Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์3 พฤศจิกายน 2548
เผยโฉมสายการบินทางไกล"โลว์โคอสต์"             
 


   
www resources

โฮมเพจ สายการบินเอมิเรตส์

   
search resources

สายการบินเอมิเรตส์
Low Cost Airline




สายการบินโลว์คอสต์ขายตั๋วราคาถูก จะให้บริการได้เฉพาะการเดินทางในเส้นทางสั้นๆ นี่เป็นความคิดที่ยอมรับกันทั่วไปในอุตสาหกรรมสายการบินจวบจนถึงขณะนี้ โดยอาจจะมีข้อยกเว้นบ้างก็เพียงส่วนน้อย

ความคิดนี้ให้เหตุผลว่า โมเดลธุรกิจแบบสายการบินโลว์คอสต์ ซึ่งมุ่งคิดค่าโดยสารถูกที่สุด แต่ตัดบริการต่างๆ ที่ให้ความสะดวกสบายลงไปแทบทั้งหมดนั้น ย่อมไม่เหมาะสำหรับเที่ยวบินที่ยาวนานขึ้น เพราะผู้โดยสารย่อมต้องการบริการต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร หรือ เรื่องนันทนาการ

นอกจากนั้นในด้านค่าใช้จ่าย สายการบินราคาถูกเน้นเรื่องการใช้เวลาให้สั้นที่สุด ในการนำเครื่องบินกลับขึ้นบินได้อีกรอบหนึ่ง แต่ในเที่ยวบินระยะไกล เวลาที่ต้องใช้บินและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งต้องเสีย ย่อมกลืนกินสิ่งที่ประหยัดได้จากการเปลี่ยนรอบอย่างทรงประสิทธิภาพ ความพยายามของหลายต่อหลายรายที่จะเปิดสายการบินโลว์คอสต์ที่บินระยะไกล ก็มีอันต้องล้มเหลวโดยตลอด นี่ยิ่งตอกย้ำความน่าเชื่อถือของทฤษฎีนี้

ทว่าอันที่จริงนั้น เที่ยวบินระยะทางไกลแบบโลว์คอสต์มีอยู่แล้วในเวลานี้ นั่นคือ ใน เอมิเรตส์ แอร์ไลน์ สายการบินซึ่งกำลังโตไวมากที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ดูไบ

แน่นอนว่าเอมิเรตส์ให้ความรู้สึกแบบสายการบินระยะไกลระดับมีคลาส ด้วยห้องผู้โดยสารที่แสนสบายและพนักงานต้อนรับซึ่งเอาใจใส่ อีกทั้งยังไม่ได้เสนอขายตั๋วแบบตัดราคาหั่นแหลก แต่บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของวาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ ชี้ว่าสายการบินแห่งนี้มีต้นทุนต่อที่นั่งใกล้เคียงกับไรอันแอร์ ซึ่งเป็นสายการบินโลว์คอสต์ชั้นนำของยุโรป ยิ่งเสียกว่าใกล้กับพวกบริติช แอร์เวย์ส (บีเอ), แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม, หรือลุฟต์ฮันซา โกลด์แมน แซคส์คำนวณด้วยว่า ระดับผลกำไรต่อที่นั่งของเอมิเรตส์ ก็คู่คี่กับของไรอันแอร์ ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของลุฟต์ฮันซา และดีกว่าบีเอประมาณ 40%

ไม่น่าแปลกใจที่ ทิม คลาร์ก กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอมิเรตส์ ทำนายเอาไว้ก่อนหน้านี้ในปีนี้ว่า ในไม่ช้าก็เร็ว "โมเดลแบบโลว์คอสต์ที่ให้บริการเที่ยวบินระยะสั้น จะอพยพเข้าไปในเที่ยวบินระยะไกล" ในบทความที่เขียนให้ แอร์ไลน์ บิสซิเนส วารสารแวดวงสายการบิน คลาร์กเสนอภาพของ แอร์บัส เอ380 เครื่องบินโดยสารซุปเปอร์จัมโบรุ่นใหม่ ที่กำลังใกล้จะออกมา ซึ่งจะบรรทุกผู้โดยสารได้ 760 คน ทั้งหมดอยู่ในชั้นประหยัด ใครต้องการอาหารและเครื่องบินก็ไปซื้อได้ที่เคาน์เตอร์บริการตัวเอง อีกทั้งพวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าไปใช้บริการด้านนันทนาการ (หรือกระทั่งเล่นการพนัน)

