ปูนใหญ่แจ้งกำไรไตรมาส 3 ลดฮวบ 30% เหลือเพียง 8,416 ล้านบาท เหตุมาร์จินธุรกิจปิโตรเคมีและกระดาษลดลง รวมทั้งไม่มีกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ 2,300 พันล้านบาท ชี้หากไม่นำกำไรรายการพิเศษฯมาคำนวณ บริษัทฯกำไรลดลง 1.2 พันล้านบาท เผยจับมือยักษ์ใหญ่เคมีภัณฑ์ของโลก"ดาว เคมีคอล"ผุดโรงโอเลฟินส์แห่งที่ 2 และปิโตรเคมีต่อเนื่อง ใช้เงินลงทุน 6 หมื่นล้านบาท มั่นใจแล้วเสร็จปี 2553 ลั่นปีหน้าออกหุ้นกู้ 3 หมื่นล้านบาทแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด
นายกานต์ ตระกูลฮุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2548 ว่า บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 56,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% และมีกำไรสุทธิ 8,415.52 ล้านบาท ลดลง 3,572.97 ล้านบาทหรือ 30% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,988.49 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากมาร์จินของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจกระดาษลดลง รวมทั้งไตรมาส 3 ปีก่อน บริษัทมีกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์จำนวน 2,300 ล้านบาท แต่เมื่อไม่นำรายการพิเศษฯมาคำนวณ พบว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 1,273 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13%
งวด 9 เดือนของปี 2548 บริษัทฯและบริษัทย่อยมียอดขายรวม 168,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19% และมีกำไรสุทธิ 27,134ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 27,086 ล้านบาท
ซึ่งผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 นี้มาจากธุรกิจปิโตรเคมีที่มียอดขาย 24,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% แต่กำไรของธุรกิจลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นทำให้ราคาแนฟทาซึ่งเป็นวัตถุดิบมีต้นทุนสูงขึ้น ธุรกิจซีเมนต์มียอดขายรวม 10,6736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากสภาวการณ์ก่อสร้างภาครัฐเติบโตต่อเนื่อง ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมียอดขาย 5,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% แต่กำไรธุรกิจลดลงเล็กน้อยเนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น
ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ มียอดขายรวม 10,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% แต่มาร์จินลดลงเล็กน้อยเนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งและพลังงานที่เพิ่มขึ้น
นายกานต์ กล่าวยอมรับว่า รายได้จากธุรกิจปิโตรเคมีในไตรมาส 4/2548 จะลดลงประมาณ 10% เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโรงระยองโอเลฟินส์เป็นเวลา 35 วัน โดยมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และปรับปรุงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต (Debottleneck)อีก 5% จำนวน 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบค่าใช้จ่ายที่สำรองไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงโอเลฟินส์นั้น บริษัทฯมีการสำรองสินค้าไว้เพียงพอที่จะจำหน่ายในประเทศและส่งออก
ปัจจุบันโครงสร้างกำไรของเครือซิเมนต์ไทยมาจากธุรกิจปิโตรเคมี 40-45% ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง 30กว่า% ธุรกิจกระดาษ 11% และที่เหลือมาจากกลุ่มการค้า
ทุ่ม6หมื่นล.ตั้งโรงโอเลฟินส์แห่ง2
นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า เครือซิเมนต์ไทยได้ลงนามในLetter of Intent กับกลุ่มดาว เคมีคอล เพื่อสร้างโรงโอเลฟินส์แห่งที่ 2 มูลค่าการลงทุน1,100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 44,000 ล้านบาท โดยเครือฯจะลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 67% รวมทั้งลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลายเพื่อรองรับโอเลฟินส์ดังกล่าวอีก 16,000 ล้านบาท หรือ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จปี 2553
โรงโอเลฟินส์แห่งที่ 2 จะมีกำลังการผลิต 1.7 ล้านตัน แบ่งเป็นเอทิลีน 9 แสนตัน โพรพิลีนอีก 8 แสนตัน โดยจะมีผลิตภัณฑ์อื่นอีก 7 แสนตัน ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้จะเน้นผลิตโพรพิลีนให้ได้ประมาณสูงขึ้นกว่าเดิม 75%เพื่อรองปริมาณความต้องการใช้ของตลาด ซึ่งวัตถุดิบในการผลิตโอเลฟินส์จะมาจากในประเทศและนำเข้าจากตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย
ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ในการลงทุนนั้นอยู่ระหว่างการหารือกับดาว เคมีคอล แต่ทั้งนี้เงินลงทุนของเครือฯจะมาจากกระแสเงินสด ที่ปัจจุบันมีอยู่ 4 หมื่นกว่าล้านบาทใกล้เคียงปีที่แล้ว
"การลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีครั้งนี้ แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต และสามารถแข่งขันในต่างประเทศได้ ส่วนโครงสร้างรายได้ของเครือฯจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ไม่สามารถชี้ชัดได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นๆในอีก 5ปีข้างหน้า ส่วนการถือหุ้นในพีทีที เคมีคอล (บริษัทที่เกิดจากการควบรวม NPC-TOC) 20% เพื่อรับเงินปันผล ส่วนจะซื้อเพิ่มหรือขายหุ้นออกไปไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะบริษัทดังกล่าวอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ "
ปัจจุบันกำลังการผลิตโอเลฟินส์ในเครือซิเมนต์ฯรวม 1.1 ล้านตัน/ปี รวมทั้งมีการร่วมทุนกับดาว เคมีคอลและมิตซุย เคมีคอล ทำโครงการปิโตรเคมีอื่นๆอีกจำนวนมา รวมไปถึงการขยายการลงทุนไปยังอินโดนีเซียและอิหร่านด้วย
นอกจากนี้ เครือฯยังลงทุนโครงการติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม ในเครือกลุ่มกระดาษ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 25 เมกะวัตต์และไอน้ำ 130 ตันต่อชั่วโมง ใช้เงินลงทุน 1,090 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย. 2550
นายกานต์ กล่าวว่า แม้กำไรไตรมาส 3 จะลดลง และมีการขยายการลงทุนในเครือฯจำนวนมาก จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผล โดยจะจ่ายปันผลได้ในเกณฑ์เดียวกับปีที่แล้ว ซึ่งจ่ายปันผลหุ้นละ 15 บาท
ปีหน้าออกหุ้นกู้ 3หมื่นล้าน
นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า ในปีหน้า บริษัทฯมีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ 3 หมื่นล้านบาทเพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดลง ปัจจุบันหุ้นกู้ของบริษัทอยู่ที่ 8 หมื่น ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ 4-4.3% จากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ หุ้นกู้ใหม่ที่จะออกในปีหน้าจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเดิม
ส่วนการปรับขึ้นราคาปูนซีเมนต์หลังจากต้นทุนด้านเชื้อเพลิงปรับเพิ่มสูงขึ้น ทางเครือฯไม่มีนโยบายที่จะเป็นผู้นำในการปรับขึ้นราคาปูนซีเมนต์ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการบางรายเจรจากับกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอปรับขึ้นราคาก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันราคาขายปูนในประเทศยังต่ำกว่าเพดานที่พาณิชย์กำหนดอยู่
โดยปีนี้เครือฯตั้งเป้าขยายการส่งออกปูนซีเมนต์เพิ่มเป็น 6.5 ล้านตัน จากปีก่อนที่ส่งออก 6 ล้านตัน ขณะที่ราคาส่งออกได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากปีก่อนที่ส่งออกตันละ 26 เหรียญสหรัฐต่อตัน
|