|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ครึ่งทางโครงการ “จรัส” ผู้ประกอบการเข้าร่วมไม่ถึงครึ่ง ผู้รับผิดชอบวิ่งหาทางแก้ เร่งพีอาร์ ปรับกลยุทธ์อุตลุด ตั้งเป้าดึงดูดผู้ประกอบการอัญมณีเป็นหลัก เสริมด้วยอาจารย์ในสถาบันเป็นกลุ่มเป้าหมายรอง ระบุต้องครบ 720 คนภายในกรกฎาคมปีหน้า
รศ.ดร.กาญจนา ชูครุวงศ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการ “จรัส” หรือ Jewelry Advanced Research and Development (JARAD) ซึ่งเป็น โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ภายใต้นโยบาย “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น” เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการจรัสว่า หลังจากเริ่มเปิดอบรมมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 มีผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นช่างและผู้ประกอบการแล้วประมาณ 240 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้สำเร็จการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ แล้วประมาณ 190 คน
โดยมีทั้งหมด 7 หลักสูตร มีผู้สนใจเรียนมากที่สุด 2 หลักสูตร คือ 1.การชุบและการเคลือบผิว และ2.การหล่อพร้อมฝังขั้นสูง ส่วนอีก 5 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.การสร้างแม่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้สร้างต้นแบบแม่พิมพ์คุณภาพสูงด้วยเทคนิคใหม่ มีการออกแบบสามมิติโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 2.การเจียระไนขั้นสูง 3.การหล่อขึ้นรูปขั้นสูง 4.การปั๊ม การเชื่อม และการทำเครื่องประดับด้วยหลอด และ5.การขัดตกแต่งชิ้นงานขั้นสูงการหล่อขึ้นรูปขั้นสูง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้โครงการดังกล่าวมีอุปสรรคเริ่องจำนวนของผู้เข้าอบรมที่ค่อนข้างต่ำ เป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น การประชาสัมพันธ์อาจจะยังไม่ทั่วถึงกลุ่มเป้าหมายคือช่างและผู้ประกอบการ สมาคมที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ช่วยกระตุ้นสมาชิกอย่างเต็มที่ และผู้ประกอบการอ้างว่าบางหลักสูตรค่าเรียนแพงเกินไป ติดขัดเรื่องเวลาเรียนเพราะต้องใช้เวลาในการประกอบอาชีพด้วย รวมทั้งยังกังวลเรื่องการส่งช่างฝีมือมาพัฒนาแล้วอาจจะลาออกในภายหลัง
นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคความล่าช้าในการเบิกงบประมาณจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในขณะที่ต้องลงทุนในด้านต่างๆ ค่อนข้างสูง เช่น การจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เช่น อิตาลี เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ถึง 10 คน และการจัดซื้อเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ
ดังนั้น จึงกำลังเตรียมแผนงานที่จะประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเดิม เช่น การไปโรดโชว์ที่นิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีผู้ประกอบการด้านนี้อยู่มาก เช่น ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น อีกทั้งจะขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น อาจารย์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่สามารถนำความรู้ไปสอนต่อ และผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ซึ่งเพิ่งจะเข้ามาทำกิจการในด้านนี้ เป็นต้น
พร้อมทั้ง มีแผนจะดึงดูดให้มีผู้เข้าอบรมมากขึ้น เช่น ด้วยการลดค่าเรียนในบางหลักสูตรซึ่งเดิมประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อหลักสูตร เหลือประมาณ 5,000 บาทต่อหลักสูตร โดยได้การสนับสนุนจากเอกชน เช่น บริษัท Signity ให้พลอยสังเคราะห์มาใช้เป็นวัสดุในการเรียน หรือการให้ยืมเครื่องมือ
อีกทั้ง จะขออนุมัติจากคณะกรรมการเพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไข เช่น ให้แต่ละโรงงานส่งผู้เรียนได้มากกว่า 1 คนต่อ 1 หลักสูตร จากเดิมจำกัดให้แต่ละโรงงานส่งผู้เรียนได้แค่ 1 คนต่อ 1หลักสูตร หรือบางแห่งโดยเฉพาะขนาดเล็กซึ่งผู้ประกอบการต้องการเรียนเองทั้งหมด เรียนไม่ได้ เพราะเดิมมีความคิดที่จะกระจายการพัฒนาให้ลงไปยังโรงงานขนาดเล็ก ไม่ต้องการให้โรงงานขนาดใหญ่ส่งคนมาเรียนมากเกินไปและเปลี่ยนจากเดิมต้องมีประสบการณ์ 2 ปี เป็น 1 ปี เป็นต้น
