จับตาโบรกเกอร์แข่งเดือดแย่งลูกค้าสถาบันทั้งในประเทศต่างประเทศ เหตุสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนในประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการด้านสิทธิประโยชน์ภาษี ทำให้กองทุน LTF-RMF มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยลดลงอย่างมาก
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์เปิดเผยว่า ขณะนี้จะต้องจับตามองการแข่งขันในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของโบรกเกอร์ที่จะมากขึ้น โดยเฉพาะการแย่งลูกค้าสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาสัดส่วนลูกค้าของนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยลดลง ดังนั้นจึงส่งผลทำให้โบรกเกอร์ที่มีฐานนักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนใหญ่หันไปมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันมากขึ้น
"ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นอย่างมาก อดีตที่ผ่าน มาสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันเคยอยู่ในระดับ 3-5% แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับประมาณ 10% แล้ว จึงทำให้โบรกเกอร์หลายแห่งสนใจที่จะดึงนักลงทุนสถาบันให้มาสั่งคำสั่งซื้อขายให้" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ สาเหตุที่นักลงทุนสถาบัน มีสัดส่วนการซื้อขายมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาทางการให้การสนับสนุนอย่างมาก เช่น ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่กองทุนหุ้นระยะยาวหรือแอลทีเอฟ,กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรืออาร์เอ็มเอฟ ซึ่งที่ผ่านมากองทุนเหล่านี้สามารถสร้างผลประกอบการ ที่ดีและทำให้นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนมากขึ้น เพราะนักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ทั้งในแง่ของสิทธิด้านภาษีและผลตอบแทนจากการลงทุน
จากการที่สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยลดลง ส่งผลกระทบต่อโบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้าเป็นนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก และทำให้โบรกเกอร์เหล่านี้จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายในปัจจุบันนี้ โดยจะเห็นได้จากอันดับส่วนแบ่งการตลาดซึ่งในช่วงหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร โดยจะเห็นได้จากโบรกเกอร์บางรายที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นรายย่อยอันดับจะลดลง เช่น บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย), บล.ซีมิโก้, บล.ไซรัส, บล.ยูไนเต็ด ขณะที่โบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้าเป็นนักลงทุนต่างประเทศ หรือกองทุนมากก็จะมีส่วนแบ่งการ ตลาดเพิ่มขึ้น เช่น บล.ไทยพาณิชย์, บล.ภัทร เป็นต้น โดยในส่วนของบล.ไทยพาณิชย์นั้นได้มีกระแสข่าวว่า ซิติก กรุ๊ปนักลงทุนต่างประเทศส่งคำสั่งซื้อขายให้
นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ สินเอเซีย จำกัด เปิดเผยว่า สัดส่วน การซื้อขายของนักลงทุนนั้นจะขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นโดยรวม ซึ่งถ้าปีใดที่ภาวะตลาดหุ้นดีก็จะทำให้สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการซื้อขายเก็งกำไรหลาย รอบ แต่ถ้าภาวะตลาดหุ้นซบเซาก็จะทำให้สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยลดลงด้วยเพราะนักลงทุนเก็งกำไรได้น้อยลง
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนรวมมีสัดส่วนการซื้อขายมาก ขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากทางการ อย่างไรก็ตามการซื้อขายของกองทุนนั้นจะไม่เก็งกำไรกันหลายรอบเหมือนกับนักลงทุนรายย่อย ดังนั้นจึงเชื่อว่าถ้าภาวะตลาดหุ้นมีสัญญาณที่จะฟื้นตัวก็อาจจะทำให้นักลงทุนรายย่อยกลับเข้ามามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีก
"ที่ผ่านมาโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ก็ต้องการเพิ่มลูกค้าประเภทกองทุนและนักลงทุนต่างประเทศแต่การดำเนินการไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ตั้งใจจะทำ เพราะการที่จะดึงกองทุนเข้ามาส่งคำสั่งซื้อขายผ่านนั้นจะต้องมีบริการที่ดีเพื่อดึงดูด เช่น มีทีมงานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นต้นขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.บางแห่งนั้นก็อาจจะต้องส่งคำสั่งซื้อขายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่อยู่ในเครือเดียวกันด้วยซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละ บลจ.ว่ากำหนดอย่างไรบ้าง"นายวิบูลย์กล่าว
จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายกลุ่ม ปรากฏว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2546-2548 (สิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค.48) สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนรายย่อยสัดส่วนลดลง
ทั้งนี้ ในปี 2546-2548 สัดส่วน นักลงทุนสถาบันอยู่ในระดับ 6.1%, 8.4% และ 10.2% และนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนอยู่ในระดับ 17.8%, 21% และ 27.5% และ นักลงทุนรายย่อยทั่วไปอยู่ในระดับ 76.1%, 70.6% และ 62.3% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจาก อัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการซื้อขาย พบว่านักลงทุนสถาบันในปี 2547 เพิ่มขึ้นจากปี 2546 อยู่ในระดับ 48.1% และในปี 2548 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในระดับ 3.1% ส่วนนักลงทุน ต่างประเทศ ในปี 2547 เพิ่มขึ้น 28.3% และในปี 2548 เพิ่มขึ้น 10.6% แต่ขณะที่นักลงทุนรายย่อย เพิ่มขึ้นในปี 2547 0.7% และในปี 2548 ลดลง 25.7%
สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 3 ปีย้อนหลังและมูลค่าการซื้อขายจะพบว่าในปี 2546 ดัชนีเพิ่มขึ้น 116.6% และมีมูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยต่อวัน 18,908.02 ล้านบาท, ในปี 2547 ดัชนีลดลง 13.48% มูลค่า การซื้อขายโดยเฉลี่ยวันละ 20,507.75 ล้านบาท และในปี 2548 ดัชนีเพิ่มขึ้น 2.57% และมีมูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยต่อวัน 3,468.32 ล้านบาท
|