Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2548
จากลำน้ำไทน์สู่ลุ่มน้ำไรน์             
โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
 


   
search resources

Tourism




งานแต่งงานของเพื่อนชาวบราซิลกับเจ้าสาวชาวเยอรมันของเขา เป็นข้ออ้างที่ดีของฉัน สำหรับการไปเยือนโคโลญ เมืองแห่งน้ำหอม 4711 ของเยอรมนี แม้ว่าขณะนี้งานวิทยานิพนธ์จะรัดตัว (กลมๆ) อย่างเหนียวแน่นก็ตาม

หลังอวยพรให้เพื่อนกันเสร็จสรรพ เวลาว่างที่เหลือจึงหมดไปกับการชมเมือง ซึ่งทำให้ฉันได้เห็นถึงสิ่งละอันพันละน้อยซึ่งแสดงถึงความเอาใจใส่ในสิ่งแวดล้อมของสังคมเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นถังขยะสามเหลี่ยมที่มีช่องแยกขยะอยู่ในใบเดียวกัน สองช่องมีไว้สำหรับขยะรีไซเคิล คือกระดาษหนังสือพิมพ์กับขวดแก้วคนละช่อง ส่วน ช่องสุดท้ายใส่ขยะทั่วไป หรือไม่ว่าจะเป็นการขายโยเกิร์ตใส่ขวดโหล เพราะสามารถนำขวดกลับมาใช้ใหม่ได้ (แม้จะรู้สึกทะแม่งๆ กับการกินโยเกิร์ตในขวดแก้วอยู่บ้าง เพราะรู้สึกเหมือน กำลังกินซอสพาสตาข้นๆ มากกว่า) ส่วนกล่องกระดาษใบโตที่ห่อหุ้มสินค้าต่างๆ นั้น ลูกค้าก็สามารถนำกล่องไปฝากทิ้งไว้กับร้านที่ตัวเองซื้อสินค้าได้ เพราะกฎหมายของเยอรมนีบังคับให้ทุกร้านต้องรับฝากทิ้งกล่องกระดาษที่ลูกค้านำมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยรณรงค์การ นำขยะกลับไปใช้ใหม่

สำหรับเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นประเภทบรรจุในขวดพลาสติก ขวดแก้ว หรือกระป๋องก็ตาม จะมีค่ามัดจำขวดหรือกระป๋องรวมอยู่ในราคาด้วย โดยที่ขวดใหญ่จะอยู่ที่ 50 เซ็นต์ (24 บาท) ขวดเล็ก 15 เซ็นต์ (7 บาท) ซึ่งช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคนำขวดมาคืนทางร้านโดยมีเงินมัดจำเป็นเครื่องล่อ ถึงจะไม่มากไม่มายก็เถอะ ซึ่งระบบมัดจำขวดนี้พบได้ในอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีเครื่องรับคืนกระป๋องน้ำอัดลมตั้งไว้หน้าห้างหลายแห่ง โดยลูกค้าสามารถรับเงินมัดจำคืนได้หลังจากที่หย่อนกระป๋องเข้าเครื่อง ส่วนกัวเตมาลานั้น ก็มีระบบมัดจำขวดกับเขาเหมือนกัน ผิดกันแค่กัวเตมาลาไม่มีตู้รับคืนกระป๋องอัตโนมัติเหมือนญี่ปุ่น แต่เป็นเจ้าของร้านขายของชำที่รับขวดคืนแทน ซึ่งก็ถือว่าเป็น การกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แทนการเอาแต่ผูกสัมพันธ์กับเครื่องจักร ในยุคที่ทุกอย่างอัตโนมัติไปหมดแล้วใน พ.ศ.นี้

แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดก็เห็นจะเป็นตู้รับฝากสัมภาระในสถานีรถไฟของโคโลญเพราะปกติการแบกเป้หนักๆ เที่ยวเมืองนั้นเป็นการเที่ยวที่ทุลักทุเลเต็มที และหากจะฝากกระเป๋าก็ต้องไปต่อคิวฝากกับเคาน์เตอร์ของบริษัทรับฝากของ ซึ่งส่วนใหญ่เก็บเงินเป็นชิ้น ฝากหลายชิ้นก็หลายตังค์ แต่ระบบที่ใช้ในสถานีรถไฟHBF ของโคโลญนั้นน่าทึ่งมาก เพราะมีเครื่องรับฝากสัมภาระมหัศจรรย์ (สำหรับฉัน) ขนาดเตี้ยกว่าตู้ขายน้ำดื่มนิดหน่อย ที่ลูกค้าสามารถยัดสัมภาระเข้าช่องฝากของได้หลายชิ้น ตามแต่พื้นที่จะอำนวย โดยเสียเงินแค่ 3 ยูโร และฝากได้นานถึง 24 ชม. หลังหยอดเงินนำสัมภาระ เข้าช่อง และกดปุ่มให้ประตูปิดแล้ว เครื่องจะพิมพ์บัตรที่มีแถบแม่เหล็กออกมาให้ เป็นหลักฐานยืนยันการฝาก หลังจากนั้นสัมภาระก็จะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ที่ใดที่หนึ่งสักแห่งใต้พื้นของสถานี เมื่อจะรับของคืนก็ให้เสียบบัตรเข้าเครื่อง โดยจะเสียบเข้าเครื่องไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องที่เราฝากของไว้ และรอแค่เพียง 40 วินาทีเท่านั้น เครื่องก็จะลำเลียงกระเป๋าของเราขึ้นมาให้ เห็นระบบฝากของที่สะดวกสบายอย่างนี้แล้ว นึกอยากจะเก็บเครื่องนี้ไปฝากเมืองไทยของเราสักเครื่อง

เกริ่นถึงแม่น้ำไรน์บนหัวเรื่อง แต่ยังไม่ได้พาคุณผู้อ่านชมลำน้ำสายนี้เลย ถ้าอย่างนั้นขอถือโอกาสเข้าเรื่องดีกว่า ตัวเมืองโคโลญนั้น นอกจากโบสถ์เก่าแก่สูงชะลูดทรงก็อธธิค (gothic) ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1248 ซึ่งชาวเยอรมันเขาเรียกกันว่า "โดม" (Dom) แล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก เพราะตึกรามบ้านช่องเก่าๆ สมัยร้อยสองร้อยปีก่อน ถูกระเบิดถล่มในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองไปเกือบหมดสิ้น ดังนั้นหน้าตาของโคโลญจึงดูใหม่ๆ เหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก ไม่มีความเก่าของตึกมาเป็นมนต์ขลังตรึงใจนักท่องเที่ยวที่ลุ่มหลงในของโบราณอย่างฉันสักเท่าไร

แต่แม่น้ำไรน์ (Rhein) ของเขานี่สิที่น่าดูเป็นอย่างยิ่ง ลำน้ำเขียวหม่นตัดกับแผ่นฟ้าครามใสไร้เมฆหมอก ทำให้การล่องลำน้ำไรน์ในวันนั้น เป็นการล่องละมุนที่น่าเสน่หาเสียนี่กระไร เรือล่องแม่น้ำไรน์ที่ออกจากโคโลญนั้นมีวันละไม่กี่เที่ยวและไปได้ไม่ไกล ดังนั้นหากใครอยากล่องแม่น้ำไปไกลๆ ถึงเมืองโคเบลนซ์ (Koblenz) หรือลินซ์ (Linz) ก็ควรจะไปขึ้นเรือที่บอนน์แทน เพราะมีเรือหลายเที่ยวและนั่งไปถึงเมืองต่างๆ ได้ไกลกว่าถ้าขึ้นเรือจากโคโลญน์ บอนน์เป็นเมืองหลวงเก่าของเยอรมนีและเป็นบ้านเกิดของนักประพันธ์เพลงก้องโลก บีโธเว่น ห่างจากโคโลญไปแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น (ค่ารถไฟ เที่ยวเดียว โคโลญ-บอนน์ 5.80 ยูโร) และถ้าใครมีเวลาน้อยก็อาจใช้วิธีล่องเรือจากบอนน์ไปถึงเมืองลินซ์ก่อน (ค่าเรือเที่ยวเดียว 9 ยูโร ไปกลับ 12 ยูโร นักเรียนนักศึกษาครึ่งราคา ดูรายละเอียดที่ www.k-d.com) แล้วจับรถไฟจากลินซ์กลับมายังบอนน์แทน (ค่ารถไฟ 6 ยูโร)

