ผู้ถือหุ้นธนาคารอิสลามฯ อนุมัติซื้อกิจการกรุงไทยชาริอะห์ จากธนาคารกรุงไทย มูลค่าเกือบ 1.15 ล้านบาท พร้อมประกาศเดินหน้าธุรกิจปีหน้าเต็มสูบ เตรียมเพิ่มทุนอีก 2 พันล้านบาท รองรับการขยายสินเชื่อปี 49 โตอีก 11%
วานนี้ (26 ต.ค.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2548 โดยมีนายศานิต ร่างน้อย รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อขอมติผู้ถือหุ้นในการเข้าไปซื้อหุ้นของธนาคารกรุงไทยชาริอะห์ จากธนาคารกรุงไทย วงเงิน 1,159 ล้านบาท หลังจากได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว จะมีการเซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อเข้ามาดำเนินการทำดิวดีรีเจนท์ (ตรวจสอบทรัพยสิน) เป็นขั้นตอนต่อไป
นายศานิต กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ธนาคารฯซื้อธนาคารกรุงไทยชาริอะห์ตามมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 จำนวน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของกิจการจำนวน 764 ล้านบาท และบวกกำไรที่ธนาคารกรุงไทยต้องการอีก 90 ล้านบาท และในส่วนระบบเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ จำนวน 305 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการเซ็นสัญญาชื้อขายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 นี้
ส่วนวิธีการจ่ายเงินนั้น ธนาคารกรุงไทยให้ผ่อนชำระได้ 2 งวด คือ จ่าย 25% ในวันที่ลงนามในเอ็มโอยู และจ่าย 75% หลังตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีมติที่จะใช้เงินสดที่มีอยู่ประมาณ 600 ล้านบาท บวกกับสภาพคล่องที่มีอยู่จ่ายเป็นเงินสดเพียงงวดเดียว เนื่องจากการจ่าย 2 งวด จะทำให้มีการคิดดอกเบี้ยซึ่งขัดกับหลักศาสนาอิสลามที่ห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ภายหลังจากการซื้อธนาคารกรุงไทย ชาริอะห์ จะทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีเงินสดเพิ่มขึ้นจาก 1,308 ล้านบาท เป็น 3,835 ล้านบาท สินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 971 เป็น 3,163 ล้านบาท สินทรัพย์อื่นเพิ่มขึ้นจาก 91 ล้านบาท เป็น 310 ล้านบาทเงินฝากเพิ่มขึ้นจาก 1,903 ล้านบาท เป็น 6,035 ล้านบาท และมีสาขาเพิ่มขึ้นจาก 9 สาขา เป็น 27 สาขา
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังมีมติให้เรียกชำระทุนจดทะเบียนเพิ่มเติมจำนวน 30.4 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 7 บาท หรือคิดเป็น 212.8 ล้านบาท ซึ่งจะเรียกชำระภายในปี 2548นี้ หลังจากนั้นธนาคารมีแผนจะเพิ่มทุนอีก 2,000 ล้านบาท จากเดิมทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในปี 2549 ที่ธนาคารมีแผนจะขยายสินเชื่อจาก 7,000 ล้านบาท เป็น 8,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 11% และลงทุนในกิจการที่ถูกต้องตามหลักศาสนา อาทิ การจำนำ และการประกันภัยตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งในส่วนนี้จะเริ่มดำเนินการภายในกลางปี 2549 นี้
"การจัดสรรหุ้นทุนเรือนหุ้นและการเพิ่มทุนนั้น จะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมเป็นหลัก หากผู้ถือหุ้นเดิมไม่ต้องการ ก็จะเสนอขายให้กับพันธมิตรรายใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ทั้งนี้เพื่อขยายกิจการในปีหน้า ซึ่งคิดว่าหลังจากซื้อกรุงไทยชาริอะห์ จะทำให้มีสาขาเพิ่มขึ้น การบริการรับฝากเงินและการให้สินเชื่อคงจะทำได้ดี"นายศานิต กล่าว
นายศานิต ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารได้ยื่นขออนุมัติต่อกระทรวงการคลังเพื่อขอใช้สิทธิในการทำธุรกรรมตามหลักศาสนา สำหรับการเสียภาษีในการทำธุรกรรมที่ถูกต้อง ให้เป็นระบบเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลามธนาคารจะต้องทำธุรกรรมที่มีการคิดดอกเบี้ยไม่ได้ จึงต้องทำการซื้อขาย และโอนซึ่งจะทำให้มีการเสียภาษีซ้ำซ้อน
|