ออมสินเชื่อสามารถควบคุมความเสี่ยงสินเชื่อโครงการแก้หนี้ภาคประชาชนได้ คาดมีหนี้เสีย 5-10% ของวงเงินสินเชื่อ 1-2 พันล้านบาท แจงวิธีป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่มีตัวตนจริงมีอาชีพ-รายได้ มั่นใจลูกหนี้ ต้องการปลดแอกตัวเองมากกว่าปล่อยให้ถูกฟ้องร้องบังคับคดี เพราะการแฮร์คัตดอกเบี้ย 100% และเงินต้นอีก 50% รวมทั้งให้ผ่อนชำระกับออมสินนานถึง 3 ปี ช่วยลดภาระให้ลูกหนี้สูงมากแล้ว รอแบงก์ส่งพอร์ต 1 ธ.ค.-31 ม.ค.49 พร้อมอนุมัติสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 31 พ.ค.49
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนที่เป็นหนี้ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ระหว่างถูกฟ้องร้องดำเนินคดี มูลหนี้ไม่เกิน 200,000 บาทด้วยการตัดดอกเบี้ยทั้งหมด และลดเงินต้น 50% ให้แก่ลูกหนี้ที่ต้องการชำระครั้งเดียวภายในวันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2549 โดยหากลูกหนี้ไม่สามารถหา เงินมาชำระได้ก็ให้รีไฟแนนซ์จากธนาคารออมสินได้นั้น เท่ากับว่ารัฐบาลได้ผลักภาระให้แก่ธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้วเพราะแม้ว่าลูกหนี้จะได้รับการแฮร์คัตเงินต้นถึง 50% ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าลูกหนี้เหล่านี้จะสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ หนี้ที่โอนมายังออมสินก็จะกลายเป็นหนี้เน่าในออมสินแทนที่จะเป็นหนี้เน่าในธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยอมรับว่าสินเชื่อประเภทนี้มีความเสี่ยงแน่นอน แต่เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการได้ และเชื่อว่าลูกหนี้ต้องการชำระหนี้เพื่อปลดล็อกตัวเองออกจากเครดิตบูโรรวมทั้งเชื่อว่าลูกหนี้จะมีความสามารถในการชำระเงินกับธนาคารออมสินได้เพราะมีระยะเวลาชำระนานถึง 3 ปี ซึ่งทำให้ภาระหนี้ต่อเดือนของลูกหนี้ลดลงเป็นจำนวนมากแล้ว
ทั้งนี้ จากตัวเลขเอ็นพีแอลโดยรวม 7,000 ล้านบาท หลังจากตัดเงินต้น 50% แล้วจะเหลือ 3,500 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ คาดว่าจะมีลูกหนี้ที่ขอให้บริการรีไฟแนนซ์เงินจากธนาคารออมสินประมาณ 1- 2 พันล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น หากกลายเป็นหนี้เสียก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อฐานะของธนาคารมากนักและจากการประเมินในเบื้องต้น เชื่อว่า จะมีหนี้ที่กลายเป็นเอ็นพีแอล อย่างมากประมาณ 5-10%ของวงเงิน 1-2 พันล้านบาทดังกล่าว
พร้อมกับชี้แจงว่า ในจำนวนมูลหนี้ 7,000 ล้านบาทดังกล่าว "เราประเมินแล้วว่า จะไม่กระทบต่อภาพรวมของธนาคาร เพราะวงเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่เรามีอยู่" นายกรพจน์ กล่าว
ผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารออมสินกล่าวเสริมว่า การปล่อยสินเชื่อทุกประเภท ย่อมมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแต่ขึ้นอยู่กับว่ามีวิธีการบริหารความเสี่ยงว่าจะทำอย่างไร ซึ่งโดยปกติแล้ว สถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) หรือแม้แต่สินเชื่อนอกระบบจะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวกำหนดกล่าวคือ เมื่อความเสี่ยงสูงก็จะใช้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ
สำหรับหนี้ตามโครงการแก้ไขหนี้ฯ ในครั้งนี้ถือเป็นหนี้ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น ธนาคารจึงใช้โครงการธนาคารประชาชนซึ่งเป็นโครงการสำหรับการปล่อยสินเชื่อ รายย่อยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือนแบบคงที่ คือจะคำนวณอัตราดอกเบี้ย จากเงินต้นเต็มจำนวนตลอดอายุการ ผ่อนชำระเช่นเดียวกับหลักการของสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วๆไป เป็นการคิดดอกเบี้ยตามต้นทุนค่าบริหารจัดการที่สูงและครอบคลุมความเสี่ยง แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วๆไป
