Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2548
Translink             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 


   
search resources

Transportation




เห็นรองผู้ว่า กทม. สามารถ ราชพลสิทธิ์ พร้อมทีมข้าราชการสำนักการจราจรและขนส่ง ตำรวจจราจร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ข้าราชการกองประชาสัมพันธ์ รวมถึงคณะสื่อมวลชน เดินทางไปดูงานระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะ BRT (Bus Rapid Transit) หรือรถเมล์ด่วนพิเศษที่ประเทศออสเตรเลียแล้วอดไม่ได้ที่จะต้องเขียนถึงในฐานะลูกค้าคนหนึ่งของ Translink

แรกเริ่มเดิมที เมื่อเกือบสามปีก่อนตอนที่ผมเดินทางไปถึงที่เมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียใหม่ๆ นั้น ระบบขนส่งมวลชนหลักๆ ภายในเมืองบริสเบนมีสามระบบด้วยกัน คือ ระบบรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์, ระบบเรือเฟอร์รี่ และระบบรถไฟ โดยแต่ละระบบต่างดำเนินกิจการของตนเอง หรือเกือบจะแยกกันโดยอิสระ กล่าวคือ เมื่อเราซื้อบัตรโดย สารรถไฟ เราก็ใช้ได้แต่บนรถไฟ ในขณะที่บัตรโดยสารของเรือกับรถโดยสารประจำทางสามารถใช้ทดแทนกันได้ แต่เนื่องจากระบบทั้งสองบริหารจัดการแยกจากกัน การคิดราคาและระยะทางจึงแตกต่างกัน ถ้าเป็น ไปได้ ผมก็เลือกที่จะเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางสำหรับการเดินทางระยะใกล้เลือกเรือ เมื่อต้องการเดินทางชมลำน้ำบริสเบน หรือต้องการเดินทางไกลพอสมควร และเลือกรถไฟถ้าต้องการเดินทางไกลมาก

ระบบรถโดยสารประจำทางจะเป็นระบบที่ให้บริการเหมือนรถเมล์ในบ้านเรา โดยจะวิ่งระยะสั้นๆ ในแต่ละจุดของเมือง ระบบรถโดยสารประจำทางนี้จะแบ่งพื้นที่ให้บริการออกเป็นเขตพื้นที่เดินรถ หรือโซน (Zone) ซึ่งการคิดราคาค่าโดยสารก็จะคิดตามระยะการเดินทางระหว่างเขตพื้นที่ เช่น ถ้าวิ่งในเขตพื้นที่เดียวกันค่าโดยสารจะต่ำที่สุด, ถ้าวิ่งจากเขตหนึ่งไปอีกเขตที่อยู่ติดกัน ค่าโดยสารก็จะขึ้นมาอีกระดับ และถ้าวิ่งข้าม สองเขตขึ้นไปก็จะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เขตพื้นที่เดินรถมีรวมทั้งหมด 4 ระดับเขตเท่านั้น โดยการแบ่งเขต จะทำเป็นโซนวงกลมขยายออกจากศูนย์กลางเมือง หรือ Central Business District (CBD) ออกไปสู่รอบนอกเมือง

สำหรับเรือ ที่นี่มีทั้งเรือที่เรียกว่า ซิตี้แคท (City Cat) ซึ่งเป็นเรือรูปร่างแบนๆ สวยงาม และเรือเฟอร์รี่ คนที่นี่และนักเดินทางที่มาแวะเที่ยวที่บริสเบนมักจะหาโอกาสเดินทางด้วยซิตี้แคท โดยเดินทางล่องจากต้นสายถึงปลายสาย โดยปลายข้างหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ (UQ) ที่ผมเรียนอยู่ และอีกปลายหนึ่งเรียกว่า Bretts Wharf ซึ่งเมื่อขึ้นฝั่งปลายนี้จะมีร้านอาหารอร่อยๆ ให้เลือกชิมหลายร้าน

แต่เดิมการเดินทางด้วยเรือจะแบ่งเป็น 4 ระดับโซนเช่นกัน คือ โซน 1 จะเป็นใจกลางเมือง ก่อนที่จะขยายออกมาเป็นวงกลม จนสุดที่ปลายทางทั้งสอง นั่นคือ ถ้าเราต้อง การเดินทางชมแม่น้ำบริสเบน ก็จะต้องซื้อตั๋วที่ครอบคลุมทุกระดับโซนนั่นเอง

