"พวกผมไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลแต่อย่างใดทั้งสิ้น" ทั้งรุทร เชาวนะกวี
และณรงค์ พันตาวงษ์ รีบปฏิเสธกับ "ผู้จัดการ" เมื่อถูกตั้งคำถามถึงบริษัทจำนวนมากในความรับผิดชอบของเขา
ที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้มีอำนาจในการเซ็นรับรองงบการเงิน
ตัวเลขจำนวนบริษัทที่พวกเขาได้รับให้เป็นผู้ลงนามในงบการเงิน จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีนี้
หากดูอย่าง ผิวเผินแล้วน่าตกใจ เพราะเหมือนกับ 1 ใน 3 ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ล้วนมอบความไว้วางใจให้กับเขาทั้ง 4 คน
มองในมุมกลับกัน พวกเขา 4 คน ได้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่มีบทบาทต่อการลงนาม
ก่อนที่จะผ่านข้อมูลงบการเงินของบริษัทเหล่านั้นให้ปรากฏออกมาสู่สาธารณะ
เขาอธิบายว่าการได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกับความรับผิด ชอบที่แท้จริงนั้นแตกต่างกัน
เพราะในการประชุม ผู้ถือหุ้นอาจมีการอนุมัติรายชื่อผู้สอบบัญชีหลายคนที่จะมีอำนาจลงนามกำกับงบการเงิน
เพื่อให้ทดแทนกันในกรณีที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นกับผู้สอบบัญชีที่เป็นหลัก
เพื่อให้ผู้สอบบัญชีคนอื่นสามารถลงนามแทนได้ โดยไม่ต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ทำให้ตัวเลขที่ปรากฏออกมาสูงเกินจริง
ในขณะที่ผู้สอบบัญชีแต่ละราย จะมีภาระรับผิดชอบที่แท้จริงอยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งจะน้อยกว่าตัวเลขที่ปรากฏในมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว
ภาระที่แท้จริง ซึ่งรุทร เชาวนะกวี ต้องรับผิดชอบในการลงนาม เพื่อรับรองงบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในปี
2545 มีจำนวนเพียง 29 บริษัท ในขณะตัวเลขที่ปรากฏจากมติ ผู้ถือหุ้นมีถึง
76 บริษัท
ส่วนของโสภณ เพิ่มสิริวัลลภ ที่มีชื่อได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น 75 บริษัท
นั้น แท้จริงเขามีภาระรับผิดชอบลงนามในงบการเงินในปีนี้เพียงแค่ 28 บริษัท
ณรงค์ พันตาวงษ์ รับผิดชอบสูงสุด 32 บริษัท จากที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น
60 บริษัท และรุ้งนภา เลิศสุวรรณกุล มีภาระรับผิดชอบจริง 19 บริษัท จากที่ได้รับอนุมัติ
54 บริษัท (รายละเอียดดูจากตารางความรับผิดชอบที่แท้จริง)
เขาทั้ง 4 คน เป็น partner เก่าแก่ของทรงเดช ประดิษฐ สมานนท์ ในสำนักงานเอินสท์
แอนด์ ยัง
ทั้ง 4 คน มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งหมดล้วนจบปริญญาตรีจากคณะบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณรงค์ เริ่มทำงานกับเอินสท์ แอนด์ ยัง ตั้งแต่ปี 2519 เขาจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ
1 จากคณะบัญชี จุฬาฯ และ ปริญญาโททางบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็น
ผู้เชี่ยวชาญในการสอบบัญชีให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม พลังงาน สื่อสารโทรคมนาคม
และธุรกิจโรงแรม
รุทรเข้าทำงานให้กับเอินสท์ แอนด์ ยัง ตั้งแต่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว
เขามีพื้นฐานการศึกษาเหมือน กับณรงค์ โดยจบปริญญาตรีบัญชีจากจุฬาฯ แล้วไปต่อปริญญาโททางบัญชี
ที่ธรรมศาสตร์ ปัจจุบันมีความชำนาญทางด้านการเป็นที่ปรึกษา ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน
รวมถึงการปรับโครงสร้าง บริษัท ธุรกิจที่เขาดูแลในการสอบบัญชีเป็นทางด้านอุตสาหกรรม
ธนาคาร และด้านการลงทุน
โสภณ มีอายุการทำงานในเอินสท์ แอนด์ ยัง มาแล้ว 20 ปี และเขาได้เข้าเป็น
partner ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน เขาจบปริญญาตรีบัญชี จากจุฬาฯ ปริญญาโททางด้านการจัดการ
จากศศินทร์ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจประกันภัย
ส่วนรุ้งนภา เริ่มงานในเอินสท์ แอนด์ ยัง เมื่อปี 2525 จบปริญญาตรีบัญชี
จุฬาฯ และ MBA จากธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์
พัฒนาอสังหา ริมทรัพย์ และโรงแรม
แม้ทุกคนไม่ยอมรับถึงคำว่า "อิทธิพล" ในบทบาทที่ได้รับ แต่ก็ยอมรับถึงความสำคัญของหน้าที่การงาน
และความรับผิดชอบอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของนักลงทุน
ที่สำคัญ ตัวเลขจำนวนบริษัทที่ทั้ง 4 คน ต้องดูแลโดยตรง แม้จะน้อยกว่าตัวเลขที่ปรากฏอยู่ในมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
แต่ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่มาก หากเทียบกับจำนวนบริษัทที่อยู่ในความ รับผิดชอบของผู้สอบบัญชีจากสำนักงานอื่นๆ
จำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ที่แท้จริงของพวกเขาทั้ง
4 คน เมื่อรวมกันแล้วยังมีจำนวนสูงถึง 108 บริษัท ซึ่งเกือบเท่ากับ 1 ใน
3 ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นทั้งหมด
พวกเขาทั้ง 4 คน ยังคงเป็นความหวังของผู้ถือหุ้น และมีบทบาทสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลของทั้ง
108 บริษัท ดังกล่าว อยู่ดี