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการว่าจะต้องมีผู้เข้าอบรมไม่ต่ำกว่า 720 คน ตามกำหนดระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2549 และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เป็นเลิศ ด้วยการพัฒนาศักยภาพยกระดับการผลิตในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ ลดการสูญเสียและต้นทุนการผลิต
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากความต้องการของผู้ประกอบการค้าอัญมณีที่เรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนเพราะเห็นว่ามูลค่าตลาดรวมอัญมณีและเครื่องประดับสร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น จึงควรจะได้รับการส่งเสริมควบคู่ไปกับโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น และในที่สุดก็ได้รับงบประมาณมา 89 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งหากไม่บรรลุเป้าหมายในครั้งนี้ ก็เป็นไปได้ยากที่จะได้รับการสนับสนุนอีก ซึ่งเท่ากับว่าผู้ประกอบการจะเสียโอกาสอย่างมาก เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องอาศัยภาพลักษณ์ในระดับภาครัฐในการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเงินลงทุนสูง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ได้เปิดอบรมหลักสูตรการเจียระไนพลอยขั้นสูง ขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฎ รำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี โดยสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรีได้ส่งเสริมให้สมาชิกเข้าร่วมอบรมประมาณ 30 คน โดยมี พนัส แก้วลาย ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี มาเป็นประธานในพิธี และกล่าวถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีว่า
ส่วนที่จะดำเนินการได้เร็วที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์ การจัดทำพิพิธภัณฑ์ ศูนย์แสดงนิทรรศการ และศูนย์กลางการซื้อขาย โดยได้รับงบประมาณปี 2549 จากรัฐมา 50 ล้านบาทแรก จากทั้งหมดนับพันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบสถานที่ให้เหมาะสม เพื่อจัดทำศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร ศูนย์กลางการซื้อขาย และตรวจสอบคุณภาพ โดยจัดหาที่ดินในอำเภอเมืองจันทบุรีหลังโรงแรมอีสเทิร์นไว้แล้วประมาณ 20 ไร่ และสถาบันคีนันเป็นผู้ศึกษาโครงการ ส่วนโครงการอื่นๆ เช่น การสร้างมาตรฐานสากลให้พลอย เหมือนที่เพชรมีมาตรฐาน การทำโครงการธนาคารอัญมณี จะผลักดันต่อไป
ธงศักดิ์ จินตการฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ๊กซเปิร์ต เจมส์ แมนูแฟคทูริ่ง จำกัด และอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวถึง ปัญหาของผู้ประกอบการอัญมณีซึ่งมีอยู่ประมาณ 700 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมว่า มีอยู่ 3 ส่วน คือ 1.วัตถุดิบ ซึ่งต้องใช้เงินทุนและไม่แน่นอนว่าจะได้ผลตอบแทนคุ้นค่าหรือไม่ 2.การพัฒนาบุคลากร ซึ่งต้องการภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน
และ3.การตลาด ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดปัญหามาประมาณ 1 เดือน เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ของรัฐที่ขัดแย้งกัน จึงเกิดช่องว่างระหว่างการยืดหยุ่นให้นักท่องเที่ยวซื้อได้กับกฎเกณฑ์ที่นักธุรกิจต้องทำตาม ทำให้บรรยากาศการซื้อขายอัญมณีในจังหวัดจันทบุรีซบเซาอย่างมาก ยอดขายลดลงถึง 80%
ประเสริฐ อนันตชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.พี.เอส.เจมส์ จิวเวลรี่ จำกัด และกรรมการตรวจรับโครงการจรัส กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีการวางแผนการเจียระไรพลอยให้ตรงตามความต้องการของตลาด เช่น เดิมใช้แต่พลอยเนื้อแข็ง ขณะที่ตลาดต้องการพลอยเนื้ออ่อน นอกจากนี้ จีนและอินเดียยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้ และเป็นคู่แข่งที่ต้องจับตา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัทฯ ได้แก้ปัญหาโดยมุ่งเน้นตลาดนิช โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ และใช้การเจียระไนแบบแฟนซีคัต รวมทั้งนำการแกะสลักมาใช้ด้วย อีกทั้งกำลังขยายเครือข่ายให้มากขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตที่ยืนยาวให้กับอัญมณีไทยต่อไป
|
|
|
|
|