ส่วนระบบรถไฟ ก่อนหน้านี้ผมใช้บริการค่อนข้างน้อย เพราะบ้านพักของผมกับมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้กัน การเดินทางจึงใช้เท้าเดินเป็นหลัก สำหรับการเดินทางไปสถานที่อื่นก็มักจะใช้รถโดยสารประจำทางเป็นหลัก เพราะบ้านพักผมอยู่ใกล้ป้ายรถโดยสารประจำทางมากกว่า แต่เมื่อต้องการ เดินทางไกลหน่อย เช่น เดินทางไปโกลด์โคสต์ (Goldcoast) ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลชื่อดังของรัฐควีนส์แลนด์ และอยู่ไม่ห่างจากเมืองบริสเบนมากนัก วิธีการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดคือรถไฟเท่านั้น

ประมาณไม่ถึงหนึ่งปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบขนส่งมวลชนของเมืองบริสเบน หรือที่เรียกว่า ระบบ ขนส่งมวลชนแห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์

โดยทางรัฐบาลของรัฐควีนส์แลนด์ได้ตัดสินใจรวมระบบตั๋วเดินทางสำหรับระบบขนส่งมวลชนทั้งสามระบบให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งนี่เป็นแผนการขั้นแรกก่อนเข้าสู่ TransLink Network Plan ซึ่งเป็นแผนขั้นต่อไป

การรวมระบบตั๋วเดินทาง โดยการกำหนดเขตพื้นที่เดินทาง หรือโซน ให้เป็นแบบเดียวกันของทั้งรถโดยสารประจำทาง, เรือ และรถไฟ โดยกำหนดเป็นโซนทั้งสิ้น 5 โซนในเมืองบริสเบน และ 23 โซนสำหรับเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์

ก่อนหน้านี้การกำหนดเขตพื้นที่การเดินทางจะแยกกัน ทำให้การใช้ตั๋วเดินทางไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ หรือใช้ได้แต่การคิดค่าเดินทางจะต่างกันดังกล่าวข้างต้น

แต่เมื่อกำหนดเขตพื้นที่เดินทางเดียวกันแล้ว นั่นหมายความว่า เมื่อต้องการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในเมืองบริสเบนมีทางเลือกสามทาง หรือรถโดยสารประจำทาง, เรือ และรถไฟ ตามแต่ว่าอยู่ใกล้ระบบใด ในขณะที่ค่าเดินทางคิดเท่ากัน

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมต้องการเดินทางจากบ้านพักไปยังใจกลางเมืองก่อนหน้านี้ ผมจะต้องเลือกรถโดยสารประจำทางเท่านั้น เพราะบ้านผมอยู่ใกล้ป้ายรถโดยสารประจำทาง และการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางต้นทุนต่ำสุด แต่บางครั้งรถโดยสารประจำทางมีผู้ใช้บริการมาก ผมก็ต้องเลือกทางเรือที่สามารถไปถึงที่หมายได้เช่นกัน แต่ต้องเดินไปยังท่าเรือที่ไกลออกไปอีกนิดหนึ่ง และค่าใช้จ่ายแพงกว่าเกือบสองเท่า เมื่อรวมระบบตั๋วและการแบ่งเขตการเดินทางเข้าด้วยกัน ผมสามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้โดยมีทางเลือกมากขึ้น

ผมขออธิบายเรื่องระบบตั๋วเดินทางที่นี่เพิ่มเติม เมื่อเราต้องเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่ไม่มีรถโดยสารประจำทาง, รถไฟ หรือเรือ ที่ไปที่นั่นได้โดยตรงเพียงต่อเดียว เราสามารถต่อรถ, เรือ หรือรถไฟได้อีกหนึ่งครั้ง ภายในระยะเวลาที่กำหนด (คือ 2 ชั่วโมง) ไปสู่ปลายทางได้ ซึ่งเรียกว่า Transfer ซึ่งต่างจากระบบของกรุงเทพมหานคร ที่เราจะต้องจ่ายค่าเดินทางทุกครั้งที่ใช้บริการอะไรก็ตามสักอย่างหนึ่ง

นั่นหมายความว่า เมื่อผมเดินทางเข้าเมือง ผมอาจจะใช้รถโดยสารประจำทางเหมือนเดิม อาจจะใช้เรือ หรืออาจจะนั่งรถโดยสารประจำทาง แล้วไปแวะทานอาหารเล็กน้อยระหว่างทาง (แต่ไม่เกินสองชั่วโมง เพื่อจะยังคงสามารถใช้ตั๋วต่อได้) ก่อนที่จะนั่งรถไฟเข้าสู่ใจกลางเมือง โดยวิธีทั้งหมดนี้ ต้นทุนค่าเดินทางเท่ากันหมด

