|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไทยถึงยุคหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญ ทุนต่างชาติพาเหรดจ้องฮุบกิจการที่คนไทยเป็นเจ้าของนับสิบปี ปัจจัยสำคัญความอ่อนแอทางด้านการเงิน ผลจากภาระผูกพันสัญญาสัมปทาน ไม่เอื้อให้สามารถลงทุนมหาศาลในยุค 3G ได้
จากการขายหุ้นยูคอมทั้งหมดของตระกูลเบญจรงคกุลให้กับเทเลนอร์จากประเทศนอร์เวย์ ทำให้หลายคนมองกันว่าธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไทยกำลังจะเปลี่ยนมือจากเจ้ากิจการคนไทยไปสู่ทุนต่างชาติหรือไม่
เมื่อมาผนวกกับกระแสข่าวว่าที่รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของจีน บริษัท ไชน่า เทเลคอม จะเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ยิ่งทำให้การคาดการณ์ว่ากิจการโทรคมนาคมจะถูกทุนต่างชาติฮุบไปทั้งหมดยิ่งมีความเป็นไปได้สูงขึ้น
แม้ว่าศิริเพ็ญ สีตสุวรรณ กรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ได้แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปฏิเสธข่าวที่ว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจะขายหุ้นให้แก่บริษัท ไชน่า เทเลคอม ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ในด้านแหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์มองว่า ข่าวเรื่องของกลุ่มไชน่า เทเลคอม ที่อาจเข้ามาถือหุ้นในบริษัทเครือชิน คอร์ปอเรชั่นนั้น เป็นไปได้ทั้ง 2 แนวทาง คือ อาจจะไม่เข้ามาเนื่องจากในหุ้นของแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC มีพันธมิตรอย่าง SINGTEL ของสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่กว่า 19% หากจะเข้ามาจริงก็อาจจะต้องมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถอนออกไป
"เราเชื่อว่ากลุ่มชินคงไม่ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นที่ถือใน ADVANC จำนวน 42.86% ออกไปแน่ เพราะไม่เหมือนกรณีของยูคอมที่ขายหุ้นให้เทเลนอร์ เนื่องจากตัวสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือนั้นค่ายชินจ่ายต่ำที่สุด" แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตุ
ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ที่ไชน่า เทเลคอมจะเข้ามาถือหุ้น หากสถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไป เช่น เปิดเสรีโทรคมนาคม ซึ่งต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลและกลุ่มทุนของจีน เห็นได้จากระยะหลังกลุ่มทุนจากจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งหัวเหว่ยและซีติก
ดังนั้นการจะเข้ามาของไชน่าเทเลคอมก็ไม่ใช่เรื่องแปลก จากสายสัมพันธ์ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ ยิ่งได้เห็นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ที่มีชื่อของบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ที่มาจากภาคเอกชน เข้าไปนั่งในบอร์ดบีโอไอด้วยแล้ว การเข้ามาร่วมทุนของต่างประเทศกับบริษัทสื่อสารต่าง ๆ หรือธุรกิจอื่น ๆ ก็น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ก่อนหน้านี้บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มชินคอร์ปฯ เคยบอกว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องเข้าไปลงทุนเทคโนโลยี 3G ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่นับแสนล้านบาท เงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจึงจะสามารถดำเนินการได้ โดยชินคอร์ปมีความพร้อมทางการเงินที่สามารถดำเนินการได้
วิเชียร เมฆตระการ รองผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการด้านเครือข่าย เอไอเอส กล่าวว่าแนวโน้มของการสื่อสารยุค 3G ผู้ให้บริการจะใช้เทคโนโลยีอะไรก็ได้ เนื่องจากกทช.ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นเทคโนโลยีไหน แต่รูปแบบการให้บริการ ขณะนี้เป็นไปได้ 2 แนวทางคือ 1.ผู้ที่มีความถี่อยู่แล้ว เช่น ไทยโมบายของทีโอที และผู้ให้บริการที่มีอยู่ในตลาด คือเอไอเอ ดีแทค และออเร้นท์ และ 2.ผู้ที่ต้องการขอความถี่ใหม่ แต่ทุกอย่างต้องรอกฎเกณฑ์ของกทช.ออกมาก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่าผู้ให้บริการ 3G จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
ทั้งนี้เอไอเอสได้รับสัมปทานในการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจากทีโอที ซึ่งเดิมคือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2533 โดยมีอายุสัญญาเป็นระยะเวลา 25 ปี และขณะนี้การให้บริการตามสัญญาสัมปทานดำเนินการมาแล้ว 15 ปี โดยสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2558
