ภาพการลงทุนที่ปรากฏในขณะนี้ที่มีให้เห็นนั้น ไม่พ้นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หรือสินค้าตกแต่งบ้าน ที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงระดับใหญ่ แม้ส่วนหนึ่งของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะเติบโตควบคู่กับภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่ด้วยเทรนด์การตกแต่งบ้านได้กลายมาเป็นแฟชั่น ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามฤดูกาล สำหรับผู้ที่มีบ้านอยู่แล้ว ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เป็นไปอย่างคึกคัก
ดูได้จากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาวางจำหน่าย หรือผู้ผลิตในประเทศเพิ่มไลน์การผลิตใหม่ๆ รองรับกำลังซื้อและกลุ่มผู้บริโภค ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการตกแต่งบ้านตามเทรนด์ ส่งผลให้ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เติบโตตามไปด้วย แต่การลงทุนดังกล่าวกลับเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเดิมในธุรกิจ ที่ขยายการลงทุนเพิ่ม โดยการขยายสาขาครอบคลุมกลุ่มลูกค้า เป็นสัดส่วนที่มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่
เพราะธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เป็นธุรกิจที่ต้องติดต่อประสานงานกับซัพพลายเออร์ค่อนข้างมาก และรายละเอียดปลีกย่อยในการทำธุรกิจ ตั้งแต่การคัดเลือกสินค้าเข้าร้าน การทำการตลาดในพื้นที่กระทั่งการจัดส่งสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้โนว์ฮาว ประสบการณ์จากมืออาชีพ
ฉะนั้นการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ จึงน่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีเงินทุน ซึ่งปัจจุบันมีเพียง บริษัท กาแรนท์ โมเบล (ประเทศไทย ) จำกัด รายเดียวเท่านั้น ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการ ภายใต้แบรนด์กาแรนท์ โมเบล (เน้นเมืองใหญ่ กลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน) และแบรนด์เมอร์ (เปิดต่างจังหวัด ระดับอำเภอ)
ผู้บริหารของบริษัท ได้ให้ข้อมูล ถึงภาพรวมการลงทุนของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และรายละเอียดการลงทุนระหว่างดำเนินการเองและลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์แตกต่างกันอย่างไร รวมถึง ณ วันนี้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยังมีช่องว่างสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่หรือไม่ ?
ผาณิต ชวชัยชนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแรนท์ โมเบล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก ถึงแม้น้ำมันจะแพงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้า แต่คนก็ยังไม่หยุดใช้เงิน การทำการตลาดเป็นการกระตุ้นความอยากอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคีย์ของกาแรนท์ โมเบล ที่ต้องทำตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค
ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของการเข้ามาลงทุน ที่ผ่านมาร้านค้าสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว แต่ต้องการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของร้านใหม่ รวมถึงความสะดวกในการทำการค้าภายใต้ธุรกิจรูปแบบใหม่ แต่ช่วงระยะ 2 ปีมานี้เองได้เริ่มมีนักลงทุนรายใหม่ เข้าสู่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น
ทั้งนี้ สะท้อนภาพการเข้ามาลงทุนได้เป็นอย่างดี ถึงการเล็งเห็นโอกาสของธุรกิจ แต่ทั้งนี้การลงทุนเฟอร์นิเจอร์นั้น ต้องอาศัยประสบการณ์การค่อนข้างสูง เพราะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างละเอียด เกี่ยวพันธ์กันหลายส่วนทั้งการบริหารจัดการร้าน การสั่งซื้อสินค้า การทำตลาด และยิ่งผู้ประกอบการรายใหม่ด้วยแล้วการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์น่าจะเป็นคำตอบที่ดี
