เส้นทางของวิศวกรหนุ่มไทย ที่สร้างโอกาส การทำธุรกิจรวบรวมเนื้อหา และให้บริการ
Moblie Internet ในดินแดนที่ได้ชื่อว่ามี ผู้ใช้บริการเนื้อหาบนโทรศัพท์มือถือมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ถ้าเป็นเวลาปกติแล้ว ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา คงต้องนั่งอยู่บนตึก Nakata
Mac Bldg. ย่าน Minatoku เมืองโตเกียว เพื่อดูแลธุรกิจผู้พัฒนาโซลูชั่นสำหรับ
บริการ mobile internet ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง
หากไม่เป็นเพราะความสำเร็จของธุรกิจผู้พัฒนา โซลูชั่นสำหรับ mobile internet
ในญี่ปุ่น ทำให้หนุ่มไทย วัย 29 ปีผู้นี้ บินลัดฟ้ามาแป็นวิทยากรในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยซอฟต์แวร์ปาร์ค
สาระสำคัญของงานนี้คือ การถ่ายทอดประสบ การณ์ของการสร้างธุรกิจผู้พัฒนาโซลูชั่นบนบริการ
mobile data ของเขาบนดินแดนที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในบริการ mobile
internet มากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้เข้าฟังจำนวนไม่น้อย
ในจำนวนนี้มีทั้งธนาคารและบริษัทโทรคมนาคม หลายราย
ปุณณมาศอาจไม่ใช่คนไทยคนแรกที่เข้าไปทำธุรกิจในแดนปลาดิบ แต่เขาเป็นคนไทยคนแรกๆ
ที่แสวง หาโอกาสของธุรกิจบนโลกใบใหม่ เป็นผลพวงที่เกิดจาก วิวัฒนาการโทรศัพท์มือถือ
ที่ขยายจากบริการทางด้านเสียง (voice) ไปสู่บริการเนื้อหา (content) ทำให้
โอกาสของธุรกิจผู้พัฒนาโซลูชั่นบน mobile internet ของเขาเปิดกว้าง
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องของโชคเพียงอย่างเดียว ประสบการณ์ด้านการเรียน และการทำงาน
ล้วนแต่มีผลต่อการตัดสินใจของเขา
ปุณณมาศเรียนจบปริญญาตรี และโท วิศวกรรม ศาสตร์ จาก Washington in Seattle
U.S.A. หลังเรียนจบได้งานในบริษัทเอทีแอนด์ที และถูกเลือกให้เป็น 1 ในทีมวิศวกรรมสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับบริษัทโทร
คมนาคมยักษ์ใหญ่แห่งนี้
ทำงานที่เอทีแอนด์ที 2 ปี ปุณณมาศย้ายมาเป็นวิศวกรให้กับอีริคสัน ดูแลตลาดในไทย
ไต้หวัน และญี่ปุ่น สำหรับใน ไทยเขาเป็นทีมงานติดตั้งโทรศัพท์มือถือ ระบบจีเอสเอ็มของเอไอเอส
และเป็นที่ปรึกษาในการทำโปรเจกต์โทรศัพท์มือถือให้กับ J-Phone ในญี่ปุ่น
ก่อนจะเริ่มงานที่ Georgia Tech ในแอตแลนตา สหรัฐ อเมริกา
ความนิยมในการใช้บริการเนื้อหาบนโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น
ที่เป็นผลมาจากโมเดลธุรกิจที่ประสบความ สำเร็จของ i-mode และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออื่นๆ
สร้างขึ้น ทำให้ปุณณมาศและผู้ถือหุ้นของเขามองเห็นโอกาสเหล่านี้
"มีหลายคนที่มี content ดีๆ แต่เขาไม่มี know-how เราทำหน้าที่รวบรวมให้เขา"
ปุณณมาศบอก
บริษัท Arriya Solution ซึ่งแผลงมาจากคำว่า "อัจฉริยะ" ในภาษาไทย
ก็เริ่มขึ้น ในญี่ปุ่นช่วงฤดูร้อนของปี 2543
ปุณณมาศเริ่มต้นธุรกิจของเขาใน อพาร์ตเมนต์เล็กๆ ที่ดัดแปลงเป็นสำนักงาน
เพื่อร่วมกันสร้าง Platform ที่ชื่อ Arriya xml 1.0 ซึ่งเป็น Platform ที่ช่วยในการจัดการเนื้อหาให้กับเจ้าของเนื้อหาที่ต้องการหารายได้จากการขาย
content ผ่านโทรศัพท์ มือถือ
หลังจากได้ทิศทางธุรกิจที่แน่ชัดในต้นปี 2544 นั่นก็คือการมุ่งไปยังการสร้างโซลูชั่นที่ตอบสนองลูกค้าประเภท
b to e (business to employee) ถัดจากนั้น 2 เดือน เขาก็ได้บริษัท ThinAirApps,