ทัศนียภาพสองฟากลำน้ำไรน์นั้นมีทั้งปราสาทเก่าๆ เรียงรายอยู่ประปราย และบ้านไม้ หลังคาห้าหกเหลี่ยมเหลื่อมชั้นกันจากเล็กมาใหญ่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำ เมืองแรกที่ฉันแวะลงไปเยือนคือ Konigswinter ซึ่งไกด์ประจำเรือประกาศว่าเป็นเมืองผลิตไวน์อันลือชื่อของแถบนี้ ประกาศสรรพคุณกันขนาดนี้แล้ว จะไม่ลงไปเยือนสักหน่อยก็กลัวจะถูกหาว่ามาไม่ถึงที่ ฉันจึง ขึ้นบกไปชิมไวน์จากองุ่นรุ่นล่าสุดของปีนี้ ซึ่งเขาเรียกว่า ไวน์เฟเดอร์ไวเซอร์ Federweisser (feder = feather, weisser = whiter) ไวน์ดังกล่าวเป็นไวน์ที่ยังอยู่ในกระบวนการบ่มอยู่ แต่โรงผลิตไวน์แบ่งมาจากถังให้คนรักไวน์ชิมกันก่อนว่าองุ่นปีนี้รสชาติเป็นอย่างไร ก่อนจะปล่อยให้ไวน์ส่วนที่เหลือบ่มต่อไปในถังจนได้ที่เฟเดอร์ไวเซอร์มีสีขาวขุ่น รสหวานราวกับน้ำองุ่นเพราะน้ำตาลยังมากอยู่เนื่องจากยังบ่มตัวได้ไม่เต็มที่ เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์มีตั้งแต่ 4 ถึง 10% ชาว เยอรมันจะมีโอกาสลองจิบไวน์ดังกล่าวแค่ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.เท่านั้น ซึ่งจะสามารถลิ้มรสกันได้ตามร้านอาหารหรือร้านชิมไวน์ทั่วไป (แก้วละ ประมาณ 2.50 ยูโร)

ป้ายที่สองที่ลงแวะคือเมืองเล็กๆ น่ารักชื่อลินซ์ (Linz) สถาปัตยกรรมของตึกรามบ้านช่องที่นั่นอยู่ในสไตล์ Middle Age คือบ้านไม้ประดับด้วยไม้ซุงสีดำตัดกับผนังบ้านด้านนอกสีขาว ภาษาเยอรมันเรียกบ้านสไตล์นี้ว่า ฟาฮ์ แวร์คเฮาส์ (Fachwerkhaus) ซึ่งมีลักษณะเหมือน กับบ้านในสมัย Tudor ของอังกฤษ (ค.ศ.1485-1603) บ้าน Fachwerkhaus บางหลังนั้นมีอายุตั้ง 600 กว่าปี แต่บางหลังก็เป็นผลงานของคนรุ่นใหม่ หลังหนึ่งซึ่งเป็นร้านขายของถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1982 นี่เอง แต่ถึงจะมีอายุไม่กี่สิบปี สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือช่างยังนำเทคนิคโบราณเมื่อหลายร้อยปีก่อนมาใช้สร้างบ้านกันอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากบ้านไม้แล้ว นักท่องเที่ยวสามารถ ไปดูช่างแก้วแสดงการเป่าแก้วให้ดูกันสดๆ ได้ที่ร้าน Romische Glashutte ซึ่งตั้งอยู่หน้าประตู เมืองพอดี พอหิวหน่อยก็ไปกินมันฝรั่งบดผสมหัวหอมหั่น ทอดเป็นแผ่นกรอบกินกับซอสแอปเปิล ซึ่งมีขายกันอยู่ทั่วไป ซึ่งคนแถบแม่น้ำไรน์เรียกว่า ไรเบอร์คูเฮิน (Reibekuchen) แต่ชาวเบอร์ลินจะเรียกมันทอดนี้ว่า คาฮ์ท็อฟเฟิลพุฟเฟอร์ (Kartoffelpuffer) แทน แต่ถ้าอยากจะอิ่มอร่อยในราคาย่อมเยา ก็เห็นจะต้องเข้าร้าน kebab ไปกินแผ่นแป้งห่อเนื้อแกะย่าง ซึ่งมีขายกันอยู่ทั่วเยอรมนี (เพราะชาวตุรกีจำนวนมากอพยพมาตั้งรกรากที่นี่) และทั่วยุโรปอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสหรืออังกฤษก็ตาม
หมดภารกิจในการอวยพรให้เพื่อน และล่องลำน้ำไรน์แล้ว ฉันจึงคืนสู่แม่น้ำไทน์ตามเดิม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us