|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2548
|
|
เศรษฐีฝรั่งเศสต่างพากันหอบเงินออกนอกประเทศลี้ภัยภาษีคนรวยสุดโหด
ชาวเบลเยียมเรียกพวกเขาว่า "ผู้ลี้ภัยทางการเงิน" แต่ "ผู้ลี้ภัย" ที่ว่านี้ใส่เสื้อ Chanel นะ
พวกเขาคือเศรษฐีฝรั่งเศสที่หอบเงินออกนอกประเทศ เพื่อหนีกฎหมายเก็บภาษีคนรวยสุดโหดในประเทศของตน
ตัวเลขอย่างเป็นทางการพบว่า ฝรั่งเศสกำลังสูญเสียผู้เสียภาษีในระดับเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีพันล้านไปเฉลี่ยวันละคน นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศยกเลิกเพดานจำกัด สัดส่วนรายได้พึงประเมินของคนรวย ที่จะต้องถูกนำมาคิดภาษี
แต่ Nicolas Baverez นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสเชื่อว่า ตัวเลขดังกล่าวยังน้อยเกินไป และตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้มาก
ในขณะที่ชาติยุโรปต่างทบทวนแก้ไขกฎหมายภาษีของตน ฝรั่งเศสกลับเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยอ้างถึงการยึดมั่นในหลักการ "เสมอภาค" และ "ภราดรภาพ"
ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ส่วนใหญ่ต่างทยอยยกเลิกภาษี "คนรวย" ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 แต่ฝรั่งเศสกลับยกเลิกเพดานจำกัดสัดส่วนรายได้พึงประเมินของผู้มีรายได้สูงกว่า 720,000 ยูโร ซึ่งเคยจำกัดไว้ที่ร้อยละ 85 ของรายได้ ส่งผลให้บางคนต้องเสียภาษีมากกว่ารายได้ที่พวกเขาได้รับเสียอีก
เมื่อปีที่แล้ว ศาลยุติธรรมแห่งยุโรปได้มีคำสั่งใให้ฝรั่งเศสในฐานะชาติสมาชิกหนึ่งของ EU ยกเลิกการเก็บภาษี "ขาออก" สำหรับทรัพย์สินที่ถูกโยกย้ายออกนอกประเทศ ผลก็คือ ตระกูลนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยที่สุดของฝรั่งเศส 13 ตระกูลจากทั้งหมด 20 ตระกูล ต่างโยกย้ายทรัพย์สินของพวกเขาบางส่วนหรือทั้งหมดออกนอกฝรั่งเศส
ตระกูลมหาเศรษฐีนักธุรกิจเหล่านี้รวมถึงตระกูล Muillez เจ้าของ Auchan hypermarkets และตระกูล Halley เจ้าของห้างดัง Carrefour's
ธรรมเนียมการเก็บภาษีคนรวยของฝรั่งเศส มีที่มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 โดยกำหนดว่า ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมบริษัท และกรรมการบริษัทระดับสูง จะได้รับยกเว้นภาษีจนกว่าพวกเขาจะขายหุ้นออกไป ซึ่งจะต้องถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 27 ด้วย
Eric Pichet ผู้ประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับภาษีคนรวยของฝรั่งเศส ประเมินว่า นับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา กฎหมายภาษีคนรวยสุดโหดนี้ ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียไปแล้ว 100,000 ล้านยูโร ในรูปของเงินทุนที่ไหลออกนอกประเทศ ซึ่งเงินจำนวนนี้อาจสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้แก่ฝรั่งเศสได้ถึง 5 พันล้านยูโรต่อปี แทนที่จะสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เพียง 2.6 พันล้านยูโรต่อปี ในรูปของการเก็บภาษีคนรวยอย่างที่เป็นอยู่
Pichet ชี้ว่า ไม่มีใครกล้าแตะต้องกฎหมายภาษีคนรวยในฝรั่งเศส เพราะจะถูกหาว่าเข้าข้างคนรวย
อย่างไรก็ตาม Nicolas Sarkozy ตัวเก็งผู้สมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนหนึ่ง สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2007 ทำเซอร์ไพรซ์ในการประชุมพรรคเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อเขาเรียกร้องให้ปฏิรูปภาษีคนรวยภายในปีนี้ ซึ่งไม่มีอยู่ในโผสุนทรพจน์ของเขามาก่อน
จุดหมายปลายทางของเศรษฐีฝรั่งเศส คือเบลเยียม เนื่องจากเบลเยียมใช้ภาษาฝรั่งเศส และอยู่ห่างจากกรุงปารีสเพียง 85 นาทีด้วยการเดินทางโดยรถไฟ นอกจากนี้ยังไม่มีการเก็บภาษีทรัพย์สินหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม
