Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2548
ก่อนกาลอวสานของคอนโดใน Palm Bay Tower             
 


   
search resources

Interior Design




Palm Bay Tower เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1972 ในฐานะคอนโดมิเนียมสุดหรูแพงระเบิด ที่ตั้งอยู่ริมอ่าว Biscayne Bay จึงได้สมญานามที่ไม่มีใครโต้แย้งว่า "ราชินีแห่งไมอามี่" และเป็นเหมือนเพชรเม็ดงามที่มีพลอยสวยเนื้อดีอย่าง Palm Bay Club รายล้อมเอาไว้ คลับที่ว่านี้จับตลาดระดับเดียวกันคือ เศรษฐีมีอันจะกินทั้งหลาย แต่ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะเข้าใช้บริการได้ตามใจชอบ ต้องเป็นผู้ได้รับเชิญจากคลับเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้าใช้บริการ

แต่ละชั้นของคอนโดหรูระยับนี้ประกอบด้วยยูนิตขนาดใหญ่ 3 ยูนิต ออกแบบให้เป็นที่พักเฉพาะฤดูกาลของสมาชิกคลับผู้มีชื่อเสียงและรวยสุดๆ หนึ่งในกลุ่มผู้ซื้อรุ่นแรกจึงมี Roy J Carver อภิมหาเศรษฐีเจ้าสำราญผู้ก่อร่างสร้างฐานะด้วยลำแข้งของตัวเองและเป็นสมาชิกคลับรวมอยู่ด้วย

ขณะที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่พอใจกับการตกลงซื้อห้องพักเพียงยูนิตเดียวคือขนาด 3,000 หรือ 6,000 ตารางฟุต หรือที่ถูกลงมาหน่อยก็เหมือนซื้อทาวน์เฮาส์ยูนิตละ 2,000 ตารางฟุตไว้ครอบครอง Carver กลับซื้อเหมาพื้นที่ชั้น 25 ไว้ทั้งหมด แถมยังสยายปีกเป็นเจ้าของล็อบบี้พร้อมลิฟต์ขนาดมหึมาด้วย ล็อบบี้ที่ว่านี้ถ้าอยู่ในชั้นอื่นๆ จะทำหน้าที่เป็นล็อบบี้ของส่วนรวมรองรับอพาร์ตเมนต์ได้ถึง 3 ยูนิตเลยทีเดียว

Carver ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มสำหรับการสะสมซื้อยูนิตของทั้งชั้น 25 แม้ว่าแต่ละยูนิตที่ตกลงซื้อจะมีราคาไม่เท่ากัน แต่รวมเบ็ดเสร็จแล้วเขาควักกระเป๋าไป 517,400 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ต้องใช้วิธีแปลกประหลาดอย่างนี้เพราะ Connie Dinkler เศรษฐินีผู้ก่อตั้งคลับดำเนินกิจการคอนโดแบบสมาคมสตรีมากกว่าแบบธุรกิจเต็มร้อย เธอจะยอมปล่อยอพาร์ตเมนต์ที่มีแต่คนจ้องตะครุบก็ต่อเมื่อเกิดไอเดียเด็ดๆ อะไรขึ้นมาในหัวสมองเท่านั้น

ทันทีที่กว้านซื้ออพาร์ตเมนต์ได้ทั้งชั้น ว่ากันว่า Carver ไม่รีรอที่จะทุ่มเงินอีกล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับงานออกแบบตกแต่งภายในโดยเฉพาะ เขาไม่เลือกใช้บริการของบริษัทท้องถิ่น แต่กลับเป็นมัณฑนากร George Davis แห่งบริษัท Clegg Group ใน San Antonio ซึ่งเป็นหนึ่งในซัปพลายเออร์ด้านออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์ และงานออกแบบตลาดบนรายใหญ่ที่สุดของแถบตะวันตกเฉียงใต้

อพาร์ตเมนต์ของ Carver อยู่ในไมอามี่ก็จริง แต่เขาต้องการให้ตกแต่งเพื่อหวนระลึกถึงบ้านเกิดในรัฐ Iowa และบอกกับ Davis ว่า เมื่องานแล้วเสร็จ อพาร์ตเมนต์ของเขาต้องโดดเด่นขนาดทำให้แขกผู้มาเยือนทั้งประทับใจทั้งตื่นตะลึงชนิดอ้าปากตาค้างเลยทีเดียว ตัวเขาเองกระตือรือร้นถึงขนาดยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยตัวเองในกรณีที่จำเป็น