วิธีนี้ทำให้ผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชน มีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการเดินทางไม่สูงมากนัก และการที่ผู้ใช้บริการจะเก็บรถยนต์ส่วนตัวของตนไว้ที่บ้านก็ง่ายขึ้น ส่งผลให้จำนวนรถยนต์บนท้องถนนลดลง ปัญหารถติดก็แก้ได้ง่ายขึ้น

สำหรับ BRT ที่ทางทีมรองผู้ว่า กทม.เดินทางไปดูนั้น ที่บริสเบนเรียกว่า Busway Busway เกิดขึ้นจากแผนการรวบรวมระบบการบริหารจัดการการขนส่ง (คนและสินค้า) ในพื้นที่รัฐควีนส์แลนด์ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ หรือ Integrated Regional Transport Plan for South East Queensland (IRTP) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์กับรัฐบาลกลางของออสเตรเลีย โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดสมดุล ระหว่างผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว, ผู้ใช้รถร่วมกัน, ผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชน, คนเดินถนน, ผู้ขับขี่จักรยาน และผู้ขนส่งสินค้า

สำหรับการพิจารณาระบบขนส่งมวลชน ในพื้นที่ที่รถไฟไปไม่ถึงนั้น ทางทีมงานเมืองบริสเบนได้พิจารณาหาจากหลากหลายรูปแบบของระบบขนส่ง แต่สุดท้ายทีมงานมีความเห็นร่วมกันว่า ความยืดหยุ่นของรถโดยสารประจำทางสามารถตอบสนองการพัฒนาและขยายตัวของพื้นที่นอกเมืองของบริสเบนที่เป็นลักษณะขยายในแนวกว้างได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจราจรติดขัด และมุมมองต่อการให้บริการของรถโดยสารประจำทางที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เห็นว่าไร้ประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับรถไฟ เป็นปัญหาที่สำคัญที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก

Busway จึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะแก้ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด โดย Busway เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2000 โดยเป็นเส้นทางเชื่อมจาก CBD ไปยังเขต Woolloongabba ซึ่งใกล้ๆ นั้นมีสนามฟุตบอลของทีมไลออนส์ ซึ่งเป็นทีมออสเตร เลียนฟุตบอลประจำเมือง และห่างออกจากศูนย์กลางเมืองไปไม่มากนัก โดยวันเริ่มใช้งาน เป็นแมตช์แรกของการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิก ปี 2000

โดยให้รถโดยสารประจำทางกระจายไปรับคนจากพื้นที่ที่มีความหนาแน่นต่ำ จากนั้นวิ่งเข้าใช้ช่องทางจราจรพิเศษของ Busway เมื่อต้องเข้าสู่พื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น โดยจะจัดสร้างสถานีจอดรถของ Busway ในพื้นที่ที่เป็นจุดสำคัญหรือเป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆ เช่น ศูนย์กลางที่เป็นจุดปล่อยรถ หรืออู่รถ จะอยู่ใต้ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบริสเบน จุดนี้จะเป็นจุดศูนย์กลางของระบบรถโดยสารประจำทางที่ใหญ่ที่สุดของเมือง

สถานีรถ Busway จะเป็นจุดรวมของรถโดยสารประจำทางจากหลายๆ เส้นทาง ซึ่งทำให้ความถี่ของการให้บริการมีสูง กอปรกับการบริหารจัดการเส้นทางการเดินรถเข้าออกที่ดีพอ ทำให้สามารถขนส่งผู้คนได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน

ช่องทางรถเมล์เฉพาะซึ่งแยกออกจากช่องทางเดินรถปกติของ Busway นี้ จะเป็นเส้นทางที่แยกจากศูนย์กลางเมืองออกไปยังพื้นที่รอบๆ ศูนย์กลางเมือง โดยเฉพาะในจุดที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก มีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเข้าและออกจากศูนย์กลางเมืองจำนวนมหาศาล

จริงๆ แล้วช่องทางจราจรที่จัดไว้ให้สำหรับ Busway นี้ เป็นช่องทางเฉพาะบางช่วงเท่านั้น หมายความว่า รถโดยสารประจำทางปกติที่เดินทางเข้าสู่บริเวณที่พิจารณาว่า การจราจรหนาแน่นและทางเมืองจัดช่องทางจราจรเฉพาะให้ รถโดยสารเหล่านั้นก็จะมีช่องทางจราจรพิเศษของตน ไม่ต้องห่วงกับปัญหารถติด แต่เมื่อเดินทางออกจากจุดที่การจราจรหนาแน่นน้อยลง ก็จะไม่ได้กำหนดเป็นช่องทางจราจรเฉพาะรถโดยสารประจำทางเท่านั้น เพียงแต่อาจจะกำหนดช่วงเวลาว่า เวลาใดสำหรับรถประเภทไหนใช้ช่องทางจราจรนี้ได้ แต่เวลาที่การจราจรไม่ติดขัด รถทุกประเภทก็สามารถใช้ช่องทางนี้ได้เหมือนช่องทางจราจรปกติ