นอกจากนี้ ในการพิจารณาผู้มีสิทธิได้สินเชื่อจากธนาคาร ยังจะต้องเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง สามารถ ติดต่อได้ มีอาชีพ เงินเดือน หรือ รายได้ โดยจะพิจารณาเป็นรายกรณี ไม่ได้รับโอนมาทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้คือ ข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้อยู่ในปัจจุบัน แต่มีภาระหนี้ติดมาตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี2540แต่ไม่มีปัญญาชำระหนี้ได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากเงินต้นเกือบ 3 เท่า
ดังนั้น การที่รัฐบาลเข้ามาช่วยด้วยการตัดดอกเบี้ยทั้งหมด และเงินต้นอีก 50% จะทำให้ภาระหนี้ของ ลูกหนี้ลดลงอย่างมาก จึงเชื่อว่าคนเหล่านี้น่าจะเดินเข้ามาติดต่อธนาคาร เพื่อขอชำระหนี้ของตนเองมากกว่าที่ จะปล่อยให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพราะถ้าถูกฟ้อง ก็ต้องถูกฟ้องเต็มจำนวน เช่น เป็นหนี้ 200,000 บาท รวมดอกเบี้ยเป็น 400,000 บาทแต่ถ้าติดต่อขอชำระจะเหลือแค่ 100,000 บาท สามารถผ่อนชำระกับธนาคารได้นานถึง 3 ปีภาระหนี้ต่อเดือนละประมาณ 3.7 พันบาท ทำให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระมากขึ้น
"การปล่อยสินเชื่อ ย่อมมีความเสี่ยงเกิดขึ้นอยู่แล้วเพียงแต่เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย ซึ่งกรณีนี้เราเชื่อว่ายังเป็นความเสี่ยงในระดับที่เราสามารถควบคุมได้เป็นความเสี่ยง จากการทำธุรกิจปกติของธนาคาร จริงๆแล้วเราเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับคนที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้แบงก์ได้ภายใน 6 เดือน เท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนต้องมาหาเราและหัวใจของการช่วยเหลือก็เพื่อให้ลูกหนี้สามารถทำงานได้ตามปกติไม่ต้องมานั่งกังวลกับหนี้และไม่ให้ถูกห้องฟ้องดำเนินคดี"
สำหรับความคืบหน้าของโครงการนั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ลูกหนี้เริ่มมาติดต่อธนาคารเจ้าหนี้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 - 31 มกราคม 2549 นี้ซึ่งกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้และมีความประสงค์จะรีไฟแนนซ์จากธนาคารออมสินก็ต้องแจ้งทางสถาบันการเงินเจ้าหนี้ภายในระยะเวลาดังกล่าว หลังจากนั้น ธนาคารต่างๆจะรวบรวมพอร์ตของตนเอง แล้วแจ้งให้ออมสินทราบภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อได้รายชื่อลูกหนี้แล้ว ออมสินจะพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อให้แล้วเสร็จและ แจ้งต่อสถาบันการเงินนั้นๆ ว่า ออมสินสามารถอนุมัติสินเชื่อได้กี่รายจากทั้งหมด ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคาร ได้มีเวลาอีก 1 เดือนในการหาเงินจากแหล่งอื่นมาชำระหนี้ได้
ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกู้เงินสินเชื่อดังกล่าวจากธนาคารออมสิน คือ 1. ผู้กู้จะต้องมีอายุครบ 20 ปีและเมื่อรวมกับระยะเวลาผ่อนชำระหนี้จะต้องไม่เกิน 65 ปี หากเกินสามารถหาผู้กู้ร่วมได้ 2. ต้องมีอาชีพ รายได้ และที่อยู่ที่แน่นอน 3.เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาล มีมูลหนี้เงินต้นต่อรายไม่เกิน 200,000 บาท สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2548 โดยธนาคารออมสิน จะให้จำนวนเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 100,00 บาทระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 1% ต่อเดือน
ด้านหลักประกัน ให้ใช้หลักทรัพย์ที่ค้ำประกันอยู่กับสถาบันการเงินเดิมในกรณีหลักทรัพย์ไม่คุ้มกับมูลหนี้จะมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติม คือ 1.วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทใช้บุคคล ค้ำประกัน 2.วงเงินให้กู้ 50,000 บาท ขึ้นไป ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และใช้บุคคลร่วมค้ำประกันได้แต่มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันจะต้องไม่น้อยกว่า 50% ของวงเงินกู้ ขณะที่ผู้คำจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท ต่อเดือน
|