โครงการนี้ต้องล่าช้าไปหลายสัปดาห์เพราะผู้ตรวจสอบอาคารไม่อนุญาตให้ติดตั้งอ่างอาบน้ำหินอ่อนและหินโมรา (onyx) ด้วยข้ออ้างว่า จะอนุญาตให้ติดตั้งเฉพาะอ่างอาบน้ำที่ผลิตจากเหล็กหล่อหรือพลาสติกเรซินเคลือบ

แต่ Carver เป็นคนเชื่อมั่นว่าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ด้วยเงินและอำนาจที่พอเหมาะ จึงวิ่งเต้นด้วยการไปที่ศาลาว่าการเมืองไมอามี่และเจรจากับเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็ได้รับอนุญาตสมใจ เขาจึงไม่ยอมเสียเวลารอปั้นจั่น หากแต่ส่งเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว 2 ลำมาลำเลียงอ่างอาบน้ำไปยังอพาร์ตเมนต์ทันที

Davis เนรมิตอพาร์ตเมนต์หรูสุดๆ ขนาด 8 ห้องนอนกับอีก 12 ห้องน้ำให้ Carver พร้อมเครื่องตกแต่งทุกชิ้นด้วยวัสดุคุณภาพดีที่สุดเท่าที่มีขายในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล้ำสมัยหรืออุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ อย่างลูกบิดประตูก็ตาม ลุค (look) ของอพาร์ตเมนต์จึงแลดูแข็งแรงและเข้มตามแบบฉบับที่เรียกว่า "มาดแมน" จุดที่น่าสังเกตคือ การเน้นให้สีที่ตรงกันข้ามกับโทนสีเขียว เหลือง และขาว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของบ้านในรัฐ Florida ในเวลานั้นโดยสิ้นเชิง

ส่วนของพื้นซึ่งรวมถึงพื้นเทอเรซกว้างขวางทั้ง 3 แห่งปูด้วยหินโมราสีน้ำตาลเกรดหนึ่ง แต่ภายในห้องจะพิเศษกว่าด้วยการใช้พรมสั่งทำพิเศษของ Edward Fields ตกแต่ง

ที่ผนังห้องจะบุ กรุ และหุ้มด้วย Ultrasuede (ผ้าราคาแพงระยับของยุคทศวรรษ 1970) หรือไม่ก็ไหมเปลือกเนื้อหนาและหยาบเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นห้องแต่งตัวและห้องน้ำที่ปูผนังด้วยวอลเปเปอร์

เพดานห้องทั้งหมดบุด้วยผ้าไหมอาบมันแลดูหรูสง่าเฉียบเนี้ยบ ยกเว้นเพดานห้องล็อบบี้ตรงบริเวณทางเข้าที่ตกแต่งเป็นพิเศษด้วยซี่ไม้ทรงโครงร่ม (โปรดดูภาพประกอบ) ส่วนเพดานห้องเล่นเกมทำด้วยไม้สลักลวดลายลงบนกระดาษเป็นลายเรขาคณิต (โปรดดูภาพประกอบ)

ส่วนของประตู (รวมทั้งประตูลิฟต์) และตู้ต่างๆ เป็นงานฝีมือที่สั่งทำพิเศษจากไม้โอ๊กที่นำมาเซาะเป็นร่องลึกจนเกิดลายเป็นบั้งๆ (โปรดดูภาพประกอบ)

ผนังห้องอาหารซึ่งถือว่าเป็นผนังยาวที่สุดก็เล่นลายเป็นบั้งๆ เช่นกัน โดยใช้แผ่นไม้โอ๊กต่อกันในแนวทแยง ระหว่างไม้โอ๊กแต่ละแผ่นฝังด้วยทองเหลืองเป็นการตัดเส้นให้ลายสวยเด่นมองเห็นในระยะไกล ส่วนชั้นสำหรับตั้งอาหารซึ่งติดตั้งให้ลอยสูงจากพื้นและยื่นออกมาจากผนังไม้โอ๊กนั้น ออกแบบให้เข้าชุดกับพื้นห้องด้วยการใช้หินโมราสีน้ำตาลแบบเดียวกับที่นำมาปูพื้นปูทับลงตรงส่วนบนสุดของชั้นแลดูคลาสสิกไปอีกแบบ (โปรดดูภาพประกอบ)

