|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 12 พร้อม ส่งสัญญาณชัดเจนจะปรับขึ้นต่อไป อีกเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ เนื่อง จากเศรษฐกิจอเมริกันสามารถแบกรับภาระ และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังเผชิญการพัดถล่มของ พายุเฮอริเคน และราคาน้ำมันที่พุ่ง สูงลิ่ว ด้าน "ทนง" เตรียมปรับเป้าเศรษฐกิจใหม่โตเกิน 4.6% แน่ มั่นใจแบงก์ชาติ-พาณิชย์ ดูแล เงินเฟ้อได้ ขณะที่วงการแบงก์คาดดอกเบี้ยนโยบายของไทยกลางปีหน้าแตะ 5%
คณะกรรมการกำหนดนโยบาย การเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ซึ่ง มีอลัน กรีนสแปน เป็นประธาน ได้มีมติอย่างเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเฟดฟันด์เรตอีก 0.25% เป็น 4% อันเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า4 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ระดับ "เป็นกลาง" อีกครั้ง โดย ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากจนเกินไป
เฟดแถลงว่า จะเดินหน้าดำเนินตามนโยบายการเงิน "แบบค่อยเป็นค่อยไป" ต่อไป อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก ก่อนที่กรีนสแปนจะถึงกำหนดเกษียณอายุ ก้าวลงจากตำแหน่งตอนปลายเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ หลังจากอยู่ในตำแหน่งมานาน 18 ปี
คำแถลงของเฟดชี้แจงว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงและกิจกรรมทาง เศรษฐกิจที่หยุดชะงัก อันเนื่องมาจากเหตุพายุเฮอริเคนก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่น่าจะที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
"ทั้งนี้ การดำเนินตามนโยบาย การเงินที่เอื้ออำนวยต่อสภาพเศรษฐกิจ ผนวกกับประสิทธิภาพ การผลิตที่มีการเติบโตแข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างต่อเนื่องต่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นด้วยการบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัดถล่มของพายุเฮอริเคนแคทรีนาและริตา"
ขณะเดียวกัน เฟดยังย้ำว่า ปัญหาเงินเฟ้อยังน่าห่วง โดยราคาพลังงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้แรงกดดันด้านภาวะเงินเฟ้อทวีสูงขึ้นได้ แม้ว่าระดับเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และตัวเลขประมาณการภาวะเงินเฟ้อระยะยาวในอนาคตจะยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ก็ตาม
นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกจนอยู่ที่ประมาณ 4.5% อย่าง น้อยก็ในช่วงก่อนการสละตำแหน่งของกรีนสแปน โดยเขาจะเป็นประธานการประชุมเอฟโอเอ็มซีอีก 2 ครั้งคือ วันที่ 13 ธันวาคมศกนี้ และ 31 มกราคมปีหน้า
มั่นใจธปท.-พาณิชย์ฯสกัดเงินเฟ้อได้
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2548 ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6.2% ว่า เงินเฟ้อมีการปรับตัวขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน ซึ่งเชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้ ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์จะดูแลเรื่องราคาสินค้า ไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าได้
"มาตรการของธปท. และกระทรวงพาณิชย์ น่าจะเพียงพอต่อการดูแลอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการใดๆ มารองรับ"
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมต่อการ ส่งออกของภาคเอกชน คือ จะต้องอยู่ในระดับที่ไม่แข็งจนเกินไป โดยระดับที่เอกชนมองว่าเหมาะสม คือ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ ธปท.
ส่วนเรื่องการปรับประมาณการอัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2548 ของกระทรวงการคลังนั้น จะถึงกำหนดประกาศตัวเลขในเดือนพฤศจิกายน 2548 นี้ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าจะขยายตัวเกิน 4.6% ได้อย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์ด้าน เศรษฐกิจได้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ประมาณการ เดิมที่ สศค.ประกาศไว้ในเดือน สิงหาคมอยู่ที่ 4.1-4.6% คาดอาร์/พีแตะ 5% กลางปีหน้า
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) กล่าวว่า เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็นไปตามคาดการณ์ และยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึง ไตรมาส 1 ปี 2549 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่า ธปท. จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมกลางเดือนธันวาคมนี้
"ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้ปัจจุบันส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเฟดและ ดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ระดับ 0.25% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม"
ทั้งนี้ ธปท.คงจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2549 เพื่อให้สอดคล้อง กับทิศทางดอกเบี้ยเฟด และจะทรงตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.75%
3 ปัจจัยหลักผลักดันดอกเบี้ยขาขึ้น
สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธปท. มีปัจจัยหลัก 3 เรื่อง คือ 1.อัตรา ดอกเบี้ยสหรัฐฯ มองว่าดอกเบี้ยเฟดน่าจะขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนอยู่ที่ระดับ 4.5-4.75% ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งเป็นแรงกดดันทำให้ธปท.ต้องปรับขึ้ ดอกเบี้ยนโยบายตาม 2. อัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสปรับตัว ขึ้นอีก โดยคาดว่าไตรมาส 1 ปีหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 7-8% และทั้งปี 2549 เฉลี่ยอยู่ที่ 8% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานครึ่งแรกจะอยู่ที่ ระดับ 3.5% จะเป็นระดับที่ชนเพดานเป้าหมายของธปท.
ปัจจัยสุดท้าย อัตราการออมในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รัฐบาลและธปท. พยายามหา มาตรการกระตุ้นเงินออม รวมทั้งธปท.เองต้องการให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก จึงจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ
"ปัจจัยต่างๆ จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากและ เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อยังคงติดลบอยู่ ดังนั้นเพื่อ เป็นการกระตุ้นเงินออมภายในประเทศ ทางการน่าจะมีมาตรการจูงใจ เพื่อดันดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น"
นายเชาว์ เก่งชน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ย เฟดครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. โดยธปท. น่าจะคำนึงถึง เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นหลัก โดยล่าสุด ณ เดือน ตุลาคม อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 7 ปี อยู่ที่ 6.2%
"แม้เงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 6.2% แต่ยังต่ำกว่าตลาดได้คาดการณ์ไว้อยู่ที่ระดับ 6.3% ดังนั้นหากมองในแง่บวกแล้ว ไม่น่าจะเป็นแรงกดดันมากนักต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ที่จะรุนแรงเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา"
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมนี้ ธปท.คงปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 0.25% แต่ ธปท.จะต้องพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนนี้อีกครั้ง หากตัวเลขออกมาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ธปท. คงจะปรับดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% และจากการ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคาร พาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจบ้าง
ฉุดเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย
ด้านนักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า การ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด ได้ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ไม่มากนักเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของไทยได้ปรับขึ้นถึง 0.50% ติดกัน 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับมีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหล เข้ามาลงทุนในตลาดเงินของไทยด้วย
โดยอัตราแลกเปลี่ยนค่าบาทเงินบาทวานนี้ (2 พ.ย.) เปิดตลาดที่ 40.82-40.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 40.84-40.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสุดระหว่างวันที่ระดับ 40.78 และอ่อนค่าสุดตามราคาปิดที่ 40.86 โดยการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน ของนักลงทุนค่อนข้างเบาบาง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก ตลาดเงินของประเทศสิงคโปร์ปิดทำการ 2 วัน
|
|
 |
|
|