สำหรับบรรษัทซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายในระดับเทคโนโลยี
และมีอายุยืนยาวมาครบ 100 ปีแห่งนี้ ย่อมมิได้เกิดขึ้นและดำเนินไปท่ามกลางกลีบกุหลาบ
หากแต่เรื่องราวความเป็นมา 3M คือภาพสะท้อนของวิธีคิดที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมหลากหลายในปัจจุบัน
ย้อนหลังกลับไปในปี 1902 ซึ่งนับเป็นช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 20 นักธุรกิจ
5 รายในเขตเมือง Two Habors ริมทะเลสาบ Lake Superior ในรัฐ Minnesota ได้ริเริ่มที่จะดำเนินธุรกิจเหมืองแร่
ภายใต้ชื่อ Minnesota Mining and Manufactoring Company หรือ 3M โดยหวังว่าใต้ผืนดินดังกล่าวจะประกอบด้วยสินแร่
corundum หรือที่รู้จักกันในนาม อะลูมิเนียมออกไซด์ ที่มีความแข็งเป็นรองก็เพียงแต่เพชร
ซึ่งนับเป็นวัตถุดิบในอุดมคติสำหรับการผลิตกระดาษทราย และเครื่องเจียร
พวกเขาไม่ต่างจากผู้คนในยุคต้นของทศวรรษที่ 1900 ซึ่งพร้อมจะเริ่มประกอบการธุรกิจแล้วจึงศึกษาลู่ทางความเป็นไปได้ของกิจการ
และการณ์กลับไม่ได้เป็นดังคาด เพราะแร่ที่พวกเขา ขุดพบกลับเป็นเพียง anorthosite
เกรดต่ำที่นอกจาก จะมีราคาถูกแล้ว ยังไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย
เพียงในระยะเริ่มต้นธุรกิจก็ดูเหมือนว่าอนาคตของ 3M ใกล้ที่จะต้องยุติเสียแล้ว
แต่สำหรับกลุ่มผู้ก่อตั้ง พวกเขามิได้ทดท้อ
พวกเขายังดำเนินธุรกิจด้วยความบากบั่น เริ่มต้นจากการปิดเหมือง และย้ายฐานเลื่อนลงมาทางใต้ไปอยู่
ในเมือง Duluth ตอนปลายของ Lake Superior ใน รัฐ Minnesota เพื่อผลิตกระดาษทราย
โดยซื้อแร่สำหรับ การกัดกร่อนจากแหล่งอื่นมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยเงินทุน
และการบริหารจัดการ ที่มีประสิทธิภาพ
ในปี 1907 หรือ 5 ปีหลังการก่อตั้ง หนุ่มน้อย วัย 20 ปี ซึ่งมีวุฒิการศึกษาด้านธุรกิจนาม
William L. McKnight ได้รับการว่าจ้างให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเสมียนบัญชี
และต่อมาอีก 40 ปี William L. McKnight ผู้นี้เองที่ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารของ
3M พร้อมกับนำเสนอหลักในการบริหารซึ่งเป็นการวางพื้นฐานที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตและการเติบโตของ
3M แม้กระทั่งในปัจจุบัน
แน่นอน William L. McKnight มิได้นำเสนอวิธี การบริหารจัดการของเขาจากสุญญากาศ
หรือเปิดตำราเพื่อดึงเอาถ้อยความสวยหรูหยิบยื่นให้แก่ผู้ร่วมงานของเขา หากแต่วิสัยทัศน์
และลักษณะเด่นของภาวะผู้นำที่เขามีเกิดขึ้นจากกระบวนการอันยาวนานและประสบการณ์ที่โชกโชน
ในช่วงทศวรรษที่ 1910-1919 นับเป็น ช่วงเวลาที่มีความสำคัญไม่น้อยของ 3M
เพราะนอกจากจะมีการย้ายฐานการผลิตจากเมือง Duluth ลงมาทางใต้อีกครั้งโดยเคลื่อนตัวมาสู่เมือง
St.Paul เมืองหลวงของรัฐ Minnesota แล้ว William L. McKnight ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่าย
ได้เร่งเร้าและกระตุ้นให้พนักงานตัวแทนจำหน่ายแต่ละราย ดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกต่อลูกค้าแต่ละราย
ด้วยการสอบถามถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และข้อเด่นข้อด้อยที่ลูกค้าแต่ละรายสะท้อนกลับมา
กล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่คือ การสำรวจภาคสนาม (customer field research) ที่นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์
และบริการของ 3M ในเวลาต่อมา
เพราะท่ามกลางความหมิ่นเหม่ต่อปัญหาด้านคุณภาพที่เกือบนำไปสู่หายนะของบริษัทนั้น
3M ได้ลงทุนสร้างห้องทดลองขนาดเล็ก ซึ่งแม้การลงทุนดังกล่าวจะต้องใช้เงินในจำนวนที่มากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของบริษัทในขณะนั้น
แต่การลงทุนในครั้งนั้นนับเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญยิ่งสำหรับการสร้างหลักประกันด้านคุณภาพ
และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนด้านวิจัย และพัฒนา (research and development)
