|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ธนาคารออมสิน รณรงค์เพิ่มปริมาณการออม ลดปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในโครงการเมกะโปรเจกต์ ขณะเดียวกันพร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาออกเงินมากขึ้น ด้านธปท.เผยการออมในประเทศมีแนวโน้มลด แนะควรเร่งการออมให้ได้มากกว่า 30.5% อีก 2 - 3.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์
วานนี้ (31 ต.ค.) นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นประธานเปิดงาน "วันออมแห่งชาติ" ที่สำนักงานใหญ่ เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการออมให้กับเด็กและเยาวชนตามนโยบายรัฐบาล โดยมีกิจกรรมส่งเสริมการออมมากมาย สำหรับประชาชนที่ฝากเงินตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป รับกระปุกต้นออมฟรี
นายกรพจน์ กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารออมสินได้จัดโครงการแนะนำการออมอย่างถูกวิธี โดยชูแนวคิดออม 1 ส่วนใช้ 3 ส่วน เพื่อให้ประชาชนเก็บออมเพื่อชีวิตในอนาคตที่มั่นคง โดยขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งร่วมสนับสนุนแนวคิดการออมดังกล่าว เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเพิ่มการออมมากขึ้น ซึ่งบรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้ามีเด็ก เยาวชนพร้อมผู้ปกครอง มาฝากเงิน รับของที่ระลึก และประกวดร้องเพลง มีออมไม่มีอด
ปัจจุบันปริมาณการออมในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 35.2 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เหลือร้อยละ 30.5 ขณะที่การออมภาคครัวเรือนสุทธิลดลงจากร้อยละ 14.4 ในปี 2532 เหลือร้อยละ 3.8 ในปี 2546 และประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ อัตราการออมของผู้มีรายได้น้อยกลับลดลงมากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการรักษาดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้ขาดดุลเกินร้อยละ 3 ของจีดีพี จะต้องมีการกระตุ้นการออมภายในประเทศ อีกร้อยละ 2-3.5 ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้เหมาะสมกับการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์
สำหรับมาตรการสำคัญของการกระตุ้นเงินออมคือ การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งธนาคารออมสินพร้อมจะขยับดอกเบี้ยตามสถาบันการเงินอื่นๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกและให้สมดุลกับภาวะเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินกำหนดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เผื่อเรียกอยู่ที่ร้อยละ 0.75 เผื่อเรียกพิเศษอยู่ที่ร้อยละ 1.50 เงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 1.75-2 เงินฝากประจำ 6 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 2-2.5 เงินฝากประจำ 12 เดือน ร้อยละ 2.25 - 2.50 และเงินฝากประจำรายเดือนอยู่ที่ร้อยละ 2.25
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่าบทวิเคราะห์ความเพียงพอของการออมของประเทศไทยที่ ธปท.เสนอในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนตุลาคม 2548 ระบุว่าการออมในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากข้อมูลรายได้ประชาชาติของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าข้อมูลการออมเฉลี่ยระหว่างช่วงปี 2534-2536 และช่วงปี 2544-2546 สัดส่วนการออมสุทธิภาครัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ซึ่งลดลงประมาณ 4.1% และสัดส่วนการออมสุทธิภาคครัวเรือนต่อจีดีพี ซึ่งลดลงประมาณ 5% เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การออมในภาพรวมของประเทศปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ ยังพบว่าการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การออมในภาคครัวเรือนลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุปโภคบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทน โดยในช่วงปี 2542-2546 การอุปโภคบริโภคในกลุ่มกลุ่มสินค้าคงทน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.1% สูงกว่าอัตราการขยายตัวของค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยรวม และรายได้รวมหลังหักภาษีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 6.1% และ3.9% ตามลำดับ
ส่วนการออมรวมของไทยในปัจจุบัน แม้ว่าจะอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แต่อัตราการออมที่สูงไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออมเพิ่มขึ้น ซึ่งหากพิจารณาจากแรงกดดันต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศในระยะต่อไป หากไทยจะรักษาระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไว้ไม่ให้เกิน 3% ของจีดีพีในระยะต่อไป อัตราการออมรวมของประเทศไทยควรเพิ่มจากระดับปัจจุบันที่ 30.5% ของจีดีพีขึ้นอีกประมาณ 2 - 3.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กท์) อีกประมาณ 2% ของจีดีพี
นอกจากนั้นยังช่วยรองรับการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-4.5% ของจีดีพี โดยการออมที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยสนับสนุนเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศให้เพียงพอกับการลงทุนของประเทศ รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาการออมในระดับครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงปี 2539 และ 2547 พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในทุกกลุ่มอายุ แต่อัตราการออมของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกลับลดลง โดยการที่ทำให้การออมของภาคครัวเรือนลดลง เพราะการเข้าถึงแหล่งกู้ยืมได้สะดวกกว่าเดิม และผลมาจากการที่มีโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลทำให้ครัวเรือนลดความจำเป็นที่จะต้องออมเงินสำหรับใช้ในยามจำเป็น รวมทั้งการที่ภาคครัวเรือนที่รายได้น้อยจะเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีการออมไม่เพียงพอสำหรับวัยชราหรือวัยเกษียณอายุ
|
|
 |
|
|