ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ผมเปิดโทรทัศน์ดูทีไรไม่พ้นต้องได้เจอการประกวดร้องเพลงของบรรดาสาวหมวยในรายการซูเปอร์เกิร์ล จนกระทั่งรายการนี้จบรอบตัดสิน ได้ตำแหน่งผู้ชนะเลิศไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในที่สุด
เชาจี๋หนี่ว์เซิง หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Super Girl (บ้างแปลเป็น Super Voice Girl) เป็นประเด็นร้อนที่คนในสังคมจีน แทบทุกคน จะต้องกล่าวขวัญถึงในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 นี้ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของเศรษฐกิจ แวดวงบันเทิง, สังคม, สื่อสารมวลชน หรือเชิงบุคคลก็ตามที
จนกระทั่งในที่สุดรายการนี้ได้ถูกยกให้กลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แห่งปีไปเรียบร้อยแล้ว
'ซูเปอร์เกิร์ล' เป็นรายการจัดประกวด หานักร้องสาวเสียงดี ที่เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2547 โดยโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหูหนาน ร่วมมือกับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจด้าน ผลิตภัณฑ์นม 'เหมิงหนิว' อันเป็นผู้ให้สนับสนุนด้านการเงิน และมีรายการ Ameri-can Idol ของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของซูเปอร์เกิร์ล หรือ Chinese Idol กับ American Idol รวมทั้งการประกวดแข่งขันร้องเพลงธรรมดาๆ ทั่วไปก็คือ ซูเปอร์เกิร์ล มีการจำกัดผู้เข้าร่วมแข่งขันไว้แต่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น โดยมุ่งการแข่งขันไปที่แข่งความสามารถในการร้องเพลง และแสดงออกบนเวที
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่รายการนี้ไม่จำกัดอายุผู้เข้าร่วม ทำให้ในปีที่สองคือปีนี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมตั้งแต่เด็กเล็ก 6 ขวบ ไปจนถึงคุณทวดวัย 80 กว่าปี
ในรอบคัดเลือกของปีนี้นั้น ทางผู้จัดได้กระจายการรับสมัครผู้เข้าร่วมแข่งขันไปใน 5 เมือง (เพิ่มจากปีแรกที่เปิดรับใน 4 เมือง) ประกอบด้วย ฉางซา (มณฑลหูหนาน), เจิ้งโจว (มณฑลเหอหนาน), หางโจว (มณฑลเจ้อเจียง), กวางเจา (มณฑลกวางตุ้ง) และเฉิงตู (มณฑล เสฉวน) แต่ที่น่าตกใจก็คือมีผู้สนใจเข้าสมัครรวมแล้วมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน
ทั้งนี้เฉพาะที่เมืองเฉิงตูนั้น เพียงแค่เปิดรับสมัครรอบคัดเลือกวันแรกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2548 ก็มีผู้สมัครมากกว่าหมื่นคน และในแต่ละวันคิวของผู้มาสมัครก็ยาวราว 2-3 กิโลเมตรทุกวัน โดยสถิติเมื่อวันปิดรับสมัครเพียงแค่ที่เมืองเฉิงตูเมืองเดียว ก็มีผู้สนใจเข้าร่วมมากมายถึง 4 หมื่นคน
หลังจากผ่านการคัดเลือกรอบแรก โดยแต่ละเมืองใช้วิธีให้ดารา-นักแสดง-ผู้มีชื่อเสียง เป็นกรรมการให้คะแนนเลือกผู้ผ่านเข้ารอบมา 15 คน จากนั้นก็นำผู้เข้าแข่งที่เข้ารอบของทั้ง 5 พื้นที่มารวมกันแล้วคัดจาก 75 คน ให้เหลือ 10 คน จากนั้นก็คัดจนเหลือ 3 คน และหาผู้ชนะในที่สุด โดยวิธีเลือกผู้ชนะสุดท้ายนั้นใช้วิธีการลงคะแนนผ่านระบบข้อความสั้น (SMS)
ดูแล้วหลายคนอาจทักว่า คงคล้ายๆ กับ Academy Fantasia ทางเคเบิลทีวีของบ้านเรา คือจับเอาคนธรรมดามาแข่งร้องเพลงกันโดยให้ผู้ชมทางบ้านเป็นผู้ตัดสิน
แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่รายการ 'ซูเปอร์เกิร์ล' ไม่ได้เป็นรายการ Reality เช่นเดียวกับ Academy Fantasia ทั้งยังมีขนาดและขอบเขตใหญ่กว่าหลายสิบเท่า
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้เป็นสปอนเซอร์หลักของรายการคือ 'เหมิงหนิว' นั้นลงทุนไปมากกว่า 100 ล้านหยวน เพื่อจัดงานนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมลงสมัครแข่งขันนับแสนคน นอกจากนี้ทั่วประเทศจีนยังมีผู้ชมรายการรวมทั้งสิ้น 400 ล้านคน (1 ใน 3 ของประชากรจีน)
สาเหตุที่ผู้ชมเยอะขนาดนี้ได้ก็เพราะผู้จัดคือเครือข่ายโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหูหนาน แต่ก็เป็นสถานีที่เปิดให้ชมได้ทั่วประเทศ และมีเครือข่ายโทรทัศน์ในการถ่ายทอดกระจายข่าวทั่วประเทศจีน
ในการแข่งขันของปี 2548 นี้ ผู้ชนะเป็นสาววัย 20 ปี ลักษณะออกทอมบอย แซ่ลี้ (หลี่) นาม 'หลีอี่ว์ชุน' เธอผ่านการคัดเลือกจากรอบแรกด้วยคะแนนจาก SMS เริ่มจาก 2 แสนคะแนน, 6.7 แสนคะแนน, 8.5 แสนคะแนน, 1.89 ล้านคะแนน จนเข้ารอบสุดท้ายที่คัดผู้ชนะเลิศจากสามคนนั้น เธอได้คะแนน SMS ถึง 3 ล้านห้าแสนคะแนน!
แม้รายการรอบการแข่งขันจะได้ผู้ชนะเลิศและจบลงไปแล้วตั้งแต่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม แต่ควันหลงจากรายการโดยเฉพาะในเชิงของวงการบันเทิง และธุรกิจบันเทิงก็ยังร้อนแรงอยู่มาก โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทผู้ดูแลสาวๆ ที่เข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันก็ยึดคติ "ตีเหล็กตั้งแต่ยังร้อน" จัดทัวร์คอนเสิร์ต 'ซูเปอร์เกิร์ล' ทั่วประเทศจีนขึ้นมา เริ่มจากที่นครเฉิงตูในมณฑลเสฉวนเป็นที่แรก
แต่ที่น่าตื่นตะลึงก็คือ ในคอนเสิร์ตที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา มีแฟนเพลงสนใจเข้าชมคอนเสิร์ตจากเหล่าสาวน้อยผู้ที่เพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวจีนเมื่อไม่ถึงครึ่งปีมานี้เอง มากถึง 80,000 คน เรียกได้ว่ามากกว่าคอนเสิร์ตของดาราระดับแม่เหล็กอย่าง หลิวเต๋อหัว, โจวเจี๋ยหลุน หรือดารานักร้องชื่อก้องจากฝั่งฮ่องกง-ไต้หวันที่ผ่านๆ มาแทบทุกคน
ยิ่งกว่านั้นในการจัดคอนเสิร์ตที่เซี่ยงไฮ้ ที่ผ่านมายังรวมเอารายการกุศลประมูลที่นั่ง และเสื้อแต่งกายที่เหล่าสาวๆ ซูเปอร์เกิร์ลสวมใส่ระหว่างการแข่งขันในรายการ
ผลปรากฏว่า ในการประมูลที่นั่งแขกพิเศษจำนวน 160 ที่นั่งนั้น ได้เงินมาทั้งหมดจำนวนมากถึง 516,500 หยวน โดยในจำนวนนี้ที่นั่งชมคอนเสิร์ตที่แพงที่สุดประมูลได้มูลค่าสูงถึง 1 แสนหยวน
ส่วนชุดสีขาวพร้อมสร้อยประดับสีเงินที่ 'หลีอี่ว์ชุน' ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันใส่ในการแสดงแข่งรอบตัดสินนั้นเพียงชุดเดียวก็มีมูลค่าเกือบ 4 แสนหยวน ขณะที่ชุดของเหล่าซูเปอร์เกิร์ลที่เหลือนั้นมีมูลค่าราว 250,000 หยวน
การทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศของคณะซูเปอร์เกิร์ลนี้จะใช้เวลาราว 2 เดือน เพื่อจัดคอนเสิร์ต 10 แห่งทั่วประเทศจีน นอกเหนือจากเมืองเฉิงตู, เซี่ยงไฮ้ แล้วก็ยังมี ปักกิ่ง, ฉงชิ่ง (จุงกิง), หางโจว, กวางเจา, ฝูโจว, อู่ฮั่น, จี่หนาน และหนานจิง หรือถ้าหากคิดเฉลี่ยแล้วพวกเธอก็มีคิวขึ้นคอนเสิร์ต บ่อยถึงสัปดาห์ละครั้งเลยทีเดียว!