ของ 3M
และในช่วงนี้เอง ที่ Three-M-ite แผ่นใยขัด ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่และเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะของ
3M ชนิดแรกได้ถือกำเนิดขึ้น ก่อนที่ผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยม
และเป็นสินค้าขายดีสำหรับกลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงผู้ประกอบการซ่อมรถยนต์ด้วย
และภายใต้ธงนำของ "Three-M-ite" ยอดการจำหน่ายของ 3M ในปี 1917
ได้พุ่งสู่ระดับ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับการเริ่มศักราชการขยายตัวเติบโตของ
3M อย่างแท้จริง
นอกเหนือจากการคิดค้นและริเริ่มผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาแล้ว 3M ยังได้เข้าซื้อสิทธิในผลิตภัณฑ์Wetordry
Waterproof Sandpaper ซึ่งเป็นกระดาษทรายที่สามารถใช้ได้กับน้ำและน้ำมัน
เพื่อลดปริมาณฝุ่นและพื้นผิวขรุขระที่เป็นจุดบอดของการผลิตรถยนต์ในอดีต และกระดาษทรายชนิดนี้เองที่ได้นำไปสู่พัฒนาการในอุตสาหกรรมกระดาษทรายอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
ทศวรรษที่ 1920 กล่าวได้ว่าเป็นจุดพลิกผันสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ 3M เพราะนอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาและผลิตกระดาษทรายและแผ่นใยขัดสำหรับอุตสาห-กรรมยานยนต์
ที่กำลังเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นแห่งยุคสมัยนั้น Richard Drew นักวิจัยของ
3M สังเกตพบว่าช่างสีในโรงงานประกอบรถยนต์ต่างประสบปัญหาเกี่ยวกับการพ่นสีบนพื้นผิวชิ้นส่วน
ก่อนที่จะนำไปสู่แนวความคิดในการผลิตเทปกาวชนิดย่น (masking tape) เพื่อ
ปิดพื้นผิวที่ไม่ต้องการพ่นสี และเป็นที่มาของการขยายสายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ในหมวดเทปกาว ภายใต้เครื่องหมายการค้า Scotch ที่ได้รับความนิยม อย่างกว้างขวางแม้กระทั่งในปัจจุบัน
ปลายทศวรรษที่ 1920 Durex Corporation ซึ่งเป็น holding company ที่ 3M
ได้ร่วมกับผู้ผลิตอีก 8 ราย จัดตั้งขึ้นในยุโรปได้ถือกำเนิดขึ้น และนับเป็นการขยายตัวสู่ตลาดนานาชาติครั้งแรกของ
3M โดยยอดการจำหน่ายของ 3M พุ่งทะยานขึ้นกว่า 4 เท่าตัวจากช่วงต้นของทศวรรษ
แม้ในช่วงทศวรรษที่ 1930 จะเป็นห้วงเวลาแห่งความถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น
The Great Depression แต่สำหรับ 3M แล้ว ห้วงเวลานั้นกลับมิได้ส่งผลกระเทือนต่อบริษัทมากนัก
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากนโยบายทางการเงินที่มั่นคง ขณะเดียวกันนี่กลับ
เป็นช่วงที่ 3M ได้ขยายตัวไปสู่ธุรกิจหลากหลายยิ่งขึ้น
3M รุกเข้าสู่การผลิตสินค้าชนิดใหม่ด้วยเทปกาว ชนิดใส ภายใต้ชื่อ Scotch
Cellophane Tape พร้อมกับการจัดตั้งศูนย์ทดลองวิจัยกลาง ก่อนที่จะนำเสนอเทคโนโลยีว่าด้วยวัตถุสะท้อนแสง
ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาป้ายสัญญาณจราจรและทางหลวงให้มีความเด่นชัดขึ้นในยามค่ำคืน
โดยในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1930 นี้ ธุรกิจของ 3M ได้ขยายตัวครอบคลุมทั้งกลุ่มใยขัด
(abrasives), กลุ่มเทปกาวย่น (masking tape), กลุ่ม เทปกาวชนิดใส (cellophane
tape) กลุ่มสารยึดติดพื้นผิว (adhesives) และกลุ่มเม็ดสีเคลือบผิว (roofing
granules)
ภายใต้บรรยากาศของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงทศวรรษที่ 1940 แม้จะเป็นผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ตกอยู่ในภาวะชะงักงันชั่วขณะ
แต่อุตสาหกรรมอื่นๆ กลับขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมทางการทหาร
ซึ่งส่งผลให้ความต้องการวัสดุในกลุ่มใยขัดโลหะ และกลุ่มสารยึดติดพื้นผิว
เพิ่มมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมบันเทิง ที่ทวีบทบาทสำคัญภายหลังสงครามสิ้นสุดเป็นอีกแรงขับหนึ่งที่มีผลต่อการขยายธุรกิจของ