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ Busway ยกตัวอย่าง เช่น RAPID (Realtime Advanced Priority and Information Delivery) ซึ่งเป็นระบบที่บริหารจัดการโดยสภาบริหารเมืองบริสเบน โดยจะติดตั้งไว้ที่รถโดยสารประจำทางทุกคัน ระบบสามารถตรวจสอบว่ารถอยู่ ณ จุดใด และสามารถคำนวณว่าจะไปถึงป้ายหน้า และป้ายต่อๆ ไป ในเวลาเท่าไร โดยข้อมูลเหล่านี้จะส่งไปแสดง บนป้ายดิจิตอลซึ่งติดตั้งอยู่ที่ป้ายรถโดยสารประจำทางเกือบทุกป้าย โดยแสดงให้ดูว่ารถโดยสารแต่ละคันจะมาถึงเมื่อไร

นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จะใช้ในการศึกษา ว่ารถคันไหน คนขับคนใด ใช้เวลาเดินทางมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดตารางการเดินทางสำหรับให้บริการผู้โดยสาร และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ นอกจากนี้ข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถใช้ในการควบคุมไฟจราจร ที่สามารถเปิดไฟเขียวให้แก่รถโดยสารประจำทางบางคันที่วิ่งสายกว่าตารางเวลาสามารถวิ่งไปสู่จุดหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

สิ่งนี้สามารถทำได้ เพราะจุดศูนย์กลาง ที่ใช้ตรวจสอบการเดินทางของรถโดยสารประจำทางกับระบบที่ควบคุมไฟจราจรเป็นจุดเดียวกัน

นั่นหมายความว่า ชาวบริสเบนไม่ต้องรอรถโดยสารประจำทางเหมือนรอคอยหยดน้ำกลางทะเลทรายในฤดูร้อนเหมือนชาวกรุงเทพฯ

มาถึงจุดนี้ ผมจึงอยากจะบอกก่อนที่จะเข้าใจผิดกันไปใหญ่ว่า BRT มิใช่ของวิเศษที่จะแก้ปัญหารถติดได้ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างเหมือนที่เมืองบริสเบนทำมา ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน, บริหารจัดการ, การกำหนดพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ธุรกิจ, การใช้เทคโนโลยี, ความร่วมมือของประชาชน และอีกหลายๆ อย่างที่ยังไม่ได้กล่าวถึงไว้ในบทความนี้จึงจะทำสำเร็จได้

ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงมีเสียงบ่นจากชาวบริสเบนอยู่บ้างว่ารถเมล์มาช้า, บริการไม่ดี หรือรถติดมากอยู่

การมาดูงาน BRT แล้วใช้ BRT บ้าง จึงค่อนข้างจะบ้าดีเดือดจนเกินไป

ถึงแม้ว่าที่บริสเบน จะไม่มีรถไฟลอยฟ้า, รถไฟใต้ดิน, รถตู้, รถเมล์เล็ก, รถร่วมบริการ, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, เรือด่วน, เรือหาง ยาว, รถสองแถว, รถตุ๊กตุ๊ก หรืออีกสารพัดนวัตกรรมในการเดินทางขนส่งมวลชนเหมือนที่กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรมีอยู่ แต่ที่นี่ก็แก้ปัญหารถติดได้ชะงัดพอสมควร

ที่สำคัญ ผมวางแผนในการเดินทางได้ โดยไม่ต้องโตในรถ

อ่านเพิ่มเติม

1. Translink, http://www.translink.com.au

2. http://www.transinfo.qld.gov.au

3. Translink-delivering better public transport for you, Draft Translink Network Plan, South East Queensland.

4. บีอาร์ที : ทางเลือกใหม่สำหรับการเดินทาง ในอนาคต, http://203.155.220.217/office/dotat/activity/BRT/detail/brt.htm

5. "ตะลุยเมืองออสซี่ดูต้นแบบรถเมล์ BRT", หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, วันที่ 26 กันยายน 2548, http://www.siamrath.co.th/Bkk. asp?ReviewID=117545

6. Busway, ttp://www.transport.qld.gov.au/qt/PubTrans.nsf/index/busways

7. "เจาะลึกระบบ BRT ออสซี่ ไขปริศนารถเมล์ ด่วนพิเศษกทม", ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 19 กันยายน 2548, http://www.manager. co.th/Qol/ViewNews.aspx? NewsID= 9480000127580

8. ทีมไลอ้อนส์, http://lions.com.au/   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us