ความนิยมและขนาดผลกระทบต่อชาวจีนทั่วประเทศของรายการ Super Girl นี้ส่งผลให้นิตยสาร TIME (ฉบับเอเชีย) ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมาถึงกับต้องจับ 'หลีอี่ว์ชุน' เข้าไปอยู่ในรายชื่อ 25 ฮีโร่ของชาวเอเชีย ทั้งยังจับเธอเป็นดาวเด่นขึ้นหน้าปกอีกด้วย
ร่ำลือกันว่า 'หลีอี่ว์ชุน' สาวหล่อผู้ได้ตำแหน่งชนะเลิศจากการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากจะได้ชื่อเสียง รางวัล และรายได้จากทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศจีนแล้ว ยังมีงานโชว์ตัว พรีเซ็นเตอร์สินค้า ละครโทรทัศน์ กำลังจ่อคิวให้เธอรับทรัพย์อีกมากมาย
โดยมีการคาดการณ์กันว่าจากผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เรียนอยู่ในโรงเรียนดนตรีในมณฑลเสฉวน ภายในอีกหนึ่งปีข้างหน้า 'หลีอี่ว์ชุน' ผู้นี้จะมีรายได้รวมแล้วกว่า 20 ล้านหยวน หรือ 100 ล้านบาทเลยทีเดียว!
นอกจาก 'หลี่อี่ว์ชุน' แล้ว เด็กสาวที่เข้ารอบสุดท้ายในรายการซูเปอร์เกิร์ลทั้ง 10 คน (รวมบางคนที่ตกรอบไปก่อนหน้าแต่ได้รับความนิยม) ก็กำลังมีงานในวงการบันเทิงมาจ่อรอคิวกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการออกอัลบั้ม, การเล่นละครโทรทัศน์, การเซ็นสัญญา เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า ฯลฯ
ความสำเร็จทางธุรกิจอย่างล้นหลามของรายการซูเปอร์เกิร์ลนี้มีมากมาย และกว้างขวางเสียจนสะกิดให้แวดวงวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจของจีน ต้องหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจ และผลข้างเคียงทางธุรกิจของรายการนี้อย่างจริงๆ จังๆ
เนื่องจากที่ผ่านมาแวดวงบริหารธุรกิจจีนนั้น ขาดแคลนกรณีศึกษา (Case Study) ของโครงการและธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในลักษณะนี้มานานแล้ว
โดยศิษย์เก่าผู้มีส่วนร่วมจัดรายการซูเปอร์เกิร์ลกับอาจารย์จาก China Europe International Business School (CEIBS) กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ด้วยจุดประสงค์ในการบรรจุกรณีศึกษาของรายการซูเปอร์เกิร์ล เข้าไว้ในหนังสือเรียน-ศูนย์ข้อมูล หลักสูตร MBA และ EMBA ของจีนในอนาคตต่อไป
|