ผาณิต ให้ข้อมูลธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไว้ว่า ต้องอาศัยประสบการณ์ค่อนข้างมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ละเอียดมากนั้น เพราะเริ่มตั้งแต่การเลือกสินค้าเข้าร้าน การจัดร้านอย่างไรให้สินค้าขายได้และทำอย่างไรให้คนในละแวกที่ตั้งรู้ว่าขายของดี ราคายุติธรรม บริการดี นั่นคือการตลาด ประกอบสินค้าอย่างไร ส่งของลูกค้าอย่างไรซึ่งเป็นโนว์ฮาว ความรู้ที่ต้องมีประสบการณ์จากคนอื่นแล้วนำมาสอน
"ตัวอย่างเช่น มีตึกแถว 10 ห้อง จะเลือกสินค้าอะไรมาวางขายเพราะเฟอร์นิเจอร์มีหลากหลายตั้งแต่ชุดสนามม้าหิน เครื่องนอน ที่สำคัญการติดต่อซัพพลายเออร์ เพื่อเอาสินค้ามา บางที่ต้องจ่ายเงินก่อน และจากการสอบถามแฟรนไชซีที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ธุรกิจอื่นด้วยนั้น ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าธุริจแฟรนไชส์เฟอร์นิเจอร์เป็นธุรกิจที่ให้ผลกำไรดีมาก ซึ่ง 2 แบรนด์ก็มีขนาดการลงทุนที่หลากหลาย อย่างกาแรนท์ โมเบล พื้นที่ตั้งแต่ 600-2,000 ตร.ม.หรือเมอตร์ก็ตั้งแต่ 400 ตร.ม.ขึ้นไป" ผาณิตกล่าว และว่า
ปัจจุบันมีร้านสมาชิกแบรนด์กาแรนท์ โมเบลและเมอร์ ปัจจุบันมีร้านค้าสมาชิก 145 สาขา และเตรียมเปิดภายใต้แบรนด์เมอร์ก่อนสิ้นปี 2548 นี้อีก 4 สาขา ที่ภูเก็ต ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กระบี่ และรามอินทรา กรุงเทพฯ
ทั้งนี้แผนงานสำหรับเสริมสร้างศักยภาพให้กับร้านค้าสมาชิกนั้น จะใช้สำนักงานใหญ่ของบริษัท ที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ บนถนนรัตนาธิเบศร์ พื้นที่กว่า 7,000 ตารางเมตร ที่เป็นโชว์รูมจำหน่ายสินค้านั้น เป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมให้กับทีมงานของร้านสมาชิกใหม่ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสาขาทดลองด้านการทำมาร์เก็ตติ้ง โปรโมชั่น ร่วมถึงเครื่องมือการตลาดใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอีกด้วย
"เราสอนกันตั้งแต่การจัดหน้าร้าน มีสินค้าจำนวนมากให้แฟรนไชซี เลือกสินค้าที่เหมาะกับการขายในพื้นที่นั้นๆ สนับสนุนการทำตลาด โปรโมชั่น การส่งสินค้า ติดตามสินค้า ซึ่งเวลาสั่งซื้อสินค้า ร้านแฟรนไชซีจะสั่งตรงที่เรา เป็น one stop communication และยังเสริมความรู้ที่อัพเดทในการบริหารสินค้า"
นอกจากเสริมด้านการบริหารจัดการ แล้วในเรื่องของโปรดักส์จากผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์กว่า 45 โรงงานที่พันธมิตรอยู่นั้น ล่าสุดได้ร่วมทุนกับโอลิมปิค ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ จากประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาเสริมสินค้าโดยเฉพาะชุดเครื่องนอนเพื่อจับตลาดล่าง ทั้งนี้จะส่งผลให้สินค้าภายในร้านสมาชิกนั้นครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกระดับ และเป็นกลุ่มสินค้าที่ทำกำไรได้มาก
ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งโดยได้เซ็นสัญญาร่วมกับ ซีเมนต์ไทยโลจิสติกส์ บมจ. หรือ CTL เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งหรือระบบโลจิสติกส์ อำนวยให้การขนส่งสินค้าจากคลังสินค้ากับร้านสมาชิกที่กระจายอยู่ทั่วประเทศสะดวกและรวดเร็วขึ้น ย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าและไม่ต้องรอให้สินค้าเต็มคันรถอย่างที่ผ่านมา
"ด้วยการผนึกพันธมิตรทั้ง 2 ราย เท่ากับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับบริษัทการแรนท์ ด้วยวิชชั่นที่ตรงกันคือการขยายสาขารุกตลาดอินโดจีน ด้วยเล็งเห็นโอกาสที่รัฐบาลชูนโยบายไทยเป็นศูนย์การภูมิภาคเอเชียซึ่งขณะนี้ได้เริ่มขายการลงทุนไปยังลาวและกัมพูชาแล้ว" ผาณิตกล่าว
2 แบรนด์กับรูปแบบการลงทุน
'กาแรนท์ โมเบล'
(เริ่มต้นขนาดพื้นที่ 600 ตร.ม. ลงทุน 3.7 ล้านบาท)
1.ค่าแฟรนไชส์ฟี 500,000 บาท
2.ค่าค้ำประกันสัญญา 1.5 ล้านบาท
3.ค่าออกแบบตกแต่ง 1.2 ล้านบาท
4.ค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ 500,000 บาท
'เมอร์'
(เริ่มต้นขนาดพื้นที่ 400 ตร.ม. ลงทุน 2.2 ล้านบาท)
1.ค่าแฟรนไชส์ฟี 300,000 บาท
2.ค่าค้ำประกันสัญญา 800,000 บาท
3.ค่าออกแบบตกแต่ง 600,000 บาท
4.ค่าใช้จ่ายก่อนดำเนินการ 500,000 บาท
|