เมื่อสำรวจตรวจตราไปทั่วทั้งอพาร์ตเมนต์ก็จะเห็นความประณีตและความมีศิลปะในการนำงานของศิลปินและช่างฝีมือมาประดับลงในเครื่องตกแต่งได้อย่างน่าทึ่ง เห็นได้จากประตูเลื่อนบานคู่ที่แยกห้องอาหารออกจากห้องนั่งเล่น เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ Bob Fowler ประติมากรอเมริกันชื่อดัง เขานำแผ่นเหล็กมาวางเกาะเกี่ยวกันเป็นภาพจิ๊กซอว์ประณีตสวยงาม แล้วติดลงบนบานประตูซึ่งเป็นแผ่นไม้ทาสีเล่นลวดลายเตะตา กลายเป็นงานประติมากรรมชิ้นย่อมชิ้นหนึ่งทันที

Fowler ยังฝากผลงานน่าประทับใจไว้อีกชิ้นหนึ่งที่ผนังห้อง media wall ในห้องนั่งเล่นซึ่งทำเป็นประตูบานเลื่อนลวดลายแบบงานปัก (โปรดดูภาพประกอบ) เด่นสะดุดตา

จะสังเกตได้ว่า เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่บุหรือหุ้มด้วยผ้าทอมือเนื้อหนาแลดูงดงามแบบเรียบๆ แต่หรูสง่า ในส่วนของโต๊ะอาหารขนาด 12 ที่นั่งนั้นเล่าจัดเป็นงานประติมากรรมทองเหลืองเชื่อมติดอยู่บนฐานไม้ชิ้นหนึ่งได้สบายๆ ตรงพื้นโต๊ะส่วนบนสุดปูทับด้วยแผ่นกระจกใสแลดูสะอาดตา

งานออกแบบ media wall ทั้งที่อยู่ในห้องนั่งเล่นและห้องนอนใหญ่นั้นต้องถือเป็นงานของศิลปินกลุ่ม avant-garde หัวรุนแรงที่ทำให้วงการยุคต้นทศวรรษ 1970 ช็อกไปตามๆ กัน โดย media wall ในห้องนั่งเล่นออกแบบให้หันหน้าชนกับโซฟาสั่งทำพิเศษเป็นรูปครึ่งวงกลม ขณะที่ในห้องนอนใหญ่ media wall จะหันหน้าเข้าหาเตียงนอนทรงกลมขนาดใหญ่

media wall นี้ประกอบด้วยจอทีวี 4 จอ จอภาพยนตร์ ระบบเสียง และตู้เก็บฟิล์มที่ติดตั้งแบบ built-in ลงไปในผนัง ความพิเศษอยู่ตรงที่เครื่องฉายภาพยนตร์ที่ติดตั้งตรงผนังด้านหลังของโซฟานั้นไม่เพียงแต่จะฉายภาพยนตร์ไปที่จอในห้องนั่งเล่นเท่านั้น แต่ยังสามารถฉายไปที่จอในห้องนอนได้ด้วย โดยเพิ่มเทคนิคกระจกหมุนเข้าช่วยเท่านั้น (โปรดดูภาพประกอบ) ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าของ media wall ทุกตัวคือแผงควบคุม master control consoles 1 คู่ โดยเครื่องแรกติดตั้งตรงกึ่งกลางของโซฟาครึ่งวงกลมในห้องนั่งเล่น ขณะที่อีกเครื่องหนึ่งติดตั้งตรงแขนข้างหนึ่งของ headboard ข้างเตียงในห้องนอนใหญ่

โดยเหตุที่ Carver เป็นคนต้องมีงานจัดเลี้ยงบ่อย และอย่างเลิศหรูอีกต่างหาก จึงให้ความสำคัญกับห้องครัวเป็นพิเศษ โดยคงห้องครัวขนาดใหญ่ 2 ห้องที่มีอยู่เดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ในส่วนของงานตกแต่งนั้น เขาใช้หินโมราสีทองปูบริเวณเหนืออ่างล้างมือ เพื่อกันการกระเซ็นของน้ำ แล้วปูผนังด้วยไม้คอร์กลายตกกระ ขณะที่พื้นปูกระเบื้องลายทแยงโดยใช้โทนสีน้ำตาล ครีม และ terracotta

