แบงก์ชาติ เผยยอดหนี้เอ็นพีแอลสิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 576,894 ล้านบาท คิดเป็น 9.93% ของสินเชื่อรวม ลดลง 7,081 ล้านบาท จากสิ้นไตรมาส 2 ที่สูงถึง 10.32% พร้อมมั่นใจไตรมาสสุดท้ายจะลดลงอีก เพราะธนาคารต้องเร่งทำยอดปิดบัญชี และดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ต้องดูผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน รายงานตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 หรือสิ้นสุดไตรมาส 3 ว่า ระบบสถาบันการเงินไทยมียอดคงค้างเอ็นพีแอล ทั้งสิ้น 576,894.46 ล้านบาท หรือ 9.93% ของสินเชื่อรวม ลดลงจากยอดคงค้างสิ้นเดือนมิถุนายน 2548 หรือไตรมาส 2 ที่มีเอ็นพีแอล 583,976.35 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.32% ของสินเชื่อรวม จำนวน 7,081.89 ล้านบาท
ทั้งนี้ สามารถแยกเป็นยอดคงค้างเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น 556,201.897 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 10.01% ของสินเชื่อรวม ลดลงจากไตรมาสก่อน 4,378.18 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทย 546,395.70 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 11.06% ของสินเชื่อรวม ลดลง 4,398.14 ล้านบาท ซึ่งเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เอกชน 415,291.98 ล้านบาท คิดเป็น 11.71% ลดลง 4,029.28 ล้านบาท และเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์รัฐ 131,147.58 ล้านบาท คิดเป็น 9.44% ของสินเชื่อรวม ลดลง 368.87 ล้านบาท
สำหรับเอ็นพีแอลของธนาคารต่างประเทศ มีทั้งสิ้น 9,762.32 ล้านบาท ลดลง 340.04 ล้านบาทแบ่งเป็นเอ็นพีแอลของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 9,384.62 ล้านบาท ลดลง 717.74 ล้านบาท และเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศที่จดทะเบียนในประเทศไทย 337.7 ล้านบาท ซึ่งเอ็นพีแอลส่วนนี้จะปรับเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยในอนาคต และรวมอยู่ในยอดของธนาคารพาณิชย์ไทยแทนธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ
ส่วนเอ็นพีแอลของระบบบริษัทเงินทุน (บง.) สิ้นไตรมาส 3 มีทั้งสิ้น 20,266.17 ล้านบาท ลดลงจาก 22,605.73 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า เป็นจำนวน 2,339.03 ล้านบาท แต่หากคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม ในไตรมาสที่ 3 ที่มีเอ็นพีแอล 8.1% ของสินเชื่อรวมจะสูงกว่า 7.49% ของสินเชื่อรวมในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสินเชื่อรวมของบริษัทเงินทุนลดลง ขณะที่เอ็นพีแอลของระบบบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) สิ้นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 426.41 ล้านบาท หรือ 42.1% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีเอ็นพีแอล 430.55 ล้านบาทคิดเป็น 42.38% ของสินเชื่อรวม 3.59 ล้านบาท
นายทำนอง ดาศรี ผู้อำนวยการฝ่ายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธปท. กล่าวเพิ่มเติมเอ็นพีแอลไตรมาส 3 ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 โดยลดลงจาก 10.32% เหลือ 9.93% ซึ่งเป็นการลดลงทั้งเอ็นพีแอลใหม่ และเอ็นพีแอลไหลย้อนกลับ และในการปรับโครงสร้างหนี้ช่วงไตรมาสที่ 3 ยังไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม อีกประเด็นหนึ่งที่เอ็นพีแอลลดลงมาจากการเร่งแก้หนี้ของกรมบังคับคดีที่เริ่มมีการตั้งเป้าเป็นรายเดือนและรายไตรมาสว่าต้องจัดการเอ็นพีแอลที่ค้างอยู่ในเสร็จสิ้นเท่าไร
สำหรับไตรมาสที่ 4 นั้นตามหลักการแล้ว จะเป็นไตรมาสที่เอ็นพีแอลลดลงมากที่สุด เพราะเป็นธนาคารพาณิชย์เร่งทำยอดเพื่อปิดบัญชีปลายปี และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ธปท.จะปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นจะทำให้การปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องดูผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นด้วยว่าจะกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนมากน้อยเพียงใด แต่ในเบื้องต้นคาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในระดับนี้ยังไม่กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน เพาะยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก
|