสำนึกรักบ้านเกิดขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชน เหมือนอย่างที่ผมว่าใน 8 ปีที่ผ่านมา
เราจะเห็นว่าวิทยุ ไอที และตัวเชื่อมของสังคมจะทำงานกันเป็นหนึ่งเดียว และสังคมนี้ก็จะขับเคลื่อนไปโดยไม่ต้องใช้นักธุรกิจ ใช้พืชพันธุ์ของแผ่นดินนั่นแหละครับ ผมเกิดในวงการนี้ ผมก็จะตายในวงการนี้”
วันรุ่งขึ้นหลักจากการแถลงข่าว บอร์ดยูคอมและแทคมีการประชุม และได้แต่งตั้งให้ ซิกเว่ เบรคเก้ ดำรงตำแหน่งซีอีโอ ทั้งของยูคอมและแทค และได้มีการเปิดตัวซิกเว่อย่างเป็นทางการ ในการแถลงข่าวหลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ โดยชูภาพซิกเว่ว่าเป็นซีอีโอฝรั่งหัวใจไทย พร้อมทั้งนำทีมผู้บริหารระดับสูงเกือบทั้งหมด สวมเสื้อยืด Happy สีแดงสด เข้าร่วมงานด้วย เพื่อยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้นภายในองค์กร มีเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นเท่านั้น
อนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเป็นอย่างไรต่อไป?
บุญชัยตัดสินใจถูกต้องแล้วหรือ?
และเขาจะสานต่อการกิจแห่งชีวิตที่ยังเหลืออยู่ต่อไปอย่างไร?
บทวิเคราะห์
ในที่สุดยูคอมก็ตกอยู่ในมือต่างชาติจนได้ ซึ่งก็หมายความว่าแทคก็ตกอยู่ในมือต่างชาติด้วย การขายหุ้นครั้งนี้ครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการโทรคมนาคมไทย แต่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด จริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงวันนี้ไม่ขายหุ้น พรุ่งนี้ก็ต้องขายหุ้นอยู่นั่นเอง
ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจระดับโลก ต้องใช้เงินทุนมหาศาล ผู้เล่นท้องถิ่นที่ไม่มีทุนขนาดใหญ่ยากที่จะรักษาอาณาจักรสื่อสารของตนเองเอาไว้ได้ ก่อนหน้านี้ยูคอมประสบปัญหาจากการลดค่าเงินบาท จนกระทั่งต้องตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตมาแล้ว จากเดิมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งในยูคอมและแทค ก็ต้องตัดหุ้นขายออกไปทั้งยูคอมและแทคโดยให้เทเลนอร์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญโดยตระกูลเบญจรงคกุลยังคงสัดส่วนการถือครองหุ้นอยู่ในระดับที่มีอำนาจการต่อรองอยู่พอสมควร แม้อำนาจการต่อรองจะด้อยกว่าเทเลนอร์ในทางปฏิบัติก็ตาม
ถ้าจะวิเคราะห์ตระกูลเบญจรงคกุล ก็ต้องดูบุญชัย เบญจรงคกุล แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เพราะเขาเป็น Big Brother หรือพี่ใหญ่ของเบญจรงคกุล บุญชัยนั้นไม่มีใจอยากทำธุรกิจมานานแล้ว เพราะใจของเขาต้องการทำเศรษฐกิจพอเพียงให้เห็นผลในเชิงรูปธรรมมากกว่าทำธุรกิจสื่อสารที่ต้องสู้รบปรบมือกับทุนใหญ่ที่ทรงอำนาจมากกว่า
การทำธุรกิจนั้นถึงที่สุดก็ต้องรู้ว่าตนเองยืนอยู่จุดไหน และคู่แข่งคือใคร จุดแข็งคืออะไร พูดง่ายๆก็คือ รู้เขา รู้เรา ซึ่งเป็นอมตะวาจาของซุนวูนั่นเอง หากไม่หลอกตัวเอง การรู้เราไม่ใช่เรื่องยาก หากมีข้อมูลครบถ้วน และมีความสามารถในการวิเคราะห์
การรู้เขาก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไม่ได้ หลังจากรู้เขา รู้เราแล้ว หากบุญชัย ยังคงรักษาสัดส่วนการถือครองหุ้นยูคอมและแทคไว้ ย่อมไม่ใช่บุญชัยตัวจริง หลังจากกทช.เกิด อีกไม่นานก็ต้องมีใบอนุญาต 3 G ต้องเพิ่มทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่เพิ่มก็ไม่ได้เพราะจะแข่งขันไม่ได้ในอนาคต เพราะเอไอเอสต้องลงทุนระบบ 3 G อย่างแน่นอน และเทเลนอร์ต้องเพิ่มทุนอย่างแน่นอน เพราะต้องขยายตัว ถ้าเทเลนอร์ เพิ่มทุน แต่ยูคอมไม่เพิ่มทุน สัดส่วนการถือครองหุ้นย่อมเหลือไม่มาก มีหรือบุญชัย จะไม่รู้
ทิ้งยูคอม ตอนนี้ยังเป็นมหาเศรษฐี ทิ้งอีกหนึ่งปีข้างหน้า ก็ยังเป็นเศรษฐี แต่กระเป๋าเบาไปเยอะ
|
|
|
|
|