|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2548
|
 |

ถามว่าชายในภาพนี้กำลังมองอะไรอยู่ แม้ว่าในลูกนัยน์ตาเขา หากสังเกตดีๆ ก็จะเห็นภาพสะท้อนของช่างภาพกำลังจับภาพเขาอยู่ แน่นอนที่สุดเขาไม่ได้มองกล้อง เพราะเขาไม่ใช่นายแบบ หากแต่เขากำลังมองไปในอนาคต กำลังมองหาความหวังที่พกติดตัวมาตลอดนับแต่วันที่ได้เดินทางออกมาจากบ้านเกิด ในขณะเดียวกันเขากำลังเห็นความสิ้นหวังปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้ามาสู่ฝั่งยุโรปได้ แต่ก็ตกอยู่ในมือตำรวจเสียแล้ว ในฐานะผู้ต้องหาหลบหนีเข้าเมือง
ภาพนี้ได้ถ่ายไว้เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ช่วงที่มีกลุ่มชนผู้แสวงหาชีวิตใหม่จากแอฟริกากว่าสองพันคน พยายามหลบหนีข้ามแดนผ่านรั้วลวดหนามสูง เป็นการข้ามจากฝั่งประเทศโมร็อกโกมายังฝั่งประเทศสเปน สองพันกว่าคนนี้ได้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ และใช้เวลากว่าสองสัปดาห์ในการปฏิบัติการดังกล่าว ตรงบริเวณนั้นยังเป็นดินแดนที่อยู่ในทวีปแอฟริกา แต่ก็ถือว่าเป็นยุโรปแล้ว เพราะเป็นพื้นที่สองจังหวัดของสเปนที่มีชื่อว่า Melilla (เมลิยา) และ Ceuta (เซลตา) ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของทวีปแอฟริกา ด้านหนึ่งติดชายฝั่งทะเลบริเวณช่องแคบยิบรอลตา และอีกด้านหนึ่งต่อกับประเทศโมร็อกโก ถือว่าแทรกอยู่ในแผ่นดินของโมร็อกโกก็ว่าได้
เป้าหมายของผู้หลบหนีเข้าเมืองเหล่านี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น พวกเขามองไปที่คาบสมุทรไอบีเรีย คือประเทศสเปนนั่นเอง และจากตรงนั้นก็จะมีช่องทางที่เปิดกว้างสู่ทุกประเทศในยุโรป
การเดินทางมาถึงดินแดนรอยต่อระหว่างโมร็อกโกและสเปนของคนกลุ่มนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะพวกเขาได้เดินทางมาแสนไกลและฝ่าความลำบากมามากมาย ส่วนใหญ่มาจากแอฟริกาตอนกลาง ต้องผ่านทะเลทราย ผ่านชายแดนหลายประเทศ ต้องหลบหนีกองกำลังตำรวจและทหารตามจุดผ่านต่างๆ เมื่อมาถึงชายแดนก็ตั้งแคมป์รอช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อการปฏิบัติการครั้งสำคัญ คือการปีนข้ามกำแพงลวดหนามข้ามไป รั้วลวดหนามนี้เป็นรั้วลวดหนามสองชั้นมีความสูงประมาณ 6 เมตร ลวดหนามที่พันติดไว้ไม่ใช่ลวดหนามธรรมดา แต่เป็นลวดหนามที่ติดใบมีด พร้อมที่จะทำอันตรายผู้บุกรุกได้ตลอดเวลา ทำให้ยอดผู้ที่สามารถข้ามพ้นมาได้มีแค่ประมาณห้าสิบเปอร์เซ็นต์ในแต่ละรอบ หลายสิบคนก็ต้องสูญเสียชีวิต จากรอยเท้าที่เหยียบกันเอง จากความอ่อนเพลีย หรือด้วยลูกปืนจากเจ้าหน้าที่รักษาเขตแดน หลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บ และทุกคนที่ปีนเข้ามาได้ครั้งนี้ถูกจับทั้งหมดถูกดำเนินคดี และกำลังจะถูกส่งกลับ