3M ไปสู่การผลิตแถบบันทึกเสียง 3M Sound Recording Tape และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงนี้
ในช่วงเวลานี้เองที่ William L. McKnight ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานบริษัท
และได้นำเสนอปรัชญาการบริหารที่ได้นำพา 3M สู่ความยิ่งใหญ่
แนวความคิดของ William L. McKnight มีความสำคัญอยู่ที่การสนับสนุนให้พนักงานแต่ละรายกล้าที่จะคิดริเริ่ม
โดยปราศจากความกังวลใจในส่วนของความ ล้มเหลวผิดพลาด โดยเขาเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสที่จะ
เรียนรู้และสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมได้จากประสบ การณ์ของการลองผิดลองถูก
ซึ่งหลักปรัชญานี้เองที่ส่งผลให้ 3M ก้าวไปสู่การเป็นบรรษัทที่มีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์หลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน
พัฒนาการของเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จาก 3M ดูจะไม่เคยหยุดนิ่ง ในทศวรรษที่
1950 3M ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันก็เข้าไปมีส่วนร่วมก้าวไกลสู่เทคโนโลยีด้านอวกาศด้วย
การผลิตวัสดุสังเคราะห์ เพื่อประกอบเป็นพื้นรองเท้า ให้กับนักบินอวกาศซึ่งไปสำรวจดวงจันทร์ในปี
1969 อีกด้วย
ธุรกิจซึ่งตั้งอยู่บนฐานของเทคโนโลยีอันหลากหลายของ 3M เติบโตด้วยอัตราเร่งที่ไม่หยุดยั้ง
และขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์
การคิดค้นวัสดุสำหรับการอุดฟันสำหรับทันตแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการขโมยหนังสือออกจาก
ห้องสมุด และผลิตภัณฑ์ขัดถูสำหรับการรักษาความสะอาดของครัวเรือนและสำนักงาน
ปัจจุบันภายใต้เทคโนโลยีที่หลากหลายกว่า 100 ประเภท 3M จึงเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการรวมกว่า
50,000 ชนิด ครอบคลุมตลาดพาณิชยกรรม ตลาดอุตสาหกรรม ตลาดอุปโภคบริโภค รวมทั้งผลิตภัณฑ์พิเศษเพื่อการใช้เฉพาะงาน
โดยมีสำนักงานกระจายอยู่ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลกและมีจำนวนพนักงานและ เจ้าหน้าที่รวมกันกว่า
80,000 คน
สำหรับประเทศไทยนั้น 3M ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการนำเข้า
เทปกาวตราสก๊อตช์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า สก๊อตช์เทป นำเข้ามาจำหน่ายเมื่อปี
1948 และติดตามมาด้วยผลิตภัณฑ์เรซิ่นสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า และฟิล์มสำหรับการถ่ายภาพ
ต่อมาในปี 1956 ผลิตภัณฑ์สติกเกอร์สะท้อนแสงและตกแต่ง สำหรับผลิตป้ายจราจรและป้ายโฆษณา
ได้รับการนำเข้ามาจำหน่าย และติดตามมาด้วยผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายประเภททั้งในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
แผ่นเพลทฟิล์มและสารเคมีสำหรับการพิมพ์ออฟเซ็ท ก่อนที่ บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย
จำกัด จะก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1967
เป็น 35 ปีที่มีนัยสำคัญต่อผู้บริโภคและสังคมไทย ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของแผ่นใยขัดสีเขียว
ในนาม Scotch-Brite ที่กลายเป็นอุปกรณ์คู่ครัว หรือแม้กระทั่ง Post-it ที่มีฐานะเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญ
ที่สำนักงานแต่ละแห่งต้องมีไว้ใช้งาน ยังไม่นับรวม ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังการรับรู้ของผู้คน
อีกจำนวนหนึ่ง
หากนับเนื่องจากจุดเริ่มต้นในปี 1902 หรือเมื่อ 100 ปี ที่ผ่านมา บางครั้งบางทีการที่กลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัท
3M ไม่พบแร่ corundum ดังที่ตั้งใจใฝ่ฝัน อาจเป็นความโชคดีที่ทำให้ 3M เป็นบรรษัทที่มีพัฒนาการของเทคโน
โลยีและผลิตภัณฑ์หลากหลาย มิเช่นนั้นประวัติศาสตร์ธุรกิจอาจจารึกชื่อ 3M
เป็นเพียงบริษัทผู้ผลิตกระดาษทรายรายหนึ่งริมฝั่ง Lake Superior เท่านั้น