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองเรื่องการลงทุน 3G ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และยังต้องใช้เวลาสำหรับเมืองไทย เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องกฎหมาย หากชินคอร์ปไม่เลือกขอใบอนุญาตใหม่และลงทุนต่อโดยใช้เอไอเอสเป็นตัวลงทุนโดยลำพัง เอไอเอสจะต้องเพิ่มทุนอีกมโหฬาร แต่ถ้าเลือกขายหุ้นออกไปจะสามารถทำกไรจากการขายหุ้นในจังหวะที่ธุรกิจยังไม่ตกต่ำ และเมื่อใช้วิธีขอใบอนุญาตทำ 3G ใหม่ลงทุนใหม่จะใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่า
ต่างชาติจ่อฮุบหมด
"แนวโน้มของธุรกิจสื่อสารไทยวันนี้ถ้าไม่มีการปรับตัวให้เอกชนมีความแข็งแกร่งขึ้น และการเปิดเสรีจากภาครัฐแบบไม่แท้จริงที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ธุรกิจนี้จะต้องเป็นของต่างชาติหมด"
เป็นคำกล่าวของ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และว่า "วันนี้ผู้นำระดับชาติของไทยและกทช.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจะต้องคิดหนักกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ศุภชัย ได้อธิบายว่ากำลังจะนำพาธุรกิจโทรคมนาคมของคนไทยไปสู่มือทุนต่างชาติ เพราะกทช.ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องของการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรมกับภาคเอกชน ทำให้เอกชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อปีจำนวนมหาศาล ซึ่งในส่วนของทรูฯ ปีนี้ต้องเสียค่าสัญญาสัมปทานและค่าแอ็คเซ็สชาร์จสูงถึง 12,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินมหาศาล
"วันนี้ประเทศเรากำลังทำให้ภาคเอกชนอ่อนแอ แม้แต่ทีโอทีก็จะอ่อนแอลง จนไม่สามารถแข่งขันกับทุนต่างชาติที่จะเข้ามาได้"
ความแข็งแกร่งทางด้านการเงินเป็นสิ่งที่ศุภชัย เน้นย้ำว่าจะผู้ประกอบการไทยต้องมีในส่วนนี้ เพราะหากสัญญาสัมปทานได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ในปัจจุบัน ย่อมทำให้ภาคเอกชนมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและสามารถที่จะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตได้ รวมทั้งการลงทุน 3G
"เรามีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำธุรกิจนี้เองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาทุนต่างชาติ แต่เมื่อเราขาดความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ต้องมองหาพาร์ตเนอร์ต่างชาติที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้"
ศุภชัย มองว่าสิ่งที่ทุนต่างชาติมีนอกจากความได้เปรียบเรื่องของฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ยังได้เปรียบเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีโรดแมปที่ชัดเจน ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นเรื่องยากที่ธุรกิจสื่อสารจะแข่งขันได้
การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3G ทรูจะต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วย ทรูฯมีเป้าหมายที่จะพาพาร์ตเนอร์เข้ามาถือหุ้นระยะยาว 7-10 ปี ในสัดส่วนประมาณ 20-25% หากสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับภาครัฐไม่ได้รับการแก้ไข
"ทุกวันนี้มีบริษัทต่างชาติติดต่อเจรจาเข้ามาที่เราอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอเข้ามาลงทุนด้วย ซึ่งเราก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะต้องมีการขายหุ้นให้กับทุนต่างชาติเหล่านี้หรือไม่ หรือว่าเราสามารถที่จะทำธุรกิจนี้ได้ด้วยตนเอง"
ศุภชัย กล่าวว่าภาพธุรกิจสื่อสารที่เติบโตเคียงข้างประเทศไทย อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่อินโดนีเซีย กำลังจะเป็นฝ่ายที่เข้ามาลงทุนขยายกิจกรรมสื่อสารในประเทศไทยแล้ว จุดนี้ถือเป็นจุดสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของกิจการโทรคมนาคมไทยได้อย่างชัดเจน ว่าทำไมประเทศเหล่านี้ถึงมีความแข็งแกร่งพอที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ในประเทศไทย
สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องทำให้ภาคเอกชนแข็งแกร่งขึ้นให้ได้ เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องมีโลคัลเพลย์เยอร์ที่ให้บริการ ไม่ใช่มีเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่เข้ามาให้บริการเท่านั้น ที่สำคัญหากกิจการนี้เป็นของต่างชาติ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมนี้จะไม่ถูกใช้ในประเทศไทยอย่างแน่นอน
"ผู้ให้บริการในประเทศไทยต้องปรับตัวให้แข่งขันรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ยากที่จะอยู่รอดในธุรกิจนี้ได้" ศุภชัยกล่าว
|
|
|
|
|