แต่ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ การทำทะเบียนว่าพวกเขามาจากประเทศไหนกัน เพราะทุกคนที่หลบหนีเข้ามานั้นมาตัวเปล่า ไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีบัตรประชาชน หน้าตาผิวพรรณก็เหมือนๆ กันหมด พูดภาษาอะไรกันก็ไม่รู้ คนยุโรปไม่มีวันฟังรู้เรื่อง สุดท้ายจำนวนหนึ่งในนั้นเจ้าหน้าที่ก็ระบุไม่ได้ว่ามาจากประเทศไหน สัญชาติอะไร ปัญหาต่อมาก็คือไม่รู้จะส่งกลับไปที่ไหน ทำให้ศูนย์อพยพล้นแล้วล้นอีก
โดยหลักการแล้วทางโมร็อกโกควรจะมีส่วนรับผิดชอบเพราะเป็นประเทศทางผ่าน แต่ไม่เป็นอย่างนั้น รัฐบาลโมร็อกโกกลับแสดงท่าทีเฉยเมยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และยังมีข่าวออกมาว่ายังมีการทำร้ายกลุ่มผู้อพยพเหล่านั้นด้วย กลุ่มเอ็นจีโอก็ทำอะไรไม่ได้ แม้จะพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โมร็อกโกก็ไม่สนใจเพราะไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ฉะนั้นภาระก็มาตกอยู่กับประเทศสเปน ที่อยู่ในฐานะของประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นสมาชิกของสภาพยุโรป ที่ควรมีระดับของสิทธิมนุษยชนในระดับที่สูง กลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ ก็จับจ้องมองมาที่สเปน เรื่องเหล่านี้จึงเป็นปัญหาเรื้อรังตลอดมา
ก่อนหน้านี้วิธีหลบหนีเข้าเมืองทางบกแบบปีนข้ามกำแพงนี้ยังไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก เพราะว่าปีนข้ามมาได้แล้ว ก็เสี่ยงต่อการโดนจับกุม ต่อจากนั้นก็ต้องหลบหลีกอีกหลายขั้นตอนกว่าจะข้ามมาสู่แผ่นดินคาบสมุทร จึงมักใช้วิธีล่องเรือยางเข้ามาจากฝั่งแอฟริกามายังแผ่นดินใหญ่เลย เพราะถ้าขึ้นมาได้ไม่โดนจับโอกาสที่อยู่อาศัยและหลบหนีนั้นทำได้ง่ายกว่า แต่ต่อมามีการเพิ่มกำลังตำรวจดูแลชายฝั่งมากขึ้นและโอกาสที่เรือยางจะพลิกคว่ำเสียชีวิตกลางทะเลนั้นมีสูงมาก ทำให้หันมาใช้วิธีข้ามแดนทางบกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีสิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมก็คือการช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจากหน่วยงานอิสระ อาทิMedicos Sin Frontera (หมอไร้พรมแดน), Cruz Roja (หน่วยกาชาด) ไม่ว่าทางการเมืองจะตัดสินใจกันอย่างไร พวกเขาจะเข้าไปก่อน ไปช่วยเหลือรักษาผู้บาดเจ็บ ไปให้ข้าวให้น้ำ บางทียังไปถึงก่อนหน่วยงานรัฐบาลเสียอีก ส่วนกลุ่มที่เรียกร้องเรื่องมนุษยชนก็มักจะส่งเพียงแต่เสียง ไม่ค่อยจะปรากฏตัวให้เห็นในเหตุการณ์จริง
หากย้อนไปในอดีตไกลๆ มนุษย์ก็มีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสวงหาถิ่นที่ทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นริมแม่น้ำ หรือบริเวณที่พื้นดินอุดมสมบูรณ์ เพื่อสภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บางทีหากคิดย้อนไปย้อนมาอย่างนี้หลายๆ รอบเราอาจจะได้แนวคิดดีๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นก็ได้
|
|
 |
|
|