ปกติแล้วห้องน้ำยุคทศวรรษ 1970 ไม่เน้นความหรูหราฟู่ฟ่าเหมือนปัจจุบัน แต่ที่อพาร์ตเมนต์ของ Carver ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะห้องน้ำทั้ง 12 ห้องล้วนติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งทำด้วยหินกึ่งมีค่า (semi-precious stone) ของ Sherle Wagner ในห้องน้ำแต่ละห้องยังมีห้องแต่งตัวในตัวพร้อมตู้ไม้สั่งทำพิเศษที่มีด้ามจับเข้าชุดกับอุปกรณ์ตกแต่งของ Sherle Wagner ด้วย

ห้องเล่นเกมนั้นประกอบด้วยโต๊ะปิงปองและโต๊ะบิลเลียดสั่งทำพิเศษ รวมทั้งมีบาร์ขนาดใหญ่และกว้างขวางพอที่จะทำให้ห้องอาหารเล็กๆ อิจฉาได้

น่าเสียดายที่ Roy J Carver เสียชีวิตอย่างกะทันหันจากอาการหัวใจวาย ในปี 1981 ทำให้ต้องนำแมนชั่นเพลย์บอยของเขาออกขายทอดตลาดในราคา 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง Rob Feland นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องกับการขายในครั้งนั้นเล่าว่า "มันกลายเป็นอพาร์ตเมนต์ราคาแพงที่สุดในรัฐ Florida กว่าจะตกลงขายได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ เพราะคุณแทบไม่สามารถจะหาอะไรมาเทียบค่าได้ มันเป็นหนึ่งในอพาร์ตเมนต์หรูระดับโลกรุ่นแรกในไมอามี่ที่มีบทบาทในการกำหนดจังหวะก้าวและสไตล์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่ตามมาในภายหลัง"

หลังจากซื้อขายเปลี่ยนมือมาหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อปี 2004 อพาร์ตเมนต์หรูแห่งนี้ตกไปอยู่ในครอบครองของ Bart และ Betty Reines คู่สามีภรรยาหนุ่มสาวพร้อมเรือพ่วง 4 คน ซึ่งซื้อเอาไว้ในราคา 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พวกเขามีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะปรับปรุงอพาร์ตเมนต์พื้นที่มหึมานี้ให้เป็น "บ้าน" ของครอบครัว

ที่น่าเศร้าและน่าเสียดายก็คือ ทั้งสิ่งตกแต่งและการวางเลย์เอาต์สไตล์เพลย์บอยนั้นไม่เหมาะกับความต้องการอยู่อาศัยของครอบครัวเอาเสียเลย จึงจำใจต้องให้ถึงกาลอวสานของอพาร์ตเมนต์ที่เคยหรูเลิศอลังการ ซึ่งรวมถึงงานตกแต่งที่ทำให้โลกตะลึงมาแล้วด้วย

Bart Reines เจ้าของคนใหม่จึงวางแผนกับ Rene Gonzalez สถาปนิกและนักออกแบบเพื่อเนรมิตอพาร์ตเมนต์นี้เสียใหม่ให้หรูระเบิดตามยุคสมัยของวันนี้เหมือนกับที่ Carver เคยทำมาแล้วในยุคทศวรรษ 1970

ตัว Gonzalez เอง ทั้งให้เครดิตและคำยกย่องแก่นักออกแบบคนก่อนอย่างชื่นชมว่า "ต้องยอมรับว่างานของ George Davis ทั้งในส่วนของรายละเอียดและการเลือกเครื่องตกแต่งนั้นเป็นเลิศจริงๆ สำหรับผมแล้วถือเป็นเรื่องท้าทายมากที่จะต้องทำผลงานให้ได้คุณภาพในมาตรฐานเดียวกัน ตอนนี้ผมพูดได้เต็มปากเต็มคำอย่างหนึ่งว่า ข้อแตกต่างสำคัญที่สุดระหว่างงานออกแบบอพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่เดิมกับที่เราจะทำกันใหม่นี้ก็คือ เราเน้นออกแบบพื้นที่ให้เปิดโล่งเต็มไปด้วยแสงสว่าง มองเห็นท้องฟ้าและน้ำทะเลอยู่แค่เอื้อมแทนการแบ่งพื้นที่ออกเป็นห้องๆ แล้วทำให้เชื่อมต่อกันอย่างของเดิม"

แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Wallpaper/July-August 2005   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us