Inc พันธมิตรธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา มาช่วยในเรื่องของเทคโนโลยีและการทำธุรกิจ
เป็น ช่วงเวลาเดียวกับที่ venture capital ที่ลงทุนในธุรกิจอินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่นให้เงินมาอัดฉีดเงินทุนให้
เงินทุนและพันธมิตรที่ได้มา บริษัท Arriya ก็มีสำนักงานเป็นเรื่องเป็นราว
จาก สำนักงานชั่วคราวบนอพาร์ตเมนต์ที่ใช้เป็นที่พักอาศัยและที่ทำงาน ย้ายมาเช่าตึกอยู่เป็นเรื่องเป็นราว
ในบริเวณ Kamiya-cho ซึ่งเป็นย่านธุรกิจอินเทอร์เน็ตของ ญี่ปุ่น ขณะเดียวกันธุรกิจการเป็นผู้ติดตั้งระบบ
(system integrator) ให้กับลูกค้าที่ต้องการให้บริการเนื้อหาผ่านโทรศัพท์มือถือก็เริ่มขึ้น
และลูกค้ารายแรกของเขาคือ คาเธ่ย์แปซิฟิก
เมื่อธุรกิจเริ่มมีรายได้ และเริ่มเติบโต มากขึ้น ก่อนหน้าออก platform
UBQ ใน เดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว เขาก็ได้รับการติดต่อจาก Mitsui เพื่อเข้ามาลงทุน
และถัดจากนั้นในเดือนกันยายน เขาก็ได้เงินลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่
Orix Capital, Media Seek, Global Alliance
ทุกวันนี้ พวกเขามีฐานลูกค้าที่เป็น content provider 15 ราย และมีลูกค้า
ที่ใช้บริการติดตั้งและออกแบบระบบอีก 4-5 ราย ทำเงินรายได้ 1 ล้านเหรียญต่อปี
และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีถัดไป
แม้จะได้เงินจากนักลงทุนมาต่อยอด ธุรกิจให้เดินหน้าไปได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นแรงที่ต้องสร้างอัตราเร่งในการสร้างความสำเร็จ
เพราะมันหมายถึงการเข้าตลาดหุ้นที่กำหนดไว้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ตลาด
mobile data ในญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้ใช้ 50 ล้านรายเริ่มอิ่มตัว เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น
การมองหาตลาดนอก ประเทศญี่ปุ่น เป็นภารกิจสำคัญไม่แพ้การไล่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ใหม่ๆ
เกาหลี เป็นหนึ่งในประเทศที่เขาบินเข้าไปศึกษาลู่ทาง แต่การไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้มากไปกว่าผู้ให้บริการอื่นๆ
ทำให้การลงทุนในเกาหลีต้องพักไว้ ในขณะที่ตลาดไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ถูกเลือกสำหรับการขยายธุรกิจออกนอกประเทศ
"ผมถือโอกาสนี้มองหาลู่ทางขยายธุรกิจมาเมืองไทย เพราะอัตราเติบโตของญี่ปุ่นเริ่มลดลง"
ปุณณมาศบอกเหตุผลของการบินมาเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจในไทยที่แม้จะมองเห็นโอกาสจากตลาดที่เพิ่งเริ่มต้น
แต่ก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูตรการแบ่งรายได้กับ content provider
"ในญี่ปุ่น content provider ได้ 91% ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเอาแค่
9% เท่านั้น ตลาดมันก็เลยโต เพราะทำแล้วมีรายได้"
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาพบว่าความสำเร็จในธุรกิจนี้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน
ความพร้อมของตลาด business model โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนแบ่งรายได้ระหว่างผู้ให้บริการและเจ้าของเนื้อหา
เป็น โจทย์ใหญ่สำหรับเขา
อย่างไรก็ตาม สำหรับปุณณมาศแล้วการเริ่มต้นในครั้งนี้ทำให้เขาต้องบินมา
เมืองไทยบ่อยขึ้น และอยู่นานขึ้นเพื่อเตรียม พร้อมสำหรับอนาคตของการเริ่มต้นที่จะมีขึ้นอีกครั้ง