ต้นทุนด้านดำเนินการ ที่เครื่องบินลำมหึมาเช่นนี้สัญญาว่าจะทำได้ต่ำกว่า (โบอิ้ง 747 ในปัจจุบัน) ถึงราว 15-20% อาจหมายความว่าเที่ยวบินไปกลับอังกฤษ-ออสเตรเลีย จะคิดราคาได้เพียงที่นั่งละ 400 ยูโร (480 ดอลลาร์) ยิ่งถ้าเป็น เอ380 รุ่นที่มีการขยายลำตัวออกไปอีก ซึ่งทางแอร์บัสกำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะผลิตออกมาไหม มันจะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 870 คน และอาจมีศักยภาพที่จะลดค่าตั๋วให้ต่ำลงไปอีก

อันที่จริง เวลานี้เอมิเรตส์ก็เสนอขายตั่วเที่ยวบินจากลอนดอน, ปารีส, และแฟรงเฟิร์ต ไปฮ่องกง โดยผ่านดูไบ ด้วยราคาที่อาจถูกกว่าเที่ยวบินตรงซึ่งดำเนินการโดยบีเอ, แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม, และลุฟต์ฮันซาถึง 30%อยู่แล้ว

พวกสายการบินในยุโรปกำลังเฝ้ามองอย่างหงุดหงิด ขณะที่เอมิเรตส์สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารของตนได้ราว 15% ในแต่ละปี ฝูงเครื่องบินที่เวลานี้มีอยู่ 80 ลำก็วางแผนจะเพิ่มเป็นเกือบสองเท่าตัวภายในปี 2012 สายการบินได้สั่งซื้อแอร์บัส เอ380 ไม่ต่ำกว่า 45 ลำ (คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของใบสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ทั้งหมด) โดยที่เครื่องบินรุ่นนี้มีกำหนดจะเริ่มทยอยให้บริการได้ในเวลาอีก 1 ปีเศษ

ผู้สังเกตการณ์ของอุตสาหกรรมนี้บางราย ให้เหตุผลความสำเร็จของเอมิเรตส์อย่างผิดพลาดว่า เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลรัฐดูไบ (ที่เป็นรัฐหนึ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

เป็นความจริงที่สายการบินนี้ได้รับประโยชน์จากฐานที่ตั้งของตนซึ่งเป็นดินแดนปลอดภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้ อีกทั้งยังได้รับการหนุนหลังอย่างไม่ต้องสงสัยจากราชตระกูลผู้ครองรัฐ (ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบินนี้อยู่แล้ว) เมื่อเวลาทำเรื่องขอกู้เงิน

ทว่าการประหยัดลดรายจ่ายของแท้จริงของเอมิเรตส์มาจากต้นทุนด้านพนักงานที่ต่ำ (ในดูไบมีแรงงานราคาถูกจากอินเดียและปากีสถาน อีกทั้งไม่มีสหภาพแรงงาน) และการดำเนินงานแบบตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งทำให้มีอัตราการใช้งานเครื่องบินที่สูงมาก นอกจากนั้นค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินยังถูกอีกด้วย

ต้นทุนแพงลิ่วเพียงอย่างเดียวที่สายการบินนี้ต้องประสบ คือค่าใช้จ่ายทางการตลาด จึงไม่น่าประหลาดใจที่เอมิเรตส์เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของทีมกีฬาคริกเกตและฟุตบอลในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นที่หมายการสัญจรอันสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสายการบินนี้

แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม และ ลุฟต์ฮันซา ควรต้องยำเกรงให้มากที่สุดกับการผงาดขึ้นของพลังใหม่ในเที่ยวบินระยะทางไกลรายนี้ ดูไบไม่เพียงเป็นที่หมายเพื่อการพักผ่อนท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยมกันแห่งหนึ่ง โดยมีผู้ไปเยือนกว่าปีละ 5 ล้านคน หากยังได้เปรียบจากที่ตั้งซึ่งอยู่ครึ่งทางระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออก ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างศูนย์กลางการบินระดับโลกแบบใหม่ ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองใหญ่ต่างๆ ในเอเชียและยุโรป

เมฆหมอกที่อาจมาบดบังอนาคตอันสดใสของเอมิเรตส์ ดูจะมีเพียงพวกสายการบินคู่แข่งในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วยกัน อาทิ เอติฮัด ในอาบูดาบี และ กาตาร์ แอร์เวย์ส ซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปในย่านอ่าวเปอร์เซีย สายการบินเหล่านี้ต่างจับตามองการเติบโตของเอริเรตส์ และประเทศเจ้าบ้านของสายการบินพวกนี้ก็แฮปปี้ที่จะเทรายได้จากน้ำมัน เพื่อให้ขยายการดำเนินงาน

การแข่งขันเช่นนี้อาจทำให้เกิดภาวะศักยภาพล้นเกิน และนำไปสู่สงครามตัดราคาซึ่งจะหั่นกำไรของเอมิเรตส์ลงมา แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว นี่ย่อมทำให้ยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นอีกที่จะมีเที่ยวบินราคาถูกระหว่างเอเชียกับยุโรป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us