รายงานของรัฐบาลฝรั่งเศสเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับผู้เสียภาษีที่อพยพออกนอกประเทศสรุปว่า เศรษฐีที่อพยพออกนอกฝรั่งเศสที่มีอายุ 55 ปี และมีเงินทุน 15 ล้านยูโร เลือกที่จะอพยพไปเบลเยียมหรือสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนเศรษฐีที่มีอายุ 45 ปี และมีทรัพย์สิน 3-4 ล้านยูโร จะเลือกไปอังกฤษ หรือสหรัฐฯ มากกว่า และอิตาลีกำลังเริ่มกลายเป็นจุดหมายใหม่ของเศรษฐีฝรั่งเศส หลังจากที่อิตาลีได้เริ่มเปิดเสรีทางการเงิน
นักเศรษฐศาสตร์ Bavarez เตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นอันตรายต่อฝรั่งเศสอย่างมาก เพราะเศรษฐีเหล่านั้นกำลังไปเสียภาษีให้แก่อังกฤษหรือเบลเยียม แทนที่จะเป็นฝรั่งเศส
และภาษีคนรวยแสนโหดนี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ตระกูล Taittinger จะผลิตแชมเปญเป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ หลังจากที่ผลิตแชมเปญใน Reims มาตั้งแต่ปี 1932 โดยตระกูลนี้ได้ขายกิจการผลิตเหล้าองุ่นชั้นดีให้แก่โรงแรม Starwood Group จากสหรัฐฯ ไปแล้วในเดือนกรกฎาคม
Claude Taittinger เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ฝรั่งเศสยกเลิกเพดานจำกัดรายได้พึงประเมินของคนรวย ในปี 1997 เป็นต้นมา ผู้ถือหุ้น 10 ตระกูลในทั้งหมด 50 ตระกูลก็ได้ย้ายออกนอกฝรั่งเศส และกำลังจะตามไปอีกหลายตระกูล
เขาชี้ว่า กฎหมายภาษีคนรวยกำลังฆ่าธุรกิจที่บริหารโดยครอบครัวของฝรั่งเศส แต่เป็นกฎหมายที่คนฝรั่งเศสนิยมมากที่สุด เพราะพวกเขาคิดว่าสามารถทำให้คนรวยจ่ายภาษีได้ แต่ในความเป็นจริง นอกจากจะไม่สามารถทำให้คนรวยจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นได้แล้ว ยังผลักไสให้คนรวยหนีออกนอกประเทศด้วย
Taittinger ยังเชื่อด้วยว่า จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับกฎหมาย เพราะนายกรัฐมนตรี Dominique de Villepin ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นคนที่ทำลายกฎหมายภาษีคนรวย เขาเคยกล่าวว่า การปฏิรูปกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แม้แต่ประธานาธิบดี Jacques Chirac ก็เคยได้รับบทเรียนขนาดหนักมาแล้ว โดยเขาเกือบพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1988 จากการที่เขาเคยติดสินใจยกเลิกกฎหมายภาษีคนรวย ทำให้เขาต้องยอมกลับคำในภายหลัง
ส่วน Bruno Gibert ที่ปรึกษาของ Sarkozy ตัวเก็งผู้สมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศสและเป็นนักกฎหมายภาษีชี้ว่า บัดนี้ Chirac ไม่ยอมแตะต้องกฎหมายดังกล่าวอีก เพราะกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องภาษีธรรมดาๆ แต่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์หรือเรื่องการเมืองไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฝรั่งเศสมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้ามาก และไม่อาจจะสูญเสียเศรษฐีและนักธุรกิจ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตของฝรั่งเศสได้อีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ราคาที่ดินที่กำลังพุ่งสูงได้ยกระดับชาวฝรั่งเศสหลายพันคนให้กลายเป็นเศรษฐีใหม่ที่มีรายได้สูงขึ้น จนถึงระดับที่จะต้องถูกรีดภาษีจากกฎหมายภาษีคนรวย เห็นได้จากการที่จำนวนของคนที่จ่ายภาษีคนรวยได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา โดยเพิ่มเป็น 335,000 คนในปี 2004
แม้แต่เกษตรกรในชนบทและผู้เกษียณอายุในเมืองที่อยู่ด้วยเงินบำนาญ ก็ยังมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจนต้องถูกเก็บภาษีคนรวย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้เสียงสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายภาษีคนรวยเพิ่มมากขึ้น
แม้แต่วุฒิสมาชิก Jean Arthuis อดีตรัฐมนตรีคลัง ในสมัยที่ฝรั่งเศสยกเลิกการจำกัดเพดานรายได้พึงประเมินของคนรวย ก็ยังเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องผิดปกติซึ่งควรจะถูกยกเลิก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะทำให้เศรษฐีฝรั่งเศสยอมย้ายกลับบ้านได้อีกครั้ง
แปลและเรียบเรียงจาก
Newsweek 26 กันยายน/3 ตุลาคม 2548
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
|
|
|
|
|