|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ถ้าจับเอาบทวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมแบงก์ทั้งระบบในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้มาดูให้ถ้วนถี่ ก็จะพบว่า แบงก์เก่ารายใหญ่ๆทั้งหลายเริ่มจะเห็นแสงสว่างเจิดจ้า จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มจะถ่างออก ดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้นั้นวิ่งขึ้นเร็ว ส่วนอีกด้านดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะออมทรัพย์ที่มีต้นทุนราว 50-60% กลับจอดแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว เพียงแค่นี้แบงก์ใหม่ ที่เพิ่งเลื่อนฐานะตัวเองจากไฟแนนซ์ก็เริ่มรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ไม่เว้นแม้แต่ "ทิสโก้" แบงก์น้องใหม่ ที่มีพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์อยู่ในมือสัดส่วนสูงถึง 95%...
ถ้าเป็นสมัยที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเลี่ยพื้น โอกาสอาจจะตกอยู่กับแบงก์หน้าใหม่เหล่านี้ แต่พอถึงคราวที่ดอกเบี้ยถูกแรงกดดันให้ต้องวิ่งขึ้น โอกาสที่มีอยู่ก็กำลังจะเลือนหาย
แบงก์หน้าใหม่ๆ ที่ขยับตัวเองจากไฟแนนซ์ ส่วนใหญ่กำพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์ไว้ไม่น้อย ไม่ว่า ธนชาต เกียรตินาคิน รวมถึงทิสโก้ ทั้งหมดตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันคือ พอดอกเบี้ยโงหัวขึ้นธุรกิจเช่าซื้อก็ชะลอตัว เพราะยอดขายรถยนต์ไม่เดินไปตามคาด รายได้อาจยังโตอยู่ แต่อัตราการขยายตัวกลับเชื่องช้า
"แบงก์ใหม่กับ แบงก์เก่า ฐานรายได้ต่างกัน เพราะโครงสร้างธุรกิจแตกต่างกัน” ปลิว มังกรกนก ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารทิสโก้ เปรียบเปรยด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก
ที่เห็นชัดเจนน่าจะเป็นเรื่องต้นทุนและการปล่อยกู้ ที่ดูได้จากช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้จะขยับขึ้นตลอดเวลา ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากโดยเฉพาะออมทรัพย์ที่มีต้นทุนสูงราว 50-60% กลับนอนนิ่ง
แบงก์เก่าจึงได้ประโยชน์จากส่วนต่างที่ถ่างกว้างขึ้น บวกกับการปล่อยกู้สั้น จากดอกเบี้ย MLR และMOR ก็ทำให้ได้เปรียบ เมื่อเทียบกับแบงก์ใหม่ที่นำเงินไปปล่อยกู้เช่าซื้อด้วยระยะเวลายาวกว่ามาก
" เทรนด์มาร์จิ้นช่วงนี้ อาจยากสักหน่อย” ปลิว เล่าถึง รายได้ที่จะเข้ามาในเวลาที่ดอกเบี้ยหันเหทิศทาง
ในจังหวะที่ดอกเบี้ยดิ่งหัวลงแตะพื้น ธุรกิจเช่าซื้อ ที่มีสัดส่วนในพอร์ตสูงสุดอาจได้ประโยชน์ไปเต็มเม็ดเต็มหน่วย มาร์จิ้นก็มากตาม แต่หลังจากดอกเบี้ยถีบตัวสูงเพราะแรงบีบคั้นรอบด้าน ผู้เคยยืนแท่นแชมป์ก็ถึงคราวลำบาก
ปลิว ยังยืนยันในหลักการ "นิช แบงกิ้ง" ธนาคารเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญและช่ำชอง ในแนวทางถนัด โดยเฉพาะรายได้ที่เคยเก็บกวาดจากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งทำให้ทิสโก้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง
ความเป็น "นิช” นอกจาก โก้ เท่ มีธุรกิจที่ชำนาญ ทำให้มีกำไร แต่ถึงจุดหนึ่ง คู่แข่งกระโจนเข้ามาเต็มสนาม ก็กลายเป็นการจุดชนวนให้เกิด "สงครามราคา” ได้เหมือนกัน
จุดเด่นของ "นิช” อยู่ที่ความเชี่ยวชาญก็จริง แต่จุดอ่อนก็มีอยู่ คือ การรักษาแชมป์ ไม่ให้ใครเลียนแบบได้ง่ายๆ ดังนั้นการรักษาแท่นผู้นำจึงกลายเป็นเรื่องลำบาก เพราะในขณะที่แบงก์เก่ารายใหญ่เริ่มได้ใจ หันมาให้ความสำคัญกับพอร์ตเช่าซื้อมากขึ้น ทั้งแบงก์เก่าและน้องใหม่ก็ตั้งหน้าตั้งตาเปิดสงครามช่วงชิงลูกค้ากันใหญ่
ปลิว บอกว่า แบงก์เก่ารายได้ดีตรงที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยขยายกว้างแต่ในขณะที่การรุกเข้าสู่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ยังคิดเป็นเพียงแค่ 1% ภายหลังเริ่มดำเนินธุรกิจ "ธนาคารทิสโก้” มาตั้งแต่1 กรกฎาคม 2548 ทิสโก้ยังคงเลือกแนวทาง"นิชแบงกิ้ง" ที่เปิดรับลูกค้ารายใหญ่ในกลุ่มพาณิชย์กรรมและอุตสาหกรรมการผลิตอยู่เช่นเดิม ถึงแม้สัดส่วนของพอร์ตจะไม่สูงเท่าเช่าซื้อ เหตุนี้เองที่ทำให้การขยายสาขาเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยๆ ไม่หวือหวาเหมือนธนาคารธนชาต ที่ประกาศปูพรมรวดเดียว 100 สาขา
ปลิว บอกว่า สาขาอาจจำเป็นสำหรับลูกค้ารายย่อย เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเมื่อมีลูกค้ารายย่อยปริมาณมาก ก็ต้องเปิดสาขาให้มาก ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี แต่มุมมองทิสโก้เห็นว่า รูปแบบ "นิชแบงกิ้ง” ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้ารายใหญ่ การขยายสาขาอย่างรวดเร็วจึงไม่จำเป็น เว้นแต่เมืองรอบนอกที่อาจนำร่องสาขาอิเลคทรอนิคส์ ขณะที่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 14 สาขา
" ลูกค้าเรามีทั้งหมด 4-5 พันราย โดยเป็นรายใหญ่ค่อนข้างมาก ดูจากบัญชีเงินฝากทั้งหมดที่มีอยู่มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท เป็นลูกค้ารายใหญ่เฉลี่ยบัญชีละ 10 ล้านบาท ส่วนแบงก์เก่าจะมีลูกค้ารีเทลหรือรายย่อยปริมาณมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังตั้งแบงก์ตัวเลขบัญชีเงินฝากก็วิ่งเข้ามามาก จนสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่มาก เหมือนกับแบงก์เก่าทั่วไปที่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินล้น อย่างไรก็ตาม 9 เดือนที่ผ่านมาการขยายตัวสินเชื่อไม่ว่า เช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบริษัทก็ยังสูงระดับ 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าเช่าซื้อรถยนต์ 4.3 หมื่นล้านบาท
ปลิวบอกว่า ขึ้นชื่อว่า "นิช แบงกิ้ง"แต่ความจริงบทบาทของไฟแนนซ์ในอดีตกลับมีความเป็นยูนิเวอร์แซล แบงกิ้ง พอๆกับแบงก์เก่าที่ประกาศโครงสร้างธุรกิจครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท นั่นคือ ไฟแนนซ์สมัยก่อนอาจสเกลไม่ใหญ่ ไม่มีเช็คกิ้ง แอคเคาท์ ไม่มีสาขาไว้นำเสนอสินค้า
แต่หากพูดถึงบทบาทการให้บริการกลับครบวงจรยิ่งกว่า ยูนิเวอร์แซล แบงกิ้งในปัจจุบันเสียอีก เพราะไฟแนนซ์ทำธุรกรรมได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นอย่างเดียวคือ ไม่มีไลเซนส์ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เท่านั้นเอง ฉะนั้น ก็อย่าได้ดูแคลน "แบงก์ใหม่” ที่ดูยังไงก็ไรพิษสง เพราะหลังจากตั้งหลักได้ เราเจ้าของเงินออมหรือลูกค้าธนาคารเหล่านี้ ก็อาจจะได้เห็นการเปิดศึกที่เรียกว่า "เอาคืนบ้าง” จากสงครามช่วงชิงฐานลูกค้าในอนาคต ก็เป็นได